10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Metaverse

3350
Metaverse

ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 คำที่สื่อต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศพูดถึงมากที่สุด คงจะเป็นคำว่า “Metaverse” แม้หลายคนจะไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของมันนัก แต่ต่างเข้าใจกันดีว่า อีกไม่นาน สิ่งนี้จะมาเปลี่ยนชีวิตประจำวัน โลก ไปจนถึง ‘อารยธรรมมนุษย์’ 

หลายคนยังงงๆ อยู่และไม่เข้าใจว่าโลกเสมือนจริงที่กำลังจะมาถึงนั้น ‘สำคัญ’ อย่างไร ในขณะเดียวกัน หลายคนที่ตามข่าวมาบ้าง อาจสับสนจนจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะความเป็นไปได้และโอกาสที่มากับ Metaverse นั้นมีมากมายจนนับไม่ถ้วน!

วันนี้เราเลยสรุป 10 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับ “Metaverse” มาให้ทุกคนได้อ่านกัน Metaverse คืออะไร มีที่มาจากไหน จะเปลี่ยนแปลงโลกมนุษย์เราไปอย่างไร และทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญ

Advertisements

ไปดูกันเลยดีกว่าว่า 10 เรื่องน่ารู้ของเรามีอะไรบ้าง

Metaverse

1) ที่มาของคำว่า ‘Metaverse’

การกำเนิดของโลกเสมือนในปี 1992

แม้จะเป็นเรื่องที่เพิ่งพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในปีนี้ แต่ไอเดียของ Metaverse นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด

คำว่า “Metaverse” ปรากฏครั้งแรกในนิยายแนวไซไฟชื่อ Snow Crash แต่งโดยนีล สตีเฟนสัน ในปี 1992 โดยโลก Metaverse ในหนังสือของนีลนั้นเป็นโลกเสมือนจริง 3 มิติ ที่ผู้คนสามารถปฏิสัมพันธ์กันได้ในรูปแบบของอวาตาร์ และถูกยกย่องว่าเป็นโลกใบถัดไปต่อจากโลกอินเทอร์เน็ต

สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนนิยายไซไฟอาจไม่คุ้นกับ Snow Crash มากนัก แต่ถ้าพูดถึงหนังสือที่ชื่อ Ready Player One หลายคนอาจร้องอ๋อแน่นอน เพราะพึ่งมีการนำไปดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์ไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยโลก Metaverse ในหนังนั้นมีชื่อว่า OASIS และผู้คนสามารถเข้าถึงได้โดยการสวมแว่น VR และถุงมือ คล้ายเคียงกับโลก Metaverse ในอนาคตที่หลายคนจินตนาการถึง

Metaverse

2) Metaverse คืออะไร

เมื่อโลกอีกใบจะทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น

Metaverse คือโลกอินเทอร์เน็ตที่ให้ผู้คนได้ ‘ใกล้ชิด’ โลกเสมือนจริงราวกับว่าก้าวเข้าไปในโลกนั้นทั้งใบ ไม่ใช่แค่เพียงนั่งอยู่หน้าจออีกต่อไป การสื่อสารระหว่างคน (หรืออวาตาร์) จะให้ความรู้สึกราวกับว่าเรากำลังอยู่ตรงหน้าพวกเขาเหล่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่นั่งมองตากันผ่านวิดีโอคอล การเชื่อมต่อกับเพื่อนจะไม่ใช่แค่การดู Instgram Story หรือทักทายผ่าน DM อีกต่อไป แต่จะเป็นการพบปะพูดคุยกันแบบ Real Time ในโลกเสมือนจริง

กิจกรรมที่เราเคยทำได้บนหน้าจอ เช่น ดูคอนเสิร์ต ดูหนัง เรียน ช็อปปิง หรือเล่นเกม เราจะได้ทำกิจกรรมเหล่านี้เช่นกัน โดยไม่ต้องเดินทางไปไหน ราวกับกำลังใช้งานโซเชียลมีเดียจากคอมพ์ที่บ้านเหมือนเดิม แต่ประสบการณ์ในการทำกิจกรรมพวกนี้จะเสมือนจริงมากขึ้น ราวกับเราได้เดินทางไปทำกิจกรรมจริงๆ

Metaverse

3) มีอะไรบ้างที่ใกล้เคียงกับ Metaverse ในปัจจุบัน

จากแว่น VR จนถึงที่ดินมูลค่าสูงในโลกดิจิทัล

ปัจจุบัน Metaverse ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา แต่มีอะไรบ้างที่เรียกได้ว่าเป็น ‘บรรพบุรุษ’ หรือ ‘รุ่นทดลอง’ ของโลกเสมือนจริง และมีอะไรบ้างที่มีความเป็นไปได้สูงว่า จะถูกนำไปพัฒนาและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ Metaverse

อันดับแรกคือ Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) มีการคาดการณ์ว่า Metaverse จะใช้งานด้วยอุปกรณ์หลายอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา VR, AR, หรืออุปกรณ์ Spatial Computing อื่นๆ เราจะเชื่อมโยงสู่โลก Metaverse ได้ตลอดเวลา (หากเราต้องการ) ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือผ่านอุปกรณ์อะไร

โดย Meta (หรือ Facebook เดิม) ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ VR ออกมาแล้วบ้าง รุ่นล่าสุดที่พูดถึงกันได้แก่ แว่น Oculus ของ Facebook ในส่วนของ AR ก็เช่นกัน Meta ได้ทำงานร่วมกับแบรนด์แว่นดังอย่าง Ray Ban เพื่อผลิต Smart Glass หรือแว่นตาอัจฉริยะออกมา

ในส่วนของแพลตฟอร์ม เกมอย่าง Fortnite และ Roblox ก็ถูกยกให้เป็นประตูสู่ Metaverse รุ่นแรกๆ เพราะทั้งสองเกมนั้นมีปัจจัยคล้ายกับ Metaverse ในอนาคตอยู่หลายอย่าง เช่น เป็นสังคมที่ผู้คนจริงๆ ได้ทำความรู้จักกันผ่านอวาตาร์ มีเศรษฐกิจ หน่วยเงิน และอีเวนต์ในโลกของมันเอง พูดง่ายๆ คือทั้งสองเป็นมากกว่าเกม อย่างไรก็ตาม แม้ Fortnite และ Roblox จะเชื่อมต่อผู้คน แต่มันก็เชื่อมต่อเฉพาะคนในเกมเท่านั้น ไม่สามารถ ‘ข้ามแฟลตฟอร์ม’ ได้ เราไม่สามารถพาตัวละครของเราใน Fortnite ไปประชุมในทีมมิตติ้งได้ หรือแม้ธุรกิจใน Roblox ของคุณจะร่ำรวยแค่ไหน คุณก็ไม่สามารถใช้เงินสกุล Robux ไปใช้จ่ายในแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้

อีกตัวอย่างคือแพลตฟอร์มอย่าง The Sandbox เกมโลกเสมือนจริงรูปแบบคล้าย Minecraft แต่ถูกพัฒนาให้มีเศรษฐศาสตร์โทเคน (Tokenomics) และถูกเชื่อมต่อเข้ากับโลกของบล็อกเชน (Blockchain-linked) ในตัวเกม ผู้เล่นสามารถออกแบบที่ดินของตนได้หลายแบบ ไม่ว่าจะสร้างเกมให้ผู้เล่นคนอื่นเข้ามาเล่น หรือสร้างแกลลอรีขาย NFTs (สินทรัพย์ดิจิตอล) ของตัวเอง

เซบาสเตียน บอร์เจต์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการของ The Sandbox กล่าวว่า “พวกเราคิดว่าอสังหาริมทรัพย์บนโลกดิจิทัลนั้นน่าสนใจกว่าอสังหาฯ ในชีวิตจริงมากๆ เพราะคุณสามารถออกแบบและพัฒนาธุรกิจของคุณได้อย่างรวดเร็ว แถมยังให้ประสบการณ์ที่ดีกว่าแก่ผู้สร้าง”

Metaverse

4) Metaverse จริงๆ จะมาเมื่อไหร่

ตั้งตารอวันที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกัน

แม้จะมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ แต่กว่า Metaverse แบบที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ฝันไว้จะออกมาให้ใช้งานจริงก็ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เพราะ Metaverse ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มเดียวที่สร้างขึ้นและผูกขาดโดย 1 บริษัท แต่จะเป็นเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่จาก Blockchain ต่างๆ ที่เชื่อมถึงกันให้ผู้ใช้ได้ข้ามผ่านจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปยังอีกแพลตฟอร์มอย่างอิสระ ทรัพย์สินของเราในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นอวาตาร์ คอสตูม NFTs หรือมูลค่าของเหรียญต่างๆ จะติดตามเราไปทุกๆ แพลตฟอร์ม

ลองจินตนาการถึงการทำงานร่วมกันของโทรศัพท์และแอปฯ ต่างๆ บนนั้นดู แม้เราจะมีโทรศัพท์จากค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่เราก็สามารถใช้งานแอปฯ จากบริษัทอื่นๆ ได้ อนาคตของ Metaverse มีแนวโน้มว่าจะทำงานคล้ายเช่นนี้ โดยจะพึ่งพาการทำงานหลายๆ กันของหลายบริการเพื่อให้คนได้สัมผัสโลกดิจิทัลได้อย่างอิสระและสะดวกมากขึ้น

ปัจจุบันทรัพย์สินของเราบนโลกดิจิทัล ส่วนใหญ่ยังจำกัดในเฉพาะแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้ใช้งานข้ามแพลตฟอร์มได้แน่นอน อย่างปัจจุบัน Gala games ก็สามารถใช้เหรียญหรือทรัพย์สินต่างๆ ข้ามเกมได้แล้ว แต่ยังต้องเป็นเกมในเครือเดียวกันเท่านั้น

นอกจากนี้อุปกรณ์การใช้อย่าง แว่น ถุงมือ หรือชุดต่างๆ ยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่สมจริงสำหรับผู้ใช้งาน

Metaverse

5) ทำไม Metaverse ถึงสำคัญ

The Next Big Thing ที่จะเปลี่ยนชีวิตเรา

ไอเดียของ Metaverse ไม่ได้เริ่มขึ้นเพราะมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ชื่นชอบเทคโนโลยี VR แต่อย่างใด ไอเดียนี้ถูกผลักดันโดยหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์ที่มีสังคมในตัวมันเองและสร้างรายได้มหาศาล (อย่าง Fortnite, Animal Crossing และ Roblox)  ชีวิตในยุคโรคระบาดที่ผลักให้เราเชื่อมต่อผู้คนผ่านช่องทางดิจิทัล หรือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Amazon, Google และ Meta เองที่กำลังแข่งกันสร้าง “The Next Big Thing” หรือนวัตกรรมใหม่ที่ยิ่งใหญ่ต่อจากสมาร์ตโฟน

แล้ว The Next Big Thing (ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าจะเป็น Metaverse) สำคัญกับเราอย่างไร ทำไมต้องเรียนรู้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

เพราะหลายๆ ด้านในชีวิตของเราจะเปลี่ยนไป ทั้งการสื่อสาร การโฆษณา การทำงาน และอื่นๆ อีกมากมาย หากเราเมินเฉยและไม่สนใจ Metaverse ตอนนี้ ตัวเราเองหรือธุรกิจของเราอาจเสียเปรียบได้ในอนาคต อย่างที่ในอดีตอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และสมาร์ตโฟนเคยส่งผลต่อชีวิตคนเราในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Advertisements
Metaverse

6) ใครบ้างที่จะเป็นผู้เล่นคนสำคัญ

สนามใหญ่ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี

บริษัทที่เป็นผู้สร้างอุปกรณ์ (อย่างแว่น VR หรือ AR) มีแนวโน้มสูงว่าจะได้ผลประโยชน์จาก Metaverse มากๆ จากการขายและการตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ เพราะในอนาคตแทบทุกคนจะต้องการเครื่องมือพวกนี้ในการเข้าสู่โลกเสมือนจริง เช่นเดียวกับการที่เราแทบทุกคนในยุคนี้ต้องมีสมาร์ตโฟน

มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์กยอมรับว่าบริษัทเขาพลาดที่ไม่ได้สร้างอุปกรณ์โทรศัพท์อะไรออกมาเลย และแอปฯ ของเขาต้องทำตามกฎของคนอื่น ซึ่งก็คือ Google Store และ Apple Store ด้วยเหตุนี้ในปี 2021 Meta จึงทุ่มเงินกว่าหมื่นล้านเหรียญในการสร้างเทคโนโลยีสำหรับ Metaverse เช่น ฮาร์ดแวร์ของ VR, อุปกรณ์, และแอปฯ ที่รองรับ

Microsoft เองก็เป็นผู้เล่นที่น่าจับตามอง โดยในปีนี้บริษัทได้ปล่อย Microsoft Mesh หรือแพลตฟอร์มที่ผสานโลกจริงและดิจิทัลเข้าด้วยกัน ผู้ใช้งานจากมุมต่างๆ บนโลกสามารถทำงานร่วมกันบนโลกเสมือนได้บนอุปกรณ์อย่าง Hololens 2, แว่นตา VR, โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่รองรับซอฟต์แวร์ของ Mesh

อีกรายคือ Nvidia บริษัทผลิตชิปและการ์ดจอที่เรารู้จักกันดี ปลายปีที่ผ่านมา Nvdia ได้เปิดตัว Metaverse ของตนที่ชื่อว่า the Nvidia Omniverse แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้คนผ่านโลกเสมือนจริง 3 มิติ เพื่อทำงานร่วมกันได้โดยเฉพาะงานด้านการออกแบบ เป็นต้นว่า นักวิศวกรต่างๆ สามารถตรวจสอบสินค้าได้ว่าถูกตามหลักสรีรศาสตร์และทำงานได้จริงไหมโดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปในโรงงานผลิตจริงๆ การศึกษาของ Nvdia พบว่าแพลตฟอร์ม 3 มิติเสมือนจริงนี้ช่วยให้ขั้นตอนการออกแบบและวางแผนมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 30% แถมประหยัดทั้งเวลาและเงินทุนของบริษัท

ส่วน Epic Games ค่ายเกมเจ้าของ Fortnite ได้ระดมทุนกว่าหมื่นล้านเหรียญเพื่อแผนระยะยาวของ Metaverse เกมยอดนิยมดังกล่าวนี้ถูกมองว่าเป็น ‘เจ้าแรก’ ของ Metaverse อยู่แล้ว ดังนั้นการหันมาทุ่มทุนต่อในด้านนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ในหลายปีที่ผ่านมา Fortnite เคยมีการจัดคอนเสิร์ตในตัวเกมถึง 2 ครั้งและมีผู้เล่นเข้าร่วมงานอีเวนต์ดังกล่าวถึง 10.7 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม แม้หลายบริษัทจะออกมาเปิดเผยแผนที่วางไว้เกี่ยวกับ Metaverse บริษัทที่หลายคนมองว่าจะเป็นตัว ‘พลิกเกม’ อย่าง Apple ยังคงเงียบ แต่กระนั้นบริษัทก็มีแผนที่จะทุ่มเงินลงทุนในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ AR ชี้ให้เห็นว่า หากอนาคตกำลังจะไปในทิศทางนี้กัน Apple จะเข้าร่วมด้วยแน่นอน

Metaverse

7) Metaverse และการแพทย์

อิทธิพลที่ไม่ใช่แค่โลกของเกม

หลังจากเกิดเหตุการณ์โรคระบาดในช่วงสองปีที่ผ่านมา การเข้ารับการรักษาทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น หลายบริษัทเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยี AR และ VR เพื่อพัฒนาด้านการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทอย่าง Intuitive Surgical ที่มีชื่อจากการพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยผ่าตัด ก็มีแนวโน้มสูงว่าจะหันมาพัฒนาด้านโลกเสมือนจริงมากขึ้น

Metaverse ยังสามารถใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชได้ด้วย ปัจจุบันนี้มีการทดลองรักษาผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น (ADHD) ด้วยเกม VR บ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เกม EndeavorRX โดยบริษัท Akili Interactive ที่เป็นเกมแรกที่ผ่านมาตรฐานองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในการใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก

นอกจากนั้นยังใช้รักษาอาการ PTSD (อาการผิดปกติทางจิตใจหลังประสบเหตุการณ์รุนแรงในอดีต) อีกด้วย โดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้มีการทดลองใช้เทคโนโลยีรักษาอาการปวดเรื้อรัง (Chronic Pain) ของเหยื่อที่ถูกไฟไหม้ การศึกษานี้พบว่า โลกเสมือนช่วยขับไล่ความเจ็บปวดในโลกความเป็นจริงของเหยื่อได้ และได้มีการใช้บรรเทาอาการแก่ผู้ป่วยกว่า 30,000 รายทั่วโลก

Metaverse

8) การค้าขาย (Commerce) ใน Metaverse

โอกาสใหม่ในเชิงพาณิชย์

ในอดีตเราอาจคิดว่าคนเราไม่บ้าพอที่จะซื้อของที่ ‘จับต้องไม่ได้’ ในโลกดิจิทัลหรอก! แต่ปัจจุบันมีการพิสูจน์แล้วว่าแม้จะจับต้องไม่ได้ในชีวิตจริง ไม่ได้หมายความว่าจะขายไม่ได้

ในบทความเรื่อง 6 Lessons on the Future of the Metaverse From the Creator of Second Life จากนิตยสาร Time พูดว่า บทเรียนหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเกม Second Life คือคนยินดีที่จะซื้อแม้จับต้องไม่ได้ โดยเกมนี้ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อ 10 ปีก่อน มีผู้เล่นใช้เงินจริงไปกว่า 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อสินค้าในเกม นอกเหนือจากนี้เกมอย่าง Fortnite ที่ทำรายได้มหาศาลจากการขายคอสตูม และการซื้อ-ขาย NFTS ในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นเช่นกัน

การแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายสินค้าจะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของ Metaverse แน่นอน ในวิดีโอเปิดตัว Meta นั้นมีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวว่าใน Horizon Marketplace ผู้ใช้งานจะสามารถสร้างไอเทม 3 มิติเพื่อแจกหรือขายได้ และเขาเชื่อว่า Metaverse จะมีเงินหมุนเวียนในเชิงพาณิชย์กว่าหลายหมื่นล้านเหรียญ

ที่สำคัญ ในโลกที่เราจะเลือกเป็น ‘ใครก็ได้’ หรือจะมี ‘รูปร่างแบบไหนก็ได้’ อุปสรรคอย่าง ไซซ์ ความเหมาะสม หรือเพศ ที่เคยขัดขวางไม่ให้ลูกค้าซื้อสินค้าในโลกความเป็นจริงจะไม่เป็นปัญหาเลยใน Metaverse ทั้งเจ้าของกิจการและลูกค้าเองจะเจอโอกาสใหม่ๆ มากมายอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

การตัดสินใจซื้อของลูกค้าอาจเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าในอดีตมากๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออวาตาร์ของคนสองคนมาเจอกันในโลก Metaverse ถ้าหากอวาตาร์ A ถูกใจรองเท้าของอวาตาร์ B และมีการถามไถ่ว่าซื้อมาจากไหน ทันใดนั้นอาจมีคอลเลกชันรองเท้าจากแบรนด์นั้นโผล่ขึ้นมาให้ผู้ใช้ A เลือกซื้อได้เลย

นอกเหนือจากสินค้าที่จับต้องไม่ได้แล้ว เรายังสามารถทดลองหรือสัมผัสสินค้าที่เราอยากซื้อในชีวิตจริงใน Metaverse ก่อนได้ด้วย ความสะดวกสบายนี้อาจทำให้ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะด้านแฟชั่นมีโอกาสในการเติบโตอย่างมาก

Metaverse

9) ยุคทองแห่ง Cryptocurrency

ตลาดเงินดิจิทัลคือสิ่งสำคัญ

แน่นอนว่าในโลกเสมือนจริงนี้ ผู้ใช้งานจะซื้อขายสินค้ากันโดยมี ‘เหรียญ’ (Tokens) สินทรัพย์ดิจิทัลที่ผูกกับบล็อกเชน เป็นตัวกลาง และเกมแนว Play To Earn หรือเล่นเพื่อสร้างรายได้จะให้ผลตอบแทนกับผู้เล่น ดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนไม่น้อย

นักยุทธศาสตร์จากธนาคารแห่งอเมริกากล่าวว่า Metaverse จะเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการเติบโตสำหรับ Cryptocurrency ต่างๆ เพราะในที่สุดเหรียญเหล่านี้จะได้ใช้ในการแลกเปลี่ยนอย่างแพร่หลายในโลกเสมือนจริง ยิ่งไปกว่านั้น แพลตฟอร์มที่มี Cryptocurrency เป็นของตัวเองอยู่แล้วยิ่งต้องเร่งพัฒนาสร้าง Ecosystem ให้แก่ตัวเองเพื่อรองรับยุค Metaverse ที่กำลังจะมาถึง

Metaverse

10) ปัญหาที่มากับ Metaverse

ความปลอดภัยในโลกเสมือน

ปัญหาที่หลายคนกังวลว่าจะมาพร้อมกับ Metaverse ได้แก่ ปัญหาด้านความเป็นส่วนตัว (Privacy) ด้านความปลอดภัย และปัญหาสุขภาพจิต

ตั้งแต่โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ประเด็นที่คนถกเถียงกันตามมาติดๆ คือเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของข้อมูล และปัญหาสุขภาพจิตของผู้ใช้งาน แพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Youtube และเจ้าอื่นๆ ต่างเคยถูกตั้งคำถามและเรียกร้องให้ออกมาแถลงการณ์เรื่องเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ที่แม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

หลายคนกังวลว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่หายไปไหน แถมจะยิ่งหนักขึ้นเมื่อเราเข้าสู่ยุค Metaverse ที่อุปกรณ์และแพลตฟอร์มในการใช้งานต้องการข้อมูลมากมายจากเรา ตั้งแต่ชื่อ หน้าตา ไปจนถึงการสแกนสภาพแวดล้อมในห้อง เพื่อการใช้งานที่เสมือนจริง แม้ในวิดีโอความยาวชั่วโมงกว่าของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะยืนยันกับผู้ใช้ว่า Metaverse จะ ‘ปลอดภัย’ ต่อผู้ใช้งาน แต่เพื่อประโยชน์ของเราเอง เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดพอๆ กับเรื่องการพัฒนาของเทคโนโลยี

อ้างอิง
https://bit.ly/31wkpGn
https://bit.ly/3rK2VBD
https://bit.ly/31uxUqs
https://bit.ly/3Dmbgxm
https://bit.ly/3Gh4lHB
https://bit.ly/3dlFR3y

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#metaverse

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่