4 รูปแบบของ Gaslighting ที่ต้องระวังในความสัมพันธ์

50444
1920-Gaslighting Mission to th Moon

4 รูปแบบของ Gaslighting ที่ต้องระวังในความสัมพันธ์

“คิดไปเอง”
“ทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ด้วย”
“ฉันไม่ได้หาเรื่อง เธอนั่นแหละที่เป็นคนเริ่ม”

เคยเจอคำพูดเหล่านี้ในความสัมพันธ์ไหม เราอาจทั้งสับสน ทั้งโกรธ และทั้งงุนงงว่า จริงๆ แล้วเราเป็นคนเริ่มอย่างที่เขาพูดหรือเปล่า เป็นเราใช่ไหมที่ทำให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา

การปั่นหัวให้อีกฝ่ายสับสนกับความเป็นจริงของตัวเองนี้เรียกว่า ‘Gaslighting’
(ทำความเข้าใจพฤติกรรม ‘Gaslighting’ มากขึ้นพร้อมวิธีรับมือได้ที: https://bit.ly/3GkUWOQ)

ที่มาของคำนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight (1944) ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับสามีที่ต้องการฮุบสมบัติภรรยา โดยการทำให้ภรรยาคิดว่าตัวเองเป็นบ้า หนึ่งในวิธีที่สามีทำคือการหรี่แสงตะเกียงให้มืดลง เมื่อภรรยาเอะใจและตั้งข้อสังเกต สามีกลับบอกว่าเธอคิดไปเอง เขาพูดจาเช่นนี้ซ้ำๆ กับหลายๆ เรื่อง จนภรรยาสับสนเกี่ยวกับการรับรู้ของตัวเองและเข้าใจว่าตนเป็นบ้าจริงๆ

ที่น่ากลัวคือพฤติกรรมอันตรายในความสัมพันธ์นี้ไม่ได้มีแค่ในหนัง!

Advertisements

ประเภทของ Gaslighting มีอะไรบ้าง

1) ทำให้เป็นเรื่องไม่สำคัญ (Trivializing)

ในทุกความสัมพันธ์ล้วนมีปัญหา ความไม่สบายใจ และมีเรื่องที่ต้องพูดคุยอยู่แล้ว บางทีหลายคนต้องรวบรวมความกล้าอย่างมากในการเปิดใจและเปิดบทสนทนาด้วยซ้ำ แต่การตอบคู่สนทนาด้วยคำพูดประเภท “อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ไหม” ทำให้ความกังวลของอีกฝ่ายดูไร้ค่าขึ้นมาทันที

คำพูดแบบนี้ส่งผลกระทบอย่างมาก ฝ่ายที่โดนไม่เพียงแต่โกรธและเสียใจ แต่ยังสับสนว่าปัญหานั้นเป็นเรื่องเล็กจริงหรือเปล่า อาจถึงขั้นกลับมาสงสัยตัวเองว่าเราเป็นฝ่ายผิดจริงไหมในเรื่องนี้

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ให้เห็นภาพ

A รู้สึกว่า B แฟนหนุ่มของเธอคุยกันอย่างสนิทสนมเกินไปกับผู้หญิงที่พบกันในงานเลี้ยง เธอรู้สึกไม่สบายใจจึงบอกให้เขาทราบ
A: “เธอดูสนิทกับคนคนนั้นมากเลยนะ ฉันรู้สึกไม่ดีเลย มีอะไรที่ฉันไม่รู้หรือเปล่า”
B: “เธอคิดไปเองหรือเปล่า อย่ามาทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ไหม” [เดินหนี]

ตัวอย่างคำพูดอื่นๆ ของการ Gaslighting ในรูปแบบนี้ได้แก่
– คุณอ่อนไหวไปหรือเปล่า
– อย่าเว่อร์ได้ไหม
– คุณพูดเกินความจริงไปหน่อยนะ

2) ทำให้เป็นฝ่ายผิด (Blame-shifting)

หากเราพูดถึงความผิดของผู้กระทำ มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะโทษว่าเรื่องนั้นเป็นความผิดของเรา ไม่ก็ ‘เป็นเพราะเรา’ เขาถึงทำเช่นนั้น เพื่อจะได้ไม่รับผิดชอบการกระทำของเขาเอง ยิ่งไปกว่านั้น หากเราโต้ตอบด้วยอารมณ์ เราก็จะถูกว่าเรื่องใช้อารมณ์อีก

ตัวอย่างคำพูดอื่นๆ ของการ Gaslighting ในรูปแบบนี้ได้แก่
– ฉันไม่ได้เป็นคนผิด เธอต่างหาก
– คุณต่างหากที่เป็นคนชวนทะเลาะ ไม่ใช่ผม
– เพราะคุณไม่มีเวลาให้ไง ฉันถึงไปมีคนอื่น

Advertisements

3) ไม่ยอมรับความจริง (Denying)

ผู้กระทำหลายคนมักจะปฏิเสธเพราะยอมรับความจริงไม่ได้ หากคิดภาพไม่ออก ลองจินตนาการถึงความสัมพันธ์นี้ดู

ภรรยาเป็นคนทำความสะอาดบ้านตลอดเพราะสามีไม่เคยคิดจะทำ ถ้าหากเธอไม่ทำ บ้านก็จะรกมากๆ วันหนึ่งเธอทนไม่ไหวจึงถามเขาว่าให้ช่วยทำงานบ้านเยอะขึ้นได้ไหม แต่เขากลับโมโห เริ่มพูดว่าเขาก็ช่วยตลอดและทำเยอะกว่าฝ่ายภรรยาด้วยซ้ำ

บางครั้งอาจมีการพูดจาด้อยค่าการกระทำของอีกฝ่ายเพื่อเชิดชูการกระทำตัวเอง เช่น สิ่งที่ภรรยาทำก็แค่งานบ้าน เขาต่างหากที่หาเงินเลี้ยงครอบครัว

4) บิดเบือนความจริง (Twisting)

การบิดเบือนความจริงจนอีกฝ่ายสับสนในความเป็นจริงที่ตัวเองเผชิญ คือหนึ่งสิ่งที่ผู้กระทำใช้บ่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันก่อนซาร่าเพิ่งทะเลาะกับมาร์ก แฟนหนุ่มของเธอ วันนี้พวกเขาทั้งคู่จึงคุยกันเพื่อปรับความเข้าใจ แต่มาร์กอ้างว่าที่เริ่มทะเลาะกันนั้นเพราะซาร่าขึ้นเสียงใส่เขาก่อน ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เพราะมาร์กรับไม่ได้เลยบิดเบือนความจริง

ตัวอย่างคำพูดอื่นๆ ของการ Gaslighting ในรูปแบบนี้ได้แก่ การบอกว่าผู้ถูกกระทำเข้าใจผิดไปเองหรือจำรายละเอียดไม่ได้

เจอ Gaslighting แบบนี้ต้องทำอย่างไร

อลิซาเบธ ลอมบาร์โด นักจิตวิทยา อธิบายว่าเมื่อต้องรับมือกับการถูก Gaslighting เป็นเรื่องปกติที่เราจะเผชิญกับอารมณ์หลากหลาย ตั้งแต่โกรธ ไม่สบายใจ กังวล โศกเศร้า กลัว และอื่นๆ การรู้สึกถึงอารมณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าปล่อยให้มันควบคุมเรา

ยิ่งเราใจเย็นและมีสติมากเท่าไหร่ เราจะได้โฟกัสกับ ‘ความจริง’ ที่เราเผชิญ และไม่หวั่นไหวไปเกือบสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามทำให้เราเชื่อ

เมื่อถูก Gaslighting ให้ตอบด้วยประโยคปฏิเสธไปเลย (เช่น ‘ฉันไม่เห็นด้วย’ หรือ ‘ฉันจะไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ฉันไม่ได้ทำหรอกนะ’) หรือพูดให้เขารู้ตัวชัดเจนไปเลยว่าสิ่งที่เขาพูดมันก็คือความเห็นของเขา ไม่ใช่ความจริง

แต่การรับมือกับ Gaslighting นั้นทั้งเหนื่อยกายและเหนื่อยใจ หากเป็นไปได้เราควรออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนี้เสีย หรือถ้าหากทำไม่ได้ ให้ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและจดบันทึกความจริงที่เกิดขึ้นดู เราจะได้ไม่ไขว้เขวไปกับสิ่งที่อีกฝ่ายบิดเบือน

และที่สำคัญที่สุดคือให้รักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครอบครัวไว้ให้ดี เพราะหากต้องเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ เราจะต้องการกำลังใจมากเลยทีเดียว

เนื้อหาที่คุณอาจสนใจ:
– ‘Gaslighting’ สิ่งน่ากลัวในความสัมพันธ์ เมื่อเธอบอกว่าฉัน ‘เข้าใจผิดคิดบ้าไปเอง’

อ้างอิง:
https://bit.ly/3H8h8Nl

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่