SOFT SKILLรู้จัก Playfulness Leadership เพราะการบริหารทีมให้เวิร์ก เริ่มได้ด้วยการเป็นผู้นำที่สนุก

รู้จัก Playfulness Leadership เพราะการบริหารทีมให้เวิร์ก เริ่มได้ด้วยการเป็นผู้นำที่สนุก

ระหว่างผู้นำที่มีความจริงจังกับการทำงานตลอดเวลากับผู้นำที่มีความสนุกสนานอยู่ในตัวบ้าง จะเลือกผู้นำแบบไหน?

คำตอบของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เพราะผู้นำทั้งสองแบบต่างก็มีจุดเด่นในตัวเองที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผู้นำที่มีความจริงจังกับการทำงานตลอดเวลาจะเป็นที่น่าเคารพ ส่วนผู้นำที่มีความสนุกสนานในตัวเองบ้างก็จะทำให้คนในทีมรู้สึกว่าสามารถเข้าถึงได้ง่ายและกล้าพูดคุยด้วยมากกว่า

แต่หลังจากที่ทุกคนผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 มา แล้วต้องมาเจอกับช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจต่ออีกระลอก ก็เชื่อว่าหลายคนอาจจะเริ่มเทใจให้กับผู้นำที่มีความขี้เล่นในตัวมากกว่า เพราะในยุคนี้เราต่างก็ต้องการผู้นำที่มีอารมณ์ขันบ้าง เพื่อช่วยให้เราก้าวข้ามช่วงเวลาเลวร้ายในปี 2023 นี้ไปได้ ซึ่งคนที่มีความขี้เล่นนั้นดูท่าจะตอบโจทย์มากกว่าคนที่จริงจังไปกับทุกเรื่อง

หรือแท้จริงแล้ว ผู้นำยุคนี้ควรจะมีความขี้เล่นและความสนุกสนานอยู่ในตัวกันบ้าง?

รู้จัก Playfulness Leadership

เชื่อไหมว่า Playfulness หรือความสนุกสนานนั้นถือเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้นำควรมี?

จากข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญของ IESE Business School ที่พูดถึงเรื่องเทรนด์การจัดการสำหรับปี 2023 ได้ชี้ว่า Power Skill หรือทักษะอันทรงพลังที่ผู้นำควรมี มีด้วยกัน 4 ทักษะ ได้แก่
[ ] การเจรจาต่อรอง : เป็นพลังแห่งการสร้างมูลค่า
[ ] การแบ่งปันสิ่งต่างๆ ร่วมกัน : เป็นพลังแห่งการสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง
[ ] การตัดสินใจ : เป็นพลังแห่งการส่งเสริมความสามารถ
[ ] ความสนุกสนาน : เป็นพลังแห่งการส่งเสริมการมีส่วนร่วม

ในที่นี้เราจะขอพูดถึงเรื่อง “ความสนุกสนาน” เพียงอย่างเดียว โดยเราจะพาไปทำความรู้จักกับคำว่า Playfulness Leadership ก่อนว่ามันคืออะไร

Playfulness Leadership ถ้าแปลตามตัว Playfulness ก็คือความขี้เล่นหรือความสนุกสนาน ส่วนคำว่า Leadership คือความเป็นผู้นำ เมื่อนำมารวมกันก็จะหมายถึง การเป็นผู้นำที่มีความสนุกสนาน แต่ก็ต้องขอดักไว้ก่อนว่า การที่ผู้นำมีทัศนคติหรือพฤติกรรมที่มีความสนุกสนานในที่ทำงานไม่ได้หมายความว่า ผู้นำคนนั้นจะไม่จริงจังกับผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงาน เพราะในความเป็นจริงแล้ว “การมีความสนุกสนาน” นั้นอาจช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสียอีก!

ศาสตราจารย์ Mireia Las Heras จาก IESE กล่าวว่า คำว่า “Playfulness” หมายถึง การมีส่วนร่วมเชิงรุกอย่างจริงจัง ซึ่งก็คือการปฏิบัติตัวให้เป็นมากกว่าแค่ผู้ชมหรือผู้สังเกตการณ์เฉยๆ รวมทั้ง Playfulness นั้นยังหมายถึงการแข่งขันกับ “ตัวเอง” อีกด้วย เพราะผู้นำประเภทนี้จะมีความเข้าใจว่า บางครั้งเราอาจเป็นผู้ชนะ แต่ครั้งอื่นอาจไม่ใช่ก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น เร็วขึ้น หรือสร้างสรรค์มากขึ้น พูดง่ายๆ คือ เมื่อเราเฉลิมฉลองเวลาที่ตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว เราก็ต้องยอมรับความล้มเหลวและนำไปพัฒนาปรับปรุงต่อไปด้วย

แล้ว Playfulness Leadership ก็ไม่ได้มีดีแค่ความสนุก เพราะผู้นำที่มีความขี้เล่นจะส่งเสริมจิตวิญญาณของการมีส่วนร่วม รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับตัวผู้นำและคนในทีมด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์อีกมากมายตามมา เช่น
[ ] ช่วยลดความเครียดและช่วยให้ทำงานได้อย่างลื่นไหล
[ ] ช่วยให้หาวิธีแก้ปัญหาและเจรจาต่อรองได้อย่างสร้างสรรค์ขึ้น
[ ] เสริมสร้างความมั่นใจและแรงจูงใจในตัวเอง
[ ] เสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีกับคนในทีม
[ ] ช่วยให้เปิดใจได้กว้างขึ้น รวมถึงนำพาความมีชีวิตชีวาเข้ามา

เริ่มต้นบริหารทีมด้วย “ความสนุก”

ถ้าอยากนำความสนุกเข้ามาบริหารทีม ควรเริ่มต้นจากตรงไหน?

Advertisements
1. เริ่มต้นจากความคิดและท่าทาง

การที่เราจะสร้างความสนุกได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าความสนุกคืออะไร โดยเริ่มจากการคิดว่า กิจกรรมอะไรที่รู้สึกว่าสามารถสร้างแรงจูงใจและสร้างความสนุกได้? อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราหัวเราะและรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ?

โดยปกติแล้วผู้นำที่สามารถสร้างความสนุกให้กับคนอื่นได้มักจะเริ่มจากความชอบของตัวเอง พร้อมด้วยความคิดที่ว่าอยากมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ หากใครอยากลองเริ่มบริหารทีมด้วยความสนุกดูบ้าง ก็สามารถเริ่มได้จากความชื่นชอบของตัวเอง เช่น ถ้าชอบเล่นเกม ก็ชวนคนอื่นพูดคุยถึงเรื่องเกมหรืออาจจะชวนกันเล่นเกมเมื่อมีเวลาว่างก็ได้

ในส่วนของลักษณะท่าทาง ลองนึกภาพว่า ระหว่างคนที่ยืนกอดอกทำหน้าตาบูดบึ้งกับคนที่ยิ้มแย้มดูเป็นมิตร ใครจะอยากเข้าหามากกว่ากัน? แน่นอนว่าก็ต้องเป็นอย่างหลัง เพราะฉะนั้นเวลาจะเข้าหาใครสักคนให้แสดงท่าทางที่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าสามารถไว้ใจและพูดคุยสบายๆ ด้วยได้

Advertisements
2. สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจในที่ทำงาน

Psychological Safety หรือความปลอดภัยในจิตใจ เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ เพราะมันคือการทำให้คนอื่นรู้สึกว่าหากอยู่ในทีมนี้หรือองค์กรนี้แล้ว เราจะมีความปลอดภัย มีคนคอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจเสมอ เมื่อคนในทีมมีความปลอดภัยในจิตใจแล้ว ทีมก็จะสามารถโฟกัสกับการทำงานและผลิตผลงานที่มีความสร้างสรรค์ให้กับองค์กรได้ดียิ่งขึ้น

หากผู้นำคนใดอยากสร้าง “ความปลอดภัยในจิตใจ” ให้กับคนในทีม ก็สามารถเริ่มต้นได้ด้วยวิธีเหล่านี้
[ ] ฝึกการให้ฟีดแบ็กที่มีคุณค่าต่อการนำไปพัฒนาต่อและต้องรับฟังฟีดแบ็กจากคนอื่นด้วย
[ ] พยายามทำความรู้จักและรับฟังทุกคนในทีมให้ได้มากที่สุด
[ ] อย่าเป็นผู้นำที่โทษแต่ลูกน้องในทีม
[ ] ให้ความสำคัญกับทุกคนในทีมเท่าๆ กัน อย่าให้ความสำคัญแค่กับคนใดคนหนึ่ง
[ ] ให้คุณค่ากับคนในทีมในฐานะ “มนุษย์” ไม่ใช่แค่ “ทรัพยากร” เอาไว้ใช้งาน

3. กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ

ผู้นำบางคนอาจจะไม่กล้าใส่ความสนุกลงไปในการทำงานมากนัก เพราะกลัวว่าจะเสียภาพลักษณ์หรือกลัวว่าทำอะไรใหม่ๆ ไปแล้วจะล้มเหลว แต่จริงๆ แล้วเราควรผลักดันให้ตัวเองได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยวิธีที่ใส่ความสนุกลงไปบ้าง

เพราะการก้าวข้ามไปสู่สิ่งที่เราไม่รู้จักมาก่อน ด้วยวิธีการที่สร้างความสนุกให้กับชีวิตได้ จะช่วยเพิ่มการเรียนรู้ แรงจูงใจ และประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด ซึ่งมีความสอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน ScienceDirect ที่ชี้ให้เห็นว่า เกมที่มีความท้าทายสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมในทีมได้

ตัวอย่างการสร้างกิจกรรมความสนุกเล็กๆ เช่น

[ ] ช่วงประชุมอัปเดตงานประจำวัน

โดยปกติแล้วเรามักจะเข้าประชุมเพื่อแชร์เกี่ยวกับงานที่ตัวเองทำและกำลังจะทำในแต่ละวัน รวมทั้งอาจจะมีการพูดถึงความท้าทายในการทำงานที่ผ่านมาบ้าง แต่ถ้าเราอยากนำ “ความสนุก” เข้ามา ก็อาจจะเริ่มจากการเริ่มต้นประชุมด้วยเกมง่ายๆ ที่สามารถสร้างความสนุกและคลายความน่าเบื่อของคนในทีมเป็นบางครั้งบางคราว

เช่น การสร้างเกม Pop Quiz มาให้คนในทีมเล่น หรืออาจจะลองให้ทำแบบฝึกหัดสนุกๆ สั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการประชุมก็ได้เช่นกัน ถือเป็นการอุ่นเครื่องสมองอย่างสร้างสรรค์ก่อนที่จะเริ่มประชุม

[ ] ช่วงประชุมเพื่อเริ่มโปรเจกต์

โดยปกติแล้วในการประชุมเพื่อเริ่มโปรเจกต์อะไรก็ตามแต่ เรามักจะเข้าประชุมไปเพื่อฟังว่าแต่ละคนมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้างในโปรเจกต์นั้นๆ

แต่ถ้าจะนำ “ความสนุก” เข้ามา ก็สามารถเริ่มได้จากการที่ให้ทุกคนมานั่งคิดและระดมสมองเพื่อออกแบบภารกิจ วัตถุประสงค์ ค่านิยม และเป้าหมายร่วมกัน หลังจากนั้นก็ให้ทุกคนจับกลุ่มเพื่อคิดและร่างภาพคร่าวๆ ดูว่าโปรเจกต์นี้จะมีอุปสรรคอะไรบ้าง แล้วคิดหาทางออกเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้นลง

การเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนที่เป็นผู้นำนั้นต้องดูแลคนอีกหลายชีวิตที่อยู่ในทีม แล้วการปกครองคนก็ไม่สามารถใช้สมองได้เพียงอย่างเดียว เราต้องใช้ “ใจ” ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้

“Playfulness Leadership” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่ผู้นำสามารถนำมาใช้ในการบริหารทีมได้ เพื่อช่วยคลายความกังวลใจให้กับคนในทีม รวมถึงช่วยสร้างทีมเวิร์กที่กล้าพูดกล้าคุยและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น


อ้างอิง
– Management trends for 2023: Power skills for leaders : IESE – http://bit.ly/3Fiiqq8
– 12 REASONS CONSCIOUS LEADERS TAKE PLAYFULNESS SERIOUSLY : Rúna Bouius, People Development Magazine – http://bit.ly/428VQdy
– 5 Ways To Embrace Playful Leadership : People Storming – http://bit.ly/3mQqF6n
– Should Leaders Ever Be Playful? : John Mattone – http://bit.ly/3JyIcJd
– Why the Best Leaders Act Like Playful Puppies : BRENDAN BOYLE, Entrepreneur – http://bit.ly/403tu2i
– What Is Playful Leadership? : Ziksana Consulting – http://bit.ly/3mKNh8s

#softskill
#leadership
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า