จริงไม่จริงไม่รู้ ขอเชื่อก่อนแล้วกัน! ‘Truth-Default Theory’ ทำความเข้าใจทำไมเราจึงโดนหลอก

679
Truth-Default Theory

คุณเคยโดนหลอกไหม? ตอนแรกคิดว่าไม่เห็นมีอะไรน่าสงสัยเลย แต่พอรู้ตัวอีกทีก็โดนหลอกซะแล้ว บ่อยครั้งที่เราคิดว่าคนคนนี้น่าเชื่อถือ เราจึงไว้ใจและไม่สงสัยอะไรในตัวเขา เพราะอะไรเราถึงเชื่อแบบนั้นกันนะ?

เพื่อหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดเราจึงโดนหลอก คงต้องหยิบยกการวิจัยของ Timothy R. Levine ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสาร เพื่ออธิบายพฤติกรรมของมนุษย์เราอย่างเป็นระบบ และการวิจัยนั้นมีชื่อว่า “Truth-Default Theory” หรือ “ทฤษฎีพร้อมจะเชื่อใจคนอื่น” คือการที่เรามักจะ ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่ได้ยินหรือสิ่งที่ได้รับรู้ไปก่อน โดยไม่มีการฉุกคิดหรือวิเคราะห์ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงหรือไม่

จากการทดลองของ Levine ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทดสอบความสามารถในการจับโกหกของมนุษย์ เขาได้อัดเทปวิดีโอสัมภาษณ์คนสองกลุ่ม คือกลุ่มที่โกหก 22 คนกับกลุ่มที่พูดความจริง 22 คน และให้คนนอกดูเทปวีดีโอนี้และตัดสินว่าใครพูดจริงหรือโกหก โดยเฉลี่ยแล้วใครก็ตามที่ชมวิดีโอทั้ง 44 ราย จะตอบถูกต้อง 54% ว่าใครโกหก นักจิตวิทยาคนอื่นก็ได้ทำการทดลองคล้ายๆ กัน และผลลัพธ์ที่ออกมายังคงอยู่ที่ประมาณ 54%

Advertisements

เมื่อวิเคราะห์กันอย่างละเอียดแล้ว ตัวเลขการจับโกหกได้ถูกต้อง 54% นี้เป็นเพียงตัวเลขถัวเฉลี่ยกันระหว่างการดูออกว่าใครพูดความจริงกับการดูออกว่าใครพูดโกหก นั่นหมายความว่า ความน่าจะเป็นหนึ่งในสองทำให้เราสามารถเดาสุ่มสี่สุ่มห้าได้ว่าใครพูดความจริงหรือโกหก

แต่เมื่อเราพิจารณาดูว่าแต่ละคนทายถูกมากแค่ไหนว่า ‘ใคร’ พูดความจริง หรือทายถูกมากแค่ไหนว่า ‘ใคร’ พูดโกหก ความเข้าใจของเราจะต่างจากเดิมมาก จากการทดลองพบว่าเราจะทายถูกได้ ‘ดีกว่า’ ว่าใครพูดความจริง และจะทายได้ ‘แย่กว่า’ ว่าใครพูดโกหก

หลังจากได้ดูเทปวีดีโอทั้ง 44 ราย เราจะเชื่อว่ามันเป็นจริงสักส่วนใหญ่ นั่นจึงทำให้เรามีโอกาสตอบถูกว่าใครพูดความจริงบ้าง ในขณะเดียวกัน เราจะตอบผิดเป็นส่วนใหญ่ว่าใครโกหก

ดังนั้น Levine สรุปว่าคนเรามักมี “Truth-Bias” หรือการลำเอียงที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เราจะตั้งข้อสันนิษฐานโดยปริยายว่าสิ่งที่คนอื่นพูดนั้นเป็นเรื่องจริง ทั้งๆ ที่บางทีเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาหรือสิ่งที่เขาพูดเลย

เราจะยอมเชื่อไปก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา ‘มากพอ’ จนทำให้ความเชื่อของเราพังทลายลงมา ความคิดแบบนี้เราเรียกว่า “The Truth-default”

Advertisements

ถึงแม้ว่าการลำเอียงและความผิดพลาดจากการเชื่อใจ จะเป็นจุดพลาดของใครหลายๆ คน แต่สิ่งนี้นับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นในมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่จำเป็นต้องมีการสื่อสาร มีการร่วมมือ เราจำเป็นต้องใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเรามัวแต่สงสัย ตั้งข้อสันนิษฐานทุกข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามา เราจะไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อร่วมมือกันได้เลย

Levine บอกอีกว่าปัจจัยที่ทำให้เราโดนหลอกเป็นเพราะความต้องการบรรลุเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม คนเหล่านี้จะสร้างแรงจูงใจ โน้มน้าวทุกวีถีทาง ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลต่อการแยกแยะของเราว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องโกหก และการที่เราจะดูออกว่าใครโกหกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากมีเพียงคน ‘ส่วนน้อย’ เท่านั้นที่โกหกไม่เก่ง เราสามารถจับโกหกจากคนเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย แต่กลับคนส่วนใหญ่ที่โกหกได้อย่างแนบเนียน เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขาพูดจริงหรือไม่

สามารถสรุปได้ว่า ทฤษฎีพร้อมจะเชื่อใจคนอื่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเราโดนหลอกอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าจะเคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน เรียนรู้และพยายามป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก แต่สุดท้ายมันก็เกิดขึ้นจนได้ เราจะรู้ได้ว่าคนคนนั้นโกหกก็ต่อเมื่อได้ยินคำสารภาพหรือเจอหลักฐานที่แน่นหนาจนทำให้เขาไม่สามารถหลอกเราได้อีกต่อไป แต่เมื่อถึงตอนนั้น เราก็กลับ ‘เสียรู้’ เสียแล้ว


อ้างอิง:
https://bit.ly/2XJsh63
Talking to Strangers ศิลปะแห่งการอ่านคน – มัลคอล์ม แกลดเวลล์

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements