จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของสายงานอาชีพที่เป็นที่ต้องการของแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ในปัจจุบัน เมื่อเข้าไปในแพลตฟอร์มหางานต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหล่าอาชีพที่รับสมัครเป็นจำนวนมาก นั้นอยู่ในสายเทคฯ ในขณะที่สายสุขภาพก็มีความต้องการบางสายงานที่สูงมากขึ้นเช่นกัน แค่เพียงเราอาจจะไม่ได้เห็นตามแพลตฟอร์มเหล่านี้เหมือนอย่างสายไอทีสักเท่าไร
การเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์ของโลกธุรกิจที่เริ่มปรับและขยับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลและมากขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ทำให้คนกลับมาตระหนักถึงเรื่องของสุขภาพกันมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ทำให้ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันถึง 6 ตัวอย่างอาชีพที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันกัน
1. ผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรม (Genetic Counselor)
จะดีสักแค่ไหนกัน? หากเราสามารถเข้าใจและรู้จักตัวเองที่ไม่ใช่แค่ ‘ความรู้สึก’ แต่ยังรวมถึง ‘การทำงานของร่างกาย’ ของเราเอง ซึ่งผู้ที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจตัวเองคือหน้าที่ของ “ผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรม” นั่นเอง
โดยหน้าที่ของผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรม คือการศึกษา ‘ความเสี่ยง’ ที่เราแต่ละคนจะมีโอกาสเป็นโรคหรือสภาวะๆ หนึ่ง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคอัลไซเมอร์ ผ่านการวิเคราะห์พันธุกรรมในครอบครัว นอกจากนี้ อาชีพนี้ยังมีอีกสายที่จะเป็นการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาการมีบุตร สำหรับครอบครัวที่มีสภาวะทางพันธุกรรมอีกด้วย
โดยจากข้อมูลของ U.S. Bureau of Labor Statistics ระบุว่า รายได้ต่อปีของผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรมอยู่ที่ 80,150 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2,743,534 บาท และยังมีการคาดการณ์อีกว่าระหว่างปี 2020-2030 จะมีความต้องการของอาชีพนี้เพิ่มขึ้นกว่า 26% เลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูงกว่าอาชีพอื่นๆ อีกด้วย
2. นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Systems Analyst)
ในโลกปัจจุบัน คอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเกือบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการธุรกิจ หรือแม้แต่การให้บริการเองก็ตาม ไม่ว่าองค์กรใดก็ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์กันทั้งนั้น ทำให้การวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ จึงเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานในปัจจุบัน
โดย Computer System Analyst อาจถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งคือ System Architects ผู้ที่ทำหน้าที่ในการศึกษาระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กร และทำการวางแผนกระบวนการต่างๆ และทำงานร่วมกับโปรแกรมเมอร์และวิศวกรเพื่อพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่จะถูกใช้ภายในพนักงานในองค์กร เพื่อที่จะทำให้องค์กรนั้นสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
และเนื่องจากแต่ละองค์กรและแต่ละกลุ่มธุรกิจมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านของความต้องการหรือด้านของระบบ เช่น หากองค์กรทำด้านระบบประกันภัย นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของ ‘ความปลอดภัย’ ของข้อมูล ดังนั้นนักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์จึงจำเป็นต้องต่อยอดทักษะเฉพาะด้านอยู่เสมอ เพื่อที่จะออกแบบระบบเพื่อตอบรับความต้องการขององค์กรได้อย่างดีที่สุด
ซึ่งจากข้อมูลของ U.S. Bureau of Labor Statistics พบว่า แนวโน้มความต้องการอาชีพนักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ในปี 2020 จนถึงปี 2030 อาจเพิ่มมากขึ้นถึง 7% โดยค่าตอบแทนต่อปีอยู่ที่ราว 99,270 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,398,012 บาท
3. ผู้ช่วยนักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy Assistant)
ในประเทศไทยหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยได้ยินชื่อของอาชีพนี้มากสักเท่าไร แต่ในต่างประเทศ อย่างในสหรัฐฯ อาชีพนี้กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากและมีอัตราการเติบโตของความต้องการที่น่าสนใจ โดยจาก U.S. Bureau of Labor Statistics พบว่า แนวโน้มความต้องการอาชีพนี้ในปี 2020 จนถึงปี 2030 นั้นอยู่ที่ 34% ซึ่งนับว่าสูงอย่างมากเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 61,520 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2,105,829 บาท
โดยหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัดคือการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการป่วย บาดเจ็บ หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย ที่ไม่สามารถทำกิจกรรมขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำได้ ให้พวกเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองใหม่อีกครั้งผ่านการให้คำปรึกษา การบำบัดตามอาการของคนไข้ รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ให้แก่คนไข้ โดยผู้ที่ทำอาชีพผู้ช่วยนักกิจกรรมบำบัดจะต้องมีความรู้ทางกายภาพ ความมั่นคงทางอารมณ์ และความรู้สึกกายสัมผัส (Tactile Sense) ในการที่จะทำการช่วยเหลือผู้ป่วย เรียกได้ว่าเป็นอีกอาชีพสายสุขภาพที่มีความต้องการที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
4. วิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ (Robotics Engineer)
ในปัจจุบัน การผลิตหุ่นยนต์เพื่อลดการทำงานที่ไม่จำเป็นของมนุษย์มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การเติบโตของอาชีพ ‘วิศวกรหุ่นยนต์ (Robot Engineer)’ เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นอีกอาชีพที่ตอบโจทย์ต่อ ‘ภาคอุตสาหกรรม’ อย่างมากเลยทีเดียว โดยหน้าที่ของวิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ จะดูแลตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพัฒนาโปรแกรมให้ทันสมัยอยู่เสมอ อย่างอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ก็ต้องมีวิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อคอยตรวจสอบและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์อยู่เสมอ หรือแม้แต่เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ หุ่นยนต์ให้การบริการที่ใกล้ตัวเราทุกคน ก็ล้วนแล้วถูกผลิตมาจากเหล่าวิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังพบว่าการเติบโตของอาชีพวิศวกรหุ่นยนต์ยังเติบโตมากขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจาก Career Explorer ระบุว่า เงินเดือนเฉลี่ยต่อปีของวิศวกรหุ่นยนต์นั้นสูงถึง 100,640 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3,444,907 บาท ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงจากนี้อีกด้วยจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในหลายๆ อุตสาหกรรม
5. นักพัฒนาเว็บเต็มรูปแบบ (Full Stack Developer)
Full Stack Developer อาจเป็นหนึ่งในอาชีพที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ เมื่อเข้าไปในแพลตฟอร์มหางาน ทำให้หลายคนอาจจะสงสัยว่าอาชีพนี้ทำอะไรกันแน่? โดยหน้าที่ของนักพัฒนา Full Stack หรือ Full Stack Developer ที่เราคุ้นหูกัน คือ ผู้ที่พัฒนาเว็บอย่างเต็มรูปแบบทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ทั้ง Front End และ Back End ของเว็บไซต์
โดย Front End Developer คือ ผู้ที่สร้างการตอบโต้ระหว่างผู้ใช้งาน เช่น ข้อความ รูปภาพ การกดปุ่มต่างๆ บนเว็บไซต์ ซึ่งจำต้องมีทักษะการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น HTML CSS ขณะที่ Back End Developer คือ การวางระบบหลังบ้าน เช่น การดูแลความปลอดภัย หรือการดูแลไม่ให้เว็บไซต์เกิด Error ขึ้นมานั่นเอง และส่วน Full-Stack ก็คือผู้ที่สามารถทำทั้ง Front End และ Back End ได้แบบเต็มรูปแบบนั่นเอง
โดยจากผลสำรวจของ 2020 Stack Overflow พบว่า Full Stack Developer ได้เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 109,508 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่นักพัฒนาเว็บไซต์ทั่วไปจะอยู่ที่ราว 71,130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือราว 3,748,458 ต่อปี
6. ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Specialist)
จากข้อมูลของ McKinsey คาดการณ์ว่าโลกในอีก 10 ปี ข้างหน้าจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยี AI และบริษัททั่วโลกมากถึง 70% จะนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้เป็นที่แน่นอนว่าอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ AI จะต้องเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในอนาคต
AI Intelligence Specialist หรือผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน โดยหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ คือการใช้ทักษะวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มาออกแบบเครื่องจักร ระบบ หรือซอฟต์แวร์ที่สามารถคิดและทำงานได้เอง โดยจะมีการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Machine Learning หรือ Neuro-Linguistic Programing (NPL) เพื่อที่จะแก้ปัญหาทางธุรกิจ ด้วยข้อมูลที่ลึกขึ้น ด้วยความถูกต้องแม่นยำที่มากขึ้น และด้วยความสม่ำเสมอที่มากขึ้น
โดยจากข้อมูลของ Forbes ในปี 2020 พบว่าในปี 2015-2019 อาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์นั้นมีการเติบโตถึง 74% เลยทีเดียว และจากข้อมูลของ Payscale ระบุว่ารายได้ต่อปีของอาชีพนี้นั้นอยู่ที่ 123,698 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือราว 4,234,182 บาทเลยทีเดียว
นี่ก็เป็น 6 ตัวอย่างอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และในอนาคต อาชีพเหล่านี้ยังมีแนวโน้มอัตราการจ้างงานที่จะสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าการขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคใหม่ สู่โลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานจริงๆ ทำให้เราในฐานะคนทำงาน ก็ต้องคอยเรียนรู้และอัปเดตข้อมูลใหม่ๆ Upskill และ Reskill เพื่อสร้างคุณค่าให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
อ้างอิง
https://bit.ly/3NORTTg
https://bit.ly/3zdGEj4
https://bit.ly/38JIFJ1
https://bit.ly/3aDM8cR
https://bit.ly/3O9pTtV
https://bit.ly/3texI9k
https://bit.ly/3GJhHOq
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#reskill