ยิ่งน่ากลัวยิ่งถูกใจ!? นักจิตวิทยาอธิบาย ‘ทำไมเราถึงชอบดูหนังสยองขวัญ’

6320
ทำไมเราถึงชอบดูหนังสยองขวัญ

เข้าสู่เดือนตุลาคม เดือนแห่งเทศกาลฮาโลวีน “หนังสยองขวัญ” ต่างเตรียมยกทัพเข้าโรงหนัง และแฟนหนังก็เตรียมตัวซื้อตั๋วรอหน้าโรงภาพยนตร์ที่พึ่งกลับมาให้บริการอีกครั้ง

แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมบางคนถึงชอบหนังสยองขวัญกันนักหนา ทั้งๆ ที่มันน่ากลัวและเต็มไปด้วยฉากนองเลือด อย่างตอนที่หนังเรื่อง ‘It’ เข้าฉาย คนต่างไปออกันซื้อตั๋วเต็มหน้าโรงหนัง จนหนังกวาดรายได้ไปกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นตำแหน่งหนังสยองขวัญทำเงินสูงสุดตลอดกาล

เราควร ‘วิ่งหนี’ สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่หรือ แต่ทำไมหลายคนถึง ‘วิ่งเข้าหา’ เสียอย่างนั้น!?

Advertisements

นักจิตวิทยาหลายท่านได้มีการพูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เรามาหาคำตอบกันดีกว่าว่าทำไมคนบางคนยิ่งหนังน่ากลัวมากเท่าไร ยิ่งถูกใจพวกเขามากเท่านั้น

6 เหตุผลที่คนชอบดูหนังสยองขวัญ

1) เพราะความกลัวมาพร้อมกับความน่าตื่นเต้น

แม้เราจะรู้อยู่แก่ใจว่าหนังคือหนัง ไม่ใช่ภาพเหตุการณ์จริง แต่ทำไมเวลาดูหนังสยองขวัญ ร่างกายและสารเคมีในสมองถึงตอบสนองราวกับว่าเป็นเหตุการณ์จริงล่ะ

“บ่อยครั้งสมองก็แยกไม่ขาดระหว่างจินตนาการกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ตรงหน้า” ดอกเตอร์คริสตา จอร์แดน นักจิตวิทยาคลินิกท่านหนึ่งกล่าว “ยกตัวอย่างเช่น เวลาคนพูดบรรยายความรู้สึกตอนกัดซีกมะนาว เราจะรู้สึกน้ำลายสอไปด้วย”

อาการตอบสนองแบบสู้หรือหนี​ (Fight-or-Flight Response) ที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกถึงอันตรายจึงเกิดขึ้นระหว่างเราดูหนังด้วย สารเคมีในสมองต่างๆ อย่างอะดรีนาลิน เอ็นดอร์ฟิน และโดพามีนจึงถูกหลั่งออกมา ทำให้เราตื่นเต้นและสนุกไปกับหนังสุดๆ แบบไม่ต้องไปเผชิญเหตุการณ์น่ากลัวจริงๆ

2) เพราะรู้สึก ‘ชนะ’ ที่รอดมาได้

เมื่อตัวละครที่เราเชียร์ตั้งแต่ต้นเรื่องรอดชีวิตมาได้ เรารู้สึกประสบความสำเร็จและโล่งใจราวกับว่าเราเป็นผู้รอดชีวิตเสียเอง (ทั้งๆ ที่จริงแค่ลุ้นตัวเกร็งอยู่หน้าทีวี) ดังนั้นแม้ว่าหนังจะน่ากลัว แต่ที่หลายคนติดใจก็เพราะความรู้สึกถึงความสำเร็จ ความโล่งใจและความผ่อนคลายที่เราได้มาตอนดูจบนั่นเอง

ดอกเตอร์แคเธอรีน บราวน์โลว์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะประสาทวิทยาและจิตเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอ กล่าวว่า ความมั่นใจที่เราได้มาตอนดูหนังจบยังทำให้เรากล้าทำอะไรหลายๆ อย่างที่เรากังวลในชีวิตจริงอีกด้วย อย่างเช่น การขอหัวหน้าขึ้นเงินเดือน หรือ การพูดในที่สาธารณะ ราวกับว่าเราคิดได้ว่าหนังผีที่เราเพิ่งดูไปน่ากลัวกว่าเรื่องพวกนี้เยอะ

3) เพราะได้เรียนรู้การรับมือกับเรื่องแย่ๆ

หนังสยองขวัญให้เราได้เรียนรู้และจินตนาการว่าหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้นจริงๆ เราจะหาทางออกอย่างไร เหมือนเป็นการได้เตรียมตัวล่วงหน้าไปในตัว โคลตัน สกริฟเนอร์ นักศึกษาดุษฎีบันฑิตภาควิชา Comparative Human Development แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าว

เขาเชื่อว่า “คนที่ดูหนังสยองขวัญเยอะๆ รับมือกับความไม่แน่นอนและความวิตกกังวลได้ดีกว่า” เมื่อไม่นานมานี้เขาได้ร่วมทำวิจัยเรื่อง จริงหรือไม่ที่แฟนหนังสยองขวัญรับมือกับความเครียดที่มากับโควิด-19 ได้ดีกว่า เพราะได้ฝึกทักษะเหล่านี้แล้วตอนดูหนัง

4) เพราะได้ค้นพบด้านมืดของมนุษย์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เชื่อว่าคนชอบดูกีฬาที่ใช้ความรุนแรง อย่างการต่อยมวย เป็นเพราะเรามองตัวเองเป็นผู้กระทำ (คนต่อย) ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ (คนโดนต่อย)

Advertisements

สาเหตุที่เราชอบดูหนังสยองขวัญก็อาจเป็นเพราะเหตุผลเดียวกันนี่แหละ ในหนังหลายๆ เรื่องที่พูดถึงการแก้แค้นของตัวเอกที่เคยโดนรังแก เรามักจะรู้สึกสะใจราวกับว่าเรามองตัวเองเป็นคนลงมือเสียเอง เชียร์ให้ตัวเอกเอาคืนจนมองข้ามเรื่องศีลธรรมไปเลย ยกตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง ‘Carrie’ หากหลายๆ คนเคยดูอาจพบว่าตัวเราเองเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของ Carrie ที่ถูกรังแก และแอบเชียร์อยู่ลึกๆ ตอนที่เธอเอาคืน

5) เพราะได้เป็นคนฉลาด

เคยไหม หงุดหงิดตัวละครที่ทำพลาดจนต้องเกิดเหตุการณ์แย่ๆ ขึ้น อย่างเช่น การออกจากที่ซ่อนตัว การออกไปสำรวจบริเวณมืดๆ หรือการทำของตก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราพูดว่า..

“ถ้าเป็นฉัน ฉันจะไม่ทำแบบนั้น!”

แน่นอน ตัวละครต้องทำพลาดเพื่อให้พล็อตเรื่องดำเนินไปอย่างน่าตื่นเต้น แต่สำหรับคนดูอย่างเราที่มองจากมุมมองบุคคลภายนอกนั้น เรารู้สึกว่าต่างกับตัวละครตรงที่เราฉลาดกว่าและรู้ดีกว่าว่าทำอย่างไรถึงจะไม่พลาด เช่น ซ่อนให้ดีขึ้น วิ่งหนีให้เร็วขึ้น หรือไม่ส่งเสียงดัง โอกาสในการคิดได้อย่างอิสระนี้เองทำให้เราสนุกกับการจินตนาการไปด้วยขณะดูหนังหรือหลังจากดูหนังจบ

6) เพราะได้พูดถึงประเด็นที่คนไม่กล้าพูด

หนังสยองขวัญหลายเรื่อง ลึกๆ แล้วกำลังเสียดสีประเด็นที่เป็นปัญหาในสังคม หรือ สะท้อนความกลัวเบื้องลึกของคนเราอยู่ แต่การเล่าผ่านอีกเส้นเรื่องและใช้สัญลักษณ์เพื่อตีความแทนนั้นทำให้คนเราเห็นภาพมากกว่า เข้าถึงประเด็นได้ง่ายและเกิดการพูดคุยถกเถียงกันแบบไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ

อย่างเช่นหนังคลาสสิกเรื่อง ‘Frakenstein’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวต่อพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ในสมัยก่อน หรือหนังเรื่อง ‘Get Out’ ที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมและปัญหาการเหยียดสีผิว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ชาวแอฟริกันอเมริกันหลายคนต้องใช้ชีวิตบนความกลัว ประเด็นเหล่านี้อาจฟังดูเข้าใจยากเกินไปสำหรับใครหลายๆ คน แต่พอทำให้เป็นภาพยนตร์ ปัญหาต่างๆ ในสังคมจึงถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจ และทิ้งให้ผู้ชมไปขบคิดต่อ ถกเถียงกันต่อในวงกว้างมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมอีกทางเลยก็ว่าได้

จะเห็นได้ว่าเบื้องหลังหนังสยองขวัญมีอะไรมากกว่าเสียงน่าขนลุก พล็อตเรื่องชวนเครียด และฉากสะดุ้ง ‘ตุ้งแช่’ (Jump Scare) ที่ทำหัวใจแทบวาย สำหรับแฟนหนังประเภทนี้คงเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าทำไมเราถึงชอบนักหนา ใครมีเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ ที่ชอบดูก็แชร์กันมาได้เลยนะ

ส่วนคนที่ไม่ชอบดูเท่าไร เดือนนี้ลองเปิดใจดูสักเรื่องสองเรื่องไหม เผื่อจะได้พิสูจน์ว่าเรารู้สึกตื่นเต้นตอนดูและรู้สึกมั่นใจขึ้นหลังดูจริงไหม

อ้างอิง
https://bit.ly/3abKMCM
https://bit.ly/3Aad2QJ

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements