The New-Norm Office หลังจาก Covid-19 จะเป็นอย่างไร?

2366

Highlight

  • “The New-Norm Office” แนวคิดสำหรับการใช้งานออฟฟิศในยุคใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 พื้นที่ส่วนกลางจะค่อยๆ หายไป เกิดเป็นแนวคิดใหม่อย่าง “6 Feet Office” การใช้เทคโนโลยี Touchless ลดการสัมผัสในออฟฟิศ การใช้งานทุกอย่างต้อง Reservation และระบบอากาศปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ Ventilation and Air Flow 
  • เมื่อเทรนด์ “Co-Working Space” กำลังจะหายไปในไม่ช้า เพราะพฤติกรรมคนทำงานที่จะเปลี่ยนไป ทำให้การออกแบบพื้นที่ต้องปรับตาม เราพูดคุยกับคุณ Yuki Kanamori รองบรรณาธิการหัวหน้างาน และผู้ประสานงานวิจัยจาก KOKUYO Co.,Ltd. เพื่อนำเสนอแนวคิดการออกแบบสถานที่ทำงาน ในโลกใหม่หลังเกิดวิกฤต 

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า เราทุกคนยังคงทำงานกันอย่าง “ปกติสุข” ภาพของการจราจรที่คับคั่งในยามเช้า ต่อแถวรอคิวที่ร้านกาแฟทุกวันก่อนเข้าทำงาน การประชุมของบอร์ดบริหารในช่วงสาย ไปจนถึง การชวนเพื่อนฝูงไปรับประทานมื้อเย็นร่วมกันหลังเลิกงาน 

ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถูกล้างกระดานเปลี่ยนไปหมด ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 และไม่รู้เมื่อไหร่ ที่บรรยากาศเหล่านี้จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม หรือในความเป็นจริง… มันไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

ในอีกมุมหนึ่ง เป็นระยะเวลาหลายปีที่วงการสถาปนิกและนักออกแบบยังคงให้ความสำคัญอยู่กับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (ECO Friendly Design) และพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่พ้น โดนผลกระทบจากพิษวิกฤตโรคระบาดเช่นกัน ทำให้โจทย์ที่พวกเขาต้องพิจารณาใหม่ คือ สุขอนามัยและความปลอดภัย (Hygiene & Safety) เพราะ “เมื่อพฤติกรรมคนทำงานที่จะเปลี่ยนไป ทำให้การออกแบบพื้นที่ต้องปรับตาม” ในกรณีของการออกแบบสถานที่ทำงานก็เช่นกัน

Advertisements

“The New-Norm Office” แนวคิดสำหรับการใช้งานออฟฟิศในยุคใหม่หลังวิกฤต เป็นการปรับตัวที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ผู้คนกำลังเริ่มกลับมาทำงานเป็นปกติ เพื่อให้ระบบการทำงานออฟฟิศ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ คือ การสร้างความมั่นใจให้พนักงานทุกคน ปลอดภัยจากอันตรายของโรคระบาด

“Co-Working Space” กำลังจะหายไปในไม่ช้า เมื่อผู้คนไม่ได้อยากปฎิสัมพันธ์กันมากเกินความจำเป็น

ไม่นานมานี้ เทรนด์ของการปรับเปลี่ยนออฟฟิศ เป็น Co-Working Space ที่เน้นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มี Partition กั้นกันชัดเจนระหว่างบุคคล สามารถขยับที่นั่งไปในทุกจุดที่สะดวกสำหรับการทำงาน มีห้องประชุมรวมเป็นศูนย์กลางของออฟฟิศเพื่อใช้งานอเนกประสงค์ และในบางที่มีระบบ Full Services เสิร์ฟเป็นสวัสดิการให้พนักงาน เช่น การมี Grocery Store หรือ Cafeteria อยู่ในที่ทำงาน เป็นต้น

แต่ในแง่มุมของการออกแบบ เราต้องพิจารณากันใหม่ เพราะเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากที่ต้องการอยู่รวมตัวกัน เปลี่ยนแปลงเป็นการเจอกันให้น้อยที่สุด ภายใต้บริบทที่ต้องคงประสิทธิภาพการทำงานไว้เช่นเดิม

Flexibility to Fixed Space:

ข้อดีของการทำงานแบบมี Flexibility สูงในออฟฟิศ สามารถขยับขยายวงสนทนาได้อย่างกว้างขวางและเข้าถึงใกล้ชิดกันมากขึ้น กลับถูกเปลี่ยนไปตามความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ความยืดหยุ่นจะถูกปรับเปลี่ยนเป็น Fixed Space พื้นที่อยู่คงที่แทน และทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัวอย่างจำกัดในระยะที่เหมาะสมทางการรักษาสุขอนามัย

นอกจากการรักษาสุขอนามัยที่ดีแล้ว งานจะต้องยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพเดิมให้ได้ เมื่อความยืดหยุ่นของตัวบุคคลถูกลดลง สิ่งที่สามารถช่วยแก้ไขช่องว่างระหว่างการปฎิสัมพันธ์ คือ การทำ Digital Divide เพื่ออัพเกรดระบบ Workstation ในที่ทำงาน มีระบบที่ครบวงจร มีระบบ Automated และ Remote Work ที่ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้จากทุกที่ และให้ความสำคัญกับระบบ Online Community ขึ้นมาทดแทน 

Community to Immunity:

ในการทำงานที่ออฟฟิศก่อนวิกฤต การออกแบบต้องการให้ทุกๆ แผนกมีจุดที่มีการปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้จุดศูนย์รวมของออฟฟิศเกิดขึ้นในบริเวณโถงกลาง และเมื่อมีเทรนด์ Co-Working Space เข้ามา ทำให้การขยายตัวของห้องประชุมถูกลดทอนจนไม่มีฉากกั้น (Partition) ระหว่างห้องโดยชัดเจน และกลายเป็นพื้นที่เปิดโล่งที่ทุกคนสามารถ Face-off หากันได้ตลอดเวลาเพื่อความสะดวกในการโยนไอเดีย 

เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด การสร้างสภาวะภูมิคุ้มกันร่วมกันให้ดี (Herd Immunity) ถูกนำกลับมาพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง ทำให้คาดการณ์ว่า การปฎิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้าโต้ตอบ (Interactive Community) จะถูกปรับเปลี่ยนกลับไปเหมือนแต่ก่อน คือ มีทางเดินเดี่ยว (Single Corridor), มีฉากกั้นระหว่างโต๊ะ (Desk Partition) และ การมีฉากใสกั้นระหว่างพื้นที่หลายๆ จุด (Clear Plastic Screens) เป็นต้น

Ventilation and Air Flow:

การออกแบบพื้นที่ทำงานให้เกิดสภาวะน่าสบายด้านภูมิอากาศไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีวิกฤต แต่ถูกปรับใช้มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะใน Home Office หรือ Co-Working Space Office ที่มีพื้นที่แนวราบและเปิดโล่งเยอะ ทำให้การสร้างช่องเปิดให้อากาศถ่ายเทสามารถทำได้ง่าย แต่เพื่อการสร้างสภาวะภูมิคุ้มกัน เราต้องคำนึงไปถึงระดับอนุภาค (Micro Scale) ของเชื้อโรคที่ตามนุษย์มองไม่เห็น เช่น วัสดุของเก้าอี้ โต๊ะ ต้องมีการเคลือบสารกันเชื้อโรค มีการพ่นสารละอองฆ่าเชื้อตามช่องระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น


“6 Feet Office” ระยะห่างที่เหมาะสมในที่ทำงานยุคใหม่

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังทำมาตรการที่เกิดขึ้นภายใต้ความกังวลที่ทำให้ผู้คนไม่กล้าอยู่ใกล้กัน คือ เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ จากงานวิจัย พบว่า การอยู่ห่างกัน 6 ฟุต คือระยะที่เหมาะสมกับการป้องกันการระบาดของโรค Covid-19 และ กฎ 6 ฟุต สามารถนำมาปรับใช้ได้ในการทำงานใน ออฟฟิศสำนักงาน / Home Office / Co-Working Space Office ฯลฯ ซึ่งแนวคิด “6 Feet Office” ประกอบไปด้วยแนวทาง 6 ข้อ โดยใช้การออกแบบเพื่อควบคุมพฤติกรรม ดังนี้

Quick Scan: การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมการทำงานที่เคร่งครัด ละเอียดถี่ถ้วน ในด้านความปลอดภัยจากไวรัสและโอกาสเกิดโรคอื่นๆ ที่ตามมา ระบบการตรวจสอบจะเกิดขึ้นตั้งแต่จุดทางเข้าออฟฟิศ มีจุดคัดกรองตรวจไข้ก่อนเข้าสู่ที่ทำงานเป็นปกติ และการทำความสะอาดเชื้อโรคในออฟฟิศจะเกิดขึ้นเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ 

Rules: การทำข้อตกลงร่วมกันของพนักงาน ที่จะช่วยกันรักษาสุขอนามัยที่ดีให้กับสถานที่ทำงาน เพื่อสร้าง Trusted Society ให้กับพนักงานทุกคนเข้าใจตรงกันว่าการเข้ามาทำงานที่นี่สามารถวางใจได้เพราะมีความปลอดภัยทั้งด้านพฤติกรรมคนและด้านสภาพแวดล้อม

Routing: การแยกเส้นทางการเข้าถึงออฟฟิศ ที่สามารถควบคุมความปลอดภัยและคนที่เข้าออกได้ เกิดการแยกขาดกันชัดเจนของจุดที่ผู้คนจะสามารถเข้ามาติดต่อประสานงาน กับส่วนที่พนักงานเข้าถึงได้ เพื่อความสะดวกสบายในการควบคุมปริมาณผู้ใช้งานพื้นที่

Workstation: สถานที่ทำงานมีระบบที่ครบวงจร มีระบบ Automated และ Remote Work From Anywhere สำหรับพนักงานที่ไม่สามารถเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศได้ ทุกข้อมูลจะถูกเก็บรวมศูนย์ไว้ที่เดียวและทำงานผ่านฐานข้อมูลส่วนกลาง สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องมาที่ออฟฟิศ เป็นการเตรียมตัวที่จำเป็นเผื่อเกิดวิกฤตในครั้งต่อๆ ไป หากออฟฟิศไหนจัดการระบบนี้ได้ดี จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพงานไม่ลดลงตามปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

Facility: พนักงานต้องได้รับการฝึกอบรมและให้แนะนำ วิธีการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในออฟฟิศ และ วิธีการดูแลตัวเองเมื่อต้องอยู่ร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพแวดล้อมของออฟฟิศสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

Certificate: มีการรับรองสำหรับออฟฟิศ ที่ระบุชัดเจนว่า ดำเนินการตามมาตรฐานการดูแลสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสและปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขอนามัย


“From (Still) Follow Function” หากนี่คือจุดสิ้นสุดของการออกแบบพื้นที่ทำงานแบบเปิดโล่ง ออฟฟิศจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร?

อย่างไรก็ดี… ถึงแม้บริบท สภาพแวดล้อม พฤติกรรมจะถูกปรับเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่สิ่งที่ไม่มีทางเปลี่ยน คือ แก่นแนวคิดหลักของการออกแบบ ที่เราเรียนรู้และพัฒนาตามความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ “การออกแบบที่มุ่งเน้นรูปลักษณ์ที่สวยงาม ต้องตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้ใช้งานอย่างเหมาะสม” และเมื่อเทรนด์การออกแบบพื้นที่ทำงานเปิดโล่งเปลี่ยน โจทย์ที่ท้าทายใหม่ของเหล่านักออกแบบ คือ ออฟฟิศที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร

เราพูดคุยกับคุณ Mr. Yurki Kanamori (ยูกิ คานาโมริ) บรรณาธิการ นิตยสาร WORKSIGHT ภายใต้ KOKUYO CO., LTD เพื่อนำเสนอแนวคิดการออกแบบสถานที่ทำงาน ในโลกใหม่หลังเกิดวิกฤต เพื่อสรุป 4 ประเด็นสำคัญ คือ 

  1. แนวคิด New-Norm Office กับสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน
  2. การเกิด New Normal นำไปสู่การ Re-Design Office
  3. Co-Working Space เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน
  4. บทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในออฟฟิศยุคหลังโควิด-19

1. แนวคิด New-Norm Office กับสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน

คาดการณ์เรื่องการออกแบบ Workplace จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังยุคโควิด-19 และแนวคิดที่ดูมีน้ำหนักมากที่สุดในการแก้ปัญหา การแพร่กระจายเชื้อโรค อย่าง “2 Meters Rule” หรือ “6 Feets Concept” 

Advertisements

แต่ปัญหาคือ การสร้างสรรค์ออฟฟิศขึ้นใหม่ จำเป็นต้องใช้เงินทุนในระดับหนึ่ง และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังต้องใช้เวลาฟื้นฟูในระยะหนึ่งถึงจะกลับมาแข็งแรงได้เหมือนเดิม เราควรพิจารณาผลกระทบส่วนนี้ในแง่มุมไหนบ้าง?

คุณยูกิได้ให้ความเห็นว่า การทำออฟฟิศตามแนวคิด “2 Meters Rule” หรือ “6 Feets Concept” ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กร จำนวนพนักงาน และบริบทที่ตั้งเดิม ซึ่งแก้ไขไม่ง่ายในความเป็นจริง และยังต้องใช้แรงทุนและให้ระยะเวลาปรับตัว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในระยะสั้นนี้ คือ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เพราะตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า ผู้คนสามารถทำงานจากที่บ้านได้ และเกิดเป็นเทรนด์ใหม่อย่างแน่นอนในอนาคต

การทำงานที่บ้าน มีข้อดี คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับสถานที่ลดลง เท่ากับคุณอาจไม่ต้องจ่ายค่า Office Rent ในราคาสูงเหมือน เมื่อรู้แล้วว่า แผนกงานไหนสามารถ Operate งานจากที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

คุณยูกิคาดการณ์ว่า 50% ของแรงงานจะเกิดขึ้นในรูปแบบ Work From Home ทำให้การออกแบบและฟังก์ชันจะถูกเปลี่ยนไปหมด สิ่งสำคัญเท่านั้นที่จะคงอยู่ไว้ในออฟฟิศ เช่น Meeting Place, Brainstorm Place เป็นต้น และออฟฟิศจะถูกมองเป็นแค่ ”ศูนย์ย่อย” ของระบบการทำงาน ไม่ใช่ ”ศูนย์รวม” อีกต่อไป 

2. การเกิด New Normal นำไปสู่การ Re-Design Office

การเกิด New Normal ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานอย่างแน่นอน และถ้าหากโควิด-19 จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน เราจะได้เห็นการ Re-Design Office เป็น 2 กรณี คือ 1. การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น และ 2.การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

การเปลี่ยนแปลงของผังบริเวณออฟฟิศ จากเดิมในรูปแบบ การวางผังแบบเปิด (Open-Plan Office) ที่เป็นที่นิยมก่อนวิกฤตโควิด-19 ด้วยแนวคิด 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.การสื่อสาร (Communication), 2.การทำงานร่วมกัน (Collaboration) และ 3.ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งในอนาคตต้องผนวกเข้ากับ การเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม (6 Feets Concept)

การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น: กรณีแรก การออกแบบออฟฟิศจะถูกเปิดโล่งและจุคนได้น้อยลงกว่าเท่าตัว Meeting Place จะไม่ถูกจัดการในที่ปิดทึบ และกระจกกั้น (Partition) จะถูกเอาออกหมด เกิดเป็นพื้นที่เปิดโล่งให้เกิดการถ่ายเทของสภาพอากาศ เพื่อปัจจัยความสะอาดและสุขอนามัยเป็นหลัก  

ในทางตรงข้าม คือ เทรนด์การออกแบบออฟฟิศจะถูกย้อนกลับไปเหมือน 20-30 ปีก่อน ที่มีใช้ฉากกั้นห้อง (Partition) จำนวนมาก ระหว่างพื้นที่ส่วนตัว (Personal Space) และจะถูกวางผังไว้ตาม เพื่อให้ฉากกั้นห้องเป็นตัวช่วยถ่ายเทลมออกสู่ที่เปิดโล่งเพื่อสุขอนามัยที่ดีเช่นเดียวกัน

การแก้ปัญหาในระยะยาว: คุณยูกิมองว่า การควบคุมระบบระบายอากาศ (Ventilation Air Flow System) จะเป็นกุญแจสำคัญของการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ทุกการวางผังบริเวณ จะต้องคิดควบคู่ไปกับระบบถ่ายเทอากาศที่ถูกต้องตามหลัก เพื่อการสร้างสภาวะภูมิคุ้มกัน เราต้องคำนึงไปถึงระดับอนุภาค (Micro Scale) เชื้อโรคที่ตามนุษย์มองไม่เห็น และในอนาคตมีโอกาสเป็นไปได้สูง ที่เราจะไม่สามารถแชร์สิ่งต่างๆ ได้แล้วในออฟฟิศ การทำอะไรร่วมกัน จะถูกลดลงจนเหลือเพียงการพบปะที่จำเป็นเท่านั้น

3. Co-Working Space เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน

ออฟฟิศยุคใหม่อย่าง Co-Working Space Office ที่เป็นเทรนด์การออกแบบหลักก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่ตอนนี้กำลังเจอกับวิกฤตอย่างหนัก ส่งผลให้การใช้งานในเชิงฟังก์ชั่น และ ความงามด้านการออกแบบต้องปรับตาม เพราะผู้คนไม่ได้อยากปฎิสัมพันธ์กันเหมือนก่อน

และในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ Workplace คุณยูกิมีทัศนะกับเรื่องนี้ว่า ภาพรวม Co-Working Industry กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาครั้งใหญ่ แต่ไม่ถึงกับเป็นจุดจบที่ไม่สามารถนำมาใช้งานต่อได้ แต่เพียงต้องปรับตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป และเทรนด์ของสถานที่ทำงานจะถูก Transfrom ไปในลักษณะของ พื้นที่ทำงานแบบชั่วคราว (Flexible Work Space) มากกว่า เช่น การจองพื้นที่ออฟฟิศในระยะสั้น สำหรับการประชุม หรือ นำเสนอผลงาน มีการทำระบบ Memberships สำหรับองค์กรที่เข้ามาเช่าพื้นที่ และสามารถให้ส่วนกลางเข้ามาควบคุมความสะอาดได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ดี คุณยูกิคาดการณ์ เราจะได้เห็นเทรนด์การทำงานจาก Workstation ที่บ้าน (Small Room Office) จะกลายเป็นกระแสหลักมาทดแทน เพราะการทำงานจากที่บ้าน = การจัดการความปลอดภัยที่ดีกว่า

สิ่งที่พอช่วยแนะนำให้พนักงานสำหรับการ Work From Home ได้ คือ การจัดการ Workspace ให้เหมาะสม การเลือกสรรอุปกรณ์ที่ส่งเสริมพฤติกรรมการทำงาน จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกที่ดีในการทำงานได้โดยตรง เช่น เก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพจากประเทศญี่ปุ่น KOKUYO “ing”  ซึ่งแก่นแนวคิดของการออกแบบเก้าอี้ตัวนี้ คือ ฟังก์ชั่นของเก้าอี้สำนักงานที่มีดีมากกว่าการนั่ง ไม่ว่าจะเป็นที่วางแขนในตำแหน่งเหมาะสม การที่เบาะนั่งสามารถหมุนรอบได้ 360 องศา รองรับสรีระได้เป็นอย่างดี ล้อหมุนที่ช่วยให้ง่ายต่อการเคลื่อนที่ เป็นต้น

การเคลื่อนไหวมักกระตุ้นไอเดียความความคิดสร้างสรรค์มากกว่าและช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดีมากขึ้น ผลการวิจัยกลุ่มคนในประเทศญี่ปุ่น พบว่า การทดลองการนั่งบนเก้าอี้ “ing” พบว่าช่วยส่งผลดีต่อร่างกายและสมอง โดยขยับร่างกายตามปกติ เป็นเวลา 4 ชั่วโมง จะเท่ากับการเดินออกกำลังกายประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งกระตุ้นการทำงานของสมองที่ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น 13%

4. บทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในออฟฟิศยุคหลังโควิด-19

ทุกๆ อุตสาหกรรมพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหลังโควิด-19 และเพื่อการออกแบบให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คุณยูกิคิดการมาถึงของเทคโนโลยี เช่น Machine Learning, AI หรือ เทคโนโลยีอย่าง IoT (Internet of Things) จะกลายเป็นเรื่อง New Normal และทำหน้าที่ ช่วยเก็บ Big Data มาเพื่อพัฒนาการทำงานในออฟฟิศ รวมถึงเรื่องของ Environment ในออฟฟิศด้วย เป็นเรื่องของ Simulation Prediction ทุกๆ เรื่องจะถูกประสานเข้าด้วยกันหมด เพื่อนำข้อมูลดิบมาและส่งคืน Feedback ให้กับพนักงาน และใช้ข้อมูลมาพัฒนาต่อ คาดการณ์พฤติกรรมในอนาคตแบบ Real-Time ซึ่งจะช่วยในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรทำได้ง่ายยิ่งขึ้น


และสุดท้าย คุณยูกิได้สรุปหลักคิด “New-Norm Office Afer Covid-19” ไว้ว่า ขอให้ทุกคนคำนึงถึงหลักคิด 3 ข้อในการออกแบบสถานที่ทำงาน ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงการสร้างพื้นที่แคบมีอากาศถ่ายเทน้อย
  2. หลีกเลี่ยงการสร้างพื้นที่แออัดที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และ
  3. หลีกเลี่ยงการมีปฎิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันจนเกินไป

สุดท้ายพนักงานต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศไม่ช้าหรือเร็ว เกิดโจทย์ใหม่ที่ท้าทายมากขึ้น กับอนาคตวงการสถาปนิกและนักออกแบบหลังวิกฤตโควิด-19 การเว้นระยะห่างที่เหมาะสมเพราะผู้คนไม่ได้อยากปฎิสัมพันธ์กันมากเกินความจำเป็น และนอกจากการรักษาสุขอนามัยที่ดีแล้ว คุณภาพการทำงานต้องคงประสิทธิภาพเดิมไว้ให้ได้อย่างไม่มีข้อแม้

หากมองกลับกัน… ในช่วงเวลาที่ยากลำบากยังมีเรื่องดีอยู่บ้าง หลายๆ คนใช้เวลาช่วงนี้ในการเสริมสร้างปฎิสัมพันธ์กับครอบครัว ไม่บ่อยครั้งที่ผู้คนจะได้รับประทานอาหารกันพร้อมหน้าทั้ง 3 มื้อ และนับเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำในช่วงชีวิตหนึ่ง

การมีความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมพลังบวกในตัวคุณ รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อมให้มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยให้คุณมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน 

“New-Norm ของการออกแบบสถานที่ทำงานในโลกยุคใหม่ ที่ไม่ได้คำนึงเพียงเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เพิ่มประเด็นสุขอนามัยเข้ามาสู่การออกแบบด้วยเช่นกัน”

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่