ก้าวหน้าในองค์กรด้วย “ทักษะการเรียนรู้” แบบไม่มีที่สิ้นสุด

1519
reskill-unlearn-learn-relearn
reskill-unlearn-learn-relearn

ในยุคที่โลกแห่งการทำงานเต็มไปด้วยความผันผวน ทักษะสำคัญอย่าง “การเรียนรู้” กลายมาเป็นสกุลเงินที่เราใช้แลกเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความก้าวหน้า” ในหน้าที่การงาน

พนักงานที่มีทักษะการปรับตัว (Adaptive) และรู้จักทำงานเชิงรุก (Proactive) ได้กลายมาเป็นทรัพยากรสำคัญที่เกือบทุกองค์กรต้องการ
รีด ฮอฟฟ์แมน ผู้ก่อตั้งบริษัทดังอย่าง LinkedIn เล่าว่า เขามักจะตามหาพนักงานที่มี “Infinite Learning Curve” หรือเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด อธิบายง่ายๆ ก็คือ คนที่ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดและเรียนรู้ได้ดี ส่วนสัตยา นาเดลลา CEO ของ Microsoft ก็เคยตอกย้ำความสำคัญของการเรียนรู้ ผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า “คนที่พร้อมเรียนรู้ทุกอย่าง” นั้นย่อมดีกว่า “คนที่รู้ดีไปเสียทุกอย่าง” เสมอ

ความสามารถในการไม่ยึดติดกับความรู้เดิม (Unlearn) การเรียนรู้สิ่งใหม่ (Learn) และการเรียนสิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ (Relearn) กลายมาเป็น “3 ปัจจัยสำคัญ” ของความสำเร็จในหน้าที่การงานระยะยาว

ในบทความเรื่อง Make Learning a Part of Your Daily Routine จากเว็บไซต์ Harvard Business Review ผู้เขียนอย่าง เฮเลน ทัปเปอร์ และ ซาราห์ เอลลิส ได้นำประสบการณ์จากการออกแบบโปรแกรมพัฒนาทักษะให้พนักงานกว่า 50,000 คนทั่วโลก และประสบการณ์การทำงานร่วมกับบริษัทดังอย่าง Uniliver และ Microsoft มาตกตะกอน เป็นเทคนิคพัฒนา “ทักษะการเรียนรู้” ในแบบที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Learn เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

จริงๆ แล้วการทำงานในชีวิตประจำวันมีโอกาสมากมายให้เราเรียนรู้ แต่บ่อยครั้งเรามัวแต่รีบทำงานให้เสร็จก่อนเดดไลน์​ จนพลาดโอกาสดีๆ ไป มาทำความรู้จัก 3 วิธีที่จะช่วยให้เราตั้งใจเรียนรู้กันอีกครั้งดีกว่า

1) เรียนรู้จากผู้อื่น

คนที่เราใช้เวลาด้วยก็คือแหล่งความรู้ที่ดีอีกแหล่งหนึ่ง ลองหาเวลาสัก 1 ครั้งต่อเดือนในการจัด “Curiosity Coffee” หรือการนั่งคาเฟ่เพื่อพูดคุยกับคนที่เราไม่สนิทหรือไม่รู้จัก โดยอาจเป็นคนจากแผนกอื่นก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้เราได้แง่มุมใหม่ๆ ในการทำงาน และลดโอกาสการตกอยู่ใน Echo Chamber 

Advertisements

2) ทำการทดลอง

การทดลองช่วยให้เราได้ทดสอบ เรียนรู้ และปรับตัว โดยวิธีการทำการทดลองในที่ทำงานนั้นทำได้หลากหลาย ตั้งแต่ลองทำงานเดิมๆ ด้วยวิธีใหม่ ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการนำเสนอ ไปจนถึงทดสอบประสิทธิภาพของการประชุมแบบเจอกัน vs วิดีโอคอล

3) ทุกคนคือคุณครู

แต่ละคนก็เก่งกันคนละอย่าง ลองจัดคลาสเรียนให้แต่ละคนได้เวียนมาสอนสิ่งที่ตนถนัด ให้กับคนที่สนใจ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

Unlearn เลิกยึดติดกับสิ่งเดิมที่เรียนรู้มา

เราต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวางวิธีการคิดและความคิดเดิมๆ ที่ ‘ถนัด’ และ ‘คุ้นเคย’ ถึงจะพร้อมต่อการโอบรับสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่คุ้นชิน และก้าวสู่โลกการทำงานแบบใหม่ไปพร้อมๆ กัน

1) เรียนรู้จากขั้วตรงข้าม

จะปล่อยวางความรู้เดิมๆ ที่เราเคยเชื่อว่าดีได้อย่างไร? ลองพูดคุยกับคนที่คิดต่างหรือแตกต่างดูสิ (เช่นคนที่ทำงานคนละแผนก คนที่ประสบการณ์น้อยกว่ามาก หรือประสบการณ์มากกว่ามาก) โดยอาจเริ่มโดยการถามพวกเขาว่า “ถ้าเขาเป็นเราจะแก้ปัญหาอย่างไร”

Advertisements

2) ถามคำถามเหล่านี้

เมื่อเราทำสิ่งเดิมไปนานๆ เราจะเริ่มตั้งคำถามกับมันน้อยลง เราจึงต้องหมั่นถามคำถามเพื่อท้าทายความเชื่อเดิมๆ และใช้เป็นโอกาสตกตะกอนทางความคิด ดังนั้นลองจับคู่กับเพื่อนร่วมงานสักคน และต่างฝ่ายต่างถามคำถามเหล่านี้ดู

– ในปี 2030 คิดว่าอุตสาหกรรมของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อะไรบ้าง
– หากมีการเริ่มใช้หุ่นยนต์หรือระบบอย่าง Automation เราจะแบ่งงานที่ทำอยู่กับหุ่นยนต์อย่างไร งานไหนเรายังต้องทำเอง และงานไหนสามารถใช้หุ่นยนต์ได้
– จุดแข็งด้านใดของเราที่จะเป็นประโยชน์ หากองค์กรใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว
– ถ้าตื่นมาในวันพรุ่งนี้และงานที่เราเคยทำอยู่หายไป ด้วยทักษะที่มี เราจะย้ายไปทำงานอะไรแทน
– หากเราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ในธุรกิจที่เราทำอยู่ จะเปลี่ยนแปลงอะไร

Relearn เรียนสิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่

แม้โลกจะเปลี่ยนไป ความสามารถของเราก็ยังไม่หายไปไหน แต่ที่ต้องเปลี่ยนตามคือ “วิธี” ในการนำความสามารถไปใช้ ดังนั้นเราต้องหมั่นวัดระดับความสามารถเราบ่อยๆ และดูว่าเราต้องปรับอะไรบ้าง เพื่อให้ทำงานได้ดีภายใต้บริบทปัจจุบัน

1) ใช้ความสามารถของเราในสถานการณ์ใหม่ๆ

วิธีหนึ่งที่จะทำให้จุดแข็งของเราเหนือระดับยิ่งขึ้น คือ การหาโอกาสลองใช้งานมันในหลายๆ สถานการณ์ ตั้งแต่ในงานหลักที่ทำทุกวัน โปรเจกต์ที่เรามีส่วนร่วม งานเสริมอื่นๆ ไปจนถึงงานอดิเรก
ยกตัวอย่างเช่น A ทำงานในตำแหน่งนักการตลาด แต่นอกเหนือจากเวลางาน เขายังใช้ความรู้ทางการตลาดที่มีในการช่วยพัฒนาธุรกิจที่บ้าน

2) ขอฟีดแบ็กจากผู้อื่น

เราที่ทำงานเดิมๆ อันคุ้นชินอาจมองไม่เห็นจุดบอดของการทำงาน ลองปรึกษาและขอฟีดแบ็กจากผู้อื่นดู เราอาจพบว่าการเติบโตที่เราคิดว่ามันตันแล้ว จริงๆ แล้วยังมีพื้นที่ให้พัฒนาอีกมากมาย

3) เรียนรู้ทักษะล้มแล้วลุก (Resilience)

สิ่งหนึ่งที่แน่นอนในความผันผวนนี้ คือ ความผิดพลาด ไม่ว่าจะเตรียมการมาดีแค่ไหนก็อาจล้มได้ทั้งนั้น แต่แทนที่จะจมอยู่กับความล้มเหลวและสิ่งที่ไม่เวิร์ก ลองหันมามองว่ามีอะไรที่เวิร์กบ้าง หรือ เราจะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

แม้จะมีคนจำนวนมากคาดการณ์ว่า “โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร” งานไหนจะหายไปบ้าง และ ทักษะใดบ้างที่ต้องเรียนรู้ เราก็ไม่มีทางรู้แน่ชัดว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรามาก ในท้ายที่สุดทุกอย่างอาจจะไม่เปลี่ยนไปในทิศทางที่เราคิดก็ได้

แต่สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่วันนี้ คือ พัฒนาทักษะในการเรียนรู้ให้แข็งแรง เพื่อที่จะได้พร้อมรับทุกสถานการณ์ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ทันใจในวันที่ความเปลี่ยนแปลงมาถึงจริงๆ

อ้างอิง
Make Learning a Part of Your Daily Routine by Helen Tupper and Sarah Ellis :: https://bit.ly/3cZ2Cxz

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รู้จัก “กฎ 3x3x3 แห่งการเรียนรู้” ฝึกทักษะใหม่และพัฒนาตนเองภายใน 3 เดือน :: https://bit.ly/3zSn0ch
“วัยกลางงาน” กับการเริ่มใหม่! ปรับตัวอย่างไรให้ราบรื่น เมื่อย้ายงานในช่วง Mid-Career :: https://bit.ly/3bqoEst

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#reskill

 

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่