เคยไหม? มีเพื่อนร่วมงานที่ไม่พอใจเรา แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ เขากลับแสดงออกทางอ้อมหลายรูปแบบแทน ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาเชิงประชดประชันต่อหน้า กระแนะกระแหนเราผ่านอีเมล แกล้งไม่บอกข้อมูล ไปจนถึงแกล้งทำงานช้า
รู้ทั้งรู้ว่าเขาไม่พอใจแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะพอเราถามตรงๆ อีกฝ่ายกลับบ่ายเบี่ยงว่า “เปล่านะ เราไม่ได้อะไรกับเธอเลย” หรือบอกว่าเราคิดไปเอง
การกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของฝ่ายที่โดนกระทำอย่างมาก ทั้งหงุดหงิด สับสน และเสียความรู้สึก ยิ่งไปกว่านั้น นิสัยสุด Toxic เช่นนี้ยังพบได้บ่อยในที่ทำงาน แถมจะจัดการกับมันก็ยากเสียด้วย!
หากเราต้องเจอแบบนี้บ้างคงเหนื่อยแย่ มาดูกันดีกว่าว่าจะรับมือกับพฤติกรรมแบบนี้ได้อย่างไร
ผลสำรวจเรื่องนิสัย Passive-Aggressive ในที่ทำงาน
การศึกษาหนึ่งสอบถามชาวอเมริกันกว่า 1,200 คน เรื่องพฤติกรรม Passive-Aggressive โดย 20% บอกว่าเพื่อนร่วมงานมักแสดงพฤติกรรมเหล่านี้บ่อยกว่าเพื่อน หรือ คนในครอบครัว ส่วนอีกกว่า 73% รายงานว่าพวกเขาเคยเจอพฤติกรรมเช่นนี้จากเพื่อนร่วมงาน และ 52% ระบุว่าพวกเขาเจอพฤติกรรมเช่นนี้ ‘ทุกสัปดาห์’
การสื่อสารเชิง Passive-Aggressive ที่คนลงความเห็นว่าแย่ที่สุด คือ การโยนความผิด (26%) การสั่งสอน (16%) และการบอกว่าตนไม่ได้โกรธ (15%) ส่วนพฤติกรรมที่คนลงความเห็นว่าแย่ที่สุด ได้แก่ การแสร้งทำเป็นสุภาพหรือเป็นมิตร (24%) การแสร้งทำเป็นใสซื่อ (17%) และ ทำเป็นใจดีด้วยเพื่อหลอกใช้ (14%)
รับมือกับพฤติกรรมไม่พอใจแบบอ้อมๆ
แม้จะเป็นเรื่องที่จัดการด้วยยากเพราะเปิดใจคุยทีไรอีกฝ่ายก็บอกว่า “ไม่ได้มีปัญหาอะไร” แต่เราก็พอจะมีทางออกให้ทุกคนอยู่บ้าง
1) จดพฤติกรรมหรือคำพูดของอีกฝ่ายไว้
เรารู้ว่าอีกฝ่ายไม่พอใจเราอยู่ก็จริง แต่บางครั้งเราก็ระบุชัดเจนไม่ได้ว่า มันเป็นเพราะประโยคที่เขาเลือกใช้ วิธีการพูด น้ำเสียง หรือพฤติกรรมไหนของเขาที่ทำให้เรารู้สึกแย่ ดังนั้นขั้นตอนแรกลองตั้งสติ และระบุพฤติกรรมหรือคำพูดของอีกฝ่ายให้ชัดเจนก่อน โดยเราอาจจดโน้ตไว้พร้อมบริบทเล็กน้อย เพื่อให้เราอธิบายได้ถูกในภายหลัง
2) ปรึกษาหัวหน้าหรือคนที่สามารถช่วยเหลือได้
เราอาจอธิบายสถานการณ์ให้หัวหน้า หรือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลฟัง ว่าเรารู้สึกไม่สบายใจเพราะอะไร เพราะคำพูดและพฤติกรรมอะไรบ้าง จากนั้นก็ขอให้ช่วยจัดการการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยมีคนอื่นเป็นคนกลาง
3) เตรียมหลักฐานให้พร้อม
ในการพูดคุยตรงๆ เพื่อแก้ปัญหากับคนเหล่านี้นั้น เราควรอธิบายอย่างหนักแน่นและเป็นเหตุเป็นผล ว่าการกระทำของอีกฝ่ายกระทบเราอย่างไร และที่สำคัญเราควรเตรียมหลักฐานที่จดไว้มาด้วย เพราะถ้าหากเราพึ่งพาความทรงจำกับความรู้สึกเฉยๆ ล่ะก็ อาจจะไขว้เขวได้ เนื่องจากอีกฝ่ายมักจะมีข้ออ้างและพร้อมปฏิเสธตลอดเวลา
4) สร้าง Safe Space ในการออกความเห็น
ส่วนใหญ่คนที่มีพฤติกรรม Passive-Aggressive มักจะทำไปเพราะไม่กล้าที่จะยอมรับตรงๆ ว่าตนไม่พอใจ อาจจะเพราะกลัวเสียหน้าหรือกลัวคนอื่นมองไม่ดี จึงกลายเป็นพฤติกรรมอ้อมๆ แต่สุดแสนจะ Toxic แทน
การสร้าง Safe Space ระหว่างพนักงานด้วยกัน และ ระหว่างพนักงานกับหัวหน้า จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากพนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะเสนอความเห็นของตัวเองออกมา อาจช่วยลดพฤติกรรมไม่พอใจอ้อมๆ เหล่านี้ได้
5) ให้ความรู้เรื่อง Passive Aggressive
การให้ความรู้ว่าพฤติกรรมและคำพูดใดเข้าข่ายแสดงอาการ Passive-Aggressive จะช่วยให้พนักงานตระหนักถึงพฤติกรรมของตนเองและคนรอบข้าง
Sankalp Chaturvedi ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร จาก Imperial College London ยังบอกอีกว่า ควรมีการฝึก ‘หัวหน้า’ ให้รู้จักสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะบ่อยครั้งมันระบุยากว่าเจตนาของอีกฝ่ายคืออะไรกันแน่ กว่าจะรู้ว่ามีพนักงานที่ทำพฤติกรรมแบบนี้ คนอื่นๆ รอบตัวอาจจะทนความ Toxic ไม่ไหวจนลาออกไปแล้วก็ได้
สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญมาก พนักงานเพียงคนเดียวทำพฤติกรรมแย่ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานหลายคนได้ ดังนั้นมาทำความเข้าใจกับพฤติกกรรมนี้ เพื่อจะรับมือได้ถูกต้อง และไม่เผลอทำพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านี้เอง
อ้างอิง
https://bbc.in/3PKSXcg
https://bit.ly/3zHfwZK
https://bit.ly/3zCRAXn
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อ๊ะ อ๊ะ ตาวิเศษเห็นนะ! งานวิจัยเผยยิ่งจับตามอง พนักงานยิ่งไม่อยากทำงาน : https://bit.ly/3JdDXky
“มั่นหน้า” vs “มั่นใจ” ภัยความมั่นในที่ทำงาน เส้นบางๆ ระหว่างมั่นใจและอีโก้ : https://bit.ly/3cSwWK4
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology