Mission To The Moon x Roche Thailand
เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต้องหาวิธีปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างฉับพลัน แล้วสำหรับอุตสาหกรรม ‘การดูแลสุขภาพ’ ที่มีผลโดยตรงกับการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป?
มาดูตัวอย่างจากบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการดูแลสุขภาพ อย่าง Roche กันเลยดีกว่า
หากพูดถึง ‘โรช’ อักษร Roche ในกรอบหกเหลี่ยมสีน้ำเงิน คงเป็นโลโก้ที่คุ้นหูคุ้นตาใครหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ให้บริการทางการแพทย์และคนที่ทำงานในวงการแพทย์คงไม่มีใครไม่รู้จักอย่างแน่นอน
โรชเป็นบริษัทเก่าแก่จากสวิตเซอร์แลนด์ที่ก่อตั้งมายาวนานถึง 125 ปี และประกอบกิจการในประเทศไทยมากว่า 50 ปี อีกทั้งยังลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ติดอันดับ Top 10 ของโลก นับเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) และการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล (Personalised Healthcare) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษามะเร็ง และรายการยาที่อยู่ระหว่างการวิจัย (Drug Pipeline) ไปสู่การรักษาโรคตา โรคหายาก และโรคติดเชื้อ อีกด้วย
วันนี้เรามีโอกาสพูดคุยถึงการปรับรูปแบบการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพในสถานการณ์ปัจจุบันกับ Mr.Farid Bidgoli, General Manager จาก Roche Thailand, Myanmar, Cambodia และ Laos ซึ่งมีแนวคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จะเป็นอย่างไรไปติดตามกัน
ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อระบบดูแลสุขภาพ
ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ประเทศไทยได้คาดการณ์ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบไว้ว่า อุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน จะเพิ่มสูงขึ้นมากในผู้สูงอายุ โดยส่งผลให้ประเทศต้องใช้งบประมาณเพื่อการดูแลสุขภาพสูงขึ้น และความสามารถในการทำงานของคนหนุ่มสาวอาจต้องลดลงเนื่องจากความจำเป็นในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุในครอบครัว
แต่เมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ อย่างโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เกิดความผันผวนและท้าทายยิ่งกว่าเดิม แต่โรชก็รับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว โดยผนวกความเชี่ยวชาญทั้งด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษาเข้าไว้ด้วยกัน
โรชมีเครื่องมือสำหรับตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 จนถึงยาที่ได้รับอนุมัติล่าสุดเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564 สำหรับรักษาผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และเป็นผู้มีความเสี่ยงที่โรคจะลุกลามไปสู่อาการรุนแรง เพื่อรับมือกับภาวะเตียงเต็มในขณะนี้
ต่อให้ความรุนแรงของโควิด-19 จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคต การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชนก็จะยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง
โรช ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบดูแลสุขภาพ ตระหนักว่ารูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ป่วยได้ จึงตัดสินใจที่จะปรับรูปแบบการทำงานใหม่ พร้อมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ
‘พันธมิตรที่น่าเชื่อถือ’ (Trusted Partner) บทบาทใหม่ของโรช ต่อการทำงานร่วมกับ stakeholders
โรชมองว่าความท้าทายในระบบดูแลสุขภาพของไทย ซับซ้อนเกินกว่าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวจะสามารถแก้ไขได้ ด้วยเหตุนี้ โรชจึงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล ชมรมผู้ป่วย หรือแม้แต่บริษัทที่อยู่นอกอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการทำงานรูปแบบใหม่นี้ คือ ความร่วมมือระหว่างโรชกับโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจยีนแบบครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2564 ทำให้ไม่ต้องส่งตัวอย่างเลือดหรือชิ้นเนื้อของผู้ป่วยไปยังห้องปฏิบัติการในอเมริกา ผู้ป่วยจึงได้ผลการตรวจยีนรวดเร็วยิ่งขึ้น และมีค่าใช้จ่ายในการตรวจน้อยลง
ความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการดูแลสุขภาพของประเทศไทยนี้เอง ที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เข้ามาสร้างความร่วมมือด้วยกัน มองโรชในฐานะ ‘พันธมิตรที่น่าเชื่อถือ’
การปรับรูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อทำความเข้าใจความท้าทายของผู้ป่วยและร่วมกันสร้างโซลูชั่น
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โรชได้ตั้งตำแหน่งใหม่ขึ้นถึง 2 ตำแหน่ง ได้แก่ Patient Journey Partner (PJP) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำความเข้าใจ Pain Points ที่ผู้ป่วยต้องเผชิญตลอดเส้นทางการรักษา (patient journey) โดย PJP จะทำหน้าที่เป็น Primary Point of Contact ระหว่างโรชกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับประสบการณ์การรักษาที่ดียิ่งขึ้น
ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่งคือ Health System Partner (HSP) ซึ่งทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการดูแลสุขภาพ เช่น หน่วยงานในระบบสาธารณสุข ชมรมผู้ป่วย เป็นต้น เพื่อผลักดันโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยได้เร็วยิ่งขึ้น
รูปแบบการทำงานซึ่งมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-Centric) แบบที่โรชริเริ่มนี้ นับว่าสิ่งใหม่ในวงการการดูแลสุขภาพ และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการทำงานแบบเดิมๆ ที่เน้น Tell-and-Sell หรือมุ่งเน้นที่การนำเสนอยาเท่านั้น แต่กลับเป็นผู้มีส่วนร่วมในระบบ Healthcare Ecosystem ที่จะสร้างความร่วมมือ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาด้วย Healthcare Solution ต่างๆ
ตัวชี้วัดความสำเร็จตามแบบฉบับของโรช
แม้การวัดผลเชิงปริมาณ อย่างยอดขาย (sales target) หรือส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) จะเป็นการวัดผลที่ทำได้ง่าย แต่โรชกลับบอกว่าไม่ต้องการใช้ตัวชี้วัดเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว
เพราะความสำเร็จของรูปแบบการทำงานที่โรชดูจาก ‘การสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเส้นทางการรักษาของผู้ป่วย’ และ ประสบการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับจากการทำงานร่วมกับโรช’
คุณสมบัติและทักษะของพนักงานที่พร้อมรับมือกับความผันผวนในปัจจุบัน
นับตั้งแต่ปี 2562 ที่โรชได้นำ Agile Methodology เข้ามาใช้ในการทำงาน ทำให้รับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้เร็วขึ้น เนื่องจากเมื่อไม่มีลำดับขั้นในองค์กร ความยุ่งยากซับซ้อนในการติดต่องานภายในก็ลดลง
เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ ‘Networked Organisation’ หรือการแบ่งปันทรัพยากรและโซลูชั่นระหว่างกันในเครือข่ายพนักงานของโรชทั่วโลก ซึ่งมีสำนักงานอยู่มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และพนักงานรวมกันกว่า1 แสนคน และบทบาทใหม่ของโรช ‘Trusted Partnership’ จากความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
โรชจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการคัดเลือกบุคลากร นอกจากจะพิจารณาที่ความสามารถและประสบการณ์แล้วที่สำคัญคือต้องมี Growth Mindset, Enterprise Mindset และ Digital Literacy เพื่อให้สามารถร่วมงานกันได้ในวัฒธรรมการทำงานของโรช และสอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรเที่ผู้ป่วยจะเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น
ทิศทางและอนาคตของ Roche ในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ
ในอีก 10 ข้างหน้า ซึ่งก็คือปี 2573 โรชมุ่งมั่นที่จะเพิ่มนวัตกรรมการรักษาให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย แต่ลดค่าใช้จ่ายของสังคมลง 50%
การเพิ่มนวัตกรรมการรักษา ไม่อาจอาศัยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งโรชมุ่งมั่นที่จะทำอย่างต่อเนื่อง เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ระบบดูแลสุขภาพจะต้องเพิ่มความพร้อมในการรับนวัตกรรมหรือการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ด้วยเช่นกัน
การลดค่าใช้จ่ายของสังคมลง ทำให้โรชต้องกลับมาทบทวนขั้นตอนต่างๆ ใหม่ทั้งหมด เพราะกว่าจะผลิตยาขึ้นมาสักชนิดหนึ่งนั้นต้องใช้เวลาราว 12 ปี และลงทุนไปกว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัยทางคลินิก การตรวจวินิจฉัย การมอบการรักษา การติดตามผลการรักษา การทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ และการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้จริง ซึ่งล้วนต้องหาทางลดต้นทุนลง
เพราะฉะนั้น เหตุที่โรชต้องฉีกกฎการทำงานแบบเดิมออกเสีย และปรับรูปแบบการทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ก็เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในสังคมที่น้อยลงนั่นเอง
“Doing now what patients need next.”
M-TH-00001375