โอกาสและความเหลื่อมล้ำ

1033

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ใหญ่มากของสังคมไทย ซึ่งกำลังจะใหญ่และทวีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหลักที่เป็นตัวเร่งเลยคือเรื่องของ Automation

มีการประมาณการจาก World Economic Forum ว่าภายในปี 2025 งานเกินครึ่งนึงทั้งหมดบนโลกใบนี้จะถูกทำโดยหุ่นยนต์แบบใดแบบหนึ่ง นั่นหมายความว่าจะมีงานอีกหลายร้อยล้านตำแหน่งที่จะหายไป

เฉพาะในสหรัฐอเมริกาอย่างเดียวภายในปี 2030 จะมีงานที่ถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์กว่า 73 ล้านตำแหน่ง

ประเภทของงานที่หายไปนั้นมีหลากหลาย แต่เมื่อเรามองในรายละเอียดเราจะพบว่างานที่หายไปส่วนใหญ่คืองานที่เคยเป็นฐานของปิรามิด หรือผู้ที่มีรายได้น้อยเคยทำนั่นเอง และถ้าจะเจาะให้ลึกกว่านั้น งานที่จะหายไปจะเป็นงานที่เคยเป็นของคนที่อายุน้อยๆ ด้วย


ผมขอยกตัวอย่างข้อมูลบางส่วนจาก McKinsey Global Institute เพื่อให้เห็นภาพเรื่องนี้นะครับ

ในสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าภายในปี 2030

คนที่อยู่ในวัย 18-34 ปีที่เคยทำงานเกี่ยวกับอาหาร จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ 804,000 ตำแหน่ง

คนที่อยู่ในวัย 18-34 ปีที่เคยทำงานเกี่ยวกับค้าปลีก จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ 567,000 ตำแหน่ง

คนที่อยู่ในวัย 18-34 ปีที่เคยทำงานเกี่ยวกับแคชเชียร์ จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ 537,000 ตำแหน่ง ฯลฯ


งานที่เคยทำโดยคนจะถูกแทนโดยหุ่นยนต์ในอัตราเร่งมากขึ้นทุกวัน สาเหตุเพราะประสิทธิภาพดีกว่าและราคาถูกกว่า

ในบรรดางานที่จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ทั้งหมดนั้น 40% จะเป็นงานของคนอายุ 18-34 ปี

นี่คือช่วงอายุของการสร้างตัวตน ช่วงอายุของการวางรากฐานของชีวิต ถ้าหากสังคมไม่สามารถให้ความมั่นคงทางการงาน (job securities) ให้กับพวกเขาได้ ปัญหาสังคมที่เป็นระเบิดเวลาขนาดใหญ่ก็รออยู่ข้างหน้าไม่นานนี้แน่นอน


โอกาสที่เราจะเห็น “Useless class” ซึ่งเป็นคำนิยามของ Yuval Harari ในหนังสือ Homo Deus ที่กล่าวถึงคนที่ไม่มีประโยชน์ในเชิง Productivity ของสังคมเลย

เพราะทำงานสู้หุ่นยนต์ก็ไม่ได้ ค่าแรงก็แพงกว่า และจะให้ Reskill ไปทำ Skill ที่ High value ก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่มี “โอกาส” เหมือนคนอื่น นั่นเป็นไปได้มากๆ ทีเดียว ถ้าเรายังพาสังคมไปบนเส้นทางนี้

เราสามารถต่อสู้กับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และเราเตรียมตัวที่จะรับมือกับมันได้

ข้อมูลจาก TDRI บอกว่าเราจะมี “คนจนดักดาน” ถึง 10% ของประเทศ ซึ่งนี่คือปัญหาสังคมที่ใหญ่มากของประเทศ และไม่ได้กระทบแค่คน 10% แต่กระทบคน 100% ทั้งประเทศ

ต้นทุนของความไม่รู้นั้นสูงจริงๆ ความไม่รู้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการไม่ขวนขวาย แต่เกิดขึ้น เพราะแหล่งโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้มันไม่เท่ากันจริงๆ

ยกตัวอย่างเช่นการ Reskill ตลาดแรงงานที่เราพูดกันอยู่เยอะๆ ทุกวันนี้ ถามว่า “ใคร” ในคนวัยทำงานประมาณ 36 ล้านคนของประเทศนี้มี “โอกาส” เข้าถึงการ Reskill ที่ว่านี้บ้าง ตอบได้เลยครับว่าน้อยมากๆ เรื่องนี้จึงเป็นระเบิดเวลาที่อันตรายมาก และผมคิดว่าเราในฐานะที่เป็นส่วนนึงของสังคม เราต้องช่วยกันคิดหาทางออกครับ สิ่งที่ผมเชื่อมากๆเลยว่าเราควรเริ่มทำก่อนเลย คือการปรับ Mindset ครับ

Mindset 3 mindset ที่ผมคิดว่าเราในฐานะสมาชิกของสังคมต้องช่วยกันปรับคือ

  • Mindset ที่ว่า คนจนนั้น จนเพราะขี้เกียจ จนเพราะกินเหล้า จนเพราะไม่พยายาม จนเพราะไม่ขวนขวายหาความรู้ ซึ่งอาจจะมีบ้างก็จริง แต่เท่าที่ผมได้สัมผัสมา ผมคิดว่ามันไม่จริงอย่างมากเลยครับ คนเหล่านี้ที่จนเพราะขาดโอกาสในการเข้าถึงของที่พื้นฐานมากๆ เช่น “การศึกษา” “โครงสร้างพื้นฐานที่ดี” ฯลฯ

    เอาแค่เรื่องการศึกษาของเรา ความแตกต่างในประเทศไทยนี่มันช่างเลวร้ายแบบที่น่าตกใจครับ

  • Mindset ที่สองคือ My Success Story Mindset อันนี้ Mindset ของคนที่ประสบความสำเร็จ ที่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จเพราะ เก่ง ขยัน ทุกอย่างฉันสร้างมันขึ้นมาด้วยสองมือของตัวเอง ถามว่ามีที่จริงบ้างไหม? ก็คงมีครับ แต่เชื่อเถอะครับว่า แค่รหัสไปรษณีย์ที่คุณเกิดมานี่ก็เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของคุณแล้ว ดังนั้นคนที่สำเร็จนั้นถ้าเรายอมรับกันจริงๆ มันมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว, การศึกษา หรือแม้แต่ “ดวง” ก็ยังเกี่ยวเลยครับ

    ถ้าถามถึงชีวิตของผมเอง ผมอาจจะไม่ได้มีอะไรสำเร็จมากมาย แต่เอาแค่นี้ ที่มีทุกวันนี้ได้ ผมได้รับทั้งโอกาสจากหลายคน ได้รับทั้งแรงส่งจากคนรอบข้าง และยอมรับว่าในหลายๆ สถานการณ์ผมก็โชคดีแบบคาดไม่ถึงเลยด้วย

    เพราะฉะนั้นความสำเร็จมาจากตัวเราเป็นส่วนนึงครับ โครงสร้างทางสังคมที่เราอยู่นั้นเปิดกว้างทาง “โอกาส” ให้กับเรามากแค่ไหน อาจจะมีผลกับความสำเร็จของเรามากกว่าด้วยซ้ำ

  • Mindset ที่สามคือ Outlier Mindset ที่มาในรูปแบบของ “ดูเจ้าสัวคนนั้นซิ เขามาจากเมืองจีน มาเป็นกุลีแบกข้าวสารอยู่ที่กรุงเทพ ไม่มีอะไรติดตัวมาเลย มีเสื่อผื่น หมอนใบ สู้มาจนเป็นมหาเศรษฐีแสนล้านได้” หรือ “ดูบางคนไม่ต้องจบมหาวิทยาลัย ก็มาทำ Startup เป็นบริษัทแสนล้านได้” ถามว่าสิ่งเหล่านี้จริงไหม? คำตอบคือ จริงครับ แต่จำนวนมีน้อยมากๆ แล้วคนเหล่านี้ ถ้าไปถามเขาจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าในบางช่วง บางตอนของชีวิตในเส้นทางการเป็นเศรษฐีของเขานั้น มี “โชค” มี “ผู้ใหญ่” หรืออะไรทำนองนี้มาช่วยไม่น้อยทีเดียว

เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแบบความเหลื่อมล้ำ เราพยายามหาวิธีในการแก้ปัญหาให้กับคน “ส่วนใหญ่” เราจึงไม่สามารถพูดถึง Outlier case ประเภทที่เริ่มต้นจากติดลบมาเป็นมหาเศรษฐี ได้เลยด้วยซ้ำเพราะมันมีน้อยมากจริงๆ ที่จะเกิดขึ้น

ผมคิดว่าเริ่มจาก Mindset ก่อนแล้วเดี๋ยววิธีแก้จะค่อยตามมาครับ

Advertisements

เราทุกคนมีส่วนในการช่วยแก้ไขระบบนี้ได้ เพื่อให้เรามีโลกในวันข้างหน้าที่ดีกว่านี้

Advertisements

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาของทุกคน และกระทบกับทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ขั้นไหนของปิรามิดก็ตาม แต่ถ้าคุณอยู่บนๆ หน่อยคุณอาจจะยังไม่รู้สึกในวันนี้ แต่วันนึงปัญหามันจะย้อนกลับมาหาคุณแน่นอนครับ

เขียนเรื่องนี้แล้วผมนึกถึงทวีตอันนึงของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันทร์ ที่ว่า

“ถามอมร” ว่ารู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ในวันนี้ หนุ่มยิ้มมุมปาก แล้วตอบสั้นๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว “คนที่ไม่เคยรู้สึกถึงความอึดอัดของการถูกกดทับ คือ คนที่อยู่ข้างบน”

Advertisements