MARKETINGตั้งตรงไหนก็ขายได้! ส่องธุรกิจ “ตู้กดสินค้าอัตโนมัติ” กับโอกาสใหม่ในตลาดปัจจุบัน

ตั้งตรงไหนก็ขายได้! ส่องธุรกิจ “ตู้กดสินค้าอัตโนมัติ” กับโอกาสใหม่ในตลาดปัจจุบัน

ใครจะคาดคิดกันว่า ปัจจุบัน ‘Vending Machine’ หรือตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ จะขายตั้งแต่กาแฟ ขนมห่อ เครื่องดื่มชงร้อน ไปยันรองเท้าแตะ ชุดชั้นในและแผ่นเพลง แถมตู้เหล่านี้ยังเจอได้ตั้งแต่ละแวกแถวบ้าน แหล่งชุมชน รวมไปถึงปั๊มน้ำมันต่างๆ

จะเห็นว่า ตู้จำหน่ายสินค้านั้นมีมานานแล้ว และดูเหมือนธุรกิจนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ผู้บริหารระดับสูงของ Vending Plus ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Sabuy Technology ที่ให้บริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ได้บอกว่า พวกเขาเห็นถึงโอกาสเติบโตขนาดยักษ์ของธุรกิจประเภทนี้ จากสถิตินี้ ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 160 ล้านคน และมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจำนวน 2.5 ล้านเครื่องทั่วประเทศ 

ด้วยความนิยมของธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัตินี้ ปี 2020 นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์มูลค่าในตลาดโลกไว้ที่ 1.344 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2027 มูลค่าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.466 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อ้างอิงจาก Yahoo Finance ปี 2021) ส่วนธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทยนั้น สถิติจากเว็บไซต์ Bangkokpost ปี 2021 ได้เผยจากการคาดการณ์ไว้ว่า ธุรกิจนี้อาจสร้างมูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี

โดยเมื่อปี 2018 ได้มีข้อมูลออกมาว่า ประเทศไทยที่มีประชากร 67 ล้านคน แต่ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมีแค่ 25,000 เครื่อง และใช้งานได้เพียงบางเครื่องเท่านั้น ช่องว่างของธุรกิจนี้จึงเป็นโอกาสอันดีของหลายบริษัทที่สนใจเพิ่มช่องทางการขายสินค้าตน 

แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติ จนทำให้มูลค่าตลาดเติบโต และเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการทำธุรกิจนี้ในประเทศไทย?

การซื้อของแบบลดการสัมผัส

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามา ระดับสุขอนามัยของเราก็เพิ่มสูงขึ้นจนเราเริ่มไตร่ตรองหาวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่นได้มากที่สุด และการซื้อของโดยที่พนักงานขายไม่ต้องจับก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนพยายามทำ

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ตอบโจทย์ความกังวลนี้ เพราะตัวเครื่องอยู่ในตู้เหล็กที่ไม่มีการสัมผัสการมนุษย์และอากาศภายนอก ทำให้หลายคนสะดวกใจที่จะซื้อของผ่านช่องทางนี้มากกว่า

คนนิยมจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากคนพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสแล้ว ในสมัยนี้คนมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยพกเงินสดอีกด้วย เมื่อหลายบริษัทเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินอื่นๆ ให้ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น การสแกนจ่าย QR code, ระบบ e-wallet, แอปฯ WeChat, Alipay และ PromptPay (อ้างอิงจาก Bangkokpost ปี 2021) คนจึงอยากซื้อสินค้าผ่านตู้มากขึ้น

ตู้ที่มอบความสะดวกสบายได้ตลอดเวลา

หลายๆ คอนโดหรือแหล่งที่พักอาศัยบางแห่งไม่ได้มีร้านสะดวกซื้ออยู่ในตัวอาคาร ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงจึงเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการนี้ แม้ผู้พักอาศัยจะหิวตอนดึก หรือไม่อยากวุ่นวายกับคนจำนวนมากที่ไปซื้อของช่วงพักกลางวัน พวกเขาก็สามารถกดซื้อของจากตู้ได้สะดวกรวดเร็วกว่าจะต้องเดินไปร้านค้า

นอกจากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ธุรกิจประเภทนี้ยังเป็น ‘เครื่องมือทางการตลาดที่ดี’ ของบริษัทอีกด้วย

‘บริษัทนันยาง’ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรองเท้าแตะภายใต้แบรนด์ช้างดาวเองก็ใช้ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นหนึ่งในการทำตลาดของบริษัทเช่นกัน บริษัทได้ออกมาบอกว่า แม้ธุรกิจประเภทนี้จะไม่สามารถตอบโจทย์การขายสินค้าได้ทุกรูปแบบ แต่ช่องทางนี้ก็ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

โดยเผยว่า พวกเขาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า บริษัทจะสามารถขายรองเท้าแตะผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ได้ถึงสัปดาห์ละ 100 คู่ต่อตู้ เพราะรองเท้าแตะก็ไม่ใช่สินค้าจำเป็นเทียบเท่าอาหารหรือเครื่องดื่มด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ บริษัทยังมองเห็นช่องทางอื่นๆ ที่จะเพิ่มยอดขายให้บริษัทผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัตินี้ เช่น การจำหน่ายรองเท้านักเรียนเพิ่มในเครื่อง หรือปรับให้ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นจุดรับสินค้าหลังซื้อผ่านช่องทางออนไลน์


ตัวอย่างบริษัทไทยที่ใช้ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ

ในประเทศไทยเองมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่คนส่วนมากคุ้นเคยอยู่หลายประเภท โดยอาจจัดแบ่งได้ ดังนี้

– ตู้รวมสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ เช่น ‘CP Retailink’ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์, ‘ซันร้อยแปด’ จากเครือสหพัฒน์ และ ‘6.11’ จาก Sabuy Technology ที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกับสินค้าในร้านสะดวกซื้อ
– ตู้เครื่องดื่มจากแบรนด์เครื่องดื่ม เช่น ‘TG Vending’ โดย TCP Group และตู้จากบริษัทโอสถสภา
– ตู้จำหน่ายสินค้าเฉพาะประเภทหรือแบรนด์ เช่น Kewpie (จำหน่ายสลัดและน้ำสลัด), Naraya (จำหน่ายกระเป๋า), Sabina (จำหน่ายชุดชั้นในและมาสก์), นันยาง (จำหน่ายรองเท้าแตะ) และ GMM Grammy (จำหน่ายแผ่นเพลง)
– ตู้ที่มีการปรุงหรือชง เช่น ‘เต่าบิน’ เครื่องชงกาแฟและเครื่องดื่มอัจฉริยะจากบริษัท Forth 

ถ้าหากผู้ประกอบการต่างๆ สนใจทำตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ควรเริ่มต้นอย่างไร?

จุดเด่นของธุรกิจประเภทนี้คือ ‘ความง่ายและสะดวกสบาย’ ไม่ต้องใช้การลงทุนมากเท่าการเปิดร้านขายสินค้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าที่และค่าจ้างพนักงานชำระสินค้า และยังเป็นการเพิ่มการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ที่ดีวิธีหนึ่ง ซึ่งหากจะลงทุนในธุรกิจนี้ แบรนด์สามารถตัดสินใจและหาข้อมูลก่อนจะเริ่มทำธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้า ผ่าน 4 ขั้นตอนเหล่านี้

1. หากลุ่มลูกค้าเพื่อเลือกสินค้าให้เหมาะสม

เราต้องหากลุ่มผู้บริโภคของเราก่อน เพื่อกำหนดประเภทสินค้าหรือรูปแบบตู้ที่เหมาะสม เช่น ถ้าเราเลือกกลุ่มลูกค้าที่ต้องอยู่หรือทำงานในบริเวณนั้นนานๆ เช่น ออฟฟิศ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หรือคอนโด ก็ควรจะเป็นอาหารที่หนักท้องและตู้มีบริการอุ่นอาหารในตัว 

หรือกลุ่มเป้าหมายเราคือ นักท่องเที่ยวตามสนามบิน จุดพักทางด่วนหรือที่สถานีรถไฟ เราก็ควรจะเลือกสินค้าประเภทยาและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น และค่อนข้างสร้างมูลค่าให้ธุรกิจประเภทนี้ได้ดี

2. เลือกตำแหน่งวางเครื่องให้เหมาะสม
หลังเลือกประเภทของสินค้าได้แล้ว เราจะต้องคำนึงถึงตำแหน่งที่จะติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้า ทั้งโอกาสที่ลูกค้าจะเข้าถึงตู้ รวมถึงความสะดวกที่พนักงานจะเข้าไปเติมสินค้าหรือซ่อมบำรุงตู้ด้วย 

สิ่งที่ควรคำนึงเพิ่มเติมคือ การตั้งตู้จำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ มีโอกาสที่ตู้เหล่านี้จะถูกปล้นหรือทำลายมากขึ้น ดังนั้น เราควรเลือกสถานที่ที่เราสามารถตรวจสอบการทำงานและสภาพตู้ได้เป็นประจำ เพราะหากตู้เสียนั่นหมายถึงเราเสียโอกาสและรายได้จากธุรกิจนี้ไปด้วย

3. เลือกประเภทของตู้จำหน่ายสินค้า

Advertisements

โดยทั่วไป ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบ่งออกเป็น 3 ประเภท เริ่มจาก ‘ตู้จำหน่ายสินค้าแบบ Bulk’ เช่น ตู้จำหน่ายกล่องทิชชูหรือผ้าอนามัยในห้องน้ำ และตู้ที่พบเห็นทั่วไปจะเป็น ‘ตู้จำหน่ายสินค้าแบบ Mechanical’ ซึ่งเป็นตู้ที่มีปุ่มกดเพื่อเลือกสินค้าที่ต้องการ  และสุดท้ายคือ ‘ตู้จำหน่ายสินค้าแบบ Electronic’ ซึ่งมีราคาแพงกว่าสองแบบแรกเนื่องจากเป็นหน้าจอระบบสัมผัส และรองรับการจ่ายเงินด้วยบัตรเดบิตหรือเครดิตได้

เราจะต้องคำนึงถึงประเภทของตู้ให้เข้ากับสถานที่เราไปติดตั้ง เช่น การติดตั้งตู้แบบ Electronic ควรอยู่ในจุดที่คนไม่ค่อยใช้เงินสด เพื่อให้เราไม่เสียเงินไปกับฟีเจอร์นี้โดยเปล่าประโยชน์ หรือเพิ่มระบบรองรับ E-Payment ให้ตู้แบบ Mechanical เพื่อให้ตอบโจทย์กระแสไร้เงินสดในไทย 

4. วางแผนสต็อกสินค้า

Advertisements

หากเราเลือกซื้อแค่ตู้จำหน่ายมาอย่างเดียว เราจะต้องคอยหาสินค้าเข้าไปเติมเอง ดังนั้นเราจะต้องหาร้านค้าขายส่งเพื่อซื้อสินค้าไปเติมและควรมีราคาถูกเพื่อสร้างกำไร หรือเลือกซื้อตู้กับบริษัทที่มีบริการเติมสินค้า ก็ช่วยประหยัดเวลาและขั้นตอนเราไปได้มาก

ในอนาคต ธุรกิจประเภทนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า การแข่งขันก็จะมากขึ้น เช่น ตู้เซเว่นและซันร้อยแปดที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน เรื่องราคาสินค้าและตำแหน่งที่ติดตั้งจึงสำคัญอย่างมาก 

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่จะเริ่มเจาะตลาดด้วยสินค้าที่ผลิตเองมากขึ้น ดังนั้น การจะลงทุนธุรกิจประเภทนี้จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทั้งกลุ่มผู้บริโภค ตำแหน่งการวางและประเภทสินค้าให้เหมาะสม ธุรกิจประเภทนี้จึงจะประสบความสำเร็จได้

 

อ้างอิงจาก

https://bit.ly/3h7GAan
https://bit.ly/3BGQ9GI
https://bit.ly/3LXCdx4
https://yhoo.it/3I9efwi


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#marketing

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า