ผมได้มีโอกาสอ่านบทความชื่อ 6 Common Leadership Styles — and How to Decide Which to Use When จาก Harvard Business Review ซึ่งกล่าวถึงการใช้วิถีการเป็นผู้นำในแต่ละแบบ ซึ่งเราสามารถนำมาเลือกใช้ได้ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในตอนนั้น
Daniel Goleman นักจิตวิทยาชื่อดังด้านอีคิวบอกว่า “การเป็นหัวหน้าที่เจ๋งสุดๆ ก็คือรู้ว่าแต่ละสถานการณ์อาจต้องใช้วิธีแตกต่างกันนั่นแหละ”
Goleman ได้คิดค้นสไตล์ผู้นำ 6 แบบที่ผู้จัดการมือโปรเอาไปปรับใช้ได้ตามสถานการณ์และความต้องการของทีมแต่ละคน เขาแนะนำสไตล์พวกนี้ครั้งแรกในบทความ Harvard Business Review ปี 2000 ชื่อ “Leadership That Gets Results” แล้วก็กลายเป็นกรอบสำคัญสำหรับผู้นำที่อยากประสบความสำเร็จ ต้องรู้จักสวมหน้ากาก 6 ประเภทด้วยกัน เพื่อปรับตัวเป็นผู้นำที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์
[ ] หนังกากแห่งพลังบังคับ: เรียกร้องให้ลูกน้องทำตามคำสั่งทันที
[ ] หน้ากากแห่งอำนาจ: ระดมพลังทีมเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ร่วม
[ ] หน้ากากกำหนดจังหวะ: คาดหวังความเป็นเลิศและบริหารตนเอง
[ ] หน้ากากแห่งการสานสัมพันธ์: สร้างความผูกพันทางอารมณ์
[ ] หน้ากากแห่งประชาธิปไตย: สร้างฉันทามติ
[ ] หน้ากากของโค้ช: พัฒนาลูกทีมสู่อนาคต
ถึงโลกจะเปลี่ยนไปตั้งเยอะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่สไตล์ผู้นำพวกนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ดี ถ้าคุณเชี่ยวชาญสไตล์เหล่านี้ได้ล่ะก็ จะช่วยให้นำทางผ่านเรื่องยุ่งยากต่างๆ ได้ เสริมขวัญกำลังใจ แล้วก็ผลักดันให้ทีมเติบโตไปข้างหน้า ดังนั้นเรามาดูรายละเอียดของแต่ละสไตล์กันดีกว่า แล้วก็จะสไตล์ความเป็นผู้นำแบบไหนในสถานการณ์ใด ให้เหมาะสมกับโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน
1. หน้ากากแห่งพลังบังคับ
ในบรรดาสไตล์ผู้นำทั้งหมด การบังคับนี่แหละใช้ได้ผลน้อยที่สุดในเกือบทุกสถานการณ์ Goleman บอก ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจว่าทำไม สไตล์นี้มีลักษณะเด่นคือสั่งการจากบนลงล่าง ใช้วิธีเผด็จการ แล้วก็เรียกร้องแบบ “ต้องทำตามที่ฉันบอกนะ” แม้ว่าสไตล์นี้อาจได้ผลระยะสั้น แต่ส่งผลเสียหายระยะยาวต่อวัฒนธรรมบริษัท ทำให้พนักงานลาออกเยอะ ไม่มีกำลังใจ ไม่อยากมีส่วนร่วม
แล้วเราจะสวมร่างสไตล์บังคับตอนไหนดี? สไตล์ผู้นำแบบบังคับและควบคุมนี้อาจใช้ได้ผลในบางสถานการณ์วิกฤตที่ต้องตัดสินใจเด็ดขาด เร่งด่วน และมีลำดับการบังคับบัญชาที่ชัดเจน เช่น ตอนบริษัทถูกเทคโอเวอร์ หรือในห้องฉุกเฉิน แต่ส่วนใหญ่แล้ว การใช้สไตล์นี้มีแต่ผลเสียเช่นกัน Goleman กล่าว
2. หน้ากากแห่งอำนาจ
ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า “สไตล์ผู้นำแบบมีอำนาจนั้นไม่เท่ากับ ≠ เผด็จการ” หากแต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานด้วยการเชื่อมโยงงานของพวกเขากับกลยุทธ์ใหญ่ๆ ขององค์กร รวมถึงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่างานประจำวันมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ยังไง
การเป็นผู้นำสไตล์มีอำนาจจำเป็นที่จะต้องวางแนวทางที่ชัดเจน ไม่ใช่จุ้นจ้านเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต้องไว้ใจให้ทีมได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ร่วม ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันและมีความสุขกับงานมากขึ้น ถ้าสไตล์บังคับแย่ที่สุด สไตล์มีอำนาจนี่สุดยอดและสร้างแรงบันดาลใจที่สุดเลย
แล้วเราจะสวมหน้ากากผู้นำสไตล์มีอำนาจตอนไหนดี? อันที่จริงแล้วสไตล์นี้ใช้ได้ดีในหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่แน่นอน ลองเอาไปใช้ในการทำงานประจำวันด้วยการเตือนสมาชิกในทีมให้นึกถึงพันธกิจของบริษัทเป็นครั้งคราว เช่น หัวหน้าแผนกเภสัชอาจพูดว่า “งานของเราจะเป็นประโยชน์กับคนไข้จำนวนมาก” หรือหัวหน้าฝ่ายประกันอาจบอกว่า “เรากำลังช่วยให้ผู้คนมั่นใจในอนาคต” การเตือนแบบนี้จะช่วยให้ทุกคนสามารถเห็นเป้าหมายและภาพใหญ่ขององค์กรได้ชัดเจนขึ้น
3. หน้ากากแห่งการกำหนดจังหวะ
ผู้นำสไตล์นี้เน้นตั้งมาตรฐานสูงทั้งให้ตนเองและคนอื่น แม้ว่าการมุ่งสู่ความเป็นเลิศจะเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ถ้าโฟกัสแต่เรื่องความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ผลลัพธ์ก็จะย่ำแย่ การกดดันให้ทำงานและได้ผลลัพธ์ตลอดเวลาก็สร้างบรรยากาศที่ไม่ดีได้เหมือนกัน
เพราะการจ้องมองหาแต่ความสมบูรณ์แบบสุดๆ ยังทำให้พนักงานมองไม่เห็นภาพรวมว่าความพยายามของแต่ละคนมีส่วนช่วยได้ยังไง นำไปสู่อัตราการลาออกที่สูงขึ้นด้วย “ถ้าคนเก่งที่สุดของคุณกำลังจากไปเพราะคุณทำให้เขารู้สึกไม่ดีหรือเครียด แสดงว่าคุณกำลังทำลายผลประโยชน์ระยะยาวขององค์กรอยู่นะ”
แล้วเราควรสวมหน้ากากแห่งการกำหนดจังหวะตอนไหนดี? เพราะถึงแม้ควรใช้สไตล์นี้ไม่บ่อยก็ตาม แต่ก็อาจเหมาะในบางสถานการณ์ที่ทีมของคุณมีแรงจูงใจและความสามารถสูงมากๆ อาจเหมาะกับบางกลุ่มที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ทีมวิจัยและพัฒนา หรือทีมกฎหมาย แต่แม้กระนั้นก็ต้องคานด้วยสไตล์อื่นๆ ด้วยนะ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอย่างพนักงานหมดไฟ
4. หน้ากากแห่งการสานสัมพันธ์
โดยสไตล์นี้เน้นสร้างความผูกพันทางอารมณ์ให้แน่นแฟ้น สร้างบรรยากาศพี่น้อง เป็นทีมเวิร์คเดียวกัน และหล่อหลอมที่ทำงานให้เป็นเชิงบวกและเกื้อหนุน ช่วยให้สมาชิกในทีมรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ สามารถแชร์ไอเดียและฟีดแบ็กได้อย่างเปิดกว้าง แล้วก็ทำงานไปด้วยกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
Goleman บอกว่า การเป็นผู้นำสไตล์ที่เน้นความสัมพันธ์นี่สำคัญมากในการสร้างบรรยากาศการทำงานเชิงบวก โดยเฉพาะช่วงนี้ที่บางบริษัทเรียกพนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ คุณสามารถสร้างชุมชนที่ใส่ใจ รักใคร่กลมเกลียวกันได้ แทนที่จะเป็นแค่เครื่องจักรบริหารเฉยๆ ด้วยการทำความรู้จักพนักงานในระดับส่วนตัว แล้วก็ฉลองความสำเร็จของพวกเขาด้วย
แล้วเราควรสวมหน้ากากแห่งการสานสัมพันธ์เมื่อไหร่ดี? โดยสไตล์นี้ช่วยสร้างความเชื่อมโยงและวัฒนธรรมบริษัทที่ดี แต่ไม่ควรใช้อย่างโดดเดี่ยว เพราะอาจไม่ได้ให้ฟีดแบ็กเพียงพอจนจัดการปัญหาเรื่องผลงานหรือความท้าทายที่ซับซ้อนได้ การใช้แนวทางนี้ควบคู่กับสไตล์จูงใจสร้างแรงบันดาลใจและมีอำนาจจะสร้างสมดุลมากขึ้น เพราะให้ทั้งการสนับสนุนและกำหนดทิศทาง
5. หน้ากากแห่งประชาธิปไตย
โดยการเป็นผู้นำสไตล์ประชาธิปไตยเป็นการเพิ่มพลังให้ทีมของคุณมีสิทธิ์ออกเสียงในการตัดสินใจ โดยการใช้เวลารวบรวมความเห็น รับฟังข้อกังวลและมุมมองที่หลากหลาย แล้วก็นำข้อเสนอแนะไปใช้ ซึ่งจะแสดงให้ทีมเห็นว่าความคิดเห็นของพวกเขามีค่า เสียงของเขาได้รับการรับฟัง และการมีส่วนร่วมของพวกเขาก็สำคัญ ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของและมีความรับผิดชอบ
แล้วเราจะสวมหน้ากากแห่งประชาธิปไตยตอนไหนดี? ซึ่งการเป็นผู้นำสไตล์นี้เหมาะมากเลยเวลาที่คุณไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการแบบไหนดีที่สุด แล้วก็อยากได้ไอเดียใหม่ๆ แต่ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเวลาที่ทีมขาดประสบการณ์หรือข้อมูล หรือในช่วงวิกฤต
6. หน้ากากโค้ช
ผู้นำสไตล์โค้ชนั้นเน้นการพัฒนาตัวบุคคลและให้เวลาในการทำความเข้าใจเป้าหมายระยะยาวของสมาชิกในทีม ทั้งการพัฒนาส่วนตัวและด้านอาชีพ “การถามคำถามอย่าง ‘คุณต้องการอะไรจากชีวิต จากอาชีพ จากงานนี้ล่ะ? แล้วฉันจะช่วยคุณได้ยังไง?’ จะกระตุ้นให้พนักงานได้สะท้อนความใฝ่ฝันของเขาและพยายามทำให้มันเป็นจริง” โดย Goleman แนะนำว่า การสนใจพัฒนาการของพวกเขาอย่างจริงใจจะช่วยให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและมีกำลังใจ
แล้วเราควรที่จะสวมหน้ากากแห่งโค้ชนี้เมื่อไหร่? โดยสไตล์นี้มีประโยชน์มากในช่วงประเมินผลงานแบบตัวต่อตัว แต่ก็เอาไปแทรกในบทสนทนาประจำวันได้ด้วยนะ ผู้นำในโหมดโค้ชอาจพูดแบบนี้ “คุณเก่งมากเลยในเรื่อง XYZ แต่พอคุณทำ ABC ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่เพราะเหตุผลพวกนี้ เคยลองใช้วิธีอื่นแทนไหม?” คำแนะนำแบบเรียลไทม์แบบนี้จะช่วยให้พนักงานพัฒนาและเรียนรู้ แทนที่จะปล่อยให้ปัญหาลุกลามต่อไ
จะปรับสไตล์ผู้นำให้เข้ากับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ได้ยังไง งานวิจัยชี้ว่าผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่สุดปรับสไตล์ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน องค์กร หรือแม้กระทั่งวัฏจักรธุรกิจ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณต้องคอยสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัว เข้าใจผลกระทบที่คุณมีต่อผู้อื่น และปรับแนวทางของคุณตามนั้น
ดังที่ Goleman เขียนไว้ในบทความปี 2000 ว่า “ผู้นำที่มีประสิทธิผลสูงสุดเปลี่ยนสไตล์ได้อย่างคล่องแคล่วตามความจำเป็น…พวกเขาไม่ได้เปลี่ยนสไตล์การเป็นผู้นำตามแบบแผนที่วางไว้ แต่ทำได้ลื่นไหลกว่านั้นมาก พวกเขาใส่ใจเป็นพิเศษกับผลกระทบที่มีต่อคนอื่น และปรับสไตล์ได้อย่างราบรื่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”
นี่คือตัวอย่างการสลับสไตล์ในชีวิตจริง: เวลาเริ่มโปรเจกต์ใหม่ คุณจะใช้สไตล์มีอำนาจที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนและน่าสนใจในการดึงทีมมารวมกันและสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คุณจะเปลี่ยนเป็นสไตล์โค้ชเมื่อลูกน้องติดขัดกับงานบางอย่างและคุณต้องช่วยให้เขาเรียนรู้ทักษะใหม่ และคุณจะใช้สไตล์กำหนดจังหวะเมื่อทีมสุดเจ๋งและมีประสบการณ์ของคุณต้องทำงานให้ทันเดดไลน์ที่ท้าทายสุดๆ
แล้วจะทำอย่างไร ถ้าเกิดว่าเรายังไม่พร้อมที่จะสวมหน้ากากหลายใบ?
Goleman บอกว่าทุกคนสามารถขยายสไตล์ผู้นำของตัวเองได้ผ่านการฝึกฝนและการทำซ้ำอย่างขยันขันแข็ง เขายังแนะนำให้โฟกัสที่การพัฒนาอีคิว “เพื่อขยาย [เรพเพอร์ทัวร์สไตล์ของตัวเอง] ผู้นำต้องเข้าใจก่อนว่าขีดความสามารถด้านอีคิวข้อไหนที่อยู่เบื้องหลังสไตล์ที่เขายังขาดอยู่”
โดยเขาเขียนในบทความของเว็บไซต์ HBR ปี 2000 “จากนั้นพวกเขาก็จะต้องทำงานหนักเพื่อพัฒนาขีดความสามารถเหล่านั้น เช่น ผู้นำแบบสานสัมพันธ์จะมีจุดแข็งในสามข้อของอีคิว ได้แก่ ความเห็นอกเห็นใจ การสร้างสัมพันธ์ และการสื่อสาร
“ความสำเร็จของผู้นำขึ้นอยู่กับผลิตภาพและประสิทธิผลของคนที่ทำงานให้พวกเขา ดังนั้นถ้าคุณเลือกใช้สไตล์ผู้นำที่ทำลายผลงานของทีมแทนที่จะช่วยเหลือพวกเขา มันก็เหมือนกับว่าคุณกำลังทำร้ายตัวเองอยู่อย่างช้าๆ นั่นแหละ”
บทความโดย รวิศ หาญอุตสาหะ
#RawitsThought
#Leadership
#ผู้นำ
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast