ลุ้นตัวโก่ง เชียร์ลั่นบ้าน หัวร้อนเพราะทีมตรงข้าม? วิทยาศาสตร์อธิบาย “ทำไมคนเราชอบเชียร์กีฬา”

686
เชียร์กีฬา

ถ้าเราถามแฟนกีฬาว่า “ทำไมชอบดูกีฬา” หลายคนตอบว่าเพราะมัน “สนุกดี” 

ส่วนคนที่ปกติไม่ค่อยดูกีฬาเท่าไร แต่พอเข้าสู่ช่วงการแข่งระดับโลกอย่างโอลิมปิกทีไร ก็มักจะรู้สึกอินกับกีฬาเป็นพิเศษ จนรู้ตัวอีกทีก็นั่งเชียร์กับคนที่บ้านอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะแข่งวิ่ง กระโดดสูง แบดมินตันและว่ายน้ำ ดูได้ทุกอย่าง เชียร์ได้ทุกประเภท!

Advertisements

แฟนกีฬาก็ลุ้นจนตัวโก่ง หรือไม่ก็หัวเสียเมื่อทีมโปรดเล่นไม่เป็นท่า

ส่วนคนที่ไม่ใช่แฟนกีฬาก็เชียร์สุดใจ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจกฎกติกาเท่าไร

ปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเราสนุกกับการดูกีฬาขนาดนี้?

มาไขข้อสงสัยผ่านวิทยาศาสตร์เบื้องหลังการเชียร์กีฬาดีกว่า

เพราะการเชียร์กีฬาดีต่อสุขภาพจิต

การชมกีฬาก็ไม่ต่างจากการชมรายการบันเทิงรูปแบบอื่นๆ (และดูเหมือนว่าบางกีฬาจะคล้ายกับหนังแอ็กชันมากเป็นพิเศษเสียด้วย) เวลาที่เราทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เราชอบ เรามักจะรู้สึกดีเป็นธรรมดาอยู่แล้วเพราะสมองมีการปล่อยสารโดพามีน

อย่างไรก็ตาม ความพิเศษของการชมกีฬาคือ เราได้รู้สึกเหมือนมีผู้ชมคนอื่นอยู่ด้วย แม้ว่าเราจะนั่งอยู่หน้าจอคนเดียว แต่ความลุ้นจากนักพากย์และเสียงเชียร์จากผู้ชมในจอ ทำให้เรารู้สึกราวกับว่ามีคนร่วมประสบการณ์นี้อยู่ด้วย

กิจกรรมนี้ยังเปิดโอกาสให้เราเป็นตัวเองมากขึ้นด้วย เราสามารถปลดปล่อยอารมณ์ได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงเชียร์ หัวเราะลั่น หรือตะโกนด้วยความหงุดหงิด 

และอีกความสุขที่เราได้จากการดูกีฬาคือ ความรู้สึกเอิบอิ่มในหัวใจ เมื่อเราได้เห็นความพยายามจนสุดความสามารถของนักกีฬา ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เราก็แอบหัวใจพองโตและรู้สึกมีแรงบันดาลใจทันที จนอยากจะลุกไปทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จตามเขาบ้าง

เพราะเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

การมีทีมที่ชอบทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอะไรบางอย่าง และการที่คนเหล่านี้มีความคิดคล้ายเรา (เช่น ‘ทีม A เก่งที่สุด!’) และมีเป้าหมายเดียวกัน (เช่น ‘อยากให้ทีม A ชนะการแข่งนี้!’) ช่วยเติมเต็มความมั่นใจของเรา

อย่างที่เรารู้กันดีว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่กันเป็นเผ่า และชอบที่มีคนคิดเหมือนๆ กันมาตั้งแต่สมัยไหน การเชียร์แข่งกีฬานี้ตอบสนองทุกความต้องการพื้นฐานเหล่านี้หมดเลย 

หากเราดูกีฬากับเพื่อนหรือคนในครอบครัว นี่จะเป็นโอกาสให้เราได้รู้สึกผูกพันกับคนเหล่านี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นการเชียร์พร้อมกับคนหมู่มากอย่างในสเตเดียมอาจจะมีเรื่องที่ต้องระวังอยู่บ้าง

Advertisements

เพราะเมื่อทีมของเราชนะ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) มักจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งฮอร์โมนส์นี้มักจะทำให้มนุษย์เรา โดยเฉพาะเพศชาย รู้สึกมีอำนาจ (Dominant) และก้าวร้าว (Aggressive) นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงเกิดเหตุจลาจลหลังการแข่งกีฬาอยู่บ่อยครั้ง

เพราะชัยชนะของเขา = ชัยชนะของเรา

เมื่อเราดูกีฬา เซลล์สมองที่เรียกว่า “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror neurons) จะทำงาน เซลล์สมองเหล่านี้นอกจากจะทำให้เราหาวตาม เวลาเห็นคนอื่นหาว ยังทำให้เรารู้สึก ‘เห็นอกเห็นใจ’ และรู้จัก ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ด้วย

นี่คือเหตุผลที่เรารู้สึกตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์บนสนาม ราวกับว่าเรากำลังลงแข่งเอง และรู้สึกดีใจสุดขีดเมื่อทำแต้มได้!

เพราะชัยชนะของเขา ก็คือชัยชนะของเรา

ชัยชนะที่สะท้อนกลับมา (Reflected glory) เปลี่ยนความสำเร็จ ‘ของเขา’ ให้เป็น ‘ของเรา’ เราจึงรู้สึกดีและภาคภูมิใจขึ้นมาโดยง่ายๆ แม้จะไม่ได้ลงแรงอะไรเลย ในขณะเดียวกัน หากทีมของเราแพ้ เราก็สามารถปฏิเสธได้ง่ายๆ ว่า ‘พวกเขาแพ้’ ไม่ใช่ ‘พวกเราแพ้’ ถึงจะผิดหวังแต่เราก็ทำใจกับมันง่ายๆ ไม่เหมือนกับการที่เราทำอะไรพลาดเสียเอง

พอจะเข้าใจเหตุผลที่เราชอบเชียร์แข่งกีฬากันแล้วใช่ไหม? ทีนี้ก็ไปสนุกกับการแข่งโอลิมปิกต่อได้เลย! และถ้าเกิดคนรอบตัวสงสัย ถามว่า “ทำไมอินจัง” ก็อธิบายให้ฟังอย่างละเอียดให้เขาเข้าใจ ว่าการเชียร์กีฬาให้อะไรมากกว่าความสนุกเยอะ


อ้างอิง

https://bit.ly/3xlXyHZ

https://bit.ly/3jlMVjl

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#behavior

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements