เรียนรู้ 5 กฎการลงทุนผ่านจิตวิทยาแห่งเงินตรา จากหนังสือ “The Psychology of Money” 

3386
The Psychology of Money

เคยสงสัยไหมว่า “ลงทุนแบบไหน เราถึงจะคุ้มทุนที่สุด?”

หรือ “นักลงทุนจัดการความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างไร?”

ไม่ก็ “อะไรคือ เครื่องมือทรงพลังที่ทำให้เรามั่งคั่งได้”

หากคำถามเหล่านี้กำลังปรากฏอยู่ในใจของใครหลายคน วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับหนังสือ “The Psychology of Money” ที่จะช่วยให้เราเลือกและวางแผนการลงทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ Morgan Housel ผู้ที่เป็นพาร์ตเนอร์ของ Collaborative Fund และเป็นอดีตคอลัมนิสต์ที่ Wall Street Journal และ Motley Fool ซึ่งงานหลักของเขาคือการสำรวจว่า นักลงทุนใช้วิธีอะไรในการจัดการกับความเสี่ยงได้อย่างสร้างสรรค์

เพื่อให้การลงทุนของเราประสบความสำเร็จ มาเรียนรู้กฎ 5 ข้อผ่านเรื่องราวโดยสรุปของหนังสือ “The Psychology of Money” กัน

กฎข้อที่หนึ่ง “การลงทุนที่ดีคือ การสะสมกำไรทีละนิดไปเรื่อยๆ”

Housel ได้อธิบายการลงทุนให้เห็นภาพมากขึ้นผ่านเรื่องราวของ “ภูเขาน้ำแข็ง” 

ในอดีตภูเขาน้ำแข็งเคยเป็นแค่แผ่นน้ำแข็งบางๆ ที่ละลายไม่หมด ต่อมาเมื่อหิมะตก ก็มีหิมะรอบใหม่มาทับถมซ้ำ เมื่อโดนแสงแดดส่อง ชั้นบนของหิมะก็ละลายแค่บางส่วน แล้วก็รอหิมะมาทับใหม่ ซึ่งวัฏจักรนี้วนเวียนไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นภูเขาน้ำแข็งสูงหลายพันเมตรที่เราเห็นในปัจจุบัน 

ทำให้เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ สามารถสร้างผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ได้ ทำให้เราได้กฎหลักของการลงทุนคือ อย่าคาดหวังผลกำไรมหาศาลในครั้งเดียว ให้เราต้องการแค่เงินปันผลที่อยู่ในเกณฑ์ที่โอเคและสะสมผลกำไรนี้ไปเรื่อยๆ จนมันกลายเป็นเงินก้อนโต

กฎข้อที่สอง “ลงทุนในสิ่งที่เรามั่นใจว่าจะได้กำไรกลับมา”

แล้วเราจะต้องลงทุนอย่างไรถึงจะคุ้มล่ะ? Housel ยกเรื่องราวของ Heinz Berggruen ในปี 2000 เขามีอาชีพเป็นนายหน้าขายงานศิลปะ (Art Dealer) เขาได้ขายงานศิลปะจำนวน 165 ชิ้นให้กับรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งทั้งหมดมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะงาน 85 ชิ้นมาจากปิกัสโซ่ จิตรกรเอกเลื่องชื่อ และอีก 80 ชิ้นเป็นงานศิลปะจากหลายๆ ศิลปิน เช่น Klee, Braque, Matisse และ Giacometti

เราอาจจะสงสัยว่า ทำไม Berggruen ถึงสามารถหางานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซของศิลปะดังๆ มาขายได้ ไม่ใช่เพราะเขามีโชค หรือทักษะอะไรทั้งนั้น งานวิจัยของ Horizon (2010) ได้ค้นพบความลับของ Berggruen ว่า งานศิลปะเป็นพันชิ้นที่เขาหว่านซื้อมาและขายไป ส่วนมากอาจมีมูลค่าแค่เล็กน้อย แต่เปอร์เซ็นต์เล็กน้อยที่เขาจะพบงานศิลปะจากปิกัสโซ่และ Matisses ท่ามกลางงานศิลปะพันชิ้นนั้น สามารถที่จะคืนทุนกับเงินที่เขาต้องเสียไป

นี่จึงเป็นที่มาของกฎที่สองของการลงทุนคือ “จงลงทุนในสิ่งที่เราจะได้ผลตอบแทนกลับมา” เพราะนักลงทุนที่ดีจะหว่านแหจับสิ่งที่พวกเขาแน่ใจว่าจะได้กำไรกลับมา และพวกเขาจะไม่ตื่นตระหนกแม้จะเจอปีแย่ๆ รายงานผลกำไรที่ดิ่งลง หรือขายหุ้นทิ้งทันทีที่มันขึ้นตัวแดง

กฎข้อที่สาม “เหลือที่ให้ความผิดพลาดบ้าง”

แน่นอนว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง Housel จึงยกเรื่องราวในปี 1942 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาเป็นตัวอย่าง ในเมือง Stalingrad มีรถถังจำนวน 104 คันประจำการอยู่บริเวณนอกเมือง แต่เมื่อทหารต้องการใช้จริงๆ พวกเขากลับพบว่า มีรถถังเพียง 20 คันเท่านั้นที่ยังสามารถใช้การได้

เมื่อวิศวกรได้ตรวจสอบ พวกเขาพบว่า หนูนาที่ทำรังในตัวรถถังได้กัดสายไฟจนไม่สามารถสตาร์ตเครื่องได้ รถถังเหล่านี้อาจได้รับการออกแบบมาอย่างดีจนสามารถทนแรงระเบิดมหาศาลได้ แต่กลับไม่ได้รับการออกแบบมาป้องกันหนูนาตัวน้อย ซึ่งนี่ไม่ใช่ความผิดของวิศวกร แต่เป็นความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาที่ต้องวางแผนป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ต่างหาก

Advertisements

ดังนั้นกฎข้อที่สามของการลงทุนคือ นักลงทุนต้องเตรียมพร้อมรับทุกความเสี่ยงในการลงทุน และไม่ควรลงทุนทุกอย่างไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และถือคติไว้ว่า ความสูญเสียอาจเกิดขึ้นบ้าง แต่ความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นขอจงอย่าประมาท

กฎข้อที่สี่ “อย่าลืมเก็บเงินไว้เผื่อใช้ลงทุน”

ถึงเราจะคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้ว แต่เราจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากเราไม่เก็บเงิน หากเราแบ่งคนจากรายได้ เราจะสามารถแยกได้เป็น 3 ประเภท 1) คนที่ออมเงินอยู่เสมอ 2) คนที่คิดว่าตนไม่สามารถเก็บเงินได้ 3) คนที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องเก็บเงิน Housel จึงแนะนำแนวคิดออมเงินให้คนกลุ่มสองและสาม

  • ระลึกไว้เสมอว่า ความมั่งคั่งมาจากการสะสมเงินมากกว่าจะมาจากรายได้กับการลงทุนเสียอีก
  • คุณค่าของความมั่งคั่งสัมพันธ์กับสิ่งที่เราใช้จ่าย แน่นอนว่า เราหาวิธีใช้เงินให้คุ้มค่าง่ายกว่าการที่เราต้องมานั่งหาแหล่งทำเงิน
  • เมื่อเรามีปัจจัยสี่ครบแล้ว ทุกสิ่งที่เราซื้อหลังจากนั้นเป็นแค่ “ความอยากได้” ของเราเอง ดังนั้นประมาณค่าใช้จ่ายเราให้น้อยกว่ารายรับอยู่เสมอ
  • เราสามารถควบคุมการออมของเราได้ เพราะการออมจะช่วยให้เราสามารถควบคุมเวลาและความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายได้ เช่น หากเรามองว่า เรามีเงินเก็บมากพอแล้ว เราอาจจะใช้เงินมากขึ้นไปกับการหาความสุขให้ตัวเองเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย รวมถึงเราไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลที่ต้องออมเงินเสมอไป

กฎข้อที่ห้า “บนโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี”

ถ้าเราอยากได้รถยนต์ราคา 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 ล้านบาท) เราเลือกได้ 3 ทาง หนึ่งคือ หาเงินมาซื้อ สอง เลือกซื้อรถคันอื่น สาม ขโมยมาเป็นของเรา แต่ถึงแม้เราจะขโมยรถมา รถยนต์นั่นก็ไม่ฟรี แต่แค่มีราคาที่ต่างจากเดิม 

ดังนั้นผลตอบแทนจากการลงทุนก็ไม่ใช่ของฟรีเช่นกัน เพราะมันมาพร้อมกับราคาที่แตกต่างกันออกไป ในปี 2002 จนถึง 2018 หุ้น Netflix เติบโต 35,000% แต่ราคาของความสำเร็จนี้มาจากการลงทุนมหาศาลเช่นกัน เพราะ 94% ของช่วงเวลานี้ หุ้น Netflix เคยมีระดับซื้อขายต่ำกว่า All Time High (ราคาสินทรัพย์ที่จุดสูงสุดใหม่) เช่นเดียวกับ Monster Beverage ในช่วง 1995 ถึง 2018 หุ้นบริษัทเติบโตถึง 319,000% แต่บริษัทเองเคยมีระดับซื้อขายต่ำกว่า All Time High ประมาณ 95% ของช่วงปีข้างต้น

mm2021

การลงทุนก็เหมือนสามวิธีที่เราจะได้รถ เราสามารถเลือกที่จะยอมรับความผันผวนของราคาการลงทุน หรือยอมได้ค่าตอบแทนที่น้อยลงโดยเลือกการลงทุนที่มีความผันผวนน้อย ไม่ก็ควบคุมระบบและเอาผลตอบแทนโดยไม่มีความเสี่ยงจากความผันผวน แต่ก็ใช่ว่าวิธีสุดท้าย เราจะสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้เสมอไป

ในปี 2008 บริษัท GE (กลุ่มบริษัทด้านอุตสาหกรรม) เกือบล้มละลายมาแล้ว เพราะในปี 2007 ราคาหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงจาก 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจะเหลือเพียงแค่ 7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 ซึ่งปัญหานี้มาจากการบริหารของ Jack Welch ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท ในขณะนั้นเขาพยายามจะเอาชนะการคาดการณ์ของตลาด Wall Street พวกเขาจึงพยายามควบคุมตลาด และดึงผลตอบแทนที่ควรจะได้จากไตรมาสในอนาคตมาเป็นของปัจจุบัน

แต่ความพยายามนี้ก็พังไม่เป็นท่า เพราะหลังตลาดหลักทรัพย์ล้ม บริษัทเขาก็ล้มเช่นกัน ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น หากพวกเขาระวังความผันผวน ความเสี่ยงและเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนขณะลงทุน ซึ่งอันตรายเหล่านี้เกิดจากการพยายามควบคุมสิ่งที่ไม่แน่นอน

สุดท้ายนี้ การลงทุนเปรียบเสมือนเราเดินหาสมบัติอยู่ในความมืด และมีเทียนเป็นแสงนำทาง หากเราเดินไปถูกทาง เทียนที่จุดไปก็คุ้มค่ากับที่เสีย แต่หากเดินผิดทาง นอกจากจะไม่ได้สมบัติแล้ว เราก็จะเสียเทียนไปโดยเปล่าประโยชน์ เราจึงควรลงทุนอย่างมีสติโดยคำนวณถึงความเสี่ยง และอย่าลืมเผื่อหนทางสำหรับถอยกลับมาตั้งหลักด้วย

อ้างอิง
“The Psychology of Money” – Morgan Housel

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
#marketing

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่