PSYCHOLOGYพบศูนย์กลางจักรวาลใหม่! รับมืออย่างไรกับคนที่ชอบคิดว่า “โลกหมุนรอบตัวเอง”

พบศูนย์กลางจักรวาลใหม่! รับมืออย่างไรกับคนที่ชอบคิดว่า “โลกหมุนรอบตัวเอง”

เคยเจอคนทำตัวเป็น “ศูนย์กลางจักรวาล” กันไหม? คนที่คิดว่าเรื่องของตนเอง “สำคัญและเร่งด่วน” มากกว่าคนอื่นเสมอ พวกเขาอาจจะเป็นเพื่อนที่เรียกร้องความสนใจอยู่เสมอแต่เมื่อถึงเวลาเราเล่าปัญหาบ้างเขากลับสนใจแบบขอไปที ครอบครัวหรือญาติที่มักจะโกรธหากเราไม่ช่วยเขาแก้ไขปัญหา ป้าข้างบ้านที่คิดว่าปัญหาของเราเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับปัญหาลูกชายเขาไม่กลับบ้าน

อีกหนึ่งบทบาทที่สร้างความลำบากกายและใจให้เราคือ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ที่ไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา คิดเพียงว่าทุกคนต้องละจากงานของตนเองเพื่อมาช่วยเหลือเขา หลายครั้งที่พวกเขามองว่าเป็นการ ‘ใจดีกับตนเอง’ หรือ ‘หันกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเอง’ จนทำให้เรากลับต้องรู้สึกผิดที่โกรธหรือเกิดอารมณ์เชิงลบจากพฤติกรรมของเขา เพราะเขาบอกว่ามัน “ไม่เห็นอกเห็นใจ” กันเสียเลย

พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้สามารถพบเจอได้ทั่วไป จนมีชื่อเรียกตรงกันว่า “Emotional Vampire” หรือ “Energy Vampire” เช่นเดียวกับแวมไพร์ที่ดูดเลือดเป็นอาหาร คนกลุ่มนี้เสพความรัก ความสนใจ ความใส่ใจและหวังดีของเราเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต รู้ตัวอีกทีกายและใจก็แห้งเหี่ยว เหลือทิ้งไว้เพียงตะกอนเท่านั้น

ใช่ว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนนิสัยไม่ดีเสมอไป เพราะเมื่ออยู่ในสถานการณ์หรือบทบาทอื่นเขาอาจเป็นคนที่ดีและน่าคบหาคนหนึ่งก็ได้ สำหรับบางคนจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากจะต้องวิ่งหนีและปล่อยมือจากความสัมพันธ์นี้ไป และไม่แน่ว่าบางสถานการณ์เราอาจจะกลายเป็นแวมไพร์ประเภทนี้เสียเองก็ได้ วันนี้ Mission To The Moon จึงจะพาทุกคนไปสืบเบื้องหลังของพฤติกรรม และเรียนรู้วิธีรับมือมันไปพร้อมกัน

กำเนิดศูนย์กลางจักรวาล! “Emotional Vampire” เกิดมาจากอะไร?

เรามักคุ้นเคยกับ “ผีดูดเลือด” จากตะวันตกอย่างแวมไพร์เป็นอย่างดี มันคือสิ่งไม่มีชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยการสูบเลือดของคนอื่น “Emotional Vampire” จึงหมายถึงคนที่ไม่ได้สูบเลือดโดยตรง แต่ “สูบพลังงานบวก” จากความเอาใจใส่ของคนอื่นไปจนเหลือทิ้งไว้ให้แต่ความรู้สึกขุ่นมัว เพื่อตอบสนอง “ความไม่มั่นคง” (Insecurity) ของตนเอง

แวมไพร์เหล่านี้มักจะเอาปัญหาของตนเองเป็นที่ตั้ง และคาดหวังว่าทุกคนมี “หน้าที่” ช่วยเหลือเขา เมื่อเราไม่พร้อมหรือไม่สามารถจะช่วยเหลือ หรือไม่ได้ช่วยเหลือตามวิธีที่เขาต้องการ ก็มักจะถูกทำให้รู้สึกว่าเป็นคนผิดหรือ “บกพร่อง” แม้ว่าเราจะมีปัญหาของเราเช่นเดียวกันก็ตาม ปัญหาของเราก็จะถูกลดทอนด้วยพฤติกรรมที่เขาตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพื่อให้เรากลับไปสนใจปัญหาของเขาก่อน

ผลกระทบจากการถูกดูดกลืนพลังงานบวกอาจจะเลวร้ายกว่าที่หลายคนคิด เพราะส่วนมากแวมไพร์มักแสดงตนในฐานะคนใกล้ชิดที่เราไม่สามารถตัดออกจากชีวิตได้ เช่น เพื่อนสนิท ครอบครัว เป็นต้น ซ้ำร้ายยังอาจโผล่ออกมาในรูปแบบของเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน

คนประเภท “Emotional Vampire” มักจะสร้างบรรยากาศเป็นพิษผ่านพฤติกรรมของตนเองขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว เริ่มต้นตั้งแต่บทสนทนากับเพื่อนร่วมงานเล็กๆ ที่แฝงไปด้วยการเรียกร้องความสนใจ ไปจนถึงถึงการขัดขาคนที่โดดเด่นกว่า การแย่งชิงเอาหน้า และการกดขี่ทางอำนาจ (Power Harrassment) สุดท้ายก็เป็นสาเหตุให้องค์กรไม่เติบโตหรืออาจจะเผชิญปัญหา และเหยื่อของแวมไพร์ก็อาจกลายเป็นแวมไพร์ตนใหม่ก็เป็นได้

สังเกตพฤติกรรม “Emotional Vampire” ใช่คนใกล้ตัวหรือเปล่า?

พฤติกรรมที่พวกเขาใช้มักจะมีตั้งแต่ระดับเริ่มต้นอย่างการเรียกร้องความสนใจและใส่ใจอยู่บ่อยๆ ไปจนถึงการใช้พฤติกรรมธงแดง (Red Flags) ที่ส่งผลให้ผู้รับผลการกระทำนั้นต้องเสียสุขภาพกายและสุขภาพใจจนอาจกลายเป็นแวมไพร์ไปอีกคน ลองมาเช็กไปพร้อมกันว่าคนที่เราคลุกคลีอยู่ด้วยนั้นกำลังดูดพลังจากเราอยู่หรือเปล่า?

[ ] ต้องการสปอตไลต์ในทุกๆ เรื่อง ไม่ยอมให้คนอื่นมาแย่ง (Self-centered)
[ ] ดรามาควีน ชอบเล่นใหญ่เล่นโตเกินจริง (Exaggeration)
[ ] ไม่เคยผิด ต่อให้ผิดก็จะโทษว่าทำเพราะเราเป็นต้นเหตุ (Guilt Trip)
[ ] ลดทอนปัญหาและความรู้สึกของเราจนเริ่มสงสัยในตัวเอง (Gaslighting)
[ ] แผ่ความรู้สึกแง่ลบมากระทบเรา โดยไม่สนว่าเราจะรู้สึกอย่างไร (Draining)
[ ] คิดว่าเป็นหน้าที่หรือเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้วที่เราต้องรองรับเขา (No Gratitude)
[ ] ใช้ประโยชน์จากความใจดี ความหวังดีของเรามาทำร้ายเราเอง (Twisting words)
[ ] กดดันให้เราเลือกตัวเลือกสุดโต่งอย่างซ้ายหรือขวาเท่านั้น (All-or-nothing Thinking)

นอกจากนี้ บทความจากเว็บไซต์จิตวิทยาอย่าง VeryWell Mind ยังมีประเภทของคนหรือบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มจะเป็น “Emotional Vampire” ด้วยเช่นกัน กลุ่มแรกคือผู้ปลุกปั่นชักจูง (Manipulator) คนหลงตัวเอง (Narcissist) และ คนช่างพูดแต่เรื่องของตัวเอง (Talkers) ที่ชอบควบคุมคนอื่นโดยไม่สนวิธีการ เพื่อได้รับความสนใจหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ

กลุ่มถัดมาคือกลุ่มคนมืดมนชอบคิดแง่ร้าย (Negative Thinker) และประเภทตัวเอกในละครชีวิต (Drama Lover) ที่มักจะมองข้ามทุกเรื่อง เพื่อจดจ่อกับความเลวร้ายหรือปัญหาในชีวิต จนกลายเป็นเครื่องสร้างความสิ้นหวังมากกว่าสร้างความหวังหรือมองหาทางแก้ปัญหา

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่ม “เหยื่อ” (Victim) แม้ไม่ใช่ความผิดของเหยื่อแต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหยื่อก็ร้ายแรงจนเปลี่ยนให้เขากลายเป็นแวมไพร์ที่เอาแต่หมกมุ่นกับความเจ็บปวด นอกจากนี้ยังมี “คนเล่นบทเหยื่อ” (Playing victim) ที่คล้ายจะเป็นเหยื่อ แต่ความจริงแล้วกลับบิดเบือนหรือเลือกมองเพียงเรื่องราวที่ตอบสนองกับความน่าสงสารที่ตนเองคาดหวังอีกด้วย

แน่นอนว่าบุคลิกภาพและคนประเภทเหล่านั้นย่อมมีเจตนาดีและไม่ดีผสมปนเปกันไป ด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว บางคนอาจเป็นคนที่สำคัญกับชีวิตเรามากหรือไม่สามารถผลักออกจากชีวิตได้ง่ายๆ การสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ถูกดูดพลังโดยไม่เต็มใจจึงเป็นทักษะสำคัญในการอยู่ร่วมกับมนุษย์

Advertisements

5 วิธีป้องกันตนเองจาก “Emotional Vampire” ทำยังไงไม่ให้โดนดูดพลังหมดตัว?

เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเป็น “Emotional Vampire” ได้เมื่อเกิดความไม่มั่นคงในจิตใจ ท่ามกลางชีวิตที่เต็มไปด้วยตัวกระตุ้นเราอาจจะต้องเจอกับแวมไพร์เหล่านี้บ่อยครั้ง จะหลีกเลี่ยงทุกครั้งก็คงทำไม่ได้ เช่นนั้นก็มาสร้างเกาะป้องกันตนเองไปพร้อมกับกฎเหล่านี้กัน

กฎข้อที่ 1: สร้างกฎของตัวเองขึ้นมา

ทุกคนย่อมมีขีดจำกัดแต่ละด้านแตกต่างกัน การพินิจพิจารณาว่าขอบเขตที่ตนเองรับได้อยู่ตรงไหน นอกจากจะช่วยให้รับมือกับแวมไพร์ได้แล้ว ยังสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เช่นกัน กฎเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องบังคับใช้กับทุกคนเท่ากัน แต่เลือกที่จะสร้างกฎของคนคนนั้นในความสัมพันธ์นั้นๆ ขึ้นมาก็ได้

กฎข้อที่ 2: ปรับความคาดหวังที่มีต่ออีกฝ่าย

หลายครั้งที่แวมไพร์ดูดพลังเป็นคนใกล้ชิด เราจึงจะมีความคาดหวังมากมาย เช่น อยากให้เจอคนดีๆ อยากให้ไม่เครียดและมีแต่ความสุข จนกลายมาเป็นความกดดันที่หนักอึ้งอยู่บนบ่า เป็นภาระที่เราเองวางไม่ลงเพราะสร้างขึ้นมาเอง การกลับมาพิจารณาว่าความคิดหวังของเรามันอยู่เหนือความควบคุมของเราหรือไม่จึงสำคัญ

กฎข้อที่ 3: เบรกตัวเองจากเหตุผลของอีกฝ่าย

เทคนิคทางจิตวิทยามากมายที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเหมือนกับเขาวงกตที่อีกฝ่ายโยนเราเข้าไปให้สับสน และพยายามดึงเราไปสู่ทางออกที่เขากำหนดไว้ เพื่อที่จะหลุดออกจากเกมของเขา เราต้องถอยออกมาจากการถกเถียง ให้เวลากับตนเองได้คิดเหตุผลแต่ละข้อ ตั้งคำถามและตอบคำถามอย่างรอบคอบเพื่อไม่กลายเป็นเหยื่อแวมไพร์คนต่อไป

กฎข้อที่ 4: อย่าเพิ่งให้สิ่งที่อีกฝ่ายอยากได้

สิ่งที่แวมไพร์เหล่านี้อยากได้มากที่สุดคือ “ความรู้สึก” ของเรา ความรู้สึกเจ็บปวด หนักใจ เหล่านั้นคืออาหารอันโอชะ การปกป้องไม้ให้ความรู้สึกของตนเองกลายเป็นอาหารจนเราต้องหมดพลังคือการหักห้ามใจไม่ให้แสดงออกทางอารมณ์ แม้ด้านในเราอาจจะรู้สึกร่วมหรือเห็นอกเห็นใจเขาแต่เราสามารถเป็นผู้ฟังที่ดีและแสดงความเอาใจใส่ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การแสดงอารมณ์ได้

กฎข้อที่ 5: ไม่คือไม่ ห้ามผ่อนปรนเพราะใจอ่อน

สร้างกฎมาแล้วแต่ไม่ยอมบังคับใช้ก็ไม่มีความหมาย เป็นไปได้ว่ากฎที่สร้างอาจไม่เข้ากับแนวคิดหรือแนวทางเราตั้งแต่แรก หากเป็นกรณีนี้การปรับกฎใหม่เพื่อให้ใช้ได้จริงก็สามารถทำได้ แต่หากมีกฎแล้วแต่ผ่อนปรนด้วยความ “ไม่เคารพความตั้งใจของตนเอง” ก็เป็นอันตรายต่อความรู้สึกของเราที่พยายามปกป้องมาตลอดนั่นเอง

สำหรับผู้ที่ไม่เคยสร้างขอบเขตเลยเพราะ “Emotional Vampire” เป็นคนใกล้ตัวมาตลอด หรือตนเองก็กลัวว่าการมีขอบเขตมากไปจะไม่เป็นที่ยอมรับจนเข้ากับสังคมไม่ได้ การเริ่มต้นหันกลับมาเคารพตนเองบ้างก็อาจจะต้องใช้ความพยายามเสียหน่อย แต่เมื่อมีครั้งหนึ่งย่อมมีครั้งต่อไปได้เสมอ ไม่ใช่ตอนอื่นแต่เป็นตอนนี้ล่ะ ที่เราควรกลับมาให้ความสำคัญกับตนเองบ้างเสียที

ที่มา
– 5 ways to deal with the emotional vampires in your life: Allaya Cooks-Campbell, Better Up – https://bit.ly/3V1qJPm
– How to Recognize and Respond to Energy Vampires at Home, Work, and More: Healthline – https://bit.ly/3WLHrUe
– Are You an Emotional Vampire?: Mark Manson – https://bit.ly/4bHcNzQ
– 5 Signs of an Energy Vampire and How to Cope: Sanjana Gupta, VeryWell Mind – https://bit.ly/3Ka6ngx

#psychology
#mentalhealth
#selfcare
#emotionalvampire
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า