ไหวหรือเปล่า? เมื่อความเครียดมาทักทายในวันที่การ Reskill มาถึง

763
1920-What Is Reskilling

ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เชื่อว่าหลายคนคงมักจะได้ยินใครต่อใครบอกว่า…

‘จำเป็นต้อง Reskill – Upskill นะ ไม่งั้นอนาคตการทำงานไม่รอดแน่’
‘Reskill สำคัญในยุคดิจิทัล ต้องเริ่มเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นเสียเปรียบคนอื่นหมด’
‘เริ่มก่อนได้เปรียบกว่านะ เดี๋ยวจะไม่ทันเด็กรุ่นใหม่เอา’

แล้วทำไมการ Reskill – Upskill ถึงสำคัญต่อชีวิตยุคดิจิทัล?

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเราต่างทราบกันดีว่าเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อชีวิตและอาชีพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะยิ่งส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตมากขึ้นไปอีก และยังทำให้เกิดนวัตกรรม อาชีพ ทักษะและความรู้ ที่ไม่เคยมีมาก่อนและเป็นเรื่องใหม่ของทุกคน จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไม Reskill – Upskill ถึงจำเป็นและสำคัญต่อชีวิตในยุคแห่งความไม่แน่นอน โดยเฉพาะคนวัยทำงาน

แน่นอนว่าเราตระหนักได้ว่า Reskill – Upskill ในช่วงเวลานี้มีความจำเป็นอย่างมาก แต่ก็จะมีทั้งกลุ่มที่เลือกอยู่เฉยๆ ยังไม่อยากเริ่มต้นอะไรทั้งสิ้น หรือกลุ่มคนที่พร้อมลงทุนลงแรงอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

แล้วเคยสงสัยกันไหม ทำไมเราถึงไม่สนใจลงมือทำทั้งๆ ที่รู้ว่ามันสำคัญ? ทำไมเราลงมือลงแรงอย่างเต็มที่แต่กลับไม่พัฒนาขึ้นเลย? มิหนำซ้ำความเครียดยังมาทักทายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในวันที่การ Reskill มาถึงแบบนี้ Mission To The Moon อยากชวนทุกคนมาตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเข้าใจปัญหาที่แท้จริง และค้นหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมให้ตัวเองกัน ก่อนที่ความพยายามจะไร้ความหมาย ก่อนที่พลังกายและพลังใจจะเหนื่อยล้าไปมากกว่านี้!

เข้าใจปัญหาทำไมยิ่งลงมือทำยิ่งเหมือนอยู่กับที่?

1. ไม่มีแรงจูงใจ

ถึงแม้เราจะรู้ดีว่า Reskill สำคัญและจำเป็นในระยะยาวมากแค่ไหน แต่เรากลับยังเฉื่อยชา นิ่งเฉย ไม่เริ่มลงมืออย่างจริงๆ จังๆ สักที สาเหตุอาจมาจากเรายังตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไรกันแน่ ทำให้ไม่มีเป้าหมายและแรงจูงใจที่จะพัฒนาทักษะและความรู้ของตัวเอง

2. ไม่เปิดใจ

เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ เชื่อว่าคงมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเป็นธรรมดา บางคนอาจชอบเพราะรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้เรียนรู้และพบเจออะไรใหม่ๆ และบางคนอาจไม่ชอบเพราะมองว่าการเรียนมันน่าเบื่อ หรือคิดว่าตัวเองนั้นแก่เกินเรียนไปแล้ว

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากทัศนคติของเราเองทั้งนั้น ความคิดหรือความเชื่อบางอย่างอาจทำให้เราไม่ยอมเปิดใจและปิดกั้นตัวเองจากการเรียนรู้ไปเลย เพราะในความเป็นจริงแล้ว การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกเพศทุกวัยทุกสถานที่ หรือ Lifelong Learning ที่เรามักพูดกันมาโดยตลอด


3. ไม่ยอมตกเทรนด์

เป็นกันไหม? เมื่อมีคนบอกว่าทักษะนี้กำลังมาแรงหรือคอร์สนี้ดังมากๆ มีคนแห่กันไปเรียนเต็มไปหมด เรามักจะเป็นคนที่ไม่เคยพลาดและตามเก็บทุกทักษะและคอร์สเรียนที่เป็นที่ได้รับความนิยม โดยขาดการพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้เหมาะสมและจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ขอเพียงแค่เอาไว้ก่อน ยิ่งเยอะเท่าไรยิ่งดี เพียงเพราะกลัวว่าจะตกขบวนและคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ FOMO (Fear of Missing Out) หรือ อาการกลัวว่าจะพลาดอะไรไป ไม่ทันคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ จนทำให้รู้สึกเครียดและเป็นกังวลอยู่ตลอดเวลา ซ้ำร้ายเราอาจไม่ได้รับความรู้เท่าที่ควร เพราะสิ่งที่ลงแรงไปนั้นมันไม่เหมาะสมกับชีวิตและอาชีพของเรา


4. ไม่หยุดเปรียบเทียบ

แม้ว่าการอยู่ในสังคมที่รายล้อมไปด้วยคนที่ประสบความสำเร็จไปทุกเรื่อง เก่งไปทุกอย่าง และก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ช่วยทำให้เรามีแรงกระตุ้น เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น แต่ก็เป็นดาบสองคมที่กลับมาทิ่มแทงจิตใจไม่น้อย เพราะยิ่งคนอื่นก้าวหน้าไปมากเท่าไร ยิ่งทำให้เรากดดันตัวเองว่าต้องทำให้ได้มากกว่า และคอยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอ ทำให้ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรก็ตาม เรามักจะคิดในเชิงลบไปก่อนแล้วว่า ‘สิ่งที่ทำไปยังไม่ดีพอ’ ‘ทำไปเสียเวลาเปล่า ไม่สำเร็จหรอก’ ‘ทำไมถึงทำได้เท่านี้เอง คนอื่นไปไกลกว่าแล้ว’ สุดท้ายก็รู้สึกเครียด ท้อแท้ เหนื่อยล้า ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่ได้ทำอะไรสักที

แนวทางรับมือกับปัญหาและความเครียดเมื่อโลกต้อง Reskill

หากปล่อยให้ปัญหาและความทุกข์กัดกินร่างกายและจิตใจต่อไป ไม่ใช่แค่ทักษะที่จะไม่พัฒนา ไม่ใช่แค่เราที่จะหยุดอยู่กับที่ แต่สุขภาพกายและใจในระยะยาวจะได้รับผลกระทบไปด้วย! มาลองดูกันว่ามีแนวทางอะไรบ้างที่รับมือกับปัญหาและขจัดความเครียดได้ดีเมื่อเราต้อง Reskill – Upskill

1. เปลี่ยนทัศนคติและเปิดใจต่อการเรียนรู้ เพราะเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา การเรียนไม่จำกัดเพศ อายุ หรือสถานที่ และไม่มีคำว่าแก่เกินเรียน

2. เลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อช่วยให้สนุกกับการเรียนมากขึ้น และยังช่วยให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนและเกิดแรงจูงใจมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การอ่านหนังสือ การเรียนออนไลน์ การเรียนตัวต่อตัว

3. ไม่ควรทำตามกระแสสังคม เพราะการเรียนรู้ที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพ ต้องมาจากสิ่งที่เราสนใจ เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของเรา

4. อย่าตั้งเป้าหมายสูงเกินไป ควรเริ่มจากสิ่งเล็กไปใหญ่ ค่อยๆ ทำแต่ละขั้นตอนให้สำเร็จทีละขั้น

5. ไม่ควรกดดันตัวเองมากเกินไป ควรแบ่งเวลาพักบ้าง เพราะสมองเราไม่ได้ถูกออกแบบให้โฟกัสอะไรนานๆ หากกดดันมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาวได้

6. ไม่ควรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะต้นทุนชีวิตและจังหวะชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน

7. ควรเริ่มทำเมื่ออยากทำและเลือกทำในสิ่งที่ชอบหรือสนใจ ไม่ควรทำเพียงเพราะสังคมกดดันหรือใครสั่งให้ทำ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำไปจะไม่ได้ประโยชน์อะไร


แม้ว่าเราจะทราบกันดีว่า Reskill – Upskill นั้นสำคัญต่อการทำงานและชีวิตในยุคดิจิทัลก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและไม่ควรละเลยก็คือ สุขภาพกายและสภาพจิตใจ เพราะอะไรที่มันมากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี ยิ่งมีแต่ทำให้ความพยายามล้มเหลว และเกิดความเครียดสะสมตามมา

โดยเราสามารถพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับมีสุขภาพกายและใจที่ดีควบคู่ไปด้วยกันได้ เริ่มต้นจากการเปิดใจ เปลี่ยนมุมมอง และค่อยๆ ค้นหาความต้องการของตัวเอง และแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเรา จะช่วยให้การเรียนรู้ประสบความสำเร็จได้แน่นอน


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
อายุเท่านี้ควรมีอะไรบ้าง? ความสำเร็จกำหนดได้จริงไหม เมื่อชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน
จะตามหา ‘ความสุข’ ได้อย่างไรในช่วงเวลายากลำบาก


อ้างอิง:
– https://bit.ly/3qJL50p
– https://bit.ly/3FjQbFv
– https://bit.ly/3FRsDri
– https://bit.ly/3ryxBEb
– https://bit.ly/3KvCRRp
– https://mayocl.in/3rzmPgL


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#reskill
#inspiration

Advertisements
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่