สั่งเอง ลุ้นเอง! รู้จัก ‘Endowment Effect’ เหตุผลที่เราตื่นเต้นเมื่อได้แกะพัสดุ

1368
Endowment Effect

“ทำไมพัสดุยังไม่ถึงสักที”

“จะดีเหมือนในรีวิวหรือเปล่านะ”

ความคิดนี้อาจผุดขึ้นมาอยู่บ่อยครั้งเมื่อต้องสั่งของออนไลน์ ในช่วงที่หลายๆ คนไม่ได้ออกไปเลือกซื้อของด้วยตัวเอง การสั่งของออนไลน์เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มาทดแทนและสามารถตอบสนองการบริโภคได้เป็นอย่างดี 

Advertisements

แต่การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือเราไม่สามารถเลือกสินค้าด้วยตัวเอง และไม่อาจรู้ได้เลยว่าสินค้าที่เลือกจะตรงปก หรือตรงกับความคาดหวังหรือเปล่า  อย่างเสื้อผ้าที่สีไม่ตรงกับภาพ ไซส์ที่ผิดจากที่แจ้ง หรือบางทีสินค้าก็อาจเกิดการชำรุด หรือเสียหายจากการขนส่ง ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกกังวลในทุกๆ ครั้งที่สั่ง

แต่ในขณะเดียวกันการสั่งของแบบ “ไว้มาลุ้นกัน” ก็ทำให้เราตั้งตารอคอยของที่จะมาส่ง ซึ่งไม่เพียงแค่ลุ้นว่าของจะมาถึงหน้าบ้านเราเมื่อไร แต่เราลุ้นตั้งแต่กดสั่งซื้อสินค้าแล้ว! เรารอคอยว่าเมื่อไรร้านค้าจะตอบรับคำสั่งซื้อ เมื่อไรจะแพ็กสินค้า และคงรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อได้เห็นสถานะ “สินค้าจัดส่งเรียบร้อย” หรือ “เรากำลังจัดส่งสินค้าไปให้คุณ”

จนเมื่อพนักงานจากขนส่งโทรเข้ามาหา หรือบุรุษไปรษณีย์มากดกริ่งหน้าบ้าน ความรู้สึกตื่นเต้นก็เริ่มทำงานอีกครั้ง จนในที่สุดกล่องพัสดุที่จ่าหน้าถึงเราก็มาอยู่มือ และเมื่อได้ค่อยๆ แกะกล่องออก หยิบของด้านในมาสำรวจ พลิกซ้ายพลิกขวาดูจนพอใจ จากนั้นความตื่นเต้นก็จะพัฒนาเป็นความรู้สึกสองแบบ คือถ้าไม่พึงพอใจ ก็ผิดหวังกับของชิ้นนั้นไปเลย

แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมการเปิดกล่องพัสดุทั้งๆ ที่เป็นของที่เราสั่งเองกับมือ ถึงสร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้เราได้ขนาดนี้?

The Endowment Effect กับความรู้สึกเป็นเจ้าของ

Richard Thaler นักเศรษฐศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์พฤติกรรม ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้พูดถึงปรากฏการณ์หนึ่งที่ชื่อว่า “The Endowment Effect” โดยเขาอธิบายไว้ว่า 

The Endowment Effect คือ ความรู้สึกของเราที่จะเอนเอียงต่อสิ่งที่เราเองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว มากกว่าสิ่งที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของ หากนำแนวคิดดังกล่าวมาจับกับเรื่องการสั่งซื้อของ เราจะพบว่า เมื่อเราซื้อของเราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของ และให้ค่ากับสิ่งของมากขึ้น รวมถึงเริ่มจินตนาการถึงความสุขหรือชีวิตที่จะดีขึ้นเมื่อได้ใช้ของสิ่งนั้น 

ในขณะที่การซื้อของจากร้านค้าที่เป็นหน้าร้านจริงๆ นั้นไม่มีช่วงเวลาของการรอคอย (ที่จะครอบครอง) ต่างกับการซื้อสินค้าออนไลน์ ที่จิตใจของเราจะสัมผัสได้ถึงความเป็นเจ้าของตั้งแต่ก่อนที่จะได้จับต้องมันจริงๆ และเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด ของไม่ถึงสักทีก็เพราะความตึงเครียดที่เกิดจากความรู้สึกที่เพิ่มมากขึ้นจากความต้องการ “ครอบครองสิทธิ์” เมื่อของมาถึงล่าช้าจึงทำให้จิตใจเราว้าวุ่นและไม่เป็นสุขนั่นเอง

Advertisements

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ความสุขกับการได้ ‘ครอบครอง’ บางสิ่งบางอย่างนั้นมีพลังมากกว่าการ ‘เฝ้ารอ’ การมาถึงของเหตุการณ์จริงหรือไม่ ?

ในเรื่องนี้ Archit Puri นักจิตวิทยาพัฒนาการที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ ได้กล่าวไว้ว่า “ความสุขที่ได้มาจากการรอคอยเหตุการณ์ ยิ่งใหญ่กว่าความสุขที่ได้จากเหตุการณ์เสมอ” เนื่องจากความคาดหวังของมนุษย์นั้นดูดีกว่าเหตุการณ์จริงมาก เราตั้งความหวัง คาดหมายสิ่งที่เราได้รับความสุขจากบางสิ่งในอนาคต ความคาดหวังอันน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและง่ายดายแค่เพียงคิดถึงสิ่งที่ตั้งตารอ

การรอคอยคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า และหลายๆ ครั้ง การมีสิ่งให้ตั้งตารอ ก็ทำให้เราผ่านช่วงเวลายากลำบากไปได้ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น มันอาจไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีขนาดนั้น หรือไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ ใจเราจะมองหาความตื่นเต้นในอนาคต จนลืมความตื่นเต้นหรือความสุขในปัจจุบัน 

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการแกะพัสดุทำให้รู้สึกเหมือนกำลังแกะของขวัญ ถึงแม้ว่าจะเป็นของที่เราสั่งมาเองก็ตาม



แปลและเรียบเรียง

https://bit.ly/38lPlt4 

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements