ในภาษาอังกฤษ มีคำพูดกล่าวว่า “ไม่มีความสัมพันธ์ไหนจะแน่นแฟ้นไปกว่าคนสองคนที่เกลียดคนเดียวกัน” และดูเหมือนว่าคำพูดนี้จะมีมูลในหลักจิตวิทยาไม่น้อยเลยทีเดียว
ถึงแม้การเกลียดใครซักคน โดยเฉพาะคนใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ดูไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตเสียเลย เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเคยได้เปิดประเด็นคุยกับใครซักคนเกี่ยวกับคนหรือสิ่งของที่ไม่ชอบ และนั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาที่สนุกสนาน หรืออาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีเลยก็ได้
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย South Florida ได้กล่าวว่า คนเราสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างดีเมื่อสนทนาเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือเรื่องแย่ๆ ของอีกคนหนึ่งด้วยกัน โดยความสัมพันธ์นี้จะแน่นแฟ้นยิ่งกว่าคุยเรื่องที่เราชอบตรงกันเสียอีก และการสนทนาเรื่องแย่ๆ ของคนอื่นกับคนที่เรารู้จัก จะยิ่งทำให้การสนทนาไหลลื่น และยิ่งเพิ่มระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองคนอีกด้วย
ทำไมเราถึงพูดถึงคนอื่นในเชิงลบ
ส่วนใหญ่ คนเราไม่ได้พูดเกี่ยวกับคนอื่นในเชิงลบเพราะเราเป็นคนที่ใจร้าย หรือจ้องจับผิดคนอื่น แต่เพราะเราเป็นมนุษย์ ที่มีความรู้สึกกับเรื่องต่างๆ ที่เจอในระหว่างวัน และสมองของเราก็มีการตอบสนองต่อความรู้สึกนั้นๆ เสมอ โดยบางครั้ง มันก็เป็นแค่หนึ่งในกระบวนการตอบสนองของเรา ที่จะพูดเรื่องที่เราไม่พอใจให้ผู้อื่นฟัง
บางครั้งเราแค่อยากให้ความผิด หรือความรู้สึกแย่ๆ ไปอยู่กับใครก็ได้ที่ไม่ใช่เรา เพราะแน่นอน มันรู้สึกดีกว่ารับความผิดทั้งหมดนั้นไว้คนเดียว และพอได้พูดกับคนอื่นที่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เหมือนเป็นการยืนยัน และสนับสนุนความคิดที่ว่า “เราไม่ได้ผิด เป็นคนนั้นต่างหาก”
บางครั้งพอจะมีบุคคลใหม่เข้ามาในกลุ่มสังคมที่เราอยู่ เราจะเริ่มคิดไปก่อนว่าคนนั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนในกลุ่มเปลี่ยนไป สมองของเราเลยตอบสนองโดยการคุยเรื่องบุคคลใหม่ในเชิงลบ ซึ่งการแบ่งรับความเกลียดชังนี้ไว้ด้วยกัน เป็นเหมือนการเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกันเพื่อป้องกันความสัมพันธ์ในกลุ่มจากบุคคลภายนอก
หรือบางครั้ง การคุยเรื่องคนอื่นในเชิงลบแค่เป็นเรื่องที่ง่ายในการสนทนา การพูดถึงใครซักคนที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มสังคมนั้นไม่จำเป็นต้องคิดอะไรซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องทำการบ้านหรือมีความรู้เฉพาะด้านติดตัว แค่พูดเกี่ยวกับคนๆ นึง และฟังอีกฝ่ายว่าจะมีอะไรที่น่าเก็บไว้ไปคุยต่อกับคนอื่นนั่นเอง
ทำไมความเกลียดชังเป็นบทสนทนาที่น่าคุย
เหตุผลหนึ่งคือมนุษย์ทุกคนย่อมต้องการความแน่นอน ความมั่นคงในสถานะหรือตำแหน่งที่เราอยู่ พอเราได้เข้าไปในกลุ่มสังคมหนึ่ง สมองเราจะจำแนกคนที่อยู่ในกลุ่มนั้นกับเรา ออกจากคนที่ไม่อยู่ในกลุ่ม โดยการที่คนในกลุ่มร่วมคุยเรื่องคนที่ไม่อยู่ในกลุ่มในเชิงลบ จะเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับเราในสถานะสมาชิก และการได้หัวเราะไปกับคนที่เรานับเป็นเพื่อนก็ช่วยให้เรามั่นใจในความสัมพันธ์มากขึ้นอีกด้วย
อีกเหตุผลหนึ่งคือการแบ่งปันความเกลียดชังคือการแสดงถึงความอ่อนแอของเราให้คนอื่นเห็น ซึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford ได้ชี้ว่า คนเราจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ง่ายขึ้นถ้าเราแสดงจุดอ่อนให้ผู้อื่นเห็น เพราะมันทำให้คนอื่นเห็นว่าเราเข้าถึงง่าย น่าเข้าหา โดยถ้าเรามีความรู้สึกแย่ หรือเกลียดชังต่อคนๆ หนึ่ง และเราเลือกที่จะแบ่งปันเรื่องนั้นกับคนที่รับฟัง จะเกิดความเข้าใจกันระหว่างสองฝ่าย และทำให้ความสัมพันธ์นั้นยืนยาวได้อีกด้วย
แต่สุดท้ายแล้ว เราไม่ควรจำว่าความเกลียดชังเป็นทางลัดสู่ความสัมพันธ์ที่ดี หรือการคุยกับผู้อื่นต้องคุยเรื่องคนอื่นในเชิงลบเท่านั้น เพราะคนที่เรากำลังคุยด้วยอาจจะไม่ได้มีความเห็นเชิงลบเหมือนเรา และการเกลียดใครซักคนสามารถเป็นเรื่องที่เหนื่อย และไม่ดีต่อสุขภาพจิตได้อีกด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก:
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/