PSYCHOLOGYไม่อยากเข้าออฟฟิศไม่อยากคุยกับใครรับมือกับ Social Anxiety ในที่ทำงานอย่างไรดี?

ไม่อยากเข้าออฟฟิศไม่อยากคุยกับใครรับมือกับ Social Anxiety ในที่ทำงานอย่างไรดี?

หนึ่งในเหตุการณ์ตอนเด็กที่หลายๆ คนยังจำได้ไม่ลืม คือ การต้องออกไปพูดหรือทำการแสดงบางอย่างต่อหน้าผู้คนจำนวนมากหน้าชั้นเรียน ตอนนั้นเราตัวแข็งเหมือนก้อนหินและลืมทุกอย่างที่เตรียมมา ความรู้สึกว่าสายตาหลายสิบคู่กำลังจับจ้องเราอยู่นั้นทำให้หน้าร้อนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ตาพร่ามัวรื้นไปด้วยน้ำตา หัวใจเต้นแรงและลมหายใจติดๆ ขัดๆ รู้สึกทรมานราวกับกำลังจมน้ำอยู่

หลายคนอาจจำได้เพียงเลือนราง แต่หลายๆ คนเมื่อนึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ ความรู้สึกกลับชัดเจนไม่ต่างกับย้อนเวลาไปอยู่ตรงนั้นอีกครั้ง แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่พอคิดถึงก็ยังรู้สึกหายใจแทบไม่ออกอยู่ดี

และโชคร้าย สำหรับหลายๆ คน ความรู้สึกนี้ไม่ได้จบที่ตรงนั้น มันตามมาหลอกหลอนเราในทุกๆ ชั่วขณะ ตั้งแต่การยกมือตอบคำถามในคลาสเรียนมหาวิทยาลัย มาจนถึงการออกความเห็นในห้องประชุมในวัยทำงาน

อาการแบบนี้เป็นเพราะเราขี้อาย เป็นเพราะความ Introvert ในตัว หรือจริงๆ แล้วเรามีอาการที่เรียกว่า “โรคกังวลต่อการเข้าสังคม”  กันแน่

โรคกังวลต่อการเข้าสังคม หรือ Social Anxiety Disorder เป็นหนึ่งประเภทในโรควิตกกังวล โดยผู้ป่วยจะมีอาการประหม่า อึดอัด วิตกกังวล ไปจนถึงกลัว เมื่อต้องพูดคุยกับคนอื่น พบเจอผู้คนใหม่ๆ หรืออยู่ท่ามกลางผู้คน พวกเขากังวลอย่างมากว่ากำลังถูกผู้อื่นจับจ้องและตัดสินพวกเขาอยู่

และเมื่อต้องเข้าสังคม พวกเขาอาจมีอาการทางกาย เช่น หน้าแดง วิงเวียน เหงื่อออก มือสั่น ตัวสั่น ตัวแข็งทื่อ คิดอะไรไม่ออก และหัวใจเต้นเร็ว ส่วนอาการทางจิตอารมณ์ ได้แก่
[ ] ความวิตกกังวลอย่างมาก ก่อนเข้าสังคม ขณะเข้าสังคม หรือหลังการเข้าสังคม
[ ] หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม โดยการทำตัวให้กลมกลืน ไม่เป็นจุดเด่น
[ ] ประหม่าและกลัวว่าจะทำอะไรน่าอาย
[ ] กลัวว่าคนอื่นจะเห็นว่าเรากำลังกังวล
[ ] ไม่ออกความเห็น ไม่ยกมือตอบคำถาม แม้จะสำคัญต่อการให้คะแนน
[ ] ขาดเรียนหรือไม่ไปทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมนั้นๆ

จริงอยู่ที่กิจกรรมบางอย่าง (เช่น การพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก หรือ การสัมภาษณ์งาน) อาจทำให้คนเรากังวลอยู่บ้าง แต่สำหรับคนที่มีอาการกังวลต่อการเข้าสังคมแล้ว ความรู้สึกกังวลนี้มักจะรุนแรงและตามพวกเขาไปทุกๆ ที่ในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่การไปชอปปิงเพื่อซื้อของใช้เข้าบ้าน หรือการทานอาหารในที่สาธารณะ

โรคกังวลต่อการเข้าสังคมแตกต่างจากอาการขี้อาย เพราะความขี้อายนั้นทำให้การแสดงออกเป็นเรื่องยากเฉยๆ แต่ไม่ได้ถึงขั้นรบกวนชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นแล้ว อาการนี้ก็ไม่เหมือนกับการเป็นคน Introvert เช่นกัน เพราะ Introvert นั้นเติมพลังให้ตัวเองด้วยการอยู่คนเดียว การเข้าสังคมอาจเป็นเรื่องที่ไม่ชอบหรือต้องใช้พลังงานเยอะสำหรับพวกเขา แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ต่างกับโรคกังวลต่อการเข้าสังคมที่ท่วมท้นด้วยความคิดมากตลอดเวลาว่า ‘คนอื่นจะคิดยังไงกับเรา’ ‘เราพูดมากไปไหม’ หรือจินตนาการถึงเหตุการณ์ในอดีตที่แสนน่าอายซ้ำไปซ้ำมา

อเลน เฮนดริกสัน นักจิตวิทยาคลินิกจากศูนย์โรควิตกกังวลและโรคอื่นๆ แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน อธิบายว่า โรคกังวลต่อการเข้าสังคมนั้นมีความกลัวต่อการถูกตัดสินหรือถูกปฏิเสธมากจนผิดปกติ กล่าวคือ เราตระหนักรู้ถึงตัวเราเองและประหม่ามากไป จนคิดเกี่ยวกับการกระทำของตัวเองซ้ำไปซ้ำมา

ตามรายงานของสมาคมโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าแห่งประเทศอเมริกา (ADAA) มีชาวอเมริกันมากถึง 15 ล้านคนที่เผชิญกับโรคนี้ และส่วนใหญ่มักจะเริ่มในช่วงวัยรุ่น

อเลน ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดโรคกังวลต่อการเข้าสังคม เช่น พันธุกรรม การเลี้ยงดู ครอบครัว วัฒนธรรม ค่านิยมทางสังคม ไปจนถึงบาดแผลในอดีต หลายๆ คนที่เผชิญกับโรคนี้ในปัจจุบัน ในอดีตพวกเขามักถูกคาดหวังให้สมบูรณ์แบบไปเสียทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเรียน กิจกรรม ไปจนถึงงานอดิเรก ความคาดหวังที่มากเกินไปนี้ได้พัฒนามาเป็นความวิตกกังวลเมื่อเติบโตมา

ถ้าหากเราเป็นหนึ่งคนที่กำลังเผชิญอาการนี้อยู่ล่ะ จะรับมือกันมันอย่างไรดี? อเลนได้แนะนำไว้หลายวิธีด้วยกัน

1) อย่ารอให้รู้สึกมั่นใจก่อนค่อยเริ่ม

หลายครั้งเรารอให้มั่นใจก่อนค่อยเริ่ม ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เริ่มอะไรสักที และถ้าหากคิดดีๆ แล้วว่า “ความมั่นใจ” นี้มาจากไหน เราจะพบว่ามันมาจากการกระทำบางอย่างซ้ำๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ ดังนั้นแม้เราจะกังวลแค่ไหน ก็ต้องลองผลักตัวเองให้ออกจากคอมฟอร์ตโซนทีละนิดผ่านการลงมือทำ วันแรกอาจจะยากแต่วันใดที่เชี่ยวชาญแล้ว เราจะรู้สึกขอบคุณตัวเองมากๆ ที่อดทน

Advertisements

2) ทิ้งนิสัยเดิมๆ และโฟกัสที่คนอื่น ไม่ใช่ตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นการโดดงานเพราะไม่อยากพบเจอผู้คน หรือการเล่นโทรศัพท์เพราะไม่อยากสบตาคู่สนทนา ลองละทิ้งนิสัยเหล่านี้ดู หันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเต็มที่ผ่านการฝึก “Active Listening” ฟังที่อีกฝ่ายพูดด้วยความตั้งใจจริง โฟกัสว่าเขากำลังจะสื่อสารอะไร และจะตอบอย่างไรให้อีกฝ่ายรู้ว่า เราเข้าใจและรับฟังเขา ไม่ใช่โฟกัสที่ตัวเองว่าอีกฝ่ายจะคิดอย่างไรกับเรา หรือคำตอบของเราจะถูกต้องไหม

Advertisements

3) เตรียมโครงสร้างสำหรับการเข้าสังคมไว้

เมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอน ความวิตกกังวลของเราก็ยิ่งรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีงานเลี้ยงที่ออฟฟิศ เรามักจะประหม่าเป็นพิเศษ เพราะไม่รู้ว่าจะยืนตรงไหน คุยกับใคร หรือคุยเรื่องอะไร

อเลนแนะนำให้ลองเตรียมโครงสร้างไว้ในใจก่อน เช่น คิดไว้เลยว่าเราจะเข้าไปคุยกับ 5 คนที่เราสนิทที่สุดในที่ทำงานและจะคุยเรื่องอะไรบ้าง การเตรียมตัวเช่นนี้จะช่วยให้เราคิดมากน้อยลงในสถานการณ์จริง

4) มองในมุมของผู้อื่น (จริงๆ)

เวลายกมือออกความเห็นในที่ประชุม ความวิตกกังวลในตัวทำให้เราคิดแทบจะอัตโนมัติเลยว่า คนอื่นต้องมองว่าเราพูดไม่รู้เรื่อง ไม่มีเหตุผล ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของเรา หรือไม่ชอบที่เราพูดแน่ๆ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย

ลองนึกถึงตอนที่คนอื่นออกความเห็นดูบ้าง เราก็ไม่ได้มีความคิดโจมตี หรือไม่ชอบพวกเขาเพียงเพราะความเห็นของพวกเขาถูกไหม?

หรือในตอนที่เราทำอะไรเปิ่นๆ เช่น ทำกาแฟหก หากมองในมุมของเรา เราคงคิดแต่ว่าคนอื่นคงหัวเราะเยาะหรือมองเราเป็นตัวตลกแน่ๆ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น เราคงสงสารมากกว่าขำถ้าเห็นคนอื่นทำกาแฟหกบ้าง

ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความกังวลชักจูงความคิดเรา ลองมองในมุมของผู้อื่นและมองในโลกความเป็นจริง เราจะพบว่าคนรอบตัวไม่ได้ใจร้ายกับเราขนาดนั้น เสียงในหัวของเรานั้นใจร้ายกับเรากว่าเยอะ

การฝึกตัวเองด้วยนิสัยเล็กๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การรักษาโรควิตกกังวลต่อการเข้าสังคมยังทำได้อีกหลายวิธี เช่น การทำจิตบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) การบำบัดด้วยการยอมรับตัวเองแบบ Acceptance and Commitement Thearapy (ACT) หรือการทานยาเพื่อบรรเทาอาการ การเริ่มต้นปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้เราหาทางออกได้ว่าการรักษาแบบไหนที่เหมาะกับเรา

การหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมอย่างเด็ดขาดเลยคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สำหรับมนุษย์ที่ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้นสำหรับผู้ที่เผชิญกับโรคกังวลต่อการเข้าสังคมแล้ว การเตรียมตัวให้พร้อม​ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือฝึกนิสัยเล็กๆ ตามวิธีที่กล่าวมาล้วนเป็นวิธีรับมือที่ดี เพราะอย่างน้อยมันก็ช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการ

วันนี้การเข้าสังคมอาจยังเป็นเรื่องที่น่าทรมานอยู่ แต่ด้วยความตั้งใจและความพยายามในการเข้าใจตัวเอง วันหนึ่งเราจะรู้สึกว่าการเข้าสังคมไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายสำหรับเราอีกต่อไป มีหลายคนที่ข้ามผ่านความกลัวนี้ไปได้ และคนเก่งอย่างคุณเองก็จะผ่านมันไปได้เช่นกัน 🙂

อ้างอิง
How I Manage My Social Anxiety at Work – HBR : https://bit.ly/3BDKDFB
Social Anxiety Disorder: Causes, Symptoms, and Diagnosis – Healthline : https://bit.ly/3WfTQh2

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worklife
#psychology

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า