PODCASTMISSION TO THE MOONก้าวสู่การเป็นราชการอิเล็กทรอนิกส์ มีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง

ก้าวสู่การเป็นราชการอิเล็กทรอนิกส์ มีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง

เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตปกติทั่วไป ไปจนถึงการทำงาน หรืออย่างในช่วงที่ผ่านมาเราก็ได้ยินคำว่า Digital Transformation กันอยู่บ่อยครั้ง เพราะหลายองค์กรเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการทำงานมากขึ้น หรือแม้แต่ “ภาครัฐ” เอง ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่เข้ามาใช้บริการด้วยเช่นกัน

ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักอีกด้านของความพยายามในการก้าวเข้าสู่การเป็นราชการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ รวมถึงพาไปสำรวจพร้อมๆ กันว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีความท้าทายอย่างไร ประชาชนและภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ผ่านสรุปบทสัมภาษณ์กับคุณอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

ความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีต่อภาครัฐ

เมื่อพูดถึงคำว่า “ระบบราชการ” ก็ต้องบอกว่าเป็นคำที่ค่อนข้างกว้างและใหญ่มาก จึงทำให้มีหน่วยงานที่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานแล้ว เช่น การที่ประชาชนสามารถจ่ายภาษีผ่านระบบออนไลน์ของกรมสรรพากรได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีบางหน่วยงานที่เพิ่งเริ่มพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี

ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีถือว่ามีความสำคัญในการพัฒนาระบบราชการมาก ซึ่งไม่ใช่สำคัญเฉพาะในเรื่องของการทำงานของข้าราชการ แต่ยังสำคัญต่อเรื่องการตอบสนองความต้องการของประชาชนอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติราชการ

สำนักงาน ก.พ.ร. มีหน้าที่ทำให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตามหลักที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาล” และการทำรัฐบาลดิจิทัล หรือ Digital Government นั้นคือโซลูชันสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของหลักการตอบสนองความต้องการของประชาชน เรื่องการบริหาร เรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีขึ้น เรื่องความโปร่งใส รวมถึงเรื่องความรับผิดชอบด้วย

สิ่งเหล่านี้จะประกอบรวมกันและสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบราชการ รวมถึงข้าราชการเองก็มีความปลอดภัยในการทำงานบนระบบดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย

เพราะถ้าพูดถึง “ราชการ” เมื่อก่อนหลายคนคงจะทราบกันดีว่าราชการทำงานด้วยกระดาษเป็นหลัก ทำให้มีข้อมูลซ้ำซ้อน ซึ่งความซ้ำซ้อนของข้อมูลนี้ทำให้ปัญหาไปตกอยู่ที่ประชาชนในเรื่องความไม่สะดวก และตกอยู่ที่ตัวข้าราชการเอง ที่ไม่สามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้โดยง่าย

นี่จึงเป็นเรื่องที่สำนักงาน ก.พ.ร. พยายามขับเคลื่อนกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลมาอยู่ที่เดียวกันและสามารถใช้ร่วมกันได้

Digital Transformation ในภาครัฐไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

การทำ Digital Transformation นั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากภาครัฐมีหน่วยงานกว่า 9,000 หน่วยงาน อีกทั้งยังมีข้าราชการเกือบ 3 ล้านคน แต่หลายหน่วยงานมีความตั้งใจสูงในการพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ อย่างสำนักงาน ก.พ.ร. เอง ก็มีการทำระบบหนึ่งที่ชื่อว่า Biz Portal ขึ้นมา โดยมีเป้าประสงค์เพื่อที่จะให้ธุรกิจต่างๆ สามารถขอใบอนุญาตครบจบในที่เดียวผ่านระบบออนไลน์

แต่สาเหตุที่เมื่อก่อนยังไม่สำเร็จนั้นเป็นเพราะว่า แต่ละหน่วยงานมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีไม่เท่ากัน เมื่อหน่วยงานหนึ่งพร้อม แต่อีกหน่วยงานหนึ่งไม่พร้อม เช่น อาจจะติดเรื่องกฎหมายหรือกฎระเบียบ จึงทำ Digital Transformation ลำบาก

แต่เมื่อโควิด-19 เข้ามา จึงเป็นเหมือนวิกฤตที่เป็นโอกาส เพราะวิกฤตการณ์นี้ได้เข้ามาเป็นจุดพลิกผันมายด์เซ็ตของข้าราชการให้หันมายอมรับเรื่อง Digital Transformation มากขึ้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำเอาโอกาสนี้มาเป็นตัวขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานเริ่มทำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)

Advertisements

ทุกฝ่ายต้องร่วมมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

การขับเคลื่อนการทำ Digital Transformation ไม่สามารถทำได้ด้วยแค่สำนักงาน ก.พ.ร. เพียงหน่วยงานเดียว ต้องมีหลายๆ ฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น..

1) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA : ทำหน้าที่ดูแลในเชิงเทคนิค
2) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA : ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยและธุรกรรมต่างๆ
3) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES : ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
4) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา : ทำหน้าที่ในการออก พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มารองรับ
5) สำนักงาน ก.พ.ร. : ทำหน้าที่ดูแลในเชิงของบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ว่าหน่วยงานไหนสามารถปรับเรื่องใดเป็นดิจิทัลได้บ้าง

เมื่อมีกระบวนการ Digital Transformation เกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังให้เกิดขึ้นคือ ภาครัฐมี One Stop Service ที่เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงงานบริการของทุกหน่วยงานภาครัฐที่ตอบโจทย์ประชาชนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่องมารวมไว้ที่เดียว และเพิ่มจำนวนบริการให้ครอบคลุมตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยชรา เช่น เรื่องการตรวจสอบข้อมูล สิทธิ หรือบริการอื่นๆ ก็ใช้ Citizen Portal ผ่าน Application ทางรัฐ ส่วนเรื่องธุรกิจต้องใช้ Biz Portal ผ่าน bizportal.go.th รวมถึงประชาชนติดต่อภาครัฐโดยใช้ One Stop Service ที่ไม่ต้องเดินทางไปแต่ละหน่วยงาน สิ่งนี้คือความคาดหวังที่อยากให้เกิดภายในปี 2030

และที่สำคัญคืออยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น การให้ความคิดเห็นหรือการร้องเรียน ที่จะทำให้มีการปฏิสัมพันธ์กัน และทำให้ภาครัฐสามารถพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น

“กฎหมาย” ตัวการสำคัญในการปลดล็อกการเปลี่ยนแปลง

เมื่อพูดถึง “ราชการ” หลายคนอาจจะนึกถึงความไม่สะดวกหรือความล่าช้า ส่วนหนึ่งเราคิดกันว่ามาจากมายด์เซ็ตการทำงานของข้าราชการ แต่จริงๆ แล้วถ้าเรามองลงไปลึกกว่านั้น ก็จะเห็นว่ามายด์เซ็ตเหล่านี้มาจากพฤติกรรมที่ข้าราชการทำมาซ้ำๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถูกหลอมรวมมาจากกฎระเบียบต่างๆ เช่น เมื่อพูดถึง Digital Transformation บางคนจะบอกว่าเปลี่ยนไม่ได้ เพราะมีกฎระเบียบหลายอย่างตีกรอบครอบไว้อยู่

หรือบางคนกลัวว่าหากทำอะไรที่นอกเหนือกฎระเบียบแล้ว กลัวจะถูกตรวจสอบหรือกลัวทำอะไรผิดไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในภาครัฐ เช่นเดียวกันกับเรื่อง Digital Transformation ที่ในอดีตไม่มีกฎหมายรองรับ หลายคนจึงไม่กล้าทำอะไรนอกเหนือกฎระเบียบ ดังนั้นจึงเกิดพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ภายใต้คอนเซปต์ “ราชการอิเล็กทรอนิกส์” นี้ขึ้นมา เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบทั้งหมดที่ขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาครัฐ

พ.ร.บ. ฉบับนี้เปิดโอกาสให้ข้าราชการใช้ดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อกับภาครัฐหรือทำธุรกรรมกับภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลได้ เพราะกฎหมายนี้ร่างขึ้นมาโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก

ส่วนประโยชน์ที่ข้าราชการจะได้รับในฐานะเจ้าหน้าที่คือ การทำงานที่สะดวกขึ้น รวมทั้งยังสามารถรองรับคนทำงานรุ่นถัดๆ ไปด้วย เพราะคนรุ่นใหม่ต่างก็ใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลกันทั้งนั้น

ความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง

เนื่องจากภาครัฐต้องทำงานบนหลักธรรมาภิบาล ดังนั้นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และ Digital Government ก็ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดีที่จะแสดงให้ประชาชนเห็น เพราะเป็นสิ่งที่สร้างทั้งความสะดวก ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็จะทำให้ประชาชนไว้วางใจในการติดต่อกับภาครัฐมากขึ้น

และที่สำคัญคือ หากภาครัฐสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลได้แล้ว ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะนำเอาสิ่งนี้มาเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำเอาไปปรับปรุงและพัฒนาการทำงานของภาครัฐกันต่อไป

แม้ว่าหลายคนจะติดภาพว่า “ราชการ” นั้นเต็มไปด้วยความไม่สะดวกสบายและไม่ทันสมัย แต่ในปัจจุบันภาครัฐมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ถือว่ามีความท้าทายพอสมควร แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อทั้งตัวประชาชนและภาครัฐเอง

ฟังบทสัมภาษณ์คุณอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เต็มๆ ได้ที่ : https://bitly.ws/TDsk

Mission To The Moon X สำนักงาน ก.พ.ร.

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า