ความสัมพันธ์ – ความสำคัญ

4280
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

Johann Eduard Hari เป็นนักข่าวและนักเขียน ตัวเขาเองมีหนังสือขายดีระดับ The New York Times bestseller ชื่อ Lost Connection เป็นหนังสือที่ต้องบอกว่าอ่านแล้วสนุกมาก

เขามีโอกาสได้ขึ้นพูดบนเวที TED และได้เล่าเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่พวกเราควรคิดและตรึกตรองให้มากๆ ครับ

Johann Hari ได้รับการวินิยฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่วัยรุ่น เขาได้รับการจ่ายยา Paxil เพื่อมารักษาอาการ และช่วยปรับสมดุลของเคมีในสมอง

Advertisements

ตอนแรกๆ ที่กินยาก็อาการดีขึ้นครับ แต่หลังจากนั้นเขาก็กลับมาเป็นแบบเดิมอีก คราวนี้ก็เลยต้องเพิ่มโดสของยาเข้าไปอีก จนกระทั่ง 13 ปี ให้หลังเขากินยาสูงที่สุดเท่าจะกินได้แล้ว แต่เขาก็เองก็ยังรู้สึกเจ็บปวดและวนเวียนอยู่กับความเศร้าหมองที่ไม่มีทางออก

เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “นี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เราก็ทำทุกอย่างตามที่ควรจะทำแล้ว ทำไมเรายังถึงรู้สึกแย่แบบนี้อยู่”

เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เขาได้เดินทางไปทั่วโลก รวมเป็นระยะทางกว่า 60,000 กิโลเมตรเพื่อหาคำตอบ การเดินทางทำให้เขาพบกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จากหลากหลายมุมโลก เพื่อพูดคุยกับคนเหล่านั้นถึงสาเหตุของอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล

ที่สำคัญที่สุด คือ อะไรที่สามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้

เขาพบว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บอกว่าอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลนั้นเกิดขึ้นจาก 9 สาเหตุด้วยกัน 2 ใน 9 นี้เป็นสาเหตุทางชีววิทยา เช่น เรื่องของยีนส์​ หรือการเปลี่ยนแปลงของสมอง เป็นต้น

แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มาจากชีววิทยาเพียงเท่านั้น แต่มันยังมาจากวิธีการใช้ชีวิตของเราอีกด้วย และเมื่อเราเข้าใจมัน เราจะสามารถเข้าใจถึงวิธีการรักษาแบบอื่นได้ด้วย

Johan ย้ำว่าการรักษาแบบอื่นนั้นควรได้รับการพิจารณาให้เป็นส่วนนึง หรือเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการใช้ยาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ความเหงา หรือ การไปทำงานที่คุณไม่มีอำนาจในการควบคุมปัจจัยอะไรเลยได้แต่รับคำสั่งอย่างเดียว ก็เป็นสาเหตุของการซึมเศร้าได้

ถ้าจะให้กล่าวอีกมุม คือ มนุษย์มีความต้องการไม่ใช่แค่ทางร่างกาย แต่เรายังมีความต้องการทางจิตใจด้วย เราต้องการที่จะเป็นส่วนนึงของสังคม เราต้องการชีวิตที่มีเป้าหมาย, ชีวิตที่มีความหมาย เราต้องการให้คนรอบข้างเห็นความสำคัญของเรา

เราต้องการเห็นความหวังกับอนาคตที่กำลังจะมาถึง

Johan บอกว่าเราอยู่ในสังคมที่ความเจริญอย่างมาก เรามีชีวิตในหลายมิติที่ดีกว่าสมัยก่อนอย่างมาก แต่สังคมของเราทุกวันนี้ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนักในการตอบสนองความต้องทางจิดใจ โดยเฉพาะในระดับที่ลึกลงไปมากๆ

วันนึงเขาได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักจิตวิยาชื่อ Dr. Derek Summerfield ซึ่งเคยทำงานอยู่ในประเทศกัมพูชาในปี 2001 ซึ่งหนึ่งในงานที่เขาทำคือการนำเสนอยาต้านโรคซึมเศร้าให้กับคุณหมอท้องถิ่น ซึ่งไม่เคยใช้ยาพวกนี้มาก่อนเลย

พอ Dr. Derak พยายามอธิบายว่ายาพวกนี้ทำอะไร คุณหมอชาวกัมพูชาก็บอกว่า อ่อ พวกเขามีของที่ทำหน้าที่ต้านโรคซึมเศร้าอยู่แล้วละ

ตอนแรก Dr Derak เข้าใจว่าหมอชาวกัมพูชาหมายถึงพวกยาสมุนไพร แต่ปรากฏว่าไม่ใช่

หมอชาวกัมพูชาท่านนี้ก็เล่าต่อถึงเรื่องของชาวนาคนนึง ที่โดนกับระเบิดในที่นาของเขาเองทำให้เขาเสียขาไปข้างนึง

หลังจากนั้นชาวนาก็กลับไปทำนาอีก แต่การทำนาด้วยขาเทียมนั้นยากลำบากมาก ประกอบกับมันสะเทือนใจมากที่ต้องกลับไปในสถานที่ที่ทำขาเขาขาด

ซักพักชาวนาเริ่มที่จะร้องไห้ทั้งวัน ไม่ยอมไปทำงานและหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน

สิ่งที่บรรดาหมอชาวกัมพูชาทำคือ แวะไปหาชาวนาที่บ้าน ฟังชาวนาพูด และบรรดาหมอๆ ก็พบว่าความเจ็บปวดทางใจของชาวนานั้นสมเหตุสมผลมาก

พวกเขาตัดสินใจคุยกับคนในหมู่บ้าน และทั้งหมอและคนในหมู่บ้านก็ซื้อวัวให้กับชาวนาหนึ่งตัว เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องไปทำงานในนา เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันของสังคมที่ชาวนาคนนี้อยู่

วัวคือยาต้านโรคซึมเศร้าที่หมอชาวกัมพูชาจ่ายให้คนไข้ 
หลังจากนั้นชาวนาก็ดีขึ้นตามลำดับ กลับไปทำงาน ไปเลี้ยงวัว 
และไม่ร้องไห้อีกเลย

ในปี 2017 WHO (World Health Organization) ออกมารายงานว่าเมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า เราต้องลดการให้นำ้หนักของความไม่สมดุลของเคมีในสมอง แต่เพิ่มน้ำหนักให้กับความไม่สมดุลในการใช้ชีวิตของเรา

ยาต้านโรคซึมเศร้าอาจจะช่วยคนบางคนได้ดีจริงๆ แต่ถ้าต้นเหตุของการซึมเศร้านั้นมาจากสาเหตุที่ลึกกว่าแค่เรื่องของสารเคมีในสมอง บางทียาอย่างเดียวอาจจะไม่พอ

Johan เน้นว่าเขาไม่ได้บอกว่ายาไม่ดี แต่บางทีมันอาจจะไม่ใช่คำตอบของทุกอย่างก็ได้

จากการทำงานเก็บข้อมูลมาเป็นสิบปี สองเรื่องที่ Johan ต้องการจะย้ำก็คือ

1. ยุคนี้เป็นยุคที่คนเราเหงาที่สุดในประวัติศาสตร์:

มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่บอกว่า คนอเมริกัน 39% บอกว่า ”ตัวเองไม่รู้สึกสนิทสนมกับใครเลยซักคนเดียว” ซึ่งปรากฏการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ในโลกตะวันตก

Advertisements

หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของ Homo Sapiens ตั้งแต่สมัยที่เราอยู่ในทุ่งซาวันน่าในแอฟริกา เราจะพบว่า เผ่าพันธ์มนุษย์ไม่ได้แข็งแรง หรือ เร็วกว่าสัตว์ที่เราออกไล่เลย แต่เป็นเพราะว่าเราอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นเผ่า เป็นสังคม ทำให้เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ราวกับว่าเรามีพลังพิเศษ

ตั้งแต่เราอยู่มาบนโลกนี้หลายหมื่นปี นี่อาจจะเป็นยุคแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ที่พฤติกรรมของเราทำลายความเป็นเผ่า เป็นกลุ่มก้อนของเราลง

Sam Everington เป็นจิตแพทย์​ที่มีคนไข้หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า เขาเชื่อว่ายาไม่สามารถใช้ได้ผลกับทุกคน มันอาจจะดีในบางคน และไม่ได้ผลในบางคนก็ได้ เขาเลยตัดสินใจที่จะลองวิธีการใหม่

คนไข้หลายคนมาหาเขาด้วยอาการที่ค่อนข้างหนัก เช่น เป็นโรคซึมเศร้าจนไม่อยากออกจากบ้านมา 7 ปีแล้ว เป็นต้น ในขณะที่คุณหมอก็ยังคงให้ยาที่คนไข้เคยได้ต่อไป

เขาจึงเพิ่มกิจกรรมบางอย่างเข้ามาด้วย คือ การให้คนไข้มาเจอกันที่คลินิคของเขาสัปดาห์ละสองครั้ง แต่ไม่ได้ให้มานั่งพูดคุยล้อมวงพูดถึงความเศร้าเหมือนที่เราชอบเห็นในภาพยนต์ แต่คนไข้ต้องมานั่งคิดกิจกรรมด้วยกันว่าพวกเขาจะทำอะไรที่มีความหมายในฐานะความเป็น “กลุ่ม” ของพวกเขาดี

หลังจากพวกเขาได้พูดคุยกันก็ตกลงว่าจะเอาพื้นที่เล็กๆ ที่รกร้างว่างเปล่าหลังคลินิคมาทำสวน

พวกเขาเริ่มลงมือทำสวนด้วยกัน พวกเขารดน้ำพรวนดิน พวกเขาเริ่มหาข้อมูลจากหนังสือ ดู youtube เรื่องวิธีการทำสวน สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขากลายเป็นกลุ่มเป็นก้อน พวกเขาสร้าง “เผ่า” ของตัวเองขึ้นมา พวกเขาดูแลสารทุกข์สุขดิบของกันและกัน

เมื่อเวลาผ่านไปหมอก็มาถามคนไข้ว่า รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง
คำตอบของคนไข้คนหนึ่งน่าจะอธิบายทุกอย่างได้ครบถ้วน คนไข้ตอบว่า

“As the garden began to bloom, we began to bloom.” 
“เมื่อดอกไม้ในสวนเริ่มผลิดอก พวกเราก็เบ่งบานตามไปด้วย”

วิธีการนี้กำลังแพร่หลายมากๆ ในยุโรป เราเรียกมันว่า “social prescribing” ซึ่งเริ่มมีหลักฐานว่า การสร้างกลุ่มก้อนลักษณะนี้ขึ้นมาสามารถเยียวยาอาการซึมเศร้าได้จริงๆ

2. บางทีเรากำลังเดินหาความสุขที่ผิดทาง:

Tim Kasser เป็นอาจารย์ที่ Knox College ได้ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการวิจัยเรื่องความสุขที่แท้จริง งานวิจัยของเขาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสุขที่น่าสนใจมากสองสามข้อ

ข้อแรก – ยิ่งคุณ ”เชื่อ” มากเท่าไรว่าคุณสามารถ “ซื้อ” และ “แสดง” ความสุขเพื่อมาทดแทนความรู้สึกเศร้าภายในของคุณได้ คุณจะยิ่งซึมเศร้าและวิตกกังวล

ข้อที่สอง – ข้อมูลบอกว่า ถ้ามองในบริบทของสังคมเราจะพบว่า ในฐานะของสังคมโดยรวม เราให้ค่ากับของ ”ภายนอก” พวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการโชว์วิถีชีวิตใน instagram ไปจนถึงการโชว์สถานะด้วยข้าวของแพงๆ

ด้วยบริบทของสังคมโดยรวม เรากำลังถูกฝึกให้มองหาความสุขในที่ผิดๆ เหมือนกับการกิน junk food ที่ไม่ให้อะไรกับคุณนอกจากความสุขชั่วคราวมากๆ การมองหาความสุขของชีวิตในที่ที่ผิดก็ไม่ต่างกับการเอา junk food เข้าไปในสมองและจิตใจของเรา

Tim Kasser ให้ข้อคิดที่น่าสนใจมากว่าจริงๆ พวกเราก็รู้นะว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุขจริงๆ แต่เรามักไม่ทำ สาเหตุก็เพราะว่า

“Because we live in a machine that is designed to get us to neglect what is important about life.”

“เราใช้ชีวิตอยู่ในเครื่องจักรที่สร้างมาเพื่อให้เราไม่สนใจสิ่งที่สำคัญจริงๆ ของชีวิต”

ลองหยุดคิดซักนิดนึงว่า ตอนเรากำลังจะตาย จำนวน like ใน instagram หรือ retweet ใน twitter จะมีความสำคัญอะไรกับเรา?

สิ่งที่ Johan อยากจะสรุปก็คือว่า อาการซึมเศร้านั้น หลายครั้งมาจากเรื่องของชีววิทยา เรื่องของพันธุกรรม และการใช้ยารักษาก็เป็นทางออกที่ดี

แต่หลายครั้งสาเหตุก็มาจากเรื่องอื่น

ถ้าหากเราคิดว่าเรื่องซึมเศร้ามาจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองอย่างเดียว สิ่งที่เรากำลังจะบอกกับตัวเองและสังคมก็คือว่า

“ความเจ็บปวดของคุณมาจากความผิดปรกติอะไรซักอย่าง เหมือนกับความผิดพลาดในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพียงแต่คอมพิวเตอร์ที่ว่านี่คือสมองของคุณ”

แต่ Johan เชื่อว่าแท้จริงแล้วความซึมเศร้าเป็น “สัญญาณ” ต่างหาก

เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดนี้ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง

เราควรเลิกคิดว่าความเจ็บปวดทั้งหมดนั้นจะมาจาก สารเคมีในสมอง เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องฟังสัญญาณเหล่านี้ด้วย เพราะมันกำลังบอกอะไรบางอย่างที่เราจำเป็นต้องได้ยิน

ถ้าเราเคารพสัญญาเหล่านี้ และฟังมันจริงๆ เราจะพบกับทางออกที่ลึกซึ้งและมีความหมายมากกว่า

เหมือนกับวัวที่ชาวนาคนนั้นได้รับนั่นเอง

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่