อย่าปล่อยให้ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งองค์กร

994

“ในที่ทำงาน… เราจะเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีง่ายกว่าพฤติกรรมดีๆ”

หลายคนคงมีความเชื่อว่า พฤติกรรมที่ดีของคนในทีมหรือองค์กร จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนที่ประพฤติไม่ดีหันกลับมาดีได้ แน่นอนว่าไม่เสมอไป และมันอาจส่งผลเสียตามมามากกว่าที่คุณคิด

ศาสตราจารย์ Stephen Dimmock และ William Gerken ได้เขียนบทความน่าสนใจ ซึ่งตีพิมพ์โดย Harvard Business Review ในปี 2018 ที่มีชื่อว่า How One Bad Employee Can Corrupt a Whole Team

Advertisements

ใจความสำคัญ พูดถึงการที่หัวหน้าปล่อยให้พนักงานคนหนึ่งได้กระทำความผิด ที่แม้จะเป็นเพียงความผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ไม่มีการว่ากล่าวตักเตือน หรือมาตรการลงโทษใดๆ เลย และคิดไปเองว่า พนักงานที่ประพฤติดีคนอื่นจะสามารถพูดกระตุ้นให้เขาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

ผลปรากฏว่า มันเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะนอกจากจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในหมู่เพื่อนร่วมงานแล้ว กลับ “ไปสร้างการเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่ดีให้กับพนักงานคนอื่นในองค์กรแทน” แม้แต่พนักงานที่เคยทำดีมาตลอดก็อาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มไม่ยึดติดกับกฎระเบียบหรือข้อบังคับในการทำงานอย่างที่เคยเป็น

Advertisements

ฉะนั้นสำหรับหัวหน้าทีมหรือองค์กร จึงควรใส่ใจประเด็นนี้ให้มาก เพราะถ้าปล่อยปละละเลยต่อไปเรื่อยๆ พนักงานคนอื่นก็จะเกิดคำถามที่ว่า “เขาทำได้… ทำไมฉันจะทำบ้างไม่ได้?” และอยากที่จะเลียนแบบในภายหลัง รู้ตัวอีกทีองค์กรก็อาจจะเต็มไปด้วยคนที่พร้อมจะหาช่องทางให้ตัวเองได้กระทำผิดมากขึ้นแล้ว เมื่อถึงวันนั้นหากจะกลับมาแก้ไขก็ดูเป็นเรื่องที่ยากไม่ใช่น้อย

สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไรดี?

  1. ร่วมกันกำหนดกฎกติกาให้ชัดเจน ว่าพฤติกรรมแบบใดที่องค์กรยอมรับไม่ได้ ซึ่งต้องไม่ใช่การเลือกปฏิบัติกับพนักงานคนใดคนหนึ่ง แต่แม้กระทั่งตัวหัวหน้าเองจะต้องทำให้ได้ด้วย เพื่อลดคำครหา และให้กฎกติกายังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ ให้ลองนึกดูว่า หากหัวหน้าระดับสูงเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่ากฎกติกานี้สามารถอะลุ่มอล่วยกันได้

  2. หัวหน้าต้องสามารถเอ่ยถึงความผิดพลาดได้ เพื่อเป็นการทำให้คนในองค์กรรู้ว่าเขากำลังทำผิด ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถืออย่างมากหากสามารถรักษาสิ่งที่เคยกล่าวไว้ได้ เช่น หากตกลงกันว่า ความผิดที่สามารถยอมรับได้ในครั้งแรกจะใช้การตักเตือนด้วยเหตุผล ไม่ใช่แสดงการต่อว่าหรือทำให้อับอาย ก็ควรทำเช่นนั้นให้ได้

  3. หัวหน้าต้องเป็นผู้นำในการปฏิบัติและสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด หากใครทำเกินขอบเขตความผิดที่ไม่สามารถอภัยให้ได้ ก็จำเป็นต้องไล่พนักงานคนนั้นออกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะอยู่ระดับบนหรือล่าง เพื่อให้แน่ใจว่าพฤติกรรมของพวกเขาจะไม่ทำให้วัฒนธรรมโดยรวมขององค์กรเสียหาย

  4. ควรนำเรื่องจริยธรรมมาใช้ในการสัมภาษณ์เข้าทำงาน เมื่อเทียบกับการไล่ออกที่มีต้นทุนด้านเวลาในการหาพนักงานใหม่ ทำไมนายจ้างถึงไม่ค่อยคัดกรองผู้สมัครของตน ผ่านสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ในขั้นตอนการสัมภาษณ์ แต่เลือกจะคำนึงถึงความถนัดหรือทักษะเฉพาะของงาน การมีปฏิสัมพันธ์กับคน และบุคลิกภาพเท่านั้น

สุดท้าย หลายองค์กรมักมุ่งมั่นกับการจ้างพนักงานที่ดีที่สุด แต่บางครั้งพนักงานอาจไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง สิ่งสำคัญจึงต้องทำความเข้าใจว่า พนักงานที่ไม่ดีสามารถขัดขวางประสิทธิภาพของทีมและความเจริญก้าวหน้าขององค์กรของคุณได้อย่างไร รวมไปถึงคุณจะป้องกันด้วยวิธีการไหน เพื่อไม่ให้กระทบหรือสร้างความกลัวให้กับพนักงานคนอื่นจนไม่เป็นอันทำงาน

อ้างอิง: https://hbr.org/2018/03/research-how-one-bad-employee-can-corrupt-a-whole-team

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่