อะไรคือเหตุผลให้ตัดสินใจเปลี่ยนงาน?
เชื่อว่าคำตอบของแต่ละคนคงแตกต่างกันออกไป บางคนอาจเบื่อกับรูปแบบการทำงานเดิมๆ บางคนอาจมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือไม่ลงรอยกับหัวหน้า บางคนอาจถูกบีบให้ออกจากที่เก่าจนต้องหางานใหม่ หรือบางคนอาจได้รับข้อเสนอดีๆ ที่ให้ความก้าวหน้ามากกว่า จึงเป็นปัจจัยสำคัญให้ตัดสินใจย้ายงาน
ยิ่งในช่วงหลายปีมานี้ เราจะพบว่ามีทั้งทักษะและอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตมากมาย หากยิ่งเริ่มขยับ ปรับตัว และคว้าโอกาสเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็คงได้เปรียบไม่น้อย ทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้น ได้พัฒนาตัวเอง เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ และโอกาสดีๆ ในเส้นทางอาชีพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
เมื่อพูดถึง “การย้ายงาน” หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องปกติในกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเด็กจบใหม่ เพราะนับว่าเป็นช่วดดงเวลาเรียนรู้และค้นหาตัวเองว่าอะไรคืองานที่ใช่และสังคมที่ชอบ รวมถึงสะสมประสบการณ์ดีๆ เพื่อนำไปต่อยอด แต่หากเป็นการย้ายงานของ “Mid-Career” ที่มีประสบการณ์ทำงานมาสักระยะแล้ว หรือมีตำแหน่งสูงๆ อาจเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายพอสมควร ไหนจะต้องเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ รูปแบบการทำงานที่ต่างไปจากเดิม รวมถึงภาระทางการเงินหรือครอบครัวที่ต้องแบกไว้ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มักจะกังวลและกดดันไม่น้อย เมื่อต้องเริ่มต้นอะไรใหม่อีกครั้ง
แล้วถ้าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนงานในช่วง Mid-Career แบบนี้… จะออกจาก Comfort Zone ที่อยู่มานาน เพื่อปรับตัวและรับมือกับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งให้ราบรื่นได้อย่างไร?
หากใครกำลังกังวลอยู่ก็อย่าเพิ่งถอดใจไป บทความนี้ได้ สรุปเรื่องที่ควรทำในการย้ายงานให้ราบรื่นสำหรับ Mid-Career จากบทความของ Harvard Business Review เรื่อง “Starting a New Job as a Mid-Career Professional” มาฝากกัน!
Small Win : The First 90 Days #3เดือนแรกนั้นสำคัญไฉน?
ก่อนจะไปเรียนรู้เรื่องที่ควรทำทั้ง 5 ข้อ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า 3 เดือนแรกของการทำงานสำคัญมากๆ ไม่ใช่แค่ตัดสินว่าผ่านโปรหรือเหมาะกับงานหรือไม่เท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงที่เพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายจะมีภาพจำเกี่ยวกับนิสัยและลักษณะการทำงานของเราไปตลอด พูดง่ายๆ ก็คือเป็น “ความประทับใจครั้งแรก” (First Impression) และยิ่งคนเราตัดสินใจเชื่อไปแล้วว่าใครเป็นอย่างไร ก็ยิ่งยากที่จะเปลี่ยนความคิดนั้นๆ ทำให้ต้องแสดงศักยภาพและความจริงใจให้คนอื่นเห็นให้ได้
เมื่อเข้าใจถึงความสำคัญในช่วง 3 เดือนแรกกันแล้ว มาติดตามกันว่ามีเรื่องอะไรที่ควรทำและใส่ใจเป็นพิเศษบ้าง!
5สิ่งที่ช่วยให้ย้ายงานได้อย่างราบรื่น
1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
“การสร้างความสัมพันธ์” เป็นสิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญ เพราะคนที่มีชั่วโมงทำงานนานๆ ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าความสำเร็จเกิดจากตัวเองเพียงคนเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จนั้นเกี่ยวข้องกับผู้อื่นด้วย ซึ่งกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี คือ “ความเชื่อใจ” โดยการสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมี 2 แนวทางหลักๆ คือ
1) ตั้งคำถามและเรียนรู้ให้เหมือน “เด็กใหม่” (Newbie) เช่น ทำความเข้าใจหน้าที่ของแต่ละคนในทีม หรือคอยสังเกตว่าอะไรที่สามารถช่วยคนอื่นได้บ้าง จะช่วยทำให้เพื่อนร่วมงานเปิดใจและเห็นถึงความใส่ใจของเรา
2) เคารพวัฒนธรรมองค์กรและรูปแบบการทำงานของที่ปัจจุบัน และพยายามหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับที่เก่า เพราะแต่ละที่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้
2. ทำความเข้าใจองค์กรให้ลึกซึ้ง
แน่นอนว่าเมื่อเริ่มทำงานที่ใหม่ เราจะยังไม่รู้จักบริษัทดีเท่าที่ควร แม้ว่าจะศึกษามาบ้างแล้วก็ตาม ดังนั้น เราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งเป้าหมายในอีก 5-10 ปีของบริษัท ภาพรวมของสินค้าเป็นอย่างไร? จุดเด่นและจุดด้อยคืออะไร? โดยสามารถเรียนรู้และเก็บข้อมูลได้ทั้งจากการทดลองใช้สินค้าและบริการของบริษัทด้วยตัวเอง และจาก Feedback ของลูกค้า
นอกจากนี้ ในด้านการทำงานก็เช่นกัน เราควรเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร เช่น เรียนรู้วิธีการสื่อสารในที่ทำงานว่าสื่อสารผ่านอีเมล แชท หรือโทรศัพท์ มีลำดับขั้นในการทำงาน (Hierarchical) หรือไม่
3. เข้าใจว่าคนอื่นคาดหวังกับตำแหน่งเราอย่างไร
ในขณะที่ค่อยๆ สานความสัมพันธ์กับคนอื่นและทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทไปด้วยนั้น เราอาจลองสอบถามเพื่อนร่วมงานว่ามีความคาดหวังกับตำแหน่งและหน้าที่ของเราอย่างไรบ้าง เช่น อยากให้ปรับกระบวนการทำงานให้เร็วขึ้นไหม หรืออยากให้พัฒนาอะไรใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อไป อีกทั้ง Stakeholders แต่ละคนก็มีความคาดหวังที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
4. เรียนรู้การประสานงานกับทีมอื่น
การทำงานจะต้องมีการติดต่อประสานงานกับทีมอื่นๆ เป็นปกติอยู่แล้ว เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และไม่ติดขัด เราจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจว่าการประสานงานแต่ละแผนกมี Cross Functional Workflow อย่างไร ต้องรับ-ส่งข้อมูลกับใครโดยตรง หรืออุปสรรคในการทำงานร่วมกันมีอะไรบ้าง โดยอาจเริ่มต้นด้วยการสอบถามผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้โดยตรง แล้วหลังจากนั้นก็มาเขียน Workflow การทำงานของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงการประสานงานหรือการสื่อสารที่ผิดพลาด
5. ให้เวลากับตัวเอง
การออกจาก Comfort Zone เป็นสิ่งที่ยากสำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่ทำงานที่เดิมมานานๆ แต่เชื่อเถอะว่าการก้าวออกมาไม่ได้ยากและน่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแค่ช่วงแรกๆ อาจต้องให้เวลากับตัวเองและอดทนสักระยะก่อน ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบถอดใจกับความท้าทายในครั้งนี้ เพราะแต่ละที่ย่อมมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป หากผ่านไปได้ก็จะพบกับความก้าวหน้าและประสบการณ์ดีๆ ที่รออยู่ และสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการเติบโตของชีวิตและหน้าที่การงานของเรา
แม้ว่าการเปลี่ยนงานสำหรับ Mid-Career ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องยากเสียทีเดียว หากใครมีโอกาสได้ย้ายงาน ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กันดู และหากเราทำได้ดีล่ะก็ ยิ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเองและองค์กรเลยทีเดียว
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
– 6 Signs It’s Time to Leave Your Job: 6 สัญญาณเตือนเมื่อถึงเวลาต้อง “ลาออก”: https://bit.ly/3vOa84U
– สับสนกับงานที่ทำใช่ไหม? ลองตั้งคำถามและหาคำตอบ เพื่อตรวจสอบ ‘งานที่ใช่’ ด้วยการทำความเข้าใจตัวเองกัน: https://bit.ly/37jru0l
อ้างอิง:
– https://bit.ly/386NKef
– https://bit.ly/3w9f9UZ
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#reskill
#softskills