METAVERSEศาสนาจะเปลี่ยนไปอย่างไรในโลก Metaverse : ซึ้งในรสพระธรรมกว่าเคย? ชวนคุยเรื่อง 'ศาสนา' กับ Metaverse

ศาสนาจะเปลี่ยนไปอย่างไรในโลก Metaverse : ซึ้งในรสพระธรรมกว่าเคย? ชวนคุยเรื่อง ‘ศาสนา’ กับ Metaverse

‘เราจะสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจินตนาการได้’ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับ Metaverse โลกเสมือนจริงใบใหม่ในอนาคตไว้ ตั้งแต่ที่วิดีโอเปิดตัวจาก Meta ถูกปล่อยออกมาในปลายเดือนตุลาคมปีก่อน โลกอินเทอร์เน็ตต่างก็พูดถึงแต่คำคำนี้

มีการคาดการณ์มากมายว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร และมนุษย์จะสามารถจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้างเมื่อโลก Metaverse มาถึง ส่วนมากจะเป็นด้านการทำงาน สังสรรค์ ชอปปิง ดูคอนเสิร์ต และเล่นเกม ทุกคนต่างตื่นเต้นและต่างจินตนาการถึงโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยมิติแห่งความสนุกและไร้พรมแดน เฉกเช่นโลกในภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One

แต่กิจกรรมที่คนไม่ค่อยนึกถึงอย่าง ‘การเข้าวัด’ ล่ะ จะมีพื้นที่ในโลกเสมือนจริงกับเขาบ้างไหม?

รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วกิจกรรมทางศาสนาบนโลกเสมือนจริงนั้นมีมานานหลายปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีสมาชิกมากขึ้นทุกๆ ปีด้วย! แต่ว่าเรื่องที่ตรงกันข้ามกันอย่าง ‘ความเชื่อ’ และ ‘วิทยาศาสตร์’ จะมีอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้อย่างไร? และในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ศาสนาจะเลือนหายไปไหม? หรือว่าต้อง ‘ปรับตัว’ เข้ากับยุคใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้เข้มแข็งกว่าเดิม?

ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับคริสตจักรเสมือนจริงชื่อ ‘VR Church’ ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในต่างประเทศ เรียนรู้สารพัดประโยชน์ของโบสถ์ออนไลน์ที่เราอาจไม่เคยคิด และย้อนส่องวิวัฒนาการของศาสนายุคใหม่ในไทยและความเป็นไปได้ในอนาคต

ศาสนากับโลก metaverse
ศาสนากับโลก metaverse

ซาบซึ้งในคำสอนกว่าเคยผ่านโบสถ์ในโลกเสมือนจริง

VR Church คือหนึ่งในสถานที่รวมตัวกันทางศาสนาบนโลกเสมือนจริง ก่อตั้งโดยบาทหลวงชื่อดีเจโซโต ชาวอเมริกัน ในปี 2016 โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งมา VR Church เติบโตขึ้นทุกๆ ปีโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนออกไปไหนไม่ได้ เช่นเดียวกับ สถานที่รวมตัวกันด้านศาสนาเจ้าอื่นๆ ในโลก Metaverse ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ขนาดและความนิยม

“เรามีทุกอย่างเหมือนที่โบสถ์ในโลกจริงๆ มี” ดีเจโซโตบาทหลวงผู้ก่อตั้ง VR Church อธิบาย กิจกรรมในโบสถ์เสมือนนั้นมีตั้งแต่การร่วมสวดมนตร​์ ไปจนถึงการทำพิธีศีลจุ่ม

ในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้ง VR Church มีผู้เข้าร่วมไม่มากนัก ณ ตอนนั้นผู้เข้าร่วมนั้นมีทั้งผู้ที่ ‘เชื่อในศาสนา’ และผู้ที่ ‘ไม่เชื่อ’ เช่น กลุ่มอเทวนิยม (Atheists หรือคนที่ไม่นับถือศาสนา) และ กลุ่มอไญยนิยม (Agnostics หรือคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า) เข้าร่วมด้วย พวกเขาเหล่านี้มาเพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องความเชื่อ หลังจากนั้นจำนวนผู้ศรัทธาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นหลักร้อย จนดีเจโซโตได้รวบรวมพระผู้สอนคนอื่นๆ ในรัฐมาเพิ่ม อีกทั้งยังมีการทำพิธีล้างบาป ต้อนรับสมาชิกใหม่ๆ ที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้

แกร์เร็ต เบอร์นัล คือหนึ่งในผู้เข้าร่วม VR Church ที่หันมาเข้าร่วมเพราะสถานการณ์โรคระบาดทำให้เขาไม่สามารถเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ได้เช่นเดิม การพึ่งพาคริสตจักรเสมือนจึงกลายมาเป็นทางออก เมื่อแกร์เร็ตสวมแว่นตา VR จากห้องนั่งเล่นธรรมดาในบ้านของเขาก็กลายเป็นทุ่งกว้างที่มีผาหินและแม่น้ำ มีเส้นทางแห่งการเดินตามคำสอนตามพระคัมภีร์ไบเบิล ที่น่าสนใจคือท่อนต่างๆ จะมีภาพประกอบ 3 มิติฉายอยู่เบื้องหลัง ตัวอย่างเช่น ใน มัทธิว 2:1 ที่ได้พูดถึงการประสูติของพระเยซู ภาพประกอบเบื้องหลังก็จะเป็นภาพ 3 มิติของโยเซฟ พระแม่มารีย์ และพระเยซูที่นอนอยู่ในเปลในโรงนา

“ผมหาประสบการณ์แบบนี้ไม่ได้เลยตอนนั่งสวดในโบสถ์ แต่ในโลกเสมือนนี้ ผมได้มองเห็นพระคัมภีร์ในมุมใหม่ๆ” แกร์เร็ตกล่าว เขาบอกด้วยว่าเขารู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับพระเจ้ากว่าที่เคยตั้งแต่เข้าร่วม VR Church

“อนาคตของคริสตจักรคือคริสตจักรในโลกเสมือน Metaverse” ดีเจโซโตเชื่อเช่นนั้น “ผมไม่ได้ต่อต้านอะไรที่เป็นกายภาพนะ ผมไม่คิดว่าการรวมตัวกันในชีวิตจริงควรหายไป แต่ในปี 2030 คริสตจักรควรมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาสาขา Metaverse ของตน” VR Church เป็นเพียงหนึ่งคริสตจักรเสมือนบน Metaverse เท่านั้น ยังมีอีกหลายเจ้า เช่น EvolVR และ SacredVR เป็นต้น

มาถึงตรงนี้เราอาจสงสัยแล้วว่า ‘แล้วศาสนาพุทธล่ะ’ มาดูกันดีกว่าว่า พุทธศาสนาในประเทศไทยกันบ้างว่ามีการปรับตัวอย่างไร เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตคนมากขึ้น

ศาสนากับMetaverse 03

ใกล้ชิดศาสนาพุทธมากขึ้นกับพระมหา AI

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็นนิทรรศการออนไลน์ที่ชื่อว่า “มุทิตา” ซึ่งจัดขึ้นโดยวัดธรรมกาย งานนี้จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติคุณของพระมหาเถระและพระเถระ โดยผู้เข้าชมงานสามารถชมงานได้แบบ 360 องศา ผ่านอุปกรณ์ทั่วไปและแว่น AR (ชมนิทรรศการได้ที่ >> https://muthita.online ) นับว่าเป็นการปรับตัวที่รวดเร็วและตอบรับกับกระแส Metaverse ได้อย่างดี ที่สำคัญผู้ที่ศัทรธาในวัดธรรมกายยังสามารถเข้าร่วมงานนี้ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปยังตัววัดที่จังหวัดปทุมธานีด้วย

แต่ที่เป็นที่พูดถึงกันมากในปีนี้น่าจะเป็น “พระมหา AI” หลวงพี่เสมือนจริงที่มาพร้อมกับสโลแกน ‘ธรรมะคือแนวทาง ไม่ใช่อัตลักษณ์หรือตัวตน’

ในช่วงปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าพระเริ่มหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ เผยแผ่คำสอนแบบเข้าใจง่าย เข้ากับไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน พระมหา AI ก็เป็นหนึ่งในนั้น คำสอนที่ท่านต้องการสื่อสารนั้นจะเน้นเข้าใจง่าย ทันกระแสสังคม และชวนคลายเครียดไปพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น ‘ชีวิตมีขึ้นและลง คริปโทฯ ก็เช่นกัน ชีวิตคนเราก็มีแค่นี้ ตอนราคาดีก็ดีใจ ตอนติดดอยก็ต้องทำใจนะโยม เจริญพร’ หรือ ‘อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อาตมาเป็นเอไอ พึ่งตัวเองกันนะโยม’

แต่ที่ต่างกัน (และอาจดีกว่า) คือพระที่มีตัวตนจริงๆ นั้นอาจทำให้คนยึดติดตัวตน ในขณะที่พระมหา AI ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ เป็นเพียง Virtual Influencers ที่สร้างจาก CGI เท่านั้น จึงมุ่งเน้นไปที่คำสอนมากกว่า ซึ่งอาจเหมาะกับสถานการณ์ในประเทศไทยยุคหลังๆ ที่คนเริ่มเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะข่าวด้านลบจากสถาบันสงฆ์

แม้ตอนนี้จะยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างและยังมีกระแสต่อต้านมองว่า ‘ล้อเลียน’ แต่ในอนาคต เมื่อคนไทยหันมาเปิดใจรับเทคโนโลยีในศาสนามากขึ้น พระมหา AI อาจเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วยความโดดเด่นในเรื่องการไม่ยึดถือตัวบุคคล แต่มุ่งเน้นไปที่คำสอน

แม้ปัจจุบัน คนไทยจะยังมีคนนิยมเข้าวัดกันอยู่เป็นประจำ แต่เราก็เริ่มเห็นแล้วว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น นิทรรศการออนไลน์จากวัดธรรมกาย พระมหา AI และพฤติกรรมของหลายคนที่หันมาสวดมนต์ออนไลน์อยู่บ้านกันมากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจได้เห็นวัด Metaverse ที่มีคนเข้าไปสวดมนต์เป็นประจำก็ได้

Advertisements
Advertisements
ศาสนากับMetaverse 04

Metaverse มีประโยชน์ต่อศาสนาเพราะพาคนก้าวข้าม ‘ข้อจำกัด’

หลายคนเชื่อว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีจะทำให้คนนับถือศาสนาน้อยลง (ซึ่งอาจเป็นจริงก็ได้ในอนาคต ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น) แต่ที่เราเห็นกันในตอนนี้คือ เทคโนโลยีก็มีข้อดีอย่างเห็นได้ชัดในการเชื่อมต่อระหว่าง ‘ศาสนา’ และ ‘ผู้คน’

ประโยชน์แรกที่มากับ Metaverse เลยคือ เทคโนโลยีช่วยให้การสวดมนต์หรือการศึกษาคำสอน ‘ไม่น่าเบื่อ’ อีกต่อไป แทนที่จะได้ท่องคำสวดซ้ำๆ ตามความเคยชิน เราอาจได้เห็นภาพเหตุการณ์ตามที่คำสอนบรรยายและเข้าใจเนื้อหามากขึ้น อย่างที่แกร์เร็ต เบอร์นัลได้สัมผัสเมื่อเข้าร่วม VR Church

ประโยชน์ต่อมาคือ ผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น ผู้ช่วยที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ หรือผู้พิการ จะสามารถเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาได้แบบปกติ

“เมื่อเราป่วยเรื้อรังและไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้อย่างที่เคย สังคมที่เคยมีจะเริ่มหายไปช้าๆ อย่างฉันที่สุดท้ายเหลือแค่ตัวฉัน สามี แล้วก็แมวของเรา” อลินา เดลพ์ คือหนึ่งในคนกลุ่มนั้น ในปี 2010 เธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรงอย่างโรคอีรีเทอเมลัลเจีย (Erythermalgia) ทำให้เธอออกจากบ้านไม่ได้ เธอรู้สึกเดียวดายจนกระทั่งคริสตจักรในโลกเสมือนจริงได้มาเติมเต็มชีวิตของเธอ เธอรู้สึกมีพลัง รู้สึกสำคัญ และเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง

ไม่เพียงแต่ผู้มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายเท่านั้น ผู้ป่วยจิตเวช (เช่น ผู้ป่วยโรคกลัวสังคม) ก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะพวกเขาจะสบายใจกว่าในการที่ไม่ต้องออกไปเจอใครในชีวิตจริง แต่ยังได้เข้าสังคม พูดคุยกับผู้คน

ประโยชน์ข้อสุดท้ายคือโลกเสมือนจริงทำให้เราก้าวข้ามผ่านเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกได้ ในขณะที่การรวมตัวในโลกจริงนั้น หลายคนอาจถูกตัดสินตั้งแต่ สีผิว เชื้อชาติ ทรงผม การแต่งกาย การเจาะ รอยสัก และท่าทาง แต่ในโลกเสมือนจริงนั้น เราสามารถเป็นได้หลายอย่างตั้งแต่หุ่นยนต์ สัตว์ หรือผลไม้ โดยไม่มีใครกีดกันใคร ทุกคนต่างโฟกัสไปที่จุดประสงค์ของการรวมตัว ซึ่งก็คือการศึกษา ‘ศาสนา’ นั่นเอง

ยกตัวอย่างบาทหลวงบิสมิก บาทหลวงเยาวชนท่านหนึ่งของ VR Church ที่สนใจด้านศาสนา มีปริญญาโททั้งด้านสาขาปรัชญาและประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นผู้ชายที่ไว้ผมยาวและชอบแต่งกายแนวเมทัลร็อกซึ่งมักจะถูกกดว่าเป็นวัฒนธรรมย่อย (subculture) ต้องยอมรับว่าแม้โลกแห่งความเป็นจริงจะพัฒนาไปมาก แต่ก็อาจมีคนต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับรูปลักษณ์ภายนอกของเขาในฐานะบาทหลวง แต่ในโลก Metaverse เขากลับมีโอกาสได้เผยแผ่ศาสนาตามที่ตั้งใจ โดยไม่มีใครตัดสินเขาจากทรงผมหรือการแต่งตัว


แม้ผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาคริสต์จะมีความกังวลว่า กิจกรรมต่างๆ ในโลก Metaverse อาจค้านต่อหลักพระคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะการรวมตัวที่พวกเขามองว่าไม่ใช่การรวมตัวจริงๆ และหลายๆ คนยังกังวลว่าเมื่อโลก Metaverse มาถึง คนจะถูกเทคโนโลยีดึงความสนใจจนมองข้ามเรื่องอย่างศาสนาไป แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ท่ามกลางข้อกังวลเหล่านี้ มีการพิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นก็มีข้อดีต่อศาสนาเช่นกัน เพราะมันสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่แน่ อีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ คนอาจหันมาเรียนรู้คำสอนมากขึ้น เพราะประสบการณ์การเข้าโบสถ์ที่แปลกใหม่และสะดวกกว่าเดิมบน Metaverse ก็ได้นะ

แล้วคุณผู้อ่านล่ะ คิดว่าศาสนาจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างเมื่อ Metaverse มาถึง

อ้างอิง:
https://dpo.st/3GB9ABR
https://bit.ly/3ot3DAA
https://bit.ly/3uyV635
https://bit.ly/3JcrzA2

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#metaverse
#society

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Tanyaporn Thasak
Tanyaporn Thasak
ผู้โดยสารคนหนึ่งบนยาน Mission To The Moon ที่หลงใหลในวรรณกรรม ภาพยนตร์ บทกวี การอ่าน การเขียน และการนอน

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า