Time Perception: กว่าจะผ่านพ้นเดือนมกรา ทำไมเวลาถึงยาวนานเหลือเกิน! มาไขข้อข้องใจด้วยวิทยาศาสตร์กัน

902
1920x1080-Time Perception


*
สามารถเปิดฟังโดยปิดหน้าจอมือถือได้ 

 

ตอนนี้ก็ใกล้จะหมดเดือนแรกของปีแล้ว หลายคนเป็นอย่างไรกันบ้าง? บางคนอาจอยากย้อนเวลากลับไปเดือนธันวาคมใหม่ หรือไม่ก็ภาวนาขอให้เดือนมกรานี้รีบจบๆ ไปสักที

แต่ไม่ว่าจะหันไปมองปฏิทินกี่ครั้ง ก็ยังเป็นมกราคมอยู่ ทำไมวันและเวลาในเดือนนี้ดูผ่านไปช้าจัง? ไม่เห็นเหมือนเดือนธันวาคมเลย แค่พริบตาเดียวก็จบปีแล้ว ทั้งๆ ที่สองเดือนนี้มีจำนวนวันเท่ากัน แต่ให้ความรู้สึกต่างกันละขั้วแบบนี้ ทำไมกันนะ?

ทำไมเดือนมกราคมถึงดูยาวนานกว่าปกติ?

William Skylark นักจิตวิทยาและเจ้าของวิจัยปี 2015 ชื่อ “Time Perception: The Surprising Effects of Surprising Stimuli” ได้อธิบายว่า ความรู้สึกว่าแต่ละเดือนยาวนานไม่เท่ากัน เกิดจาก “การรับรู้เวลา (Time Perception)” ที่แตกต่างกันออกไป

“เพราะจิตใจเรารับรู้เวลาแตกต่างกับเวลาที่เกิดขึ้นจริงภายนอก” ตีความได้ว่า เราจะรู้สึกว่า เวลาผ่านไปช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราพบเจอหรือประสบมาเป็นตัวกระตุ้น

การทดลองจากมหาวิทยาลัย Alabama ปี 2012 ได้ทดสอบให้คนมองภาพสองภาพ ภาพแรกเป็นภาพดอกไม้สวยๆ และอีกภาพคือ ภาพขนมหวานดูน่ากิน นักวิจัยลองให้ผู้เข้าทดสอบตอบว่า ภาพไหนปรากฏตัวสั้นกว่ากัน

ผลลัพธ์คือ ผู้ทดสอบบอกว่า พวกเขาเห็นภาพขนมหวานปรากฏตัวสั้นกว่าภาพดอกไม้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ทั้งสองภาพใช้เวลาปรากฏตัวเท่ากัน มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?

เหตุผลก็คือ ทั้งสองภาพล้วนแต่ทำให้คนมองมีความสุข แต่ภาพขนมหวานต่างตรงที่สามารถสร้างแรงผลักดัน (Motivation) ให้คนมองเกิดความอยากกิน แต่ในขณะเดียวกัน หากผู้เข้าการทดลองได้กินขนมหวานมาแล้ว พวกเขาก็จะมองว่า ภาพขนมหวานปรากฏนานกว่าภาพดอกไม้

หากเปรียบวันหยุดเป็นเหมือนภาพของหวานในการทดลอง ปลายเดือนเดือนธันวาคมก็มีขนมหวานกองโตให้เรากินอิ่ม แต่พอถึงเดือนมกราคมกลับมีแต่ภาพดอกไม้ที่ไม่สร้างแรงผลักดันในการใช้ชีวิตให้เรา เราถึงรู้สึกว่าเดือนมกราคมช่างยาวนานเหลือเกิน

Dr. Zhenguang Cai จาก University College of London ได้สนับสนุนแนวคิดเรื่องการรับรู้เวลา เพิ่มเติมว่า หลังเดือนธันวาคมที่เราได้สนุก ผ่อนคลาย และตื่นเต้นไปกับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่เดือนมกราคมดันมีแต่วันทำงาน ทำให้เรารู้สึกเบื่อและเครียด

นอกจากจะรู้สึกเครียดตั้งแต่เปิดปีใหม่มาแล้ว บทความจาก The Sun ได้พูดถึงความเศร้าในเดือนมกราคม (January Blues) ว่า ผู้คนอาจเริ่มเผชิญกับความเศร้านี้ได้ตั้งแต่คริสต์มาสจบเลยทีเดียว และมีหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเศร้าในเดือนมกราคม เช่น คิดถึงจำนวนหนี้ที่ต้องจ่าย, รู้สึกว่าตนได้รับวันหยุดน้อยเกินไป หรือ New Year’s Resolution ที่ตั้งไว้พังตั้งแต่วันแรกๆ ด้วยความท้อแท้ ความเครียดทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงอาจส่งผลให้เรามองว่าเดือนมกราคมดูช้ากว่าความเป็นจริง


อารมณ์ส่งผลต่อการรับรู้เวลาได้อย่างไร?

เพราะสมองเราเองก็มีนาฬิกาในร่างกายที่คอยวัดว่า เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่แล้ว และสิ่งที่กระตุ้นให้เรารู้สึกว่า เวลาผ่านไปเร็ว คือ “Dopamine Clock” ซึ่งเป็นกลไกหลั่งสารแห่งความสุขในร่างกายของเรา ยิ่งเรามีระดับสารแห่งความสุข (Dopamine) สูงมากเท่าไหร่ สารนี้ก็จะเร่งระบบประสาทในสมองให้เพิ่มความเร็วของนาฬิกาในร่างกายเรามากขึ้นเท่านั้น

ลองยกตัวอย่าง เวลาเราไปเที่ยวสวนสนุก รอบเครื่องเล่นอาจใช้ระยะเวลาจริงอยู่ที่ 10 นาที แต่เรากลับรู้สึกเหมือนได้เล่นไปแค่ 5 นาทีเอง หรือที่คนทำงานหลายๆ คนน่าจะรู้สึกเหมือนกันก็คือ เมื่อวันหยุดเสาร์-อาทิตย์วนเวียนมาเมื่อไหร่ นาฬิกาก็เหมือนถูกเร่งเวลาซะงั้น แปปๆ ก็วันจันทร์อีกแล้ว

นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกอย่าง “สารคาเฟอีน” ในกาแฟก็สามารถกระตุ้นให้เรารู้สึกเวลาผ่านไปเร็วเช่นกัน แต่เวลาเรารู้สึกกลัว ตึงเครียดจากสถานการณ์รอบข้าง แม้แต่การดูภาพยนตร์สยองขวัญก็ทำให้เรารู้สึกว่า เวลาผ่านไปช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ปี 2011 การทดลองของ Droit-Volet และทีมวิจัย ทดลองให้นักเรียนสามกลุ่มดูวิดีโอสามประเภท กลุ่มแรกดูภาพยนตร์สยองขวัญ กลุ่มสองดูเรื่องเศร้า และสุดท้ายคือ วิดีโอที่ไม่สื่อถึงอารมณ์ใด เช่น คลิปรายงานข่าวหรือตลาดหุ้น

ผลการทดลองเผยว่า สองกลุ่มหลังไม่ได้รู้สึกว่า เวลาที่พวกเขารับรู้เร็วหรือช้ากว่าเวลาเป็นจริงบนโลกทั้งนั้น ในขณะที่กลุ่มแรกซึ่งดูภาพยนตร์สยองขวัญ พวกเขากลับรู้สึกว่า กว่าภาพยนตร์จะจบใช้เวลายาวนานกว่าความเป็นจริง

นักวิจัยจึงให้คำตอบว่า ความกลัวบิดเบือนการรับรู้เวลาของสมองเรา เพื่อให้ร่างกายเราเตรียมพร้อมรับมือกับอันตรายที่เราอาจจะต้องพบเจอนั่นเอง

เมื่อเราลองมองย้อนกลับไป เดือนมกราคมนี้ก็อาจทำให้เรารู้สึกกลัวจริงๆ เพราะเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ตามที่เราตั้งปณิธานไว้เมื่อปีที่แล้ว หรือกลับไปทำงานที่เราต้องเจอความท้าทายไม่เว้นวัน สมองเลยทำให้เรารู้สึกว่า เดือนนี้ช้ากว่าปกติเพื่อให้เราปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้มากขึ้น


ถึงแม้เดือนมกราคมจะรู้สึกยาวนานเป็นพิเศษ แต่อยากให้เราคิดว่า นี่คือ อีกหนึ่งเดือนดีๆ ที่จะช่วยให้เราปรับตัว เตรียมพร้อมกลับไปสู่โลกแห่งการทำงาน และเป็นเดือนเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เช่น ซื้อหนังสือแนวใหม่มาอ่าน, ออกกำลังกายเพิ่มเติม หรือให้เวลากับคนรอบข้างมากขึ้น

เราอาจไม่ต้องถึงขั้นเริ่มทำสิ่งใหม่ที่ดูเป็นการบังคับตัวเองมากเกินไป เช่น ต้องลดน้ำหนักลง 10 กิโลกรัมให้ได้ แต่ลองเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ และสนุกไปกับการทำสิ่งเหล่านั้นดีกว่า นี่จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้เดือนมกราคมดูมีความสุขขึ้นเยอะเลย


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เริ่มต้นใหม่กับคนเก่า?! ไขข้อสงสัย ทำไมเราถึงไม่มูฟออน 


อ้างอิง
https://bit.ly/3AzJeys
https://bit.ly/3H2aFU1
https://bit.ly/3KIwDOg
https://bit.ly/3u4OQj1

Advertisements
Advertisements

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

 

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่