“ถ้าเรียนคณะอื่นที่ไม่ใช่หมอ พ่อกับแม่ไม่เลี้ยงแล้วนะ”
“ห้ามสักเด็ดขาดเลยนะ ถ้าทำ พ่อกับแม่จะโกรธลูก”
“ทำไมเราจะดูมือถือเธอไม่ได้ล่ะ เราเป็นแฟนกันแล้วนะ”
หลายๆ คนอาจเคยได้ยินประโยคข้างต้นมาบ้างแล้ว บางคนอาจจะมองว่า “ก็เป็นเรื่องปกตินี่ พ่อแม่ก็แค่เป็นห่วงอนาคตลูก ส่วนแฟนกันก็ต้องดูแชตในมือถือ เผื่อแฟนแอบนอกใจ”
จริงแล้วๆ พวกเขามีสิทธิ์จะ ‘บอกหรือขอดู’ แต่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ไป ‘บังคับ’ ให้ลูกหรือคนรักต้องยินยอมทำตาม คำพูดดังกล่าวอาจดูธรรมดา แต่เต็มไปด้วยคมมีดที่ทำร้ายทั้งตัวตนและชีวิตของอีกฝ่าย
สถิติจาก Substance Abuse and Mental Health Services Administration (SAMHSA) ปี 2022 เผยว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของเด็กทั่วประเทศสหรัฐฯ ประสบกับภาวะบาดเจ็บในจิตใจ (Trauma) จากการโดนทำร้ายทางร่างกาย ทางเพศ ทางอารมณ์ หรือถูกทอดทิ้ง สูญเสียคนที่รักไป ไม่ก็เกิดภาวะยึดติดกับครอบครัวมากเกินไป
บาดแผลต่างๆ ในจิตใจของเด็กส่วนหนึ่งก็มาจากการถูกพ่อแม่ควบคุมหรือบีบบังคับตลอดเวลา จนพวกเขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่า “ขอบเขตของอำนาจอยู่แค่ไหน” มองว่า การบีบบังคับคือเรื่องที่คนทั่วไปเขาทำกัน และทำไปด้วยความรัก สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้แบบผิดๆ นี้ส่งผลให้พวกเขาทำมันซ้ำๆ กับคู่รักและลูกของเขา
และความรักที่บิดเบี้ยวนี้เริ่มต้นจากพฤติกรรมที่เราเรียกว่า “Coercive Control”
“Coercive Control” คืออะไร?
Coercive Control หมายถึง “การควบคุมบีบบังคับ” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความรุนแรงภายในครอบครัว โดยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบนี้ไม่ได้จำกัดที่การทำร้ายร่างกาย แต่รวมถึงการที่ผู้กระทำใช้อำนาจที่ตนมีข่มขู่ จำกัดอิสรภาพในการกระทำ ดูหมิ่น หรือทำให้ผู้ถูกกระทำเสียความมั่นใจในตัวเองไป
เหยื่อของ Coercive Control มักเป็นผู้หญิง เด็กและผู้พิการ แต่ผู้กระทำก็สามารถเป็นได้ทั้งชาย หญิงและผู้ที่มีอายุน้อยกว่าได้เช่นกัน นอกจากนี้ Coercive Control ยังสร้างบาดแผลที่มองไม่เห็นและความกลัวฝังใจให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่า ชีวิตนี้ไม่ใช่ของพวกเขา จึงยอมให้ผู้กระทำควบคุมชีวิตโดยไม่กล้าต่อต้าน แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ความรุนแรงนี้อาจส่งผลให้เหยื่อตัดสินใจลงมือทำร้ายไปจนถึงฆาตกรรมผู้ที่บีบบังคับพวกเขาเพื่อจบความทรมานนี้ลง
พฤติกรรมที่อันตรายนี้สามารถส่งต่อผ่านการเลี้ยงดูได้ อ้างอิงจากทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) เด็กๆ มักซึมซับพฤติกรรมของผู้ใหญ่ และสัญชาตญาณของเด็ก จะหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ผู้ดูแลตนต้องโมโห เศร้าหรือเครียด เพื่อไม่ให้พวกเขาทอดทิ้งตนไป จึงเกิดมุมมองว่า Coercive Control เป็นเรื่องปกติ และเมื่อเด็กๆ โตขึ้น พวกเขาก็จะทำพฤติกรรมซ้ำๆ แบบนี้กับคู่รักและลูกของตนต่อไป
ลักษณะพฤติกรรมที่เข้าข่าย Coercive Control
– คอยจับตาดูพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว เดินทางไปไหน คุยกับใคร รวมถึงการกินดื่มและทุกๆ กิจกรรมที่ทำ รวมถึงการเช็กคอมพิวเตอร์ มือถือหรืออีเมล โดยมักบอกกับผู้ถูกกระทำว่า ที่ตรวจเช็กก็ทำไปด้วยรัก หรือเป็นห่วง
– กีดกันไม่ให้ผู้ถูกกระทำติดต่อกับสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวหรือเพื่อน นอกจากนี้ผู้กระทำอาจห้ามไม่ให้เหยื่อไปทำงานหรือไปโรงเรียน เพื่อให้ตนบังคับเหยื่อได้ง่ายขึ้น
– ควบคุมสภาพการเงินไว้ ไม่ให้เหยื่อตัดสินใจใดๆ เอง แม้กระทั่งการซื้อเสื้อผ้า อาหารปัจจัยหรือบริการพื้นฐานอื่นๆ ก็ตาม
– ดุด่า ใช้คำพูดที่ทำให้เหยื่อรู้สึกไร้ค่า หรือข่มขู่ทั้งทางคำพูดและการกระทำ เช่น ทำลายข้าวของในบ้าน หรืออาจใช้ลูก สัตว์เลี้ยงมาขู่ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกหวาดกลัวและยินยอมให้ถูกบีบบังคับ ทั้งนี้อาจยุยงให้ลูกเกลียดผู้ถูกกระทำด้วย
Coercive Control ที่เกิดขึ้นจริงในเคสของหญิงชาวปากีสถาน
ข้อมูลจาก Research In Practice For Adults ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมเรื่องราวของเหยื่อ Coercive Control ในประเทศอังกฤษ ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวของ Ayesha หญิงชาวปากีสถานที่ย้ายมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษร่วมกับสามีและลูกของเธอ
ในช่วงที่สามียังมีชีวิตอยู่ เธอถูกสามีทำร้ายทั้งทางร่างกายและวาจามาโดยตลอด นอกจากนี้ Ayesha แทบไม่ได้พูดคุยกับคนภายนอก เพราะเธอพูดภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย และทางสามีก็ไม่ได้ให้เธอเรียนภาษาเพิ่มเนื่องจากเขาคิดว่าเธอไม่จำเป็นต้องใช้ภาษา และหลังจากสามีตายไป ลูกชายคนโตของเธอก็ตัดสินใจดูแลเธอต่อ
ในทุกทุกครั้งที่ลูกชายของเธอดุด่าเธอ Ayesha เห็นด้วยกับคำดุด่านั้น เขายึดเงินบำนาญของเธอและทำหน้าที่เป็นคนซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันแทน โดยให้เหตุผลว่า “แม่ของเขาแก่มากแล้ว สมควรพักผ่อน” อีกทั้ง Ayesha มักเครียดและหวาดกลัวเสมอเวลาทำอาหารให้ลูกชายเธอทุกครั้ง เพราะกลัวว่าอาหารจะไม่ถูกปากเขา
Ayesha ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบมีความสุขได้เลย เธอมีน้ำตานองหน้าอยู่เสมอ รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา น้ำหนักเธอก็ลดลงไปมากและไม่สามารถนอนหลับได้สนิท เมื่อลูกสาวของเธอเห็นสภาพกายและใจที่ทรุดโทรมหลังมาเยี่ยมแม่แบบไม่ได้นัดล่วงหน้า เธอจึงตัดสินใจติดต่อนักสังคมสงเคราะห์ในอังกฤษ ทำให้ในสุดท้ายแล้ว Ayesha ได้เข้ารับการรักษาและสามารถออกจาก Coercive Control ของลูกชายเธอได้
การรับมือกับ Coercive Control
ปัจจุบัน แต่ละประเทศมีการรับมือกับ Coercive Contol แตกต่างกันออกไปอย่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้มองว่า Coercive Control เป็นเรื่องผิดกฎหมายตราบใดที่ยังไม่เกิดการทำร้ายทางร่างกายขึ้น แต่ประเทศอังกฤษและเวลส์ตราบทกฎหมายว่า Coercive Control คือการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา
ในส่วนของประเทศสกอตแลนด์ ก็ได้สร้างกฎหมายที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวอย่างเข้มงวดเพื่อคุ้มครองเหยื่อ และมีบทลงโทษสูงสุดแก่ผู้กระทำคือ จำคุก 15 ปี โดยทางรัฐบาลได้อบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจกฎหมายนี้และตระหนักถึงผลกระทบอันรุนแรงของ Coercive Control ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ส่วนในประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลได้สร้างโมเดล Safe & Together เพื่อชี้ให้ประชาชนเข้าใจรูปแบบการกระทำ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เข้าข่ายความรุนแรงในครอบครัวนี้
ในฝั่งบ้านเรา การที่พ่อแม่ควบคุมลูกๆ จากสิ่งแวดล้อมที่อาจยั่วยุให้พวกเขาหลงผิด ย่อมส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แต่การควบคุมในระดับที่ฝังความกลัวและความไม่มั่นใจในชีวิตให้เด็ก อาจกำลังเข้าไปทำลายตัวตนของพวกเขาจนพวกเขาไม่มีความสุข รวมถึงคู่รักที่คอยควบคุมชีวิตคู่ ภายนอกอาจจะดูเต็มไปด้วยความห่วงใย ใส่ใจ แต่จริงๆ แล้วเต็มไปด้วยความทรมานอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดและเป็นหน้าที่สำคัญของทุกคนคือ “การรู้พฤติกรรมตัวเองและหมั่นเช็กคนรอบข้างอยู่เสมอว่า กำลังเข้าข่าย Coercive Control หรือไม่” เพราะเหยื่ออาจไม่รู้ตัวว่า ตนกำลังอยู่ในวังวนของความรุนแรงนี้ หลังรู้ตัวก็มีน้อยคนนักที่สามารถออกไปจากความสัมพันธ์ Toxic นี้ได้ เหยื่อหรือผู้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวควรรีบติดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือสายด่วนต่างๆ เหล่านี้ อย่าง 1300, 1387 และ 1157 เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
ส่วนผู้กระทำเองก็อาจเคยเป็นเหยื่อของ Coercive Control มาก่อน หากพวกเขาเคยประสบเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อน การเข้าบำบัดรักษาจิตใจเพื่อเลิกทำพฤติกรรมที่บีบบังคับย่อมหยุดวงจรที่แสนทุกข์ทรมานไม่ให้ส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังได้ และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนอีกด้วย
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
– บาดแผลที่ไม่มีวันหาย จากความรุนแรงในครอบครัวและทัศนคติแบบเดิมๆ
อ้างอิง:
https://bit.ly/3otNGtU
https://bit.ly/3ryYmtn
https://bit.ly/3spQMAr
https://bit.ly/333drtH
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
#society