“บอบบาง” “ท้อแท้” และพร้อม “แตกสลาย”
คำเหล่านี้ ‘นิยาม’ ความเป็น ‘ตัวคุณ’ ตอนนี้อยู่หรือเปล่า? และคุณเองก็เป็นคนยุค Millennials ที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1986 เป็นต้นไป หรือเรียกว่าเป็นคน Generation Y และ Generation Z เหมือนกันด้วยใช่ไหม?
หากใช่ “Snowflake Syndrome” อาจเป็นคำอธิบายที่เหมาะกับความรู้สึกคุณตอนนี้ที่สุดนะ
ว่าแต่ Snowflake Syndrome ที่ว่า คืออะไร?
คำว่า ‘Snowflake’ นอกจากจะมีความหมายว่า ‘เกล็ดหิมะ’ แล้ว ยังมีนิยามความหมายในเชิงอุปมาไว้ด้วยอีกว่า
“A person, esp a young person, viewed as lacking resilience and being excessively prone to taking offense” (Collins English Dictionary, 2016)
ทางฝั่งตะวันตกได้ใช้คำนี้ในความหมายเชิงประชดประชัน เปรียบเทียบว่าคนยุคหลังนั้นบอบบางราวกับ ‘เกล็ดหิมะ’ มีเพียงแค่ความสวยงามให้เชยชม แต่แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัสก็พร้อมจะหลอมละลายหายไป เพียงเจออุ่นไอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หรือทางฝั่งตะวันออกเองก็มีชื่อเรียกคนยุคนี้เช่นกัน โดยจะเรียกว่าเป็น ‘Strawberry Generation’ หรือลูกสตรอว์เบอร์รีที่ถูกประคบประหงมดูแลมาอย่างดีในห้องกระจก สวยงาม ราคาแพง แต่ต้องทะนุถนอมอย่างดี จะโดนอะไรนิดหน่อยก็พลอยช้ำไปหมด
ทั้ง 2 ชื่อเรียกนี้ ล้วนมีเพื่อเสียดสีว่า คนยุคนี้ไม่อดทนต่อความยากลำบาก หรือแรงกดดัน เป็นคนที่ถูกเลี้ยงดูมาจากพ่อแม่รุ่น Gen X หรือ Baby Boomer ที่มีอะไรเพียบพร้อมให้ทุกอย่าง ได้ทุกอย่างจนเคยตัว เมื่อต้องออกสู่โลกแห่งความเป็นจริงภายนอกแล้วก็เอาตัวเองเป็นใหญ่ จะว่าอะไรหน่อยไม่ได้ เมื่อไม่ได้อะไรดั่งใจ หรือเจอปัญหาถาโถมเข้ามา ก็อ้างถึงอาการซึมเศร้า (Depression) นึกถึงการตายหนีปัญหา อ่อนแอเกินกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ ไม่ต่างอะไรจากเกล็ดหิมะที่แสนบอบบาง หรือผลสตรอว์เบอร์รีที่บอบช้ำได้ง่ายเหล่านั้นเลย
ว่าแต่เด็กสมัยนี้ไม่อดทนเอาซะเลย… จริงๆ เหรอ?
รุ่นพ่อแม่ของคนยุค Milennials ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เกิดในยุค Baby Boomer และ Generation X ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
พ่อแม่ของคนยุคนี้จึงเติบโตมากับความยากลำบากในวัยเด็ก ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ชอบความวุ่นวาย รักความสงบ มีความอดทนสูง ทุ่มเทให้กับการทำงาน มีเงินเก็บและร่ำรวยกว่ายุคก่อนหน้า เพราะช่วงชีวิตการทำงานเป็นช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม เศรษฐกิจจึงเฟื่องฟู หยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง
ตรงกันข้ามกับคนในยุค Millennials ที่เกิดมาพร้อมกับความเจริญ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ห่างไกลเกินที่จะเข้าใจถึงความรู้สึกยากลำบากของช่วงสงคราม คนในยุคก่อน Gen X ขึ้นไปจึงมองว่า คนในยุคหลังติดหรู รักความสบาย
จริงอยู่ที่ว่า คนยุคหลังเกิดมามีข้าวของเครื่องใช้สะดวกสบายกว่ายุคก่อน แต่การมองเช่นนี้ทำให้ละทิ้งและมองข้ามอุปสรรคที่คนยุคนี้ต้องเจอเช่นกัน คนแต่ละยุคต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ ที่ต่างกัน คนในยุคนี้เติบโตเริ่มทำงานในยุคที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก อีกทั้งยังมีโรคระบาดอย่างโควิด-19 กินเวลามานานหลายปี พร้อมกับการแข่งขันที่สูงลิ่ว และความเหลื่อมล้ำที่ถูกแบ่งอย่างชัดเจน
หากจะแย้งว่า เศรษฐกิจมันก็ขึ้นๆ ลงๆ มาตลอดอยู่แล้ว แต่เพราะคนยุคหลังบริโภคนิยม ไม่รู้จักประหยัดเองหรือเปล่า? ก็ไม่ถูกต้องนัก งานวิจัยของธนาคารสหรัฐฯ พบว่าโดยเฉลี่ย คนยุค Millennials เริ่มเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่อายุ 24 ปี ในขณะที่ Gen X เริ่มที่ 30 ปี และ Baby Boomer เมื่ออายุ 33 ปี หรือที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า คนยุคหลังเริ่มสนใจเรื่องการลงทุนและวางแผนการเงินกันตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อสะสมเงินได้ระดับหนึ่ง หลายคนก็เริ่มที่จะเปิดธุรกิจ เช่น ขายของออนไลน์ เป็นของตัวเอง
แต่แม้จะประหยัด หรือเก็บเงินมากขนาดไหน ยังมีวิจัยเผยอีกว่า คนยุค Millennials นับว่าเป็น “The poorest generation in history” (เจเนอเรชันที่จนที่สุดในประวัติศาสตร์) ซึ่งนั่นก็มาจากสภาพเศรษฐกิจสังคมที่มีการแข่งขันสูงกว่าแต่ก่อนมาก อย่างเช่นการเริ่มทำธุรกิจ ไม่ว่าใครก็สามารถเปิดธุรกิจค้าขายออนไลน์เป็นของตัวเองได้ รวมไปถึงการที่ค่าครองชีพในสมัยนี้ไม่สอดคล้องกับรายได้
ไม่ต้องยกตัวอย่างไปไหนไกล นึกถึงแค่การจะซื้อไอศกรีมโคนในห้างสรรพสินค้าสักแห่ง ถ้าเทียบกับสมัยยังเป็นเด็ก ไอศกรีมโคนละ 7 บาท แต่ 10 ปีผ่านไป ไอศกรีมเหล่านี้ปรับราคาขึ้นเกินเท่าตัวเป็น 15 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำระดับปริญญาตรียังคงอยู่ที่ 15,000 บาทเช่นเดิม ไม่ต้องพูดไปไกลถึงค่าบ้าน ค่ารถ ที่ตอนนี้ราคาพุ่งสูงจนเกินที่เด็กจบใหม่ยากจะเอื้อมถึง
ในขณะเดียวกัน รุ่นพ่อแม่ของคนยุคนี้ยังคงมีความคาดหวังต่อรายได้ของรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ควรจะเพียงพอต่อการซื้อบ้าน ซื้อรถเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นเดิม ซึ่งขัดแย้งกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นอกจากความกดดันจากครอบครัว ยังมีความกดดันจากสังคม ตั้งแต่การมีเทคโนโลยีเข้ามา ยิ่งทำให้เห็นข้อเปรียบเทียบ เพียงแค่คลิกเข้าสักแอปพลิเคชันอันใดอันหนึ่ง ก็จะพบเจอกับผู้คนมากมายที่กำลังนำเสนอการใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่า ทำเอาเรารู้สึกกดดันทุกครั้งเมื่อหันกลับมามองตนเองที่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
แม้ไม่อาจเปรียบเทียบความลำบากของคนยุคนี้กับคนยุคก่อนได้โดยตรง แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความกดดันมากพอที่ต้องแบกรับ เพราะเหตุนี้เอง ในช่วงหลังเรื่อง ‘สุขภาพจิต’ เลยกลายเป็นสิ่งที่ถูกคำนึงถึงมากยิ่งขึ้น การพูดถึง ‘โรคซึมเศร้า’ จึงเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
ในระยะหลังมานี้ จะพบเห็นสื่อนำเสนอข่าวคนดังที่มีอาการโรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายของเด็กที่มีอายุต่ำลงเรื่อยๆ หรือแม้แต่คนใกล้ตัวที่เริ่มมีอาการนี้มากยิ่งขึ้น นับได้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องใกล้ตัวของแทบทุกคนไปเรียบร้อยแล้ว แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้ผู้ใหญ่มองว่า เด็กสมัยนี้ บอบบาง แตะต้องไม่ได้ ไม่มีความอดทน ไปมากกว่าเดิม
ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตมีสาเหตุหลายอย่าง นอกจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล สิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยต้องพบเจอก็เป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ขึ้นมา ทั้งความคาดหวัง ความกดดันของครอบครัวและสังคมที่ผลักดันให้คนยุคหลังต้องสู้ และแข่งขันอยู่ตลอดเวลาในทุกเรื่อง.. เพราะไม่ว่าทำอะไร ก็ไม่เคยดีพอ
การศึกษาของ Dr. Shai L. Butler พบว่า คนยุค Millenials ไม่ค่อยมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง จึงกลัวการทำผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน หรือความสัมพันธ์ เพราะรู้สึกว่าตัวเอง ‘ไม่ดีพอ’
หลายครั้งความรู้สึกนี้ก็สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกินขีดจำกัดที่บางคนจะรับไหว แม้จะพยายามสักเท่าไหร่ ก็ไม่เคยเพียงพอกับความคาดหวังเสียที นอกจากการยัดเยียดความคาดหวังให้คนอื่นต้องแบกภาระความรับผิดชอบ ด้วยการเปรียบเทียบ กดดัน ยังคงมีวิธีสื่อสารในรูปแบบอื่นๆ ที่ดีต่อใจทั้งผู้พูดและผู้ฟัง อย่างเช่นการให้กำลังใจ และพูดคุยให้คำปรึกษา หรือการซักถาม ถกเถียงอย่างมีเหตุผลเมื่อไม่เข้าใจกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
เพราะคนแต่ละยุคนั้นเติบโตมาในสังคมที่แตกต่าง ไม่มีใครอ่อนแอเกินไป และไม่มีคนยุคไหนดีกว่ากัน
แม้ ‘เกล็ดหิมะ’ จะเป็นสิ่งที่แสนจะบอบบาง และพร้อมสลายหายไปเมื่อต้องเผชิญกับแสงแดดที่สาดส่องลงมาบนโลกแห่งความจริง แต่เกล็ดหิมะเหล่านี้ก็ยังคงมีคุณค่า นอกจากความสวยงามยามหิมะโปรยปรายลงมา เกล็ดหิมะที่หลอมละลายลงบนพื้นดิน ก็เป็นแหล่งน้ำที่ประกอบไปด้วยสารอาหารชั้นดี เหมาะแก่การเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป
หรือพวงองุ่นที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะแรกนั้น ก็สามารถนำไปทำเป็นไวน์รสเลิศ ที่มีเพียงประเทศภูมิอากาศหนาวเย็นเท่านั้นที่จะทำได้
ทุกสิ่งอย่าง และทุกคน ล้วนมีข้อดีของตัวเอง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกไม่ดีเหล่านี้อยู่ เราก็แค่อยากบอกคุณไว้ว่า “คุณไม่ได้ ‘อ่อนแอ’ เกินกว่าที่จะมีชีวิตอยู่” แต่คุณเป็นคนที่ ‘เข้มแข็ง’ มานานมากแล้วต่างหาก
ค่อยๆ ปลดปล่อยความรู้สึกแย่ๆ ของคุณออกไป และโอบกอดตัวเองแน่นๆ เอาไว้ หากต้องการความช่วยเหลือเมื่อไหร่ ลองมองไปรอบๆ ตัว ยังมีหลายมือที่พร้อมยื่นเข้ามาประคับประคองคุณไว้อยู่นะ
ขอให้วันนี้ของคุณเป็นวันที่มีความสุข และผ่านเรื่องราวที่ต้องเจอแต่ละวันไปได้ด้วยดี 🙂
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
– ต้องเชื่อฟังเพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน? Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์ที่ถูกพรากไปจากสังคม >> https://bit.ly/3McQR2q
– หยุดได้หยุด! เหล่าคำพูดบั่นทอนจิตใจ โอบกอดตัวเองไว้เพราะคุณทำดีที่สุดแล้ว >> https://bit.ly/3EjtjGB
อ้างอิง:
https://bit.ly/3uNbFYE
https://bit.ly/3Eo1n4j
https://bit.ly/37m63f3
https://bit.ly/3KS3CPJ
https://bit.ly/3KP0c0r
https://bit.ly/3jKWZTA
https://bit.ly/3KRkI07
https://bit.ly/3KRxPhX
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
#society