5 ข้อผิดพลาดที่เรามักทำเมื่อรู้สึกเครียดและกดดัน

3539
เครียดและกดดัน

ทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิตเราอาจจะเคยเผชิญกับ “ความรู้สึกกดดันและความเครียด” ที่ถาโถมใส่เราอยู่ตลอด บางคนที่รับมือได้ก็อาจจะผ่านไปได้สบายๆ หรือทุลักทุเลเล็กน้อย แต่ไม่ใช่สำหรับบางคนที่ความเครียดเข้าครอบงำจนทำเรื่องผิดพลาด

แน่นอนว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่มีใครไม่เคยผิด แต่มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้และปรับตัว ถ้าเรายังทำผิดพลาดซ้ำก็อาจจะต้องมาคิดวิเคราะห์แล้วว่ามันเกิดจากอะไร

เกิดจากปัจจัยที่เราคุมไม่ได้ หรือเกิดจากที่เราเครียดและกดดันมากไปจนตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่นี่คือ 5 ความผิดพลาดหลักๆ ที่เรามักจะทำเมื่อเราเครียดมากเกินไป

Advertisements

1. คิดไปเองว่ายุ่งเกินไปจนไม่มีเวลาคลายเครียด

หลายๆ ครั้งเราคงอยากที่จะพักจากงานตรงหน้าสักนิดด้วยการทำโน่นนี่นั่น ไม่ว่าจะแวบไปงีบสักสิบนาที อ่านหนังสือสักครึ่งชั่วโมง หรือทำอย่างอื่นที่ช่วยให้เราคลายเครียดจากปัญหาที่กำลังเผชิญ

แต่สุดท้าย เราก็เลือกที่จะทนทำงานต่อไป เพราะคิดว่างานตรงหน้านั้นเยอะจนยุ่ง และกลัวว่าถ้าผ่อนคลายตัวเองแล้วงานจะเสร็จไม่ทันเวลา

แม้กระทั่งในบางเวลาที่เราเครียดมากๆ จนอยากที่จะพบจิตแพทย์ หรือเรารู้สึกว่าช่วงหยุดยาวนี้เราควรได้ไปเที่ยวพักผ่อนบ้างเพราะเหนื่อยเกินไปมากแล้ว แต่ก็ไม่ทำเพราะยังคงกังวลว่า ถ้าเราหยุดทำงานล่ะก็งานจะต้องไม่เสร็จ แถมยุ่งขนาดนี้จะเอาเวลาที่ไหนไปพัก ทั้งที่จริงๆ แล้วเรามีเวลา

นี่คือปัญหาแรกๆ ที่มักจะพบเมื่อเครียดและกดดันเกินไป แทนที่จะพักตัวเองให้คลายจากความเครียด แม้จะเล็กๆ น้อยๆ เราก็ไม่กล้าที่จะทำ เพราะกลัวว่าทำไปแล้วเราจะลำบากมากกว่าเดิม ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย เราควรที่จะต้องผ่อนคลายตัวเองเสียด้วยซ้ำถ้าหากว่ามีความเครียดมากเกินไป ส่วนงานจะเสร็จหรือไม่นั้นขึ้นกับการแบ่งเวลาและปริมาณของงาน

ถ้างานยุ่งมากจริงๆ ก็อาจจะไม่ต้องพักนาน แต่อย่างน้อยก็ควรพักสักนิด อย่าให้ความเครียดทำร้ายเราด้วยการบอกว่า “ทุกอย่างหนักเกินไป ยังไงก็ไม่มีทางแก้” ซึ่งที่จริงแล้ว “แม้จะหนักเพียงใด ยังไงก็มีทางแก้ ขอแค่พักผ่อนก่อน”

2. ไม่ปล่อยให้ความคิดได้พักผ่อน

แม้ว่าจะได้พักร่างกาย แต่หลายคนไม่ยอมพักความคิด

แม้จะนอนงีบแต่ในหัวก็ยังคงคิดถึงงาน แม้จะอ่านหนังสือแต่ใจยังคงนึกถึงเอกสาร กลายเป็นว่าความคิดของเราหมกมุ่นกับงานอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ

ถ้าโฟกัสกับงานมากไปจนคิดงานไม่ออก ลองปล่อยให้ความคิดไหลไปเรื่อยเปื่อย ให้ความคิดได้พักผ่อน

ทำไมต้องคิดเรื่อยเปื่อย ทำแบบนั้นแล้วงานจะเดินได้ยังไง?

ที่จริงแล้ว แม้เราจะไม่ได้ใช้ความคิดกับงานตรงหน้า แต่ในบางครั้งจิตใต้สำนึกหรือ ‘Uniconscious Mind’ อาจจะกำลังคิดหาทางแก้ปัญหาอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นในบางครั้งที่เรากำลังเดินหรือนั่งเล่นไปเรื่อยเปื่อย จู่ๆ วิธีแก้ปัญหาก็ผุดขึ้นมาแบบไม่มีสาเหตุ โดยที่เราไม่ต้องไปเค้นอะไรจากมันแม้แต่น้อย

ปล่อยกายให้สบายแล้ว อย่าลืมปล่อยจิตและความคิดให้ได้พักด้วย เดี๋ยวอะไรดีๆ ก็จะออกมาโดยไม่ต้องบีบคั้นให้มากมาย

3. มองว่าตัวเองอ่อนแอที่รับมือกับความกดดันไม่ได้

ความรู้สึกเครียดและกดดันไม่ได้เกิดเฉพาะตอนนี้ที่เราต้องทำงานเยอะๆ จนล้นมือเท่านั้น แต่การทำงานที่เราไม่คุ้นเคยหรือไม่ถนัดแล้วทำผลงานออกมาได้ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า “เรานี่อ่อนแอจริงๆ ที่ทำงานไม่ได้”

ทั้งที่ความจริงแล้ว “คุณไม่ได้อ่อนแอแม้แต่น้อย”

Advertisements

แต่ที่คุณคิดแบบนั้นเป็นเพราะความเครียดและความกดดันกำลังครอบงำคุณ และมักจะเกิดบ่อยกับคนที่เป็น ‘Perfectionist’ หรือคนที่รักความสมบูรณ์แบบมากเกินไป

แน่นอนว่ามีบางครั้งที่งานถาโถมจนเรารับมือลำบาก แต่อย่าเพิ่งวิตกว่าเราทำไม่ได้ ลองหยุดคิดก่อนสักนิดว่า งานเยอะขนาดนี้เราจะรับมืออย่างไร งานไหนต้องส่งก่อนส่งหลัง งานไหนง่ายหรือยากกว่า เพียงจัดสรรงานให้เหมาะกับตัวเรา ความเครียดก็จะค่อยๆ ลดลง เราก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น

ถ้าหากว่าต้องเจอกับงานที่ไม่คุ้นหรือไม่ถนัด อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ให้ตรวจสอบว่างานนี้มีจุดไหนที่คุณทำได้และทำไม่ได้ ถ้ามีจุดที่ทำไม่ได้จะต้องใช้วิธีไหนเพื่อทำให้ได้บ้าง?

อย่ากลัวที่จะยอมรับว่าเรามีเรื่องที่ไม่ถนัด และอย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะคนเรามีขีดจำกัด และการจะผ่านข้อจำกัดได้ก็ต้องรู้วิธีที่เหมาะสมเสียก่อน

4. ไม่ยอมเปิดใจกับวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ

ความเครียดนอกจากจะทำร้ายเราแล้ว มันยังปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์จากตัวเราอีกด้วย

เมื่อเรากดดันตัวเอง เราจะโฟกัสแค่ปัญหาตรงหน้า บางครั้งก็จดจ่อมากเกินไปจนทำให้มองไม่เห็นวิธีการอื่นๆ ที่จะแก้ไขปัญหา เพราะเราปักใจไปกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้าจนลืมมองสิ่งต่างๆ รอบตัว

วิธีแก้ปัญหาไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว แม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ใช่วิธีที่สมบูรณ์แบบ แต่มันอาจจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้นๆ

แม้ว่าเราจะมีวิธีที่ดีที่สุดในความคิดของเรา แต่ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาตรงหน้าได้แล้ว เราก็ไม่ควรที่จะหมกมุ่นกับแนวคิดเดิมๆ แต่ควรสรรหาไอเดียใหม่ๆ จะดีกว่า แม้ว่าเราจะไม่ชอบไอเดียนั้นก็ตาม เพราะวิธีที่ดีที่สุดคือ วิธีที่แก้ปัญหาแล้วให้ผลลัพธ์ที่ดี ให้ผลเสียที่น้อย และเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ มากที่สุด

5. ไม่ยอมขอความช่วยเหลือ

บางครั้งคนเราก็มีความคิดที่อยากจะเอาชนะความท้าทายและความยากลำบากด้วยตัวเอง เพราะเมื่อทำได้เราจะรู้สึกว่า “เราเองก็เก่งและมีความสามารถ”

แต่ไม่ใช่ทุกปัญหาที่เราจะแก้ได้ด้วยตัวคนเดียว บางปัญหาก็ต้องการมันสมองมากกว่าหนึ่ง แต่บางคนก็เลือกที่จะทำด้วยตัวเอง ไม่ยอมขอความช่วยเหลือ เพราะมองว่าเสียศักดิ์ศรีบ้าง อยากท้าทายตัวเองบ้าง ซึ่งไม่ผิดอะไร

แต่ถ้าไม่ไหวก็อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะเป้าหมายของเราคือทำงานให้เสร็จ ถ้าทำด้วยตัวเองจนถึงขีดสุดแล้วจริงๆ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขอความช่วยเหลือ ก็อย่ากลัวที่จะพูดออกไป อย่าให้ความกลัวและความกดดันมาครอบงำความคิดของเราว่าไม่มีใครช่วยเราได้ หรือให้คนอื่นช่วยแล้วจะไม่ดีเท่าเราทำเอง บางครั้งเราอาจจะต้องการแค่ไอเดียใหม่ๆ ก็เท่านั้น ฉะนั้นอย่าอายที่จะยอมรับว่าเราไม่ไหว เพราะการไม่ส่งเสียงเท่ากับเราทำร้ายตัวเอง

ในครั้งหน้าที่เราต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดัน เพียงแค่เราผ่อนคลายร่างกายและจิตใจสักนิด เปิดใจให้กว้างและยอมรับความช่วยเหลือสักหน่อย เรื่องร้ายๆ ก็จะไม่สามารถครอบงำความคิดได้ แล้วเราก็จะผ่านเรื่องต่างๆ ไปได้ไม่ยากเย็น


แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3vGBGq2

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements