ขอโทษแบบนี้ไม่เอาดีกว่า! ทำอย่างไรเมื่ออีกฝ่ายขอโทษเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี
‘ขอโทษแล้วกัน’
‘ขอโทษ ถ้าทำให้รู้สึกไม่ดี’
‘ขอโทษ แต่…’
แน่นอนว่าเราต้องเคยได้ยินคำขอโทษประเภทนี้มาบ้าง พอได้ยินแบบนี้ จากที่เสียใจอยู่แล้วจากการกระทำของอีกฝ่าย ยังต้องมาสับสนอีกว่าสรุปแล้วเขาขอโทษจริงๆ ไหมนะ? ทำไมเราฟังแล้วยัง ‘รู้สึกแย่’ กว่าเดิม แถมยัง ‘โมโห’ อยู่ลึกๆ อีก!
เป็นเพราะเรากำลังได้ยิน “คำขอโทษจอมปลอม” (Fake Apology) อยู่นั่นเอง
จริงๆ แล้วคำขอโทษเป็นการแสดงออกด้วยคำพูดสั้นๆ แต่ทรงพลัง เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์และช่วยรักษาให้สังคมอยู่กันอย่างสงบสุข แต่แม้จะสำคัญและมีความหมายแค่ไหน หลายคนก็นำคำขอโทษไปใช้ในแง่มุมผิดๆ อย่างการขอโทษเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น (Fake Apology) หรือการพยายามปั่นหัว (Gaslight) อีกฝ่ายให้รู้สึกผิด
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยหากเราจะรู้สึกไม่พอใจเมื่อได้ยินคำพูดประเภท ‘ขอโทษ ถ้า…’ ซ้ำร้าย หากเรายอมให้อภัยแต่ในใจยังไม่รู้สึกดีขึ้น อีกฝ่ายก็อาจยกคำเถียงประเภท ‘ก็ขอโทษไปแล้วไง จะเอาอะไรอีก’ ขึ้นมาได้ พาให้เรารู้สึกแย่เป็นเท่าตัว
ดังนั้นอย่าพึ่งรีบตอบรับ ตอบโต้ หรือเดินตามเกมของอีกฝ่าย! มาทำความรู้จักกับคำขอโทษที่ไม่จริงใจ และวิธีตอบโต้กับคำพูดเหล่านี้กันก่อน
รู้จักกับคำขอโทษจอมปลอม (Fake Apology)
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำขอโทษจากอีกฝ่ายไม่จริงใจ? เราอาจดูได้จากสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง หรือจากประโยคเหล่านี้
[ ] ประโยคขอโทษที่มีคำว่า ‘แต่’
เรารู้ดีอยู่แล้วว่าใจความสำคัญของประโยคนั้นจะตามหลังคำว่า ‘แต่’ ดังนั้นคำขอโทษที่วางไว้ด้านหน้าก็เหมือนถูกพิสูจน์ไปในตัวแล้วว่าไม่จริง ยกตัวอย่างเช่น ‘ขอโทษนะ แต่สถานการณ์มันพาไป’ แม้จะเป็นไปได้ว่าผู้พูดรู้สึกแย่อยู่บ้าง แต่ที่เห็นชัดเจนกว่าคือเขาไม่ได้รู้สึกรับผิดชอบในการกระทำ เขามองว่าเป็นสถานการณ์ต่างหากที่ผิด ไม่ใช่เขา
[ ] ประโยคขอโทษที่มีคำว่า ‘ถ้า’
เช่นเดียวกัน คำว่า ‘ถ้า’ ที่เป็นประโยคเงื่อนไขนั้น ทำให้ฝ่ายผู้ฟังรู้สึกว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความจริง ยกตัวอย่างเช่น ‘ขอโทษนะ ถ้าทำให้เสียใจ’ คำพูดนี้ให้ความรู้สึกราวกับว่าการที่ผู้ฟังเสียใจนั้นอาจเป็นหรือไม่เป็นจริงก็ได้ ถ้าเสียใจ ผู้กระทำก็ขอโทษด้วย แต่ถ้าไม่เสียใจก็ไม่ขอโทษ แตกต่างกับประโยคที่ชัดเจนอย่าง ‘ขอโทษที่ทำให้เสียใจ’ อย่างมาก
คำขอโทษประเภทนี้ทำให้ผู้ฟังสั่นคลอนในความเชื่อของตัวเอง มักใช้ในความสัมพันธ์ที่อีกฝ่ายพยายามควบคุม (Manipulate) อยู่บ่อยครั้ง
[ ] ประโยคขอโทษที่กำกวม
เช่น ‘ขอโทษสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น’ หรือ ‘ขอโทษก็แล้วกัน’ อาจตีความได้ว่าผู้พูดไม่ได้เข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร และไม่ได้รับผิดชอบการกระทำไม่ให้เกิดขึ้นอีก ผู้พูดอาจพูดเพราะต้องการให้เรื่องราวจบๆ ไปแค่นั้น
ประเภทที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ทั้งนี้ต้องดูบริบทประกอบด้วย บางครั้งผู้พูดอาจจริงใจแต่สื่อความรู้สึกออกมาได้ไม่ดีก็เป็นได้ การจะจำกัดความคำขอโทษปลอมๆ (Fake Apology) เป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอีกฝ่ายคิดอะไรอยู่
อย่างไรก็ตาม หากเราฟังคำขอโทษพวกนี้แล้วรู้สึกไม่ดีหรือรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่จริงใจล่ะ จำเป็นต้องให้อภัยไหม? หรือถ้าไม่ให้อภัยจะดูแย่ไหมเพราะอีกฝ่ายอุตส่าห์ขอโทษแล้ว? เราจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ได้บ้าง?
1) ตอบรับคำขอโทษ
หากคำที่เราได้ยินเป็นคำขอโทษที่ดูไม่จริงใจเหมือนตัวอย่างข้างต้น จนเรารู้สึกสับสน ให้ถามตัวเองว่าเราอยากรักษาความสัมพันธ์ของเราและอีกฝ่ายไหม ถ้าหากไม่ได้สนใจ ก็ไม่ต้องคิดมากว่าอีกฝ่ายจะจริงใจไหม เราอาจแค่ตอบรับว่า ‘ได้ยินแล้ว’ หรือ ‘รับรู้แล้ว’ จากนั้นก็ใช้ชีวิตของเราต่อไป ไม่จำเป็นต้องให้อภัยก็ได้
2) ตอบรับคำขอโทษและให้อภัย
หากเราอยากรักษาความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายอยู่ หรือ อยากให้อภัย แต่ยังไม่แน่ใจนักว่าคำขอโทษของเขาจริงใจไหม มอลลี ฮาวส์ นักจิตวิทยา เจ้าของหนังสือ A Good Apology: Four Steps to Make Things Right ได้แนะนำวิธีรับมือไว้ดังนี้
เราอาจเริ่มจากเล่าเรื่องราวจากฝ่ายเราให้เขาฟัง คำว่า ‘ฉันขอโทษ’ จะไม่มีความหมายเลย ถ้าอีกฝ่ายไม่เข้าใจว่าเขาทำร้ายเราอย่างไร ดังนั้นลองถามเขาว่ารับฟังประสบการณ์ความเจ็บปวดจากฝ่ายเราได้ไหม ว่าการกระทำของอีกฝ่ายส่งผลกระทบกับเราอย่างไร
หากอีกฝ่ายไม่สนใจหรือไม่อยากฟัง เราก็รู้แล้วว่าคำขอโทษของเขาไม่จริงใจและตื้นเขินแค่ไหน แต่ถ้าอีกฝ่ายยินดีรับฟัง นี่ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการรักษาความสัมพันธ์
ถ้าเรายังรู้สึกไม่สบายใจ อาจขอให้อีกฝ่ายขอโทษอีกครั้งด้วยความ ‘ชัดเจน’ และ ‘จริงใจ’ หลังจากฟังเรื่องราวของฝ่ายเรา และอาจขอให้อีกฝ่ายให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าระดับไหนถึงทำให้เราสบายใจ และระดับไหนถึงเหมาะสมที่จะได้รับการให้อภัย
หากการให้อภัยทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกดีขึ้น ก็จงให้อภัย ถือว่าเป็นโอกาสในการปลดปล่อยความโกรธแค้นขุ่นเคืองไปในตัว และจำไว้ว่าการให้อภัยไม่ใช่ ‘การคืนดี’ เสมอไป เราให้อภัยได้ แต่ไม่จำเป็นต้องกลับมามีความสัมพันธ์ดังเดิมกับอีกฝ่ายก็ได้
3) ปฏิเสธคำขอโทษ
เรามักได้ยินว่าการ ‘ไม่ให้อภัย’ นั้น เท่ากับการ ‘แค้นฝังใจ’ และทำให้เราไม่หลุดพ้นเสียที ความคิดเดิมๆ เช่นนี้ทำให้เราต้องยอมให้อภัยคนผิดอยู่บ่อยๆ เพียงเพราะไม่อยากเป็นคนไม่ดี ทั้งๆ ที่จริงแล้วเราเลือกที่จะไม่ให้อภัยได้ เราไม่ต้องยอมรับคำขอโทษเลยก็ได้ด้วยซ้ำ
หากเราเชื่อว่าสิ่งที่อีกฝ่ายทำนั้นตรงข้ามกับสิ่งที่เรายึดมั่น การไม่ประนีประนอมไม่ได้ทำให้เรามีคุณค่าน้อยลงเลย แต่การยอมโอนอ่อนความเชื่อที่เรายึดมั่นต่างหากจะทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะในกรณีที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ หรือเหตุการณ์ที่แผลใจนั้นบาดลึกเกินกว่าจะเยียวยาได้
และต้องยอมรับว่า บนโลกนี้มีผู้กระทำผิดบางคนที่ขอโทษเพียงเพราะอยาก ‘คลายความรู้สึกผิด’ ในใจเท่านั้น ไม่ได้อยากจะแสดงความรับผิดชอบต่ออีกฝ่ายจริงๆ หรือเยียวยาความสัมพันธ์เลย
ดังนั้นครั้งต่อไป หากการตอบรับคำขอโทษไม่ได้สร้างความสบายใจให้แก่เรา ลองยึดมั่นในความเชื่อและปฏิเสธอีกฝ่ายอย่างจริงใจดู จำไว้เสมอว่าการปฏิเสธคำขอโทษนั้นไม่ใช่การลงโทษอีกฝ่าย ไม่ใช่ความคิดแค้น แต่เป็นหนทางสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิมต่างหาก
จริงใจกับความรู้สึกให้ตัวเองมากๆ หากไม่ได้รู้สึกว่าเราให้อภัย ก็ไม่เป็นไรที่จะปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอีกฝ่ายจะจริงใจไหม ช่วงเวลาแห่งการขอโทษนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการตำหนิ หากเรารู้สึกว่าเราไม่อยากให้อภัย ก็เพียงแต่บอกเขาไปตามตรง เดินออกจากสถานการณ์นั้นและใช้ชีวิตของเราต่อไป
หรือถ้าหากเราเป็นฝ่ายทำผิด อย่าลืมว่าคำขอโทษเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ไม่ได้ช่วยเยียวยาแผลใจอีกฝ่ายและไม่ได้ช่วยให้ความเชื่อใจกลับคืนมาทันที จริงอยู่ที่คำพูดสำคัญ แต่การกระทำที่ตามมาก็สำคัญไม่แพ้กัน
อ้างอิง:
https://bit.ly/33y88mg
https://bit.ly/3JD8Fm8
https://bit.ly/3JFOqo7
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
คำขอโทษแบบไหนที่เป็นจริง? รู้จัก Fake Apology
4 รูปแบบของ Gaslighting ที่ต้องระวังในความสัมพันธ์
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology