ทุกวันนี้คุณได้เอางานกลับมาทำที่บ้านหรือเปล่า?
ในวันหยุดคุณรู้สึกอดไม่ได้ที่จะเข้าอีเมลของที่ทำงาน?
เวลาดูหนังหรือซีรีส์ กลับรู้สึกกังวลที่ไม่ได้เอาเวลาส่วนนี้มาทำงานหรือไม่?
“งาน” เข้ามามีบทบาทในชีวิตเราแบบที่เรียกได้ว่า “แทบจะพรากเวลาของเราไปหมด” และคำกล่าวที่ว่า “งานคือเงิน” ก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย ปัจจัยเหล่านี้ต่างผลักดันให้เราพุ่งเข้าสู่กับดักการทำงานหนักมากเกินไป และผลจากการทำงานหนักก็ส่งไปถึงสุขภาพและจิตใจ ทั้งอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) หรือแม้แต่ความวิตกกังวล (Anxiety) ในที่ทำงาน
ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าการทำงานหนักส่งผลลบต่อเรา และการได้พักผ่อนจากงานก็ควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสบายใจและผ่อนคลาย แต่ทำไมเรากลับมา “รู้สึกผิด” เมื่อไม่ได้ทำงานกันล่ะ?
ก่อนอื่นเลยเรามาลองมาสังเกตดูว่า เรามีอาการ “ติดการทำงาน” หรือเปล่า?
5 เช็กลิสต์ คุณเป็นคนติดงานหรือเปล่า?
[ ] ข้อที่ 1 คุณทำงานนาน 8 – 10 ชั่วโมงต่อวัน และพบว่าระหว่างทำงาน การลุกไปกินข้าว ดื่มน้ำ กลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก[ ] ข้อที่ 2 หลังกลับจากทานข้าวเย็น คุณกลับมาเริ่มทำงานที่ค้างคาอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเข้านอน คุณกลับรู้สึกกระสับกระส่าย
[ ] ข้อที่ 3 คุณมักฝันบ่อยๆ ว่าคุณลืมทำงานบางอย่าง
[ ] ข้อที่ 4 รู้สึกผิดที่จะต้องพักผ่อน
[ ] ข้อที่ 5 คุณไม่รู้สึกว่าการพักผ่อนในวันหยุดเติมเต็มให้คุณได้
ถ้าเริ่มเห็นด้วยกับข้อความด้านบน ก็อาจแปลได้ว่า “คุณกำลังเริ่มติดกับดักการทำงาน” เข้าแล้ว!
แล้วความรู้สึกผิดจากการหยุดทำงานเกิดจากอะไรกัน?
คนส่วนมากจะเชื่อว่า เราจะ “Productive” เมื่อเราได้ “ทำงาน” หรือเราจะรู้สึกขยันขึ้นในตอนที่เราทำตัวให้ “ยุ่ง” อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเกิดอาการ “ติดงาน” ได้ง่าย และพอนานๆ เข้า การที่เราทำตัวยุ่งอยู่ตลอดเวลา ผลพวงของมันคือการที่เราติดอยู่ในกับดักการทำงาน และเมื่อพักเมื่อใดก็ตาม ก็ทำให้เกิด “ความรู้สึกผิด” ขึ้นมา
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมในการทำงานก็มีส่วนที่ทำให้เราหมกมุ่นกับการทำงานเช่นกัน อย่างวัฒนธรรม “คลั่งการทำงาน” หรือที่เรียกว่า “Hustle Culture” ที่คนคนนั้นจะมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ทำงานอย่างหนักหน่วง เพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ หรืออาจจะไม่ถึงขนาดคลั่งการทำงาน แต่การที่สภาพแวดล้อมของเรามีแต่คนที่ทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา ก็ส่งผลให้เรากดดันตัวเองว่าต้องทำงานขยันอยู่ตลอดเวลาไปด้วย จนสุดท้ายก็กลายเป็นอาการ “ติดงาน”
และผลจากการติดอยู่ในกับดักการทำงานจะทำให้เกิดความรู้สึกผิดเมื่อถึงเวลาที่เราต้อง “พัก” จริงๆ ซึ่งทำให้การพักเป็นเรื่องยากขึ้นทุกที ทีนี้ลองหันมาดูวิธี “พัก” ให้เป็นแบบไม่รู้สึกผิดกันบ้างดีกว่า
1. เอาความรู้สึกผิดมาคิดแบบเหตุเป็นเหตุเป็นผล
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่า “ความรู้สึกผิด” ที่เกิดขึ้นจากการหยุดทำงานจะส่งผลต่องานของคุณในระยะยาวได้ เมื่อคุณรู้สึกผิดลองหาคำตอบว่า “ทำไมคุณถึงรู้สึกผิด?” และ “มีเหตุผลอะไรที่ทำคุณต้องรู้สึกผิด?” เมื่อคุณสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ สุดท้ายการจัดการความรู้สึกอย่างเป็นเหตุเป็นผลจะทำให้คุณ “พัก” ได้แบบไม่รู้สึกผิดเลย
2. ยุ่งแค่ไหนก็อย่าลืม Self-Awareness
เรามักรู้สึกว่าชีวิตดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตอนที่ชีวิตเต็มไปด้วย “โปรเจกต์” ที่จะถึงกำหนดส่ง และเราก็ยุ่งเกินกว่าที่จะมานั่งสำรวจความรู้สึกตัวเองในแต่ละวันว่าตอนนี้รู้สึกอะไรอยู่ แต่รู้ไหมว่าการตระหนักรู้ในตนเองหรือ Self-Awareness เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมี ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเองและถามตัวเองว่าเรายังโอเคอยู่ไหมกับงานที่ทำหรือตอนนี้เราต้องการเวลาพักบ้างหรือเปล่า การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจและยอมรับว่า “การให้เวลากับตัวเอง” ไม่ใช่เรื่องผิด และลองเริ่มที่จะค่อยๆ กันเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองทีละนิด เพื่อที่จะให้การพักผ่อนได้กลับมาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราเหมือนเดิมโดยปราศจากความรู้สึกผิด
3. หมั่นตรวจสอบความสมดุลชีวิต
การตรวจสอบ “ความสมดุล” ในชีวิตให้สม่ำเสมอ จะช่วยให้เราเข้าใจการ “หยุดพัก” มากยิ่งขึ้น ดังนั้นเราควรกลับมาทบทวนตัวเอง จัดลำดับความสำคัญให้ดีว่าเวลาไหนอะไรสำคัญ กลับมาให้เวลาแก่คนรอบข้างในเวลาที่เรามี หรือถ้าจะให้ดี ก็อาจจะขีดเส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตให้ชัดเจนว่าเวลาไหนเป็นเวลาทำงานและเวลาไหนที่เราควรพัก และพยายามรักษาความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ไว้ให้ดีต่อไป
4. ออกจากวงจรแห่งความรู้สึกผิด
“ทำอะไรบางอย่าง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” ดูเหมือนคำพูดนี้จะทำให้เราต้องลุกไปทำอะไรสักอย่างเลยใช่ไหม แลการอยู่เฉยๆ ก็กลายเป็นเรื่องผิดขึ้นมาทันที แต่เมื่อใดที่เราเริ่มรู้สึกลบต่อการหยุดอยู่เฉยๆ เป็นไปได้มากทีเดียวที่เราจะกระโจนกลับเข้าไปทำงานอย่างหนักอีกรอบ
ความคิดลบเช่นนี้ทำให้เรามักหมกมุ่นอยู่กับงานและทำให้เรายุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่ในความจริงแล้ว มันไม่ได้สำคัญเลยว่าเรายุ่งแค่ไหน แต่สำคัญที่ว่าเรากำลังยุ่งอยู่กับเรื่องอะไรต่างหาก เพราะฉะนั้น ตอนที่เรากำลังโหมทำงานหนัก ลองหันมาถามตัวเองก่อนว่า นี่เรายุ่งจริงๆ หรือเราแค่ทำตัวให้ยุ่งกันแน่ สิ่งนี้ต้องทำตอนนี้จริงๆ หรอ หรือเราแค่หยิบมาทำก่อนเพราะต้องการมีอะไรทำ เมื่อเราหาคำตอบให้กับตัวเองได้แล้ว ถ้าคำตอบของเราคือแค่ “ทำตัวให้ยุ่ง” เราก็ควรที่จะลุกออกมาและวางมือมาพักผ่อนได้แล้ว และออกจากความรู้สึกผิดได้เสียที พอทำเช่นนี้เรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็อาจจะออกจากวงจรแห่งความรู้สึกผิดได้แบบจริงๆ จังๆ เสียที
5. สร้างสรรค์ไม่ได้ ถ้าพักไม่เป็น
คนส่วนมากมักให้ความสำคัญต่อการทำงานแบบผิดจุด เราต่างโฟกัสที่ต้องทำงานให้ดี ให้เก่ง แต่เรามักลืมไปว่าการทำงานในระยะยาวได้แบบไม่ “พัง” ไปก่อนก็เป็นเรื่องสำคัญมาก หลายคนเกิดอาการ “Burnout” จากการให้ความสำคัญกับงาน มากกว่าให้ความสำคัญกับตัวเอง จนบางทีอาการเหล่านี้นี่แหละที่ย้อนกลับมาทำร้ายผลงานของเรา เพราะยิ่งเราล้าเท่าใด ความสร้างสรรค์ย่อมออกมายากกว่าเดิมแน่นอน
ดังนั้น เราต้องยอมรับว่าร่างกายทุกคนมีลิมิตและเราก็ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้ตลอดเวลา เมื่อเรายอมรับเช่นนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมการพักผ่อนถึงสำคัญ เพราะเมื่อเราชาร์จแบตอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งความคิดสร้างสรรค์ ทั้งไอเดียเจ๋งๆ หรือแม้แต่วิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จะหลั่งไหลออกมาจากสมองเราได้ดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน
ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม “การพักผ่อน” ถือเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตของเราทุกคน และ ถ้าใครพบว่าตัวเองกำลังเป็นคน “ติดงาน” อยู่ การเริ่มหันมาให้ความสำคัญและสนใจการให้เวลาตัวเองได้พักทีละน้อย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และไม่มีใครควรที่จะ “รู้สึกผิด” จากการพักจากการทำงาน
อ้างอิง:
https://bit.ly/3Paq1KF
https://adobe.ly/3kTg3zw
https://bit.ly/3yrEEUe
https://bit.ly/393Zr5t
https://bit.ly/3yrESe2
https://cnet.co/3yq3S5n
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#Psychology