PSYCHOLOGY“มุกตลกที่หนักใจคนอื่น” เข้าใจนิสัยผ่านอารมณ์ขันแบบลบๆ มีคนแบบนี้รอบตัวคุณอยู่หรือเปล่า?

“มุกตลกที่หนักใจคนอื่น” เข้าใจนิสัยผ่านอารมณ์ขันแบบลบๆ มีคนแบบนี้รอบตัวคุณอยู่หรือเปล่า?

คุณเคยเจอมุกตลกที่ “ไม่ตลก” ไหม?

เชื่อว่าคำพูดเหล่านั้นคงทำให้เรารู้สึกไม่ดีเลยใช่ไหมล่ะ

เพราะคำว่า “มุกตลก” เราจึงทำได้เพียงยิ้มบางๆ เพื่อกลบความไม่พอใจของตนเองเอาไว้ เพราะไม่อยากทำให้เสียบรรยากาศ และไม่อยากถูกมองว่า “จะจริงจังทำไม ก็แค่มุกตลกเอง”

แต่บางครั้งเรื่องตลกสำหรับเขา อาจไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับเรา เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สร้างรอยยิ้ม กลับกลายเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจ และทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญไปโดยปริยาย

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนบางคนถึงมีอารมณ์ขันแบบนี้ และอะไรกันเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเรามีอารมณ์ขันแบบลบๆ เช่นนี้ บทความนี้จะพาทุกคนตั้งคำถามไปพร้อมๆ กัน

ดาบสองคมของอารมณ์ขัน บางทีก็ทำให้เราขำไม่ออก

จากผลการศึกษาใหม่เรื่อง “Humor and the dark triad: Relationships among narcissism, Machiavellianism, psychopathy and comic styles” ที่ได้ทำการทดสอบจากผู้ที่มีลักษณะผิดปกติทางบุคลิกภาพ เช่น ความหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) หรือโรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะใช้อารมณ์ขันในรูปแบบต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเองอย่างมีนัยสำคัญ

นักจิตวิทยา Alberto Dionigi ผู้ทำการวิจัยนี้ได้สนับสนุนคำพูดของนักเขียนชื่อดังชาวรัสเซีย Fyodor Dostoevsky ที่ว่า “เราสามารถรู้จักคนคนหนึ่งได้จากการหัวเราะของเขา” ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าอารมณ์ขันเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจความคิดและลักษณะนิสัยของแต่ละบุคคล

ตามที่ Dionigi ได้กล่าวไว้ในผลการศึกษา อารมณ์ขันเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนและมีหลายมิติผสมผสานกันหลากหลายแง่มุม จากนิสัยพฤติกรรม ความสามารถ ลักษณะบุคลิกภาพ และวิธีการรับมือกับปัญหา เป็นต้น

โดย Dionigi และทีมศึกษาได้สร้างแบบสอบถาม 2 ชุดให้ผู้เข้าร่วมทำ ชุดแรกเป็นการตรวจสอบข้อมูลประชากรและบุคลิกภาพของผู้เข้าร่วม และอีกชุดเป็นการตรวจสอบอารมณ์ขัน 8 ประเภท จำแนกตาม 2 ลักษณะ ดังนี้

1) อารมณ์ขันด้านบวก เช่น ความสนุกสนาน อารมณ์ขัน เรื่องไร้สาระ และความเฉลียวฉลาด รูปแบบเหล่านี้เป็นอารมณ์ขันเชิงบวกที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย

2) อารมณ์ขันด้านลบ เช่น การประชด การเสียดสี การเสียดสี และการเยาะเย้ยถากถาง โดยทั่วไปแล้วรูปแบบเหล่านี้เป็นอารมณ์ขันเชิงลบ

จากผลการศึกษาของการวิจัยนี้ Dionigi พบว่าอารมณ์ขันเหมือนกับ “ดาบสองคม” แม้ว่าอารมณ์ขันจะถูกมองเป็นความสนุกสนาน เป็นพลังบวกที่ใครๆ ต่างต้องการ แต่อีกนัยหนึ่ง อารมณ์ขันถูกใช้ในวัตถุประสงค์และวิธีการที่ผิดไปจากเดิม

ถ้าอยากรู้จักนิสัยคน ให้ลองสังเกตอารมณ์ขันของพวกเขา

ผลการวิจัยได้ชี้ว่า ผู้ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ มักจะใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้อื่นหรืออาจใช้อารมณ์ขันเพื่อถากถาง ทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่สบายใจ หรือรู้สึกต่ำต้อยกว่า

คนประเภทนี้บางคนมักจะใช้อารมณ์ขันเพื่อเพิ่มความมั่นใจ และแสวงหาการยอมรับจากสังคม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เป็นโรคผิดปกติทางบุคลิกภาพ อย่างโรคหลงตัวเอง หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Narcissistic Personality Disorder ที่มักจะใช้อารมณ์ขันเชิงลบเพื่อทำให้ตนเองรู้สึกมั่นคง

ในขณะที่คนเหล่านี้ปล่อยมุกหรือทำอะไรที่พวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องน่าตลก พวกเขาจะไม่ทราบว่าอารมณ์ขันเชิงลบของพวกเขาได้สร้างรอยร้าวและเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า แม้เราจะแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจน คนเหล่านี้ก็ยังคิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ผิด เพราะเขาจะคิดแค่ว่า “ก็เรื่องขำๆ ทำไมต้องเก็บมาใส่ใจ” สุดท้าย เราทำได้เพียงปล่อยมันผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้ว่าเราอยากจะโต้ตอบมากแค่ไหนก็ตาม

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การที่ผู้คนใช้อารมณ์ขันในเชิงบวก เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง และต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคม ก็อาจจะเป็นเหตุผลเช่นเดียวกับผู้ที่ใช้อารมณ์ขันในเชิงลบ ที่ต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคมเช่นกัน แต่คนกลุ่มนี้อาจใช้วิธีการที่ผิดไปโดยที่ไม่รู้ตัว

การวิจัยชิ้นนี้ทำให้เราเห็นว่าอารมณ์ขันนั้นซับซ้อนมากกว่าที่คิด โดย Sense of Humor ของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงลักษณะนิสัย มุมมอง และรวมถึงปมในวัยเด็ก หรือเรื่องอัดอั้นภายในใจที่ไม่สามารถระบายออกมาได้

แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทุกประสบการณ์ในชีวิต หล่อเลี้ยงและทำให้เราโตขึ้นมากลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราสามารถนำความลำบากมาแลกเป็นอภิสิทธิ์ ที่จะใช้อ้างเพื่อกดทับคนอื่น

แม้ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงพลังลบๆ จากคนเหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการมองเห็นที่มาที่ไปของพลังลบๆ และเมื่อมองเห็น เราจะเข้าใจจุดประสงค์ รวมถึงลักษณะนิสัยของคนเหล่านี้มากขึ้น สิ่งนี้จะนำไปสู่การยอมรับความหลากหลาย และปล่อยวางจากคำพูดที่ไม่ควรค่าแก่การเก็บมาใส่ใจได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

สรุปได้ว่าการศึกษาของ Dionigi เห็นว่าลักษณะนิสัยและอารมณ์ขันมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ และความเชื่อมโยงเหล่านี้อาจนำไปสู่การเข้าใจความหลากหลาย ความซับซ้อนภายในจิตใจมนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไปว่าอารมณ์ขันเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราสามารถรู้จักคนคนนั้นได้ในระดับหนึ่ง การพูดคุย การมีปฏิสัมพันธ์จะทำให้เราเข้าถึงพวกเขาได้มากขึ้น เราก็อาจจะสามารถมองลักษณะนิสัยของคนได้ผ่านอารมณ์ขันลบๆ นี้ แต่ก็ต้องเน้นย้ำไว้ว่านี่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มีอารมณ์ขันตามลักษณะต่อไปจะมีนิสัยเช่นนี้ทุกคน

Advertisements
Advertisements

แล้วเราจะรับมือกับ “มุกที่ไม่ตลก” แบบนี้อย่างไร?

สุดท้ายแล้ว Sense of Humor หรือความตลก ที่เป็นเหมือนประตูเพื่อนำไปสู่การสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อให้เป็นที่จดจำ และแสดงความเป็นตัวเองออกมา ล้วนเป็นประโยชน์ต่อคู่สนทนาทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อใดก็ตามที่ความตลกนั้นทำให้ผู้อื่นรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ แม้ว่าผู้พูดจะไม่รู้ว่าตัวเองผิดก็ตาม อย่างไรเสียก็ถือว่าเป็นวิธีการสื่อสาร การแสดงออกที่ไม่ถูกต้อง

การรับมือกับอารมณ์ขันที่เรา “ไม่พร้อมจะรับ” หรือ “รับมาแล้ว” แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร สิ่งที่เราทำได้คือ “ตั้งสติ” และอย่าใช้อารมณ์ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น บ่อยครั้งอารมณ์ขันถูกใช้เป็นข้ออ้างบังหน้าเพื่อทำให้เรารู้สึกแย่ เพราะฉะนั้นการใช้อารมณ์โต้ตอบไม่ใช่หนทางที่ดี เราอาจจะลองพยายามแสดงจุดยืนอย่างการถามย้ำว่า “เมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ” หรือบอกกลับไปนิ่งๆ ว่า “ไม่เห็นขำเลย เรื่องแบบนี้” และอธิบายเหตุผลไป เป็นการติเพื่อให้รู้ เข้าใจและปรับปรุงตัว เพื่อที่พวกเขาเหล่านี้จะไม่ไปทำกับคนอื่นๆ ต่อ

แปลและเรียบเรียง
– New Psychological Research Shows How Humor Can Sometimes Be Maladaptive : Mark Travers, Forbes – https://bit.ly/3BcIdNU
– How A Dark Personality Uses Humor : Mark Travers, Therapy.tips.org – https://bit.ly/3RRkGbH
– Funny Folks: Linking Sense of Humor to Personality : Earleywine, Mitch, Springer Public Connect – https://bit.ly/3BwI9tx

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

 

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Pattraporn Hoy
Pattraporn Hoy
นักศึกษาเอกวรรณกรรมจีนผู้เชื่อว่าวันที่ดีเริ่มต้นด้วยการกินของอร่อย

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า