PODCASTรู้จักคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ ผ่านหนังสือ “The Handbook for Highly Sensitive People” | MM EP.1451

รู้จักคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ ผ่านหนังสือ “The Handbook for Highly Sensitive People” | MM EP.1451

คุณเคยมีความคิดเหล่านี้อยู่ในหัวบ้างไหม?

คนอื่นจะคิดยังไงกับเรา?
เราดีพอไหมนะ?
เราคิดมากเกินไปหรือเปล่า?

ถ้าคำตอบของคุณคือ ‘ใช่’ ไม่แน่ว่าคุณอาจเข้าข่ายคนประเภทที่มี “ความอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ” หรือที่รู้จักกันว่า Highly Sensitive Person (HSP)

บ่อยครั้งที่คุณอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอ่อนไหวและเปราะบางกับเรื่องต่างๆ รอบตัว แถมยังรู้สึกอยู่บ่อยๆ ว่าตัวเองนั้นแสดงอารมณ์มากเกินไป และกังวลว่าคนรอบตัวจะอึดอัดกับอารมณ์ที่แสดงออกมา จนหลายๆ ครั้งก็แอบคิดว่าตัวเองแปลกและแตกต่างจากคนอื่น

แต่รู้ไหมว่า ความจริงแล้ว เรา “ไม่ได้แตกต่าง” จากคนอื่นเลย เพราะจากผลสำรวจพบว่า คนบนโลกมากถึง 1,400 ล้านคน ก็เป็นคนประเภท Highly Sensitive เช่นกัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะรู้สึกอ่อนไหวเป็นพิเศษ

แต่หากใครยังสงสัยว่าคนประเภทนี้แท้จริงแล้วมีลักษณะเป็นอย่างไร หรือสงสัยว่าตัวเองเข้าเกณฑ์หรือไม่ ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคนประเภทอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษกันให้มากขึ้น ผ่านหนังสือ “The Handbook for Highly Sensitive People: How to Transform Feeling Overwhelmed and Frazzled to Empowered and Fulfilled” โดย Mel Collins

ทำความเข้าใจกับ 4 ลักษณะของคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ (Highly Sensitive People)

1. มักมีความเห็นอกเห็นใจมากกว่าผู้อื่น

เวลาที่เราเห็นแมวหรือสุนัขโดนรถชน ก็มักเกิดรู้สึกสงสาร หรือเกิดความรู้สึกที่ว่า ‘ต้องทำอะไรสักอย่าง’ ซึ่งนี่ก็คงเป็นความรู้สึกที่มักจะเกิดกับทุกคน แต่สำหรับคนประเภท HSP แล้วจะมีความรู้สึกที่ “มาก” ไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกวิตกกังวลจนต้องรีบเข้าไปช่วยน้องหมาน้องแมว หรือบางคนก็ถึงกับตัวสั่น หรือร้องไห้ออกมาก็มี

อันที่จริงแล้วมนุษย์อย่างเราๆ ล้วนมีความเห็นอกเห็นใจด้วยกันทั้งนั้น แต่ ‘ความมาก-น้อย’ นี่แหละที่เป็นปัจจัยสำคัญ อาการเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นหรือสิ่งรอบตัว ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็เป็นกัน แต่สำหรับชาว HSP พวกเขามักมีอารมณ์ที่ลึกซึ้งมากกว่าคนทั่วไป โดยงานวิจัยระบุว่า ระบบประสาทในสมองของเหล่า HSP นั้นมีการทำงานมากกว่าคนทั่วไป ทำให้พวกเขาสามารถรับรู้ และรู้สึกมากกว่าผู้อื่นเสมอ

2. มีห้วงอารมณ์ที่อ่อนไหว

คุณจะรู้สึกยังไง หากคุณต้องขับรถยนต์คันโต ไปจอดบนชั้นดาดฟ้าที่คับแคบของห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายนาทีก็จอดไม่ได้สักที่ แสงไฟจากรถที่ตามคุณมาส่องกระจกรถคุณ เป็นเชิงบอกว่าให้รีบได้แล้ว เสียงเครื่องยนต์เริ่มรบกวนสมาธิของคุณมากขึ้น คุณจะตัดสินใจที่จะจอดรถตรงนี้อยู่ไหม?

หากเป็นคนทั่วไปก็คงไม่รู้สึกอะไรนัก ทว่าเหล่า HSP ไม่ใช่แบบนั้นเลย พวกเขาจะตื่นเต้น ทำตัวไม่ถูก สมองทื่อไปหมด เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันให้ต้องตัดสินใจ หรือสถานการณ์ที่คับขัน และในที่สุดพวกเขามักจะยอมแพ้ต่อความรู้สึกท่วมท้นที่ไม่สามารถจัดการได้

อีกทั้งความอ่อนไหว และความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกที่ไวกว่าผู้อื่น ทำให้คน HSP มักเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ผสมปนเปไปหมด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกซาบซึ้ง ดีใจ หรือความรู้สึกด้านลบ อย่างความรู้สึกผิด อับอาย กลัว หรือเจ็บปวด พวกเขาจึงมักปิดกั้นตัวเองจากสังคม และสร้างกำแพงสูงขึ้นเมื่อตนถูกวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ยังพบว่า เหล่า HSP มีแนวโน้มในการฟื้นตัวของสภาพจิตใจช้ากว่าคนอื่นๆ อีกด้วย

3. ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น

แน่นอนว่าคนเรามักสร้าง ‘ภาพลักษณ์’ หรือ ‘นิสัย’ บางอย่างเพื่อให้ง่ายต่อการสร้างมิตรภาพในสังคมให้มากที่สุด แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่ม HSP ต่างออกไป พวกเขาต้องสร้างภาพลักษณ์ และนิสัย ที่แตกต่างจากตัวตนของตนให้มากที่สุด เพราะพวกเขามักกังวลว่าคนรอบข้างจะตกใจ หรือรับไม่ได้ต่อการแสดงอารมณ์ที่มากเกินไป

ดังนั้นเราจึงพบได้บ่อยๆว่า ผู้ที่เป็น HSP มักมีปัญหาด้านความสัมพันธ์จากการ ‘สร้างภาพ’ เพื่อให้สังคมยอมรับ เช่น ‘การเป็นคนน่ารัก’ หรือ ‘เป็นคนมีน้ำใจ’ และพยายามปิดบังตัวตนที่แท้จริงไว้ ดังนั้นการหามิตรภาพที่ยั่งยืน จึงถือเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มคน HSP ด้วย และยังพบว่ามีคู่รักหลายคู่ที่ต้องเลิกกันไป โดยอีกฝ่ายมักให้เหตุผลว่า ‘ตอนแรกผมไม่คิดว่าเธอจะเป็นแบบนี้’ หรือ ‘ฉันไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไรอยู่’

4. ปัญหาด้านสุขภาพ

‘ไม่สบายกาย ยังไม่เท่าไม่สบายใจ’ ความกังวล และการคิดมากเกินไป ทำให้เหล่า HSP ประสบโรคเรื้อรังอยู่เสมอ เช่น การนอนไม่หลับ โรค IBS หรือลำไส้แปรปรวน ในทางการแพทย์ระบุว่า อารมณ์และความรู้สึกของคนเรา มักเชื่อมโยงกับสภาพร่างกายอยู่เสมอ

ในหนังสือ The Handbook for Highly Sensitive People ยังระบุว่า เหล่า HSP มักมีอาการเสพติดบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกิน หรือการสูบบุหรี่ โดยสาเหตุหลักๆ มาจากต้องการหนีความเป็นจริง และในบางรายอาจมีการเสพติดการทำงานหนัก เพื่อที่จะสร้างวิถีชีวิตประจำวันให้แต่ละวันกลายเป็นวันธรรมดาๆ


หากใครมีอาการเหล่านี้ไม่ต้องเป็นกังวลไป อาการอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษสามารถแก้ไขได้ โดยเริ่มจากการสร้างทัศนคติ ใหม่ และสร้างพฤติกรรมเล็กๆ ที่ดี ก็จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับอารมณ์ที่หลากหลายในแต่ละวันได้ โดยในหนังสือ The Handbook for Highly Sensitive People ได้ให้คำแนะนำสำหรับการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหล่า HSP ไว้ 3 ข้อด้วยกัน

Advertisements

วิธีการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ (Highly Sensitive People) 3 ข้อ

1. หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น

แม้ว่าการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับชีวิตของผู้อื่น อาจเป็นแรงกระตุ้นที่ดีต่อการใช้ชีวิตของเรา แต่หากพูดถึงในระยะยาวแล้วอาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก โดยเฉพาะการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นในแง่ลบ ก็จะยิ่งทำให้ความคิดที่ตัวเองไม่ดีกัดกินความสุขของตัวเองไปทีละนิดทีละนิด และไม่นานสิ่งเหล่านี้ก็จะกลืนกินความเป็นตัวคุณไป

ทางที่ดีคือ ยอมรับตัวตนทั้งเรื่องที่ดี และไม่ดี สิ่งนี้จะช่วยเสริมสร้างความเป็นคุณ โดยที่คุณค่าของคุณไม่ถูกลดทอนลงไป การสร้างกำลังใจให้ตัวเองก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยคุณต้องตั้งปฏิญาณในทุกๆ วันใหม่ว่า ‘คุณสุดยอดไปเลย’ จะช่วยให้คุณเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสวยงาม

2. พัฒนาความเห็นอกเห็นใจให้ตัวเอง

บ่อยครั้งที่คนประเภท HSP มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือแม้กระทั่งสัตว์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เหล่าคน HSP มักมองข้ามไปคือ ‘ตัวเอง’

ดังนั้นวิธีที่จะช่วยสร้างความเห็นอกเห็นใจให้ตัวเองคือ การตั้งคำถาม โดยคำถามที่สำคัญที่เหล่าคนประเภท HSP ควรถามตัวเองให้เป็นประจำคือ ‘ฉันจะทำแบบนี้กับพ่อ แม่ เพื่อน หรือคนที่รัก เหมือนกับที่ฉันทำกับตัวเองไหม?’ ถ้าหากคำตอบคือ ‘ไม่’ ก็อย่าทำกับตัวเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่เป็น HSP ยังตั้งความคาดหวังกับตัวเองไว้สูงมาก ส่งผลให้คนประเภทนี้เครียดและเลื่อนลอย ดังนั้นเหล่า HSP ควรเริ่มจากตั้งเป้าหมายที่คาดว่าจะทำได้จริงก่อน และลองเขียนแผนการคร่าวๆ ออกมาให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยลดความกดดัน และความเครียดสะสมได้

3. วางขอบเขตให้กับตัวเอง

ยังจำอาการในข้อ 1 ได้ไหม? ความเห็นอกเห็นใจที่มากเกินไป อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อารมณ์ของคุณขยายเกินขอบเขตมากเกินไป และจากความใจดีของเหล่า HSP ก็ทำให้มักต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา หรือช่วยเหลือผู้คนรอบข้างอยู่เสมอ ดังนั้นการวางขอบเขตของเหล่า HSP จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยในหนังสือก็ได้ระบุถึง 2 ขั้นตอนด้วยกัน

โดยขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการลองลดขอบเขตอารมณ์ของคุณลง ซึ่งอย่างแรกอาจจะต้องแสดงความรักต่อตัวเองให้ได้ก่อน เมื่อทำได้คุณก็จะไม่พาตัวเองไปมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวของผู้อื่น

ขั้นตอนที่ 2 จำไว้ว่าพฤติกรรมแย่ๆ จากการกระทำของคนอื่นที่มารบกวนความคิดคุณ เป็นเพราะคุณอนุญาตให้มันเกิดขึ้น และจะไม่มีอะไรเข้ามาทำร้ายจิตใจคุณได้ ถ้าคุณไม่ปล่อยให้มันเข้ามาตั้งแต่แรก ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความคิด หรือการกระทำของคนอื่นมามีอิทธิพลต่อคุณมากเกินไป

การเป็นคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษดูจะมีปัญหาและมีความลำบากต่อการใช้ชีวิต แต่จริงๆ แล้วการเป็น HSP ไม่ได้น่ากลัวและแย่ไปเสียหมด

เพราะบ่อยครั้งที่เราจะพบว่า เพื่อนที่เป็น HSP ก็ช่วยเราได้เยอะเหมือนกัน ด้วยความใจดี ใจกว้าง อีกทั้งการรับรู้และประมวลผลอารมณ์ของคนรอบข้างได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ HSP มักทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนอยู่บ่อยๆ

ดังนั้นขอให้รู้ไว้ว่า การเป็นคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษไม่ได้แย่อย่างที่คิด อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็น HSP จึงไม่ต้องกังวลต่ออาการของตนที่จะไปกระทบคนอื่นๆ แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลา แต่ก็สามารถที่จะปรับชีวิตของตัวเราเองให้อยู่ร่วมกับการเป็น HSP ได้อย่างแน่นอน


อ้างอิง:
หนังสือ The Handbook for Highly Sensitive People โดย Mel Collins ผู้แปล เพียงขวัญ ลักษณ์แสงวิไล

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

 

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า