เปิดกล่องความลับกับ ‘Pandora Effect’ เพราะความอยากรู้อยากเห็นเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์

4144
Pandora Effect

ถ้าคุณได้รับกล่องปริศนาที่มีป้ายติดไว้บนฝากล่องว่า “ห้ามเปิด” จนกว่าจะถึงวันที่กําหนด …คุณจะอดใจได้ไหม? 

คนจํานวนมากทําไม่ได้ เพราะสมองได้ถูกวิวัฒนาการมาให้มีความอยากรู้อยากเห็นเมื่อเจอกับอะไรใหม่ๆ เพื่อรับประกันความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ถ้าเราไม่สงสัยอะไรเลย เราคงไม่พัฒนามาถึงจุดๆ นี้ เราจะไม่มีอาวุธไว้ป้องกันตัวเอง บ้านหลังหรูหรา หรือไอโฟนสารพัดประโยชน์ หากเราไม่อยากรู้อยากเห็น มนุษย์จะสูญพันธ์ุอย่างรวดเร็วเพราะสู้สัตว์อื่นไม่ได้

นอกจากนี้ในทางวิทยาศาสตร์ การได้ ‘ไขความลับ’ หรือเปิดกล่องปริศนา สามารถกระตุ้นให้สารโดปามีนหลั่งออกมา ซึ่งสารโดปามีนนั้นทําให้คุณรู้สึกมีความสุขเเละกระฉับกระเฉงขึ้น ดังนั้น การบังคับให้ตัวเองไม่เปิดกล่องเพื่อตอบสนองต่อการอยากรู้อยากเห็นก็อาจทำให้รู้สึกเหี่ยวเฉาได้

Advertisements

ดูเหมือนว่าการขจัดความสงสัยจะให้ผลที่ดีไม่น้อย แต่บางครั้งความอยากรู้อยากเห็นที่มากเกินไปก็อาจมีอันตรายได้เช่นกัน 

จาก “Pandora’s Box” ถึง “Curiosity Killed the Cat”

มีเทพนิยายกรีกเรื่องหนึ่งที่พูดถึงความอยากรู้อยากเห็น ที่นําภัยมาสู่ชีวิตของมนุษย์ นั่นคือเรื่อง “Pandora’s Box” เป็นเรื่องราวของเทพธิดา Pandora ที่ได้รับกล่องใบหนึ่งจากเทพเจ้า และถูกกำชับไม่ให้เธอเปิดกล่องนั้นโดยเด็ดขาด เเต่สุดท้ายแล้ว Pandora ก็ต้านความสงสัยไม่ไหวจึงเปิดกล่องออก เเละ ‘ความหายนะ’ ที่บรรจุอยู่ในกล่องนั้นก็ถูกปล่อยลงไปในโลกมนุษย์ตลอดกาล จนนำมาเรียกปฏิกิริยาความสงสัยของมนุษย์ว่า “Pandora Effect”

เมื่อมาถึงปัจจุบัน ก็มีการพูดถึงความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ไว้ในหลากหลายแง่มุม อย่างเช่นนักเขียนนามปากกา O.Henry ที่ได้พูดถึงสิ่งที่ตามมาจากความอยากรู้อยากเห็นไว้ในนิยายของเขา โดยกล่าวว่า “ความสงสัยนั้นร้ายกาจนัก เพราะอาจทําให้เกิดความอิจฉาซึ่งสามารถฆ่าเเมวทุกตัวได้” 

โดยมาจากสํานวนที่ว่า “Curiosity Killed the Cat, But Satisfaction Brought it Back” ซึ่งหมายความว่า ความอยากรู้อยากเห็นนั้นอันตรายเมื่อคุณค้นพบความลับที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจในทางที่ไม่ดี เช่น ทําให้คุณโกรธหรือเสียใจ เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่คุณต้องการไขข้อสงสัยก็เป็นเพราะว่าคุณอยากรู้สึกพึงพอใจในภายหลัง เเต่ความพึงพอใจนั้นอาจจะไม่คุ้มเท่าไรนัก ถ้าหากมันเป็นที่มาของหายนะ

ทดสอบ Pandora Effect ในตัวมนุษย์

หลายศตวรรษต่อมา นักวิจัยได้ทําการทดลองเพื่อที่พิสูจน์ว่า Pandora Effect มีอยู่จริงหรือไม่ โดยเเบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม 

อาสาสมัครกลุ่ม A ได้รับปากกา 5 ด้ามพร้อมสติกเกอร์สีเเดงที่เตือนว่าการกดปากกานั้นจะส่งไฟฟ้าช็อตอ่อนๆ เเละอีก 5 ด้ามพร้อมสติกเกอร์สีเขียวที่บอกว่าการกดปากกานั้นปลอดภัย ส่วนกลุ่ม B ได้รับปากกา 10 ด้ามพร้อมสติกเกอร์สีเหลืองที่ไม่บ่งบอกอะไร

ผลคืออาสาสมัครในกลุ่ม B นั้นมีเเนวโน้มที่จะกดปากกามากกว่ากลุ่ม A ถึง 5 เท่า นั่นหมายความว่า คนส่วนมากต้องการตอบสนองต่อความสงสัยของตัวเองโดยการเสี่ยงกับความไม่เเน่นอน 

เเต่เมื่อนักวิจัยลองให้อาสาสมัครกลุ่มนี้นึกถึงโอกาสที่อาจถูกไฟช็อต อาสาสมัครหลายคนก็มีเเนวโน้มที่จะไม่กดปากกาในการทดลองครั้งต่อไป

ถ้ามนุษย์อยากรู้อยากเห็นมากเกินไป จะเกิดอะไรขึ้น?

โดยรวมเเล้ว Pandora Effect ทําให้คนเราเลือกที่จะเสี่ยงกับสิ่งที่ไม่เเน่นอน แม้อาจนำไปสู่ความรู้สึกแย่ๆ หรือสิ่งที่ไม่คาดคิด เพราะต้องการกําจัดความรู้สึกไม่สบายใจที่เกิดขึ้นเมื่อคุณไม่สามารถไขข้อสงสัยได้ 

Advertisements

ในชีวิตประจำวันของเรา Pandora Effect นั้นทําให้เกิดหายนะมากมาย อาทิ บางคนขับรถชนเพราะมัวไปเหลียวมองดูอุบัติเหตุบนถนนฝั่งตรงข้าม เนื่องจากความอยากรู้อยากเห็นของตนเอง หรือแม้แต่การไปสืบจนรู้ว่าคนที่เราแอบชอบนั้นมีแฟนอยู่แล้ว ก็เป็นการเปิดกล่องแพนโดร่าที่ตามมาด้วยความเจ็บช้ำอย่างหนึ่ง 

ส่วนสิ่งที่จะช่วยให้เรารับมือกับ Pandora Effect ได้ ก็คือการพยายามไตร่ตรองว่าเราต้องรู้และต้องเห็นบางสิ่งบางอย่างไปเพื่ออะไร มันจะทำให้เราเสียเวลาเปล่าหรือไม่ หรือถ้าหากรู้แล้ว เราสามารถรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความรู้สึกของเราได้หรือเปล่า

คิดให้มาก…ว่าเราพร้อมรับรู้ความลับ หรือจะปล่อยให้ความลับนั้นอยู่ในกล่องต่อไป

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:

ลุ้นตัวโก่ง เชียร์ลั่นบ้าน หัวร้อนเพราะทีมตรงข้าม? วิทยาศาสตร์อธิบาย “ทำไมคนเราชอบเชียร์กีฬา”

พลังแห่งเดดไลน์ ทำได้ทุกอย่าง! รู้จัก Parkinson’s Law กับเหตุผลว่าทำไมถ้าไม่ใกล้เดดไลน์ ก็ไม่ยอมทำงาน

แปลและเรียบเรียงจาก
https://bit.ly/3z3RXI0
https://bit.ly/3B5fKb9
https://bit.ly/2UsmGzb
https://bit.ly/3CW23N8

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

—————–

Writer: Tita Tuchinda

Editor: Manlika Klinprayong

Advertisements