David Epstein ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World” เป็นคนที่เปลี่ยนความคิดของผมเกี่ยวกับเรื่องการเรียน, การฝึกซ้อม, การเป็น Generalist และการเป็น Specialist ไปมากทีเดียวครับ
ด้วยพื้นเพที่ David Epstein เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ และนักข่าวสายสืบสวน การเล่าเรื่องของเขาจึงมีมุมมองที่น่าสนใจมากครับ โดยเฉพาะสิ่งที่เขาเรียกว่า Sampling Period
ก่อนจะเข้าเรื่องนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องกฎ 10,000 ชั่วโมงใช่ไหมครับ ที่ว่าถ้าเราอยากจะเชี่ยวชาญอะไรเราต้องฝึกเยอะมากๆ ประมาณนี้ ซึ่ง 10,000 ชั่วโมงนี่มันเยอะมาก ดังนั้น คุณก็ควรจะเริ่มฝึกให้เร็วที่สุด
คนที่มักถูกยกขึ้นมาพูดถึงเวลาเราพูดถึงกฎ 10,000 ชั่วโมงคือ Tiger Woods ซึ่งเรามักได้ยินเรื่องเล่าของเขาว่า พ่อของ Tiger Woods ให้ไม้กอล์ฟกับเขาตั้งแต่อายุ 7 เดือน ตอนอายุ 10 เดือน เขาพยายามเลียนแบบวงสวิงของพ่อเขา อายุ 2 ขวบ ก็ได้ออกทีวี อายุ 3 ขวบ เขาพูดกับกล้องว่าเขาจะเอาชนะ Jack Nicklaus สุดยอดนักกอล์ฟของโลกให้ได้ และเขาก็ยึดมือวางอันดับหนึ่งของโลกได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี ปัจจุบันเขาได้แชมป์รายการเมเจอร์มาแล้วทั้งหมด 15 รายการ และเป็นรองแค่ Jack Nicklaus คนที่เขาพูดถึงตอน 3 ขวบนั่นแหละ
Michael Phelps ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เพราะเขาซ้อมว่ายน้ำ 365 วันไม่มีวันหยุดตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในโลกแบบทุกวันนี้
อีกตัวอย่างที่รู้สึกจะอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกันคือ พี่น้อง Polgar ซึ่งสามสาวพี่น้องนี้ได้รับการฝึกกึ่งทดลองจากพ่อของพวกเธอ ซึ่งตั้งสมมติฐานว่าเด็กทุกคนสามารถกลายเป็นสุดยอดในเรื่องอะไรก็ได้ถ้าได้รับการฝึกแบบเข้มข้นจริงจัง ซึ่งพ่อของพวกเธอสามคนก็ฝึกแบบเข้มข้นมากๆ มีการเก็บสถิติ มีเทคนิคการฝึกมากมาย และสองในสามก็กลายเป็น Grandmaster จริงๆ
David Epstein สงสัยว่าการฝึกหนักแบบนี้ตั้งแต่เด็กจะเป็นทางเดียวสู่การเป็นสุดยอดนักกีฬาจริงๆ เหรอ แล้วเขาก็พบว่าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนี้ จะว่าไปก็มีนักกีฬาจำนวนมากที่ตอนช่วงอายุน้อย ลองเล่นกีฬาหลายอย่าง มีทักษะแบบกว้างๆ ไม่เจาะจง และมาเลือกฝึกกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งในภายหลัง
Roger Federer เริ่มต้นเล่นรักบี้ตอนอายุ 6 ขวบ หลังจากนั้นก็มาเล่นเทนนิส, สกี รวมถึงมวยปล้ำด้วย หลังจากนั้นเขาก็ไปลองเล่น บาสเกตบอล, ปิงปอง รวมถึงว่ายน้ำด้วย เท่านั้นไม่พอเขายังเล่น แฮนด์บอล, วอลเลย์บอล, ฟุตบอล, แบดมินตัน, สเก็ตบอร์ด ฯลฯ
สาเหตุที่เราไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวพัฒนาการด้านกีฬาของ Roger Federer อาจเป็นเพราะว่ามันดูไม่อลังการและเข้าใจง่ายเหมือนเรื่องของ Tiger Woods ที่พูดถึงการโฟกัสที่จุดเดียวและฝึกหนักสุดๆโดยไม่ว่อกแว่กไปเรื่องอื่นเลย ดูเหมือนมนุษย์จะชอบเรื่องเล่าแบบ Tiger Woods มากกว่า
David Epstein สงสัยว่าวงการอื่นเป็นแบบนี้กันบ้างไหม เขาเลยเริ่มไปศึกษาหาข้อมูล เมื่อเขาไปดูในวงการดนตรีก็พบเรื่องราวคล้ายกันคือ นักดนตรีชั้นยอดของโลกหลายคน ไม่ได้เริ่มจากการฝึกเครื่องดนตรีแค่เพียงอย่างเดียว แต่มี “Sampling Period” คือ ลองหลายๆ อย่างจนกว่าจะปักใจกับเครื่องดนตรีสักอย่างหนึ่ง
หากไปดูในวงการด้านการศึกษาก็น่าสนใจเช่นกัน มีงานวิจัยที่ติดตามผลของการเลือกเรียนวิชากับรายได้ของนักเรียนในอังกฤษและสกอตแลนด์ซึ่งมีระบบที่ต่างกัน ในอังกฤษเด็กนักเรียนจะต้องเลือก Major ที่อยากเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเทียบกับสกอตแลนด์ที่นักเรียนสามารถลองเรียนอะไรได้หลากหลายโดยยังไม่ต้องเลือกแม้ในระดับมหาวิทยาลัย พูดง่ายๆ ก็คือในสกอตแลนด์มี “Sampling Period” ที่นานกว่านั่นเอง
งานวิจัยพบว่า เด็กที่เลือก Major ตั้งแต่อายุยังน้อย ได้รับเงินเดือนในช่วงต้นของชีวิตการทำงานมากกว่า เพราะทักษะนั้นเฉพาะเจาะจงกว่า
แต่คนที่เลือก Major ทีหลังนั้น (มี Sampling Period ที่นานกว่า) เมื่อเลือกแล้วสิ่งที่พวกเขาเลือกจะเหมาะสมกับตัวเองมากกว่า เรียกว่ามี “Match Quality” สูงกว่า
ส่วนในเรื่องของรายได้นั้น แม้ว่ากลุ่มที่เลือก Major ทีหลัง จะรายได้น้อยกว่าในตอนแรกแต่จะไล่ทันใน 6 ปี และหลังจากนั้นจะมีอัตราเร่งที่สูงกว่า และมีอัตราการเปลี่ยนอาชีพน้อยกว่าด้วย
อัตราการลาออกเปลี่ยนงานของกลุ่มแรกสูงกว่าเยอะมาก นั่นก็เพราะพวกเขาต้องเลือก Major ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไรกันแน่
ตัวอย่างที่หลายคนมักพูดถึงคือ Vincent Van Gogh ที่กว่าจะมาวาดภาพจริงจัง ก็เป็นช่วงอายุ 20 ปลายๆ แล้ว
Epstein พูดถึงเรื่องการเรียนว่าถ้าจะให้แบ่งมี 2 แบบคร่าวๆ คือ
“Kind Learning Environment” คือ บรรยากาศการเรียนที่กฎและกติกาชัดเจน เมื่อคุณทำอะไรแล้วได้รับ Feedback ทันที และการเปลี่ยนแปลงมีน้อยมาก เช่น กีฬากอล์ฟ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการเรียนแบบนี้ เพราะเอาจริงๆ กอล์ฟคือ การแข่งกับตัวเอง มากกว่าการแข่งกับคู่แข่ง และเป็นกีฬาเล่นคนเดียว ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงจึงมีน้อย
“Wicked Learning Environment” คือ การเรียนที่ไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน กติกาไม่ชัดเจน เปลี่ยนได้ตลอดเวลา และ Feedback ก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ความแม่นยำของ Feedback ก็ไม่ดี
โลกของเรายุคนี้คือ สภาพแวดล้อมแบบหลังมากกว่า เราอยู่ใน Wicked Environment มากๆ ดังนั้นบางทีเราต้องคิดถึงวิธีการเรียนของเราและการฝึกฝนของเราเหมือนกัน
ขอปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยเรื่องเล่าของผู้ชายชื่อ Gunpei Yokoi
ในวัยเด็กเขาทำคะแนนได้ย่ำแย่ในวิชาอิเล็กทรอนิกส์ที่โรงเรียน เขาเริ่มทำงานเป็นช่างเครื่องในบริษัทผลิตไพ่ในเกียวโต และค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาในบริษัทผลิตไพ่นี้เอง ซึ่งเขาอยากทำให้บริษัทขยายกิจการสู่ของเล่นและเกม
ด้วยรู้ว่าบริษัทของเขาไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมาย เขาจึงขอยืมความรู้จากอุตสาหกรรมเครื่องคิดเลข และอุตสาหกรรมเครดิตการ์ดมายำรวมกันเป็นเครื่องเล่นเกมส์ของเขา
นี่คือจุดกำเนิดเครื่องเกมขาวดำ ซึ่งถ้าเทียบความสามารถด้านเทคโนโลยีแล้วมันเทียบไม่ได้เลยกับคู่แข่งอย่าง Saga และ Atari เพราะทั้งสองนั้นเป็นหน้าจอสีกันหมดแล้ว
แต่เพราะ Gunpei Yokoi รู้ว่าลูกค้าของเขาไม่ได้สนใจเรื่องสี แต่สนใจเรื่องความทนทาน, จำนวนเกมที่มีให้เลือก, ความอึดของแบตเตอรี และราคา
เครื่องเกมส์ที่ว่านั้นคือ Game Boy
และบริษัทไพ่ที่ว่านั้นชื่อ Nintendo ครับ
เรื่องนี้อาจจะชวนให้เราคิดว่า การวางแผนการศึกษาของเราควรจะมี Sampling Period ให้นานขึ้นรึเปล่า?
น่าคิดนะครับ