ไม่ประสบความสำเร็จ

3638
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้น ๆ
  • หลายครั้งคนเราเอาความสุขไปผูกกับการประสบความสำเร็จมากเกินไป ทำให้เมื่อล้มเหลวแล้วจึงรู้สึกทุกข์ รู้สึกท้อ ต่างจากคนที่ทำอะไรได้นาน ๆ ล้มเหลวก็ลองใหม่ คนที่ทำแบบนี้ได้ส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพราะเขาอึดมาก หรือ อดทนแบบสุด ๆ แต่เป็นเพราะเขา “สนุกและมีความสุขที่ได้ทำ”

ครั้งหนึ่งมีคนอีเมล์ มาปรับทุกข์ให้ผมฟังว่า รู้สึกท้อแท้ เพราะทำนู่นทำนี่มาแล้วหลายอย่าง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี จนตอนนี้ไม่รู้จะเอาไงต่อ หมดกำลังใจ รู้สึกว่าตัวเองเป็น “ไอ้ขี้แพ้” จนไม่อยากทำอะไรอีกต่อไปแล้ว

คือตอนผมอ่าน ผมเห็นใจและเข้าใจมากเลยนะครับ เพราะการเผชิญกับความล้มเหลวบ่อย ๆ มันบั่นทอนกำลังใจแน่ ๆ ผมก็เป็น แต่ครั้นจะบอกว่า อย่าท้อนะ ผมก็กลัวจะเหมือนเรื่องนี้ ที่ เอลิซาเบธ กิลเบิร์ต (Elizabeth Gilbert) เขียนไว้ในหนังสือ พลังวิเศษของคนธรรมดา (Big Magic)

เธอเล่าแบบนี้ครับ ในงานพบปะของริชาร์ด ฟอร์ด ซึ่งเป็นนักเขียนชื่อดัง มีชายกลางคนยกมือขึ้นถามกับฟอร์ดว่า “ผมคิดว่า ผมและคุณ(ฟอร์ด)มีอะไรคล้ายกัน คือเราสองคนเขียนนิยายมาทั้งชีวิต มีบางครั้งสิ่งที่คุณเขียนก็บังเอิญคล้ายกับสิ่งที่ผมเขียน แต่มีสิ่งเดียวที่แตกต่างกันคือ งานเขียนของคุณได้รับการตีพิมพ์ แต่ของผมไม่ได้รับการตีพิมพ์ ทั้ง ๆ ที่ผมก็พยายามมาแล้วตลอดหลายสิบปี ผมเสียใจมาก กำลังใจหดหายไปหมด ผมเลยอยากถามคุณฟอร์ดว่า พอจะมีคำแนะนำอะไรให้ผมบ้างไหม นอกจากการบอกว่าสู้ ๆ เพราะใคร ๆ ก็พูดประโยคนี้ให้ผมฟัง จนผมรู้สึกว่าคำนี้ยิ่งทำให้ผมท้อกว่าเดิม”

Advertisements

แล้วรู้ไหมครับว่า ฟอร์ดตอบชายคนนี้ว่าอย่างไร ฟอร์ดบอกกับชายคนนี้ว่า “ผมเสียใจด้วยนะครับที่คุณต้องเจอความผิดหวังมาหลายครั้ง และผมจะไม่บอกให้คุณสู้ ๆ เพราะรู้ว่าคำนี้จะทำให้คุณเสียกำลังใจเปล่า ๆ แต่ผมจะบอกอย่างอื่นแทน ซึ่งอาจจะฟังดูน่าตกใจหน่อย ผมว่า คุณเลิกเขียนหนังสือเถอะครับ”

สำหรับตัวผม ตอนผมอ่านเรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้นะครับว่า จริง ๆ แล้วเหตุผลที่ริชาร์ด ฟอร์ด พูดตรงและแรงแบบนี้ เป็นเพราะต้องการกระตุ้นให้ชายคนนี้ลุยต่อ หรือว่าอยากให้ชายคนนี้เลิกเขียนหนังสือจริง ๆ แต่ผมเชื่อว่า สิ่งที่ฟอร์ดเห็นในตัวผู้ชายคนนี้คือ ชายคนนี้ไม่มีความสุขกับการเขียนหนังสือเลย

ผมเชื่อว่าหลายคนที่ปรับทุกข์ให้ผมฟังคงไม่ต่างจากชายคนนี้ คือไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ และผมเชื่อว่าสาเหตุใหญ่มาจากการผูกตัวเองกับการต้องประสบความสำเร็จมากจนเกินไป จนทำให้ทุกครั้งที่ทำงานหรือทำสิ่งใดก็ตาม ไม่ได้ทำเพราะชอบหรือสนุกที่ได้ทำ แต่ทำเพราะลึก ๆ คาดหวังว่ามันต้องทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จให้ได้ 

ฉะนั้นเวลาที่ล้มเหลว คนที่เป็นแบบนี้ก็จะเจ็บปวดมาก เพราะเขามองว่าตัวเขาเองก็ล้มเหลวตามไปด้วย

ส่วนตัวผม ผมคิดว่า การมีมุมมองที่ผูกติดกับความสำเร็จแบบนี้ มันเหนื่อยมาก คือผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ใครก็อยากจะประสบความสำเร็จกันทั้งนั้น ผมเองก็เป็น เพียงแต่ผมคิดว่า ในชีวิตคนเรา สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรมีให้ได้ก็คือ ความสุข

Advertisements

คือถ้ามองว่า “จะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น” ผมว่าชีวิตแบบนี้คงทรมานน่าดู เพราะใครจะการันตีได้ครับว่า วันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จจริง ๆ ซึ่งถ้าไม่มีวันนั้น หรือถ้ามีก็อีกนาน โอ้โห ชีวิตนี้ไม่ต้องมีความสุขกันพอดี และที่สำคัญเกณฑ์อะไรที่จะวัดมาบอกว่า ตอนนี้ได้เดินทางมาถึงจุดที่สำเร็จแล้ว

ในทางกลับกัน ผมเห็นด้วยกับ เอลิซาเบธ กิลเบิร์ต ที่พยายามโน้มน้าวให้เห็นว่า การได้ทำอะไรก็ตาม ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยหรือดูกระจอกในสายตาใคร หรือไม่ได้ยิ่งใหญ่โดดเด่นเป็นที่หนึ่ง แต่ถ้ามันทำให้เรามีความสุข ไม่เดือดร้อนใคร ก็จงทำเถอะ เพราะอย่างน้อยเราจะได้มีความสุข อย่างตัวเธอเอง เธอก็ผ่านการถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง หนังสือที่เธอเขียนหลายเล่มก็แป้กไม่เป็นท่า ซึ่งเธอบอกว่า เธอก็รู้สึกว่าตัวเอง ล้มเหลว อยู่บ้าง แต่เพราะสนุกกับการได้เขียน เธอเลยยังเขียนไปเรื่อย ๆ 

ที่สำคัญคือ เธอพยายามมองการถูกปฏิเสธให้เป็นเรื่องสนุก เหมือนกับการเก็บแต้มว่าเธอถูกปฏิเสธมาแล้วกี่ครั้ง ซึ่งการคิดบวกแบบนี้คล้ายกับอาจารย์ ทีน่า ซีลิก (Tina Seelig) ที่กล่าวว่า

คนเราควรมองความล้มเหลวเหมือนนักวิทยาศาสตร์ทำการทดลอง คือมันไม่ใช่ความล้มเหลว แต่มันคือการเก็บผลข้อมูลทีน่า ซีลิก (Tina Seelig)

อย่างในประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในประเทศที่ติดอันดับคนมีความสุขที่สุดในโลก ชาวเดนิชก็พยายามเลี้ยงลูก โดยปลูกฝังให้เด็กมีสิ่งที่เรียกว่า ความเชื่อในอำนาจจากภายใน (Internal Locus of Control) ที่จะตรงข้ามกับ ความเชื่อในอำนาจจากภายนอก (External Locus of Control) สำหรับ ความเชื่อจากภายใน (Internal Locus) ถ้าพูดง่าย ๆ คือเชื่อว่าชีวิตจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับมุมมองภายในของเรา ขณะที่ ความเชื่อจากภายนอก (External Locus) เชื่อว่าชีวิตถูกกำหนดด้วยปัจจัยภายนอก

ผมคิดว่า คนที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขก็คงมีวิธีคิด ความเชื่อจากภายใน (Internal Locus) นี้แหละครับ คือไม่ปล่อยให้ปัจจัยภายนอกมากำหนดตัวเอง พูดอีกอย่างคือ ไม่ใช้เรื่องการประสบความสำเร็จ การได้รับการยอมรับจากคนอื่น จำนวนเงินในบัญชี มากำหนดตัวตนและความสุขของเรา

ผมว่านี่คือกุญแจสำคัญในการใช้ชีวิต ว่าสุดท้ายแล้วเราตั้งโจทย์ชีวิตแบบไหน อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตกันแน่ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าคิดนะครับ ว่าเหตุผลที่คนเราอยากประสบความสำเร็จ ก็เพราะเราอยากมีความสุขใช่หรือเปล่า ก็แล้วถ้ามีความสุขได้ตั้งแต่ตอนนี้ทำไมถึงไม่ลองดูล่ะ

เพราะผมเชื่อว่า คนที่สามารถทนทำอะไรได้นาน ๆ หรือทนความล้มเหลวที่เกิดซ้ำ ๆ ได้ ไม่ใช่เพราะความอึดอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพราะสนุกที่ได้ทำ อย่างน้อยถึงมันจะไม่ได้รับการยกย่อง ไม่โด่งดัง ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่สิ่งที่ได้แน่ ๆ ก็คือ ความสุข ซึ่งผมว่าแค่นี้ก็ควรนับว่าเป็นความสำเร็จในชีวิตแล้วนะครับ เพราะเราได้ทำให้ตัวเรามีความสุขแล้ว

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่