เคยเป็นไหม? ตัดใจทิ้งของไม่ลงจนรกบ้านไปหมด ไม่รู้ว่าของที่มีอยู่จะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง คิดว่าขอเก็บไว้ก่อนแล้วกัน ต้องมีสักวันที่ได้ใช้แน่!
สำหรับใครบางคนการทิ้งของดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เก็บบ้านทีไร ของที่ต้องทิ้งจริงๆ มีเพียงนิดเดียว ส่วนที่คิดว่าจะทิ้งกลับเก็บเข้าตู้ไว้เหมือนเดิม กลายเป็นว่าจัดบ้านก็เหมือนไม่จัด เหนื่อย แถมยังเสียเวลาอีกต่างหาก
เมื่อเราคิดว่าการทิ้งของบางสิ่งบางอย่างทำให้เรารู้สึกลำบากใจ ตัดสินใจทิ้งไม่ได้เสียที จนสุดท้ายเอาแต่เก็บมันไปเรื่อยๆ จนสิ่งนี้ก่อให้เกิดแหล่งสะสมของสิ่งสกปรกที่ทั้งกระทบต่อสุขภาพร่างกายและส่งผลต่อจิตใจ เกิดความรำคาญ ไม่มีสมาธิจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่รู้ไหมว่าสิ่งนี้อาจนำเราไปสู่โรค ‘Hoarding Disorder’ หรือโรคชอบสะสมของได้ด้วย!
Hoarding Disorder คืออะไร?
คือความผิดปกติทางสภาวะจิตใจที่เกิดจากการสะสมของที่ไม่จำเป็นมากเกินไป มีปัญหาในการตัดสินใจเมื่อต้องทิ้งของ ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าอะไรคือสิ่งของที่จำเป็นที่ควรเก็บไว้ สิ่งใดเป็นสิ่งของที่ควรทิ้ง ยึดติด เสียดาย จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรืออาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เช่น สะดุดของ ข้าวของหล่นทับ เสี่ยงเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
ผลกระทบของโรค Hoarding Disorder มีอะไรบ้าง?
Mayo Clinic หนึ่งในสถาบันทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในอเมริกาเปิดเผยว่า โรค Hoarding Disorder เป็นสัญญาณของความผิดปกติที่อาจนำไปสู่โรค OCD หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ เช่น คนที่กลัวความสกปรกจนต้องล้างมือบ่อย เช็กปลั๊กไฟบ่อยครั้งเพราะกลัวตนเองจะลืมปิด
ทว่า จากผลวิจัยบ่งชี้ว่าการเป็นโรคชอบสะสมของ ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่โรคย้ำคิดย้ำทำเสมอไป โรคชอบสะสมของสามารถเกิดขึ้นแยกได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เนื่องจากสิ่งของต่างๆ ได้ละเมิดพื้นที่อยู่อาศัย ทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถนั่งบนเก้าอี้ นอนบนเตียง ไม่มีที่วางของใช้ที่จำเป็น ถึงแม้การวางของไม่เป็นที่จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หารู้ไม่ สิ่งนี้สามารถเป็นชนวนที่ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงได้
นอกจากนี้ โรคชอบสะสมของมีส่วนทำให้การตัดสินใจแย่ลง สถาบัน NIH’s National Institute of Mental Health (NIMH) ได้ศึกษาประสิทธิภาพในการตัดสินใจของคนปกติและคนที่เป็นโรคชอบสะสมของ
โดยวิเคราะห์จากประสิทธิภาพการทำงานของสมอง 2 ส่วน ได้แก่ ส่วน Anterior Cingulate Cortex (ACC) และส่วน Insula หรือสมองกลีบอินซูลา ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ พบว่าผู้ที่เป็นโรคชอบสะสมของใช้เวลาในการตัดสินใจนานกว่าคนปกติ และยังมีความวิตกกังวล และความเศร้ามากกว่าอีกด้วย
เรามีแนวโน้มจะเป็นโรค Hoarding Disorder หรือเปล่า?
การศึกษาในออสเตรเลียพบว่า 46% ของผู้ที่เป็นโรคชอบสะสมของสามารถเกิดได้ทุกช่วงวัย โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 29 ปี มีแนวโน้มเป็นโรค 5% อายุ 30-49 ปี 35% อายุ 50-69 ปี 45% และอายุ 70 ปีขึ้นไป 15% นอกจากนี้นักวิจัย Tolin et al พบว่าอาการของโรคชอบสะสมของที่เกิดในช่วงอายุ 11-15 ปี ไม่มีความรุนแรงมากนัก แต่อาการของโรคจะรุนแรงและรักษายากขึ้นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป
จากผลการวิจัยนี้ สามารถสรุปได้ว่า เราไม่อาจรู้เลยว่าเราเป็นโรคนี้หรือไม่จนกว่าเราจะอายุมากขึ้น และเมื่ออายุมากขึ้นก็สายเกินกว่าที่จะรักษาเสียแล้ว เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันโรคจะทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคชอบสะสมของและลดความเสี่ยงของโรคที่อาจทวีความรุนแรงในอนาคตได้
มาดูกันว่าใน 4 สัญญาณเตือนที่นำไปสู่โรคชอบสะสมของ มีกี่ข้อที่ตรงกับเราบ้าง
1) ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งใดคุ้มค่ากว่ากัน
ความแตกต่างระหว่างคนทั่วไปกับคนที่เป็นโรคชอบเก็บของคือ การให้ค่าของสิ่งของ คนประเภทแรกจะสามารถบอกได้ว่าอะไรคือสิ่งของที่มีค่า แต่คนประเภทหลังจะเก็บของที่มีค่าและเก็บขยะ ‘ขยะ’ นั้นหมายถึงสิ่งของที่มูลค่าเพียงเล็กน้อยแล้วทำให้บ้านรก เช่น การสะสมของเล่นที่ผลิตขึ้นจำนวนมาก มีมูลค่าสูง และไม่มีจำหน่ายในปัจจุบัน เราเก็บเพราะมันไม่มีผลิตเพิ่มอีกแล้ว ไม่ใช่เป็นเพราะเราชอบของเล่นชิ้นนั้น
2) นิสัยชอบสะสมและกังวลใจเมื่อต้องทิ้ง
“มองดูรอบตัว มีของมากมาย ทิ้งไปเท่าไร ไม่เคยจะหมดเลยทิ้งแต่เก็บ” คงต้องขอหยิบยืมเพลง ‘ทิ้งแต่เก็บ’ ของ The Toys อธิบายอาการของโรคชอบสะสมของที่ตัดใจทิ้ง แต่สุดท้ายกลับเก็บมันขึ้นมาใหม่ ถึงแม้ว่าคนทั่วไปจะมีจำนวนของสะสมที่มากกว่าผู้ที่เป็นโรคชอบสะสมของ แต่คนทั่วไปจะไม่มีอาการกังวลเมื่อต้องทิ้งหรือดื้อรั้นที่จะเก็บไว้
3) ของวางเกลื่อนไปทั่วจนไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง
คนทั่วไปจะวางของสะสมไว้เป็นที่ วางเป็นระเบียบราวกับเป็นวัตถุล้ำค่า ซึ่งต่างจากลักษณะของคนเป็นโรคชอบสะสมของ คือจะวางของระเกะระกะ กองพะเนินจนรกไปหมด และจำไม่ได้ว่าของอยู่ตรงไหนบ้างเพราะไม่ได้ถูกจัดไว้เป็นสัดส่วน
4) มีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
ลักษณะของโรคชอบเก็บสะสมของจะรู้สึกตัวเองไร้ค่า ต่ำต้อย ไม่กล้ามีปฏิสัมพันธ์ ไม่กล้าเข้าสังคม เพราะกลัวสายตาคนอื่นว่าจะมองว่าตนสกปรก
Mary Douglas ผู้เขียนหนังสือ Purity and Danger กล่าวว่าสิ่งสกปรกจะสกปรกก็ต่อเมื่อมันถูกวางอยู่ในสถานที่นั้น ตำแหน่งนั้น ซึ่งความคิดเช่นนี้เป็นชุดความคิดที่ถูกจำกัดโดยระบบสังคม เช่น อาหารไม่ใช่สิ่งสกปรก แต่มันจะสกปรกต่อเมื่อเป็นอาหารที่กินเหลือแล้วถูกวางไว้ในห้องนอน หรือรองเท้าจะสกปรกก็ต่อเมื่อถูกวางไว้ข้างโต๊ะกินข้าว คนที่เป็นโรคชอบสะสมของจะไม่สามารถแยกความสกปรกตามสถานที่ที่ถูกจัดวางได้ จะมองว่าทุกที่ดูสกปรกจนทำให้กังวลว่าตนจะเปรอะเปื้อน และกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าตนสกปรก
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมนี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนที่พบเห็นได้บ่อยจากผู้ที่เป็นโรคชอบสะสมของ ไม่สามารถกำหนดได้อย่างแม่นยำว่าเราเป็นโรคนี้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ ลองถามตัวเองว่าการสะสมของกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามากแค่ไหน ถ้าส่งผลมาก ตัวเลือกที่ดีอาจเป็นการขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะสายเกินแก้
แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3AcTqfk
https://bit.ly/3kaaq0i
https://bit.ly/3lg7E8Y
https://bit.ly/3Aaq95f
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/