ร้านค้าลูกครึ่ง: การผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์

4302
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • ร้านเสื้อผ้า Multi-Brand Store คือ ร้านเสื้อผ้าที่รวบรวมสินค้าจากหลายๆแบรนด์ มาวางขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของแบรนด์เล็ก ที่มีหน้าร้านอยู่บนออนไลน์ ทำให้แบรนด์เล็กๆที่มีเงินไม่มากสามารถมีหน้าร้านโดยไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องจ้างพนักงาน ไม่ต้องทำการตลาดเอง

ตอนนี้เวลาจะขายของ ใครๆก็มักนึกถึงแต่โลกออนไลน์ก่อน แต่ทว่าอีกด้านหนึ่งก็มีอยู่ธุรกิจหนึ่งครับ ที่สวนทางหันมาเปิดร้านออฟไลน์!

หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า brick and mortar คือเป็นร้านที่เป็นอิฐเป็นปูน โดยธุรกิจนี้เอาส่วนประกอบของโลกออฟไลน์มาผสมผสานกับโลกออนไลน์ได้อย่างน่าสนใจ

ธุรกิจที่ผมอยากจะหยิบยกมาเขียนถึงครั้งนี้คือ ร้านค้าแบบ Multi-Brand Store หรือร้านค้าปลีกที่รวบรวมหลายๆ แบรนด์เสื้อผ้ามาวางขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าของร้านดีไซเนอร์ไทยรุ่นเล็ก ที่มีหน้าร้านออนไลน์อยู่ในอินสตาแกรมหรือในเจเจ

Advertisements

โดย Multi-Brand Store จะทำหน้าที่เหมือน “ห้าง” ย่อมๆ ที่มีพนักงานขายคอยดูแลสินค้าให้ มีการจัดแต่งห้างให้ดูดี มีเซเลบหรือเน็ตไอดอลมาช่วยโปรโมทร้านและสินค้าเพื่อดึงดูดให้คนมาซื้อของ รวมทั้งทำประชาสัมพันธ์ด้วยงานอีเว้นท์หรือการตลาดบนสื่อออนไลน์

ซึ่ง Multi-Brand Store ผมว่าหลายคนอาจจะคุ้นชื่อ เช่น SOS, Matchbox และ CAMP BKK

ความน่าสนใจ มันอยู่ตรงที่ Multi-Brand Store นั้น สร้างสถานการ์แบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (win-win situation) ได้ดีมากครับ 

ประการแรก

ประการแรกคือ สิ่งที่ Multi-Brand Store ทำ สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุด (pain point) ของทั้งฝั่งลูกค้าที่เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า (B) และทางฝั่ง end-user หรือลูกค้าที่มาซื้อเสื้อผ้า (C) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนเพิ่งเริ่มทำงาน (first jobber)

ทั้งนี้ เพราะปัญหาของเจ้าของร้านเสื้อผ้ารุ่นเล็ก คือ มีเงินทุนไม่มากพอที่จะมีหน้าร้าน ตกแต่งร้านอลังๆ จ้างเด็กดูแลร้าน จ้างดาราหรือคนดังมาโปรโมทสินค้าให้ ขณะที่ทางลูกค้าที่มาซื้อเสื้อผ้า ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบซื้อของจากออนไลน์เลยทันที คือยังชอบการมาดูของ มาลองเสื้อผ้าด้วยตัวเอง และอาจไม่มีเวลาไปนั่งดูว่า ร้านไหนที่มีดีไซน์ดีๆ บ้าง

ซึ่ง Multi-Brand Store ก็จะเป็นคนกลางคอยแก้ pain point ของทั้งลูกค้าสองฝั่ง สิ่งที่ลูกค้าแบบ B (Business) ได้ คือ ไม่ต้องมานั่งปวดหัวเรื่องหาคนมาซื้อของ เพราะทาง Multi-Brand Store ก็จะเป็นคนกลางคอยจัดการเรื่องโปรโมทร้านให้ รวมทั้งเรื่องหยุมหยิมที่พ่อค้าแม่ค้าเหนื่อยมากคือ การดูแลเด็กหรือพนักงานในร้าน

ส่วนทางลูกค้าแบบ C (Customer) ก็ชีวิตง่ายขึ้น เพราะ Multi-Brand Store แต่ละแห่งจะมีธีมแตกต่างกัน บางที่เน้นเสื้อผ้าสไตล์บูติก (Boutique) บางที่เน้นสไตล์แคสชวล (casual) หรือสตรีท (street) ซึ่งก็จะเหมือนคัดเลือกหรือสกรีนเสื้อผ้าสไตล์นั้นๆ มาให้แล้ว คนมาซื้ออยากได้สไตล์ไหน ก็มาเดินดูได้เลย ไม่ต้องไปค้นหาเองในโลกออนไลน์ แถมยังได้มาเดินดูเสื้อผ้าจริงๆ อีกด้วย

Advertisements

ประการที่สอง

ประการที่สอง คือ ช่องทางรายได้ของธุรกิจ Multi-Brand Store นั้น ก็คล้ายกับห้างครับ นอกจากค่าเช่าแล้ว ยังได้ค่าหัวคิวและเงินสดมาใช้ก่อน กล่าวคือ ร้านค้าที่จะมาซื้อราวหรือชั้นวางใน Multi-Brand Store นั้น จะต้องวางเงินมัดจำก่อน ทำให้ Multi-Brand Store มีเงินไปลงทุนในช่วงต้น ส่วนเวลาขายสินค้าได้แล้ว Multi-Brand Store ก็จะได้เงินสดมาหมุนใช้ได้ก่อน แถมยังได้เงินจากการหักหัวคิวหรือ GP จากสินค้าที่ขายได้อีกด้วย 

ส่วนการจ้างเซเลปหรือเน็ตไอดอลนั้น ทาง Multi-Brand Store ก็มักจะใช้วิธีการดึงเซเลปมาเป็นหุ้นส่วน ดังนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องควักเงินจ้างในทันที

กลยุทธ์ที่อาจจะดูไม่ได้ซับซ้อนนี้ แต่ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้ทุกฝ่าย เพราะนอกจาก Multi-Brand Store จะสร้างรายได้ให้ตัวเองแล้ว มันยังช่วยให้แบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ ที่ลำพังคงไม่มีเงินโปรโมทร้าน หรือจ้างเซเลบ สามารถทำแบบนี้ได้ แถมตัว Multi-Brand Store ก็ยังไม่ต้องใช้เงินเยอะในการจ้างคนดังอีกด้วย 

ผมมีคนรู้จักคนหนึ่ง ก็มีสินค้าวางขายที่ Multi-Brand Store แห่งหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังว่า ยอดขายจาก Multi-Brand Store สูงมากพอๆ กับหน้าร้านเล็กๆ ของตัวเอง บางเดือนยอดขายสูงกว่าก็มี

เธอเล่าว่า Multi-Brand Store เหมือนยกปัญหาเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่เธอไม่ค่อยชำนาญออกไปจัดการให้ ทำให้เธอสามารถโฟกัสไปที่การพัฒนาหรือดีไซน์สินค้าได้เต็มที่ โดยไม่ต้องมาพะวงเรื่องหาลูกค้าหรือปวดหัวเรื่องการดูแลจัดการร้าน ซึ่งเป็นจุดอ่อนส่วนใหญ่ของร้านเล็กๆ 

โดยทั้งนี้ทั้งนั้น กุญแจสำคัญที่ทำให้แบรนด์เล็กๆ ตัดสินใจกล้าร่วมมือกับ Multi-Brand Store ก็คือ เชื่อมือคนที่ทำ ว่าสามารถทำการตลาดดึงคนเข้าร้านได้จริง

Multi-Brand Store ในประเทศไทยเหล่านี้เป็นตัวอย่าง ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ไว้ และเป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจสำหรับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนเร็วแบบทุกวันนี้

อย่างที่ว่าครับ ถ้าคนเราช่างคิด ทุกอย่างไม่มีทางตันจริงๆ 

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่