การมองเห็น “ด้านที่สาม”

2439
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • ทักษะการมองเห็นด้านที่สาม ในทางธุรกิจก็คือความสามารถในการมองเห็นนอกเหนือจากสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่ง ความสามารถในการมองเห็นด้านที่สามสามารถฝึกฝนได้โดยเริ่มคิด เริ่มสังเกต เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบ ๆ ตัวเราในทุกวัน

สมัยเรียนวิศวะ มีอยู่วิชาหนึ่งชื่อ drawing ครับ ซึ่งไม่ใช่วิชาศิลปะอย่างที่ชื่อมันบอกนะครับ จริงๆ แล้ว มันคือวิชาวาดแบบวิศวกรรม หรือภาษาอย่างเป็นทางการน่าจะเป็น engineering drawing ประมาณนี้ เนื้อหาวิชาส่วนใหญ่ ผมจำไม่ได้หรอกครับเพราะผมคืนอาจารย์ไปหมดแล้ว จำได้แค่ว่าผ่านวิชานี้มาแบบทุลักทุเลพอควร แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งของวิชาที่ผมไม่เคยลืมเลย ผมตั้งชื่อให้มันว่า “ด้านที่สาม”

จริงๆ แล้ว มันก็คือแบบฝึกหัดที่ให้ภาพของวัตถุๆ หนึ่งจากหลายๆ มุม แล้วให้เราบอกว่าด้านที่เหลือจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

โจทย์อาจจะบอก top view (มุมด้านบน) กับ side view (มุมด้านข้าง) มา แล้วให้เราวาด front view (มุมด้านหน้า) อะไรประมาณนี้ครับ ส่วนนี้ของวิชาเป็นเรื่องที่ตลกมาก เพราะจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำได้ตลอดอย่างรวดเร็วแบบหมู ๆ กับคนที่ไม่ว่าเพื่อนหรืออาจารย์จะช่วยกันสอนสักเท่าไร ก็จะทำไม่ได้สักที 

Advertisements

ผมเคยคุยกับเพื่อนเก่งด้านนี้ มันบอกผมว่ามันหัดจินตนาการแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว คือชอบคิดว่า ถ้าเห็นด้านหน้าและด้านข้างของสิ่งของแล้ว หน้าตาด้านบนน่าจะเป็นยังไง ผมคุยกับคนที่เก่งมาก ๆ อีกสองสามคนก็ได้คำตอบคล้าย ๆ กัน ผมเลยสรุปว่าเรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ “การฝึกฝน”

ความสามารถในการมองเห็น

ทักษะนี้ในทางธุรกิจ ผมเรียกมันว่า ความสามารถในการมองเห็นนอกเหนือจากสิ่งที่เห็น (ability to see beyond the obvious) หรือถ้าจะเขียนให้มันเข้าใจง่ายกว่านั้น ก็อาจจะเป็น ความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าคุณ (ability to see things that are not in front of you) จึงเป็นที่มาของชื่อบทความเกี่ยวกับการมอง “ด้านที่สาม” บทความนี้ครับ

ในยุคที่ธุรกิจรถยนต์มีแนวโน้มที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นระบบขับขี่อัตโนมัติ และระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ทั้งหมด ถ้าคนที่ติดตามวงการนี้จะเห็นว่า ทุกอย่างกำลังถูกทำให้เป็น “อัตโนมัติ” ตั้งแต่ระบบจอดอัตโนมัติ เกียร์ซีวีที ระบบเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ ระบบลดความเร็วอัตโนมัติเพื่อป้องกันการชน ระบบปรับเบาะอัตโนมัติตามสรีระของผู้ขับ ฯลฯ และดูเหมือนผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือกที่จะเลือกอย่างอื่นซะด้วย เพราะนี่คือ เทรนด์หลัก (mega-trend) ของตลาดรถยนต์

เกียร์ธรรมดากำลังถูกลืม รถที่ใช้ความสามารถของผู้ขับอย่างแท้จริงกำลังถูกลืม รถรุ่นใหม่ต่างประโคมระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไปในรถ เพื่อให้ผู้ขับ “ทำอะไร” น้อยที่สุด

แต่ เท็ตซึยะ ทาดะ (Tetsuya Tada) หัวหน้าโปรเจคของ Toyota 86 กลับไม่คิดอย่างนั้น

Advertisements

เขาคิดว่าระบบต่างๆ ในรถปัจจุบันมันยุ่งยากวุ่นวายเกินความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะทำให้การบำรุงรักษาแพงขึ้นแล้ว (ระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีอายุการใช้งานที่น้อยกว่าระบบธรรมดา) ยังให้ความ “สนุก” ในการขับรถหายไปด้วย เขาอยากให้ผู้ขับได้ “ทำอะไร” มากขึ้น ควบคุมรถเองมากขึ้น สนุกกับการแก้อาการต่างๆ ของรถยามขับขี่ได้มากขึ้น

โตโยต้าจึงร่วมมือกับซุบารุออกแบบรถสปอร์ตราคาไม่แพง ชื่อ Toyota 86/ Subaru BRZ ซึ่งมีเฉพาะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทุกอย่างที่เหลือปล่อยให้คนขับได้มีส่วนร่วม โดยทำออกมาที่ราคาพอๆ กับ Toyota Camry (ราคาในอังกฤษ) ซึ่งถือว่าคนทั่วไปสามารถซื้อหากันได้สบาย

ทุกอย่างของการออกแบบไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ ระบบช่วงล่าง เกียร์ ต่างมุ่งที่จะให้ความสนุกกับคนขับมากที่สุด แม้มันจะมีแรงค่อนข้างน้อย (200hp) แต่ถ้าเป็นเรื่องการขับสนุกละก็ ทุกคนต่างยกนิ้วให้

ล้มยักษ์

ขั้นต่อไปโตโยต้าทำในเรื่องที่แปลกไปจากการทดสอบรถปกติ โดยส่งรถของตัวเองเข้าทดสอบประกบกับรถสปอร์ตราคาแพง แทนที่จะเป็นรถราคาหรือเซ็กเมนต์ (segment) ใกล้เคียงกันเหมือนที่เคยๆทำมา โดยเน้นเรื่อง “ความสนุก” ในการขับขี่เป็นตัวชูโรงในการประชันกับรถสปอร์ตราคาแพงและเพื่อส่งสัญญาณว่าของถูกก็ดีได้นะ และนี่คือเกมแบบล้มยักษ์ (David vs Goliath)

ผลปรากฏว่า Toyota 86 กวาดรางวัล รถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี จากนิตยสารและรายการทดสอบรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกเป็นปรากฏการณ์ โค่นรถสปอร์ตราคาแพงกว่าตัวเอง 5-6 เท่าลงได้ นักวิจารณ์รถต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่น่าเชื่อว่าบริษัทอนุรักษ์นิยมอย่างโตโยต้าจะกล้าทำรถแบบนี้ออกมา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะ เท็ตซึยะ ทาดะ มองเห็นด้านที่สามของวงการรถยนต์

ยอดขายดีถล่มทลาย ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ได้ทั้งเงินได้ทั้งชื่อเสียง

ความสามารถอันนี้สามารถฝึกกันได้นะครับ แค่ทำทุกวันกับทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะใครจะไปรู้ วันหนึ่งคุณอาจจะเห็น “ด้านที่สี่” ก็ได้!

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่