ฝึกสมองให้มองเห็นความสุขได้ด้วย “The Tetris Effect”

1656
The Tetris Effect

เราเคยเชื่อกันว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ แล้วถึงจะมี ‘ความสุข’ แต่ทุกวันนี้หลายคนได้พิสูจน์แล้วว่าเราหาความสุขเล็กๆ จากสิ่งรอบตัวได้ และการเลื่อนขั้นก็ไม่ได้ทำให้เราสุขเสมอไป บางครั้งมีแต่จะทำให้ทุกข์เสียด้วยซ้ำ

แต่นั่นหมายความว่าถ้าเรามีความสุขแล้ว เราก็จะไม่ไขว่คว้าหาความสำเร็จหรือเปล่า

ในเมื่อทุกวันนี้ดีอยู่แล้ว ความฝันก็ไม่ได้สำคัญเท่าไรเช่นนั้นหรือ เกิดความสับสนขึ้นมาอีกว่าความสุขกับความสำเร็จทำงานอย่างไรกันแน่

Advertisements

แล้วถ้าเราอยากสุขไปด้วยบนเส้นทางสู่ความสำเร็จล่ะ ต้องทำอย่างไร

ในหนังสือเรื่อง “The Happiness Advantage” (ความสุขกับความสำเร็จ อะไรเกิดก่อนกัน) ได้พูดถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ และผู้เขียน Shawn Achor อดีตนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำงานวิจัยกับนักศึกษากว่า 1,600 คน และพนักงานจากบริษัทใน Fortune 500 อีกจำนวนมาก จนเขาค้นพบหลักจิตวิทยาที่จะช่วยให้เรามี ‘ความสุข’ และ ‘ความสำเร็จ’ ไปพร้อมๆ กัน

รู้จักกับหลักการเตตริส (The Tetris Effect) 

ยังจำเกมเตตริสกันได้ไหม เกมที่ตัวต่อรูปทรงต่างๆ ร่วงลงมาจากด้านบน และผู้เล่นมีหน้าที่ขยับให้ตัวต่อเหล่านี้เรียงกันเป็นเส้นตรง ผู้ใหญ่หลายคนคงจำได้ดี เพราะในอดีตเกมนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก อย่างไรก็แล้วแต่ เกมเตตริสเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ล่ะ

ในการศึกษาของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทีมวิจัยให้นักศึกษา 27 คนเล่นเกมเตตริสวันละหลายชั่วโมงเป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน ผลที่ตามมาคือนักศึกษาเห็นภาพตัวต่อเหล่านี้ติดตาไปทุกๆ ที่ แม้จะจบการทดลองแล้ว พวกเขายังฝันถึงมันอยู่เลย แม้แต่ผู้เขียนหนังสือเองก็เคยเป็น เขาเริ่มมองเห็นก้อนอิฐเป็นเกมเตตริส และพยายามจะต่อมันให้เป็นเส้นตรงในความคิด ฟังดูแปลกแต่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะอาการนี้เกิดขึ้นกับคนที่ติดเกมนี้เป็นประจำ

เราเรียกอาการนี้ว่า ‘ปรากฏการณ์เตตริส’ 

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเราทำสิ่งใดซ้ำๆ จนสมองเห็นภาพติดตาอยู่ในหัว (Cognitive Afterimage) เช่น การมองสีเดิมนานๆ จนเมื่อหันไปมองทางอื่นจะเห็นสีนั้นติดมา พูดง่ายๆ ก็คือหากเราโฟกัสกับอะไรนานๆ เราก็จะมองเห็นแต่สิ่งนั้น

ปรากฏการณ์เตตริสในชีวิตประจำวันของเรา

จริงๆ ปรากฏการณ์เตตริสเกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว โดยเฉพาะใน ‘ที่ทำงาน’ เพียงแค่เราไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

ในชีวิตนี้ เราคงเคยเจอเพื่อนร่วมงานที่ช่างติและชอบคิดลบ เขาเป็นคนที่มักเห็นข้อเสียก่อนข้อดี และยกมือท้วงทุกครั้งเมื่อใครเสนอไอเดียเจิดจรัส แต่เขาก็เป็นคนที่มีประโยชน์ต่อองค์กร เพราะมักจะพบจุดบกพร่องในงานก่อนคนอื่นเสมอ อย่างไรก็ตาม ที่คนเหล่านี้มองโลกในแง่ลบนั้นอาจไม่ใช่เพราะพวกเขานิสัยไม่ดี แต่เป็นเพราะ ‘งาน’ สอนให้พวกเขาเป็นเช่นนี้ต่างหาก

ในหนังสือได้ยกตัวอย่างผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร คนเหล่านี้ต้องมองหาข้อผิดพลาดท่ามกลางข้อมูลมากมายเพราะเป็นหน้าที่ของพวกเขา หรืออาชีพทนายก็ด้วย พวกเขาถูกสอนให้คิดวิเคราะห์และตั้งคำถามกับทุกอย่าง แม้จะเป็นทักษะที่น่ายกย่องในอาชีพ แต่การมองหาจุดบกพร่องและการประเมินไม่หยุดนี่แหละ อาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้

เมื่อพนักงานเหล่านี้กลับบ้าน พวกเขาอาจมองเห็นบ้านที่ไม่เป็นระเบียบ ก่อนทานอาหารที่ภรรยาเตรียมไว้ให้อย่างดี หรือแทนที่จะไถ่ถามคนที่บ้านว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง พวกเขากลับบ่นเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้ฟังตั้งแต่เช้ายันเย็น ไม่ก็ไต่สวนลูกที่กลับบ้านช้า 15 นาทีว่าไปห้องสมุดมาอย่างที่บอกจริงไหม ให้การเท็จอยู่หรือเปล่า

Shawn Achor กล่าวว่าปรากฏการณ์เตตริสเชิงลบนี้แหละ ส่งผลทั้งต่อความสุขโดยรวมและความสำเร็จของเรา (ถึงกับมีผลวิจัยออกมาเลยว่าอาชีพทนายมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าอาชีพอื่นถึง 3.6 เท่า) แต่อย่าพึ่งตื่นตระหนกไป เพราะจริงๆ แล้วสมองก็สามารถฝึกให้มองเห็นสิ่งดีๆ ในชีวิตได้

รู้จักกับสมอง เครื่องกรอง และการตั้งค่า

วันๆ หนึ่งเรารับข้อมูลข่าวสารมากมาย ทั้งจากสิ่งที่เรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น หรือได้สัมผัส แต่ใช่ว่าสมองเราจะจดจำข้อมูลเหล่านี้เสียหมด นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าสมองเราจำข้อมูลได้เพียง 1 ใน 100 เท่านั้น

แล้วข้อมูลที่เหลือหายไปไหนหมด

Advertisements

จริงๆ แล้วสมองทำงานคล้ายกับเครื่องกรอง ที่คอยกรองสิ่งที่เราไม่สนใจและไม่ส่งผลดีต่อเราออกไปโดยอัตโนมัติ ราวกับฟังก์ชันอีเมลขยะ อย่างไรก็ดี สิ่งที่สมองจะกรองทิ้งหรือเก็บนั้นล้วนอยู่ที่ว่าเราจะตั้งค่ามันอย่างไร หากเราสนใจแต่ข้อเสีย สุดท้ายสมองก็จะกรองเรื่องดีๆ ทิ้งไปหมด

นอกจากนั้นมนุษย์เรายังมีสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “การตาบอดเพราะความไม่ใส่ใจ” (Inattentional Blindness) ซึ่งก็คือการมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แม้ว่ามันจะเด่นแค่ไหนก็ตาม แต่เรากลับมองเห็นแค่สิ่งที่เราสนใจ ยกตัวอย่างการทดลองหนึ่ง นักวิจัยให้ผู้ทดลองสังเกตวัตถุสีขาวและดำบนหน้าจอที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ โดยบนหน้าจอนั้น นักวิจัยได้มีตั้งค่าให้เครื่องหมายบวกสีแดงปรากฏอยู่ด้วย แต่ผลการทดลองพบว่ากว่า 1 ใน 3 มองไม่เห็นเครื่องหมายบวกสีแดงเลย

อยากมองเห็นอะไรก็ตั้งค่าให้สมองใส่ใจสิ่งนั้น

แล้วถ้าเราอยากมีความสุขล่ะ ต้องตั้งค่าอย่างไร

ฝึกสมองให้มองเห็นความสุขชัดขึ้น

Shawn Achor ผู้เขียนแนะนำการเขียน “สิ่งดีๆ 3 อย่าง” ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยเราต้องค้นหาเรื่องดีๆ มาเขียนให้ได้ แม้ว่าวันที่ผ่านมาจะแย่แค่ไหน อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ได้ แค่เรารู้สึกดีหรือรู้สึกขอบคุณสิ่งนั้นก็เพียงพอแล้ว อย่างเช่น ‘แมวที่บ้านปีนมานอนตัก’ หรือ ‘วันนี้เพื่อนที่ทำงานชมว่าฉันแต่งหน้าสวย’ 

ในการศึกษาหนึ่งได้มีการให้ผู้ทดลองเขียนสิ่งดีๆ 3 สิ่งทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ผลพบว่าแค่ผู้ทดลองเขียนติดต่อกันเพียง 1 สัปดาห์ก็มีความสุขมากขึ้น และถ้าหากอยากให้ผลออกมาดียิ่งขึ้นนั้น ควรหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ

นอกจากการเขียนบันทึกแล้ว การแสดงความรู้สึกขอบคุณ (Gratitude) ผู้อื่นออกมาตรงๆ ก็ช่วยได้ เช่น การเอ่ยปากชื่นชมคนอื่นที่ทำดีกับเรา และการบอกให้คนรอบข้างรับรู้ว่าพวกเขามีความหมายต่อเรามากเพียงใด

ผู้เขียนกล่าวสรุปไว้ว่าความสุขที่เพิ่มขึ้นนี้เอง จะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นเวลานานขึ้น และจะนำพาตัวเราไปสู่ความสำเร็จในที่สุด

นี่เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการสร้างความสุข จากหนังสือ “The Happiness Advantage” (ความสุขกับความสำเร็จ อะไรเกิดก่อนกัน) เท่านั้น ในเล่มยังมีหลักจิตวิทยาอีก 6 หลักเกี่ยวกับความสำเร็จและความสุข หากผู้อ่านสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมในหนังสือได้

ส่วนวันนี้ใครที่อ่านบทความอยู่ มาลองจดบันทึกสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกันบ้างไหม

เผื่อเราจะได้มีความสุขและประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กัน

อ้างอิง
หนังสือ The Happiness Advantage (ความสุขกับความสำเร็จ อะไรเกิดก่อนกัน)
https://bit.ly/3nlSKRB
https://bit.ly/38MiDkI

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements