รู้จัก “Attachment Theory” เราเป็นคนรักแบบไหนในความสัมพันธ์

16405
1920-Attachment Theory

ทำไมเวลารักใครแล้วเราเป็นแบบนี้ทุกที?
ทำไมเขาถึงทำ ‘แบบนั้น’ ?
แล้วทำไมฉันถึงทำ ‘แบบนี้’ ?

เคยสังเกตไหมว่าเวลาเราอยู่ในความสัมพันธ์ทีไร ตัวตนอีกด้านที่เราไม่เคยรู้จักก็โผล่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นกังวลเกินไป ไม่เชื่อใจเกินเหตุ หรือความต้องการอิสระที่มากเป็นพิเศษ ทำเอาเราสับสนแล้วงงกับตัวเองไปตามๆ กัน แต่เท่านั้นยังไม่พอ! เรายังต้องงงกับการแสดงออกของอีกฝ่ายด้วย

หากปล่อยไว้ ความไม่เข้าใจเหล่านี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเรามาทำความเข้าใจตัวเองให้ดีก่อนที่จะไปรักใคร

มาหาคำตอบกันดีกว่าว่าเราเป็น ‘คนรัก’ แบบไหนในความสัมพันธ์

รู้จักกับทฤษฎี Attachment Theory เพราะฉันในวันนี้มาจากฉันในวัยเด็ก

Attachment Theory หรือ ‘ทฤษฎีความผูกพัน’ มีผู้ริเริ่มคือจอห์น โบลว์บี จิตแพทย์ชาวอังกฤษ และลูกศิษย์ของเขา แมรี เอนส์เวิร์ธ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน โดยทฤษฎีนี้เชื่อว่าการเลี้ยงดูที่เราเคยได้รับในวัยเด็กนั้น เป็นตัวกำหนดการแสดงออกและการตอบสนองต่อความสัมพันธ์ในตอนโต

พูดง่ายๆ ก็คือในตอนเด็กเราถูกรักแบบไหน มีแนวโน้มว่าเราจะรักแบบนั้นในตอนโตนั่นเอง

จริงอยู่ที่ว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เราได้พบเจอตั้งแต่เด็กจนโตก็ส่งผลต่อเรา แต่ทฤษฎีความสัมพันธ์เชื่อว่า ความผูกพันที่ได้รับในวัยแบเบาะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อสมองของเด็กในวัยนั้น วัยที่มนุษย์เรายังส่งสัญญาณแบบอวัจนภาษา เช่น การร้องไห้ การร้องอ้อแอ้ การชี้ หรือการยิ้ม หากผู้ดูแลสามารถแปลสัญญาณเหล่านี้แหละตอบสนองความต้องการของเด็กได้ ความผูกพันที่อบอุ่นจะถูกพัฒนาขึ้น

มาดูกันดีกว่าว่าการเลี้ยงดูแต่ละแบบจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเราในตอนโตอย่างไรบ้าง ทฤษฎีความผูกพันได้มีการแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้


1) รูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคง (Secure Attachment)

คนประเภทนี้เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้สึกปลอดภัย มั่นคง และพึงพอใจในความสัมพันธ์ มีขอบเขตของตัวเองที่ชัดเจน ไม่กลัวที่จะอยู่คนเดียว แต่ก็ชอบที่จะใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้อื่น

ลักษณะอื่นๆ ของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคง ได้แก่

[ ] เห็นคุณค่าในตัวเอง มองตัวเองในแง่ดี
[ ] ไม่กลัวที่จะเป็นตัวของตัวเองในความสัมพันธ์
[ ] กล้าแสดงออกถึงความรู้สึก ความหวัง ความต้องการ และความอ่อนไหว
[ ] พึงพอใจที่ได้ใช้เวลากับอีกฝ่าย
[ ] ไม่กลัวที่จะขอกำลังใจหรือคำปลอบโยนจากคนรัก
[ ] ไม่กังวลมากมายเมื่อต้องอยู่ห่างกัน
[ ] เชื่อใจผู้อื่น
[ ] ยินดีให้อีกฝ่ายพึ่งพาและขอกำลังใจ
[ ] เมื่อเกิดปัญหาขึ้น มีแนวโน้มว่าจะสื่อสารและพยายามแก้ไขปัญหา
[ ] หากเจอเรื่องผิดหวังในความสัมพันธ์ แม้จะเสียใจแต่ก็ไม่เสียศูนย์ กลับมาเป็นตัวเองและรักใหม่ได้เสมอ

ในวัยเด็ก คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคงมักจะได้รับความรักและการดูแลอย่างเหมาะสม เมื่อเครียดหรือวิตกกังวล ผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแลจะคอยปลอบโยน ทำให้รู้สึกมั่นคง และทำให้รู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะแสดงออกทางอารมณ์

แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะดูแลเด็กได้ทุกวินาทีตลอด 24 ชั่วโมง แต่เมื่อพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ไม่ได้อยู่ตรงนั้นเมื่อเด็กต้องการ พวกเขาจะพยายามหาทางชดเชยความต้องการนี้ในภายหลัง ทำให้เด็กเหล่านี้เติบโตมาด้วยความรู้สึกมั่นคงนั่นเอง

และเปล่าเลย การมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคงไม่ได้หมายความว่าเราสมบูรณ์แบบ หรือไม่เคยมีปัญหาในความสัมพันธ์ แต่หมายความว่าเรามีความมั่นใจมากพอในการรับผิด เมื่อเกิดข้อผิดพลาด และกล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อต้องการ


2) รูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล (Anxious Attachment)

คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ประเภทนี้มักจะถูกมองว่า ‘เรียกร้องความสนใจ’ พวกเขาต้องการความรัก การเอาใจใส่แทบตลอดเวลา นอกจากนั้นคนเหล่านี้นั้นมักจะกังวล ไม่มีความมั่นใจ ต้องการใกล้ชิด แต่ก็กลัวอยู่ลึกๆ ว่าอีกฝ่ายจะไม่อยากอยู่ด้วย

ลักษณะอื่นๆ ของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล ได้แก่

[ ] ต้องการความใกล้ชิดและมีความรู้สึกลึกซึ้งกับคนรัก
[ ] มีปัญหาเรื่องความเชื่อใจ รู้สึกกังวลอย่างมากเมื่อไม่ได้อยู่ด้วยกัน
[ ] เวลามีความรักมักจะลืมด้านอื่นๆ ในชีวิตไปเลย เอาความสุขไปผูกอยู่กับอีกฝ่ายมากเกินไป
[ ] ไม่เข้าใจเวลาอีกฝ่ายต้องการ ‘เวลาส่วนตัว’ และจะรู้สึกกังวล โกรธ หรือกลัวว่าอีกฝ่ายไม่ต้องการเราอีกต่อไป
[ ] ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง
[ ] เอาคุณค่าตัวเองไปผูกกับความสัมพันธ์ หากไม่ได้รับความรักมากพอจะรู้สึกไม่มีค่า
[ ] กังวลและหึงหวงเวลาต้องอยู่ห่างกัน อาจถึงขึ้นทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดเพื่อที่เขาจะได้อยู่กับเรา
[ ] มักถูกคนอื่นมองว่าเรียกร้องความสนใจเกินไป หรือติดแฟนเกินไป
[ ] คิดมากอยู่บ่อยๆ ว่าอีกฝ่ายรักเราจริงไหม จนบางทีรู้สึกเศร้า

คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวลมักจะไม่ได้รับความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอในวัยเด็ก ผู้ปกครองของพวกเขาอาจยุ่งกับภาระส่วนตัวด้านอื่นๆ ในชีวิตจนไม่มีเวลาดูแล ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ต้องทำงานที่อื่นในวันจันทร์-ศุกร์ และมีเวลาให้ลูกที่บ้านแค่เสาร์อาทิตย์ ความไม่สม่ำเสมอนี้เองส่งผลให้เด็กรู้สึกกังวลและโหยหาความรัก


3) รูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน (Dismissive-avoidant Attachment)

ไม่ชอบความใกล้ชิด พยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกลึกซึ้งกับผู้อื่น ไม่ชอบพึ่งพาใครและไม่ชอบให้ใครมาพึ่งพาเรา นี่คือนิสัยของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน เรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามของแบบวิตกกังวลเลยก็ว่าได้!

ลักษณะอื่นๆ ของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน ได้แก่

[ ] ดูแลตัวเองได้ อยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องการคนอื่น
[ ] ยิ่งอีกฝ่ายพยายามใกล้ชิดมากเท่าไร ยิ่งพยายามตีตัวออกหากมากเท่านั้น
[ ] ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ มักถูกมองว่าเย็นชา
[ ] มองว่าคนอื่นที่ชอบแสดงอารมณ์นั้น ‘อ่อนแอ’ ‘อ่อนไหว’ หรือไม่ก็ ‘เรียกร้องความสนใจ’
[ ] โฟกัสที่ความรู้สึกและความต้องการของตัวเองมากกว่า จนหลายครั้งละเลยความรู้สึกของอีกฝ่าย
[ ] กลัวการสูญเสียตัวตนในความสัมพันธ์
[ ] อาจถึงขึ้นยุติความสัมพันธ์เพื่อที่จะได้รู้สึกถึงความเป็นอิสระของตัวเอง
[ ] มักมีความสัมพันธ์แบบผิวเผินและระยะสั้น
[ ] มาตรฐานสูง ทั้งต่อตนเองและคนอื่น
[ ] ต้องการคนรักที่ดูแลตัวเองได้และรักษาระยะห่าง (โดยเฉพาะระยะห่างทางความรู้สึก)

บุคคลเหล่านี้มักจะไม่ได้รับความรักและการดูแลอย่างสม่ำเสมอ (หรือไม่ได้รับเลย) จากคนดูแลในตอนเด็ก เมื่อความต้องการไม่เคยได้รับการตอบสนอง เด็กเหล่านี้จึงเลิกแสดงออกทางอารมณ์ หาทางตอบสนองด้วยตนเอง และพึ่งตนเองเป็นหลัก ส่งผลให้พวกเขามีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมินในตอนโต


4) รูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว (Fearful-avoidant Attachment)

รูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว หรือเรียกอีกชื่อว่าแบบยุ่งเหยิง เกิดขึ้นเมื่อในวัยเด็กของเราต้องเผชิญความบอบช้ำทางจิตใจหรือร่างกาย ถูกละเลย ถูกทอดทิ้ง หรือถูกทำร้าย

ลักษณะอื่นๆ ของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว ได้แก่

[ ] เชื่อว่าตนเองไม่สมควรได้รับความรัก
[ ] สับสนและรู้สึกไม่สบายใจเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์แบบใกล้ชิด
[ ] ไม่ใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่าย
[ ] อาจไม่เชื่อใจและพยายามควบคุมอีกฝ่าย
[ ] ใจร้ายกับตัวเองพอๆ กับที่ใจร้ายกับคนอื่น
[ ] แม้ว่าจะอยากมีความรัก แต่ก็เชื่อว่าตัวเองไม่เหมาะสมและกลัวว่าจะต้องเสียใจอีกครั้ง
[ ] ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
[ ] กลัวความใกล้ชิด
[ ] อยากพึ่งพาคนอื่น แต่ก็ไม่เชื่อใจและกลัวการถูกปฏิเสธ

ที่หลายคนแสดงออกเช่นนี้ในความสัมพันธ์ เป็นเพราะว่าแผลใจจากวัยเด็กยังไม่หายไปไหน พวกเขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์ฝังใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ หรือการมีผู้ดูแลที่ให้ทั้งความรักพอๆ กับ ‘ความกลัว’


มั่นคง วิตกกังวล หมางเมิน หรือหวาดกลัว ไม่ว่าเราจะเป็น ‘คนรัก’ แบบไหนหรือไม่ว่าจะเติบโตมาอย่างไร อย่ารู้สึกแย่กับสิ่งที่เราเป็น ในทางกลับกัน เมื่อเรารู้แล้วว่าเราเป็นคนรักแบบไหน ทำความเข้าใจกับตัวเองให้มากขึ้น ตระหนักเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์​ และฝึกสื่อสารกับคนรักให้เข้าใจได้อย่างถูกวิธี

ไม่แน่ ความเข้าใจตัวเองที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ อาจช่วยให้เราหันมาฝึกให้ความรักกับตัวเอง ฝึกอยู่กับตัวเอง ไม่ก็หันมาเปิดใจ โอบกอดความรักและคำปลอบโยนจากผู้อื่นมากขึ้นก็ได้


อ้างอิง:
https://bit.ly/3GUm34n
https://bit.ly/3AkSCGe
https://bit.ly/3FVznUS

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

Advertisements
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่