กดดูดีไหมนะ? เข้าใจความสำคัญของ “Thumbnail” เพราะภาพปกที่ใช่ มีชัยไปกว่าครึ่ง!
ตอนเลื่อนหาอะไรดูบนโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่จะเลือกจากอะไรกันบ้าง… นักแสดงที่ชอบ? เนื้อหาที่ใช่? หนังภาคต่อเรื่องโปรด? ซีรีส์ที่กำลังฮิต? แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เชื่อไหมว่านอกจากนี้แล้ว “ภาพปก” (#Thumbnail) ก็มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจไม่แพ้กัน
กดดูดีไหมนะ? เข้าใจความสำคัญของ “Thumbnail” เพราะภาพปกที่ใช่ มีชัยไปกว่าครึ่ง!
ตอนเลื่อนหาอะไรดูบนโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่จะเลือกจากอะไรกันบ้าง… นักแสดงที่ชอบ? เนื้อหาที่ใช่? หนังภาคต่อเรื่องโปรด? ซีรีส์ที่กำลังฮิต? แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เชื่อไหมว่านอกจากนี้แล้ว “ภาพปก” (#Thumbnail) ก็มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจไม่แพ้กัน
ทำไม Thumbnail ถึงสำคัญ?
ไม่ได้มีเพียงแค่เราที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากดูอะไรหรือสงสัยว่าในช่วงนี้คนอื่นๆ ชอบดูอะไรเท่านั้น เพราะประเด็นเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ Netflix สนใจไม่แพ้กัน ด้วยความที่มีผู้ติดตามมากกว่า 208 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงมีเนื้อหาและรายการอีกนับไม่ถ้วนให้เลือกชม แต่ก็ต้องพบว่าคนดูจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะดูอะไรและมักจะลงเอยด้วยเลื่อนผ่านไปเรื่อยๆ และออกจากแอปฯ ในที่สุด
โดยเมื่อปี 2014 ทีมงานของ Netflix ได้สำรวจผู้ใช้งานอย่างจริงจังว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกดูของผู้บริโภค ซึ่งผลสำรวจพบว่า กว่า 82% ของคนส่วนใหญ่เวลาเลื่อนหาอะไรดูบนเว็บไซต์หรือแอปฯ มักจะเลือกโฟกัสที่ “ภาพปก” เป็นส่วนใหญ่ และจะใช้เวลาดูเพียง 1.8 วิเท่านั้นต่อภาพปกเท่านั้น
ระยะเวลาที่มีจำกัด เนื้อหาที่มีปริมาณมาก รวมถึงผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้ Thumbnail เป็นหัวใจสำคัญของคลิปมากๆ เพราะเป็นด่านแรกที่ผู้บริโภคจะเจอ ภาพปกจึงต้องโดดเด่น สามารถเข้าถึงและดึงดูดคนดูได้หลายประเภท เพื่อให้เกิดการคลิกเข้าไปดูแทนการเลื่อนผ่านไปเฉยๆ และยังช่วยกระตุ้นให้กด Subscribe หรือสมัครสมาชิกได้อีกด้วย
เมื่อก่อนภาพปกของ Netflix มักจะเป็นเพียงภาพโปสเตอร์ธรรมดา แต่จากพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนไป ทำให้วิธีนี้อาจไม่สร้างความดึงดูดเท่าไรนัก ส่งผลให้ Netflix พัฒนาและหากลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมาเสมอเพื่อมัดใจคนดู เช่น “#AestheticVisualAnalysis” (AVA) ขั้นตอนการคัดเลือกภาพที่ปรับรายละเอียดตามความสนใจของแต่ละคนโดยเฉพาะ ซึ่ง AVA จะเลือกเฟรมที่น่าสนใจขึ้นมา โดยอิงจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น มุมกล้อง นักแสดง ฉากสำคัญ การแสดงออกทางอารมณ์ของตัวละคร และโทนสีของรูป ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ช่วยนำไปจัดหมวดหมู่ตามแต่ละประเภทได้อีกด้วย ทั้งโรแมนติก ดราม่า คอมเมดี้ สยองขวัญ หรือแฟนตาซี
สิ่งเหล่านี้คงช่วยคลายความสงสัยของหลายคนได้ว่า ทำไมภาพปกในภาพยนตร์หรือซีรีส์ของ Netflix ไม่ได้มีแค่แบบเดียว ของเรากับคนอื่นทำไมไม่เหมือนกัน ทำไมภาพปกมีการเปลี่ยนแปลงตลอด และทำไมหลายครั้งเราถึงเลือกดูเรื่องที่ไม่เคยคิดจะดูมาก่อนแต่ก็เลือกกดเข้าไป
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพลังของ “Thumbnail” นั่นเอง
Mission To The Moon ได้รวบรวมตัวอย่างการเลือกภาพปกของ Netflix ที่น่าสนใจมาฝากกัน มาลองดูกันว่ามีวิธีอะไรบ้างที่สามารถนำไปปรับใช้กับคลิปของตัวเอง ให้คนดูไม่เลื่อนผ่านและมีผู้ติดตามมากขึ้นกัน!
โปสเตอร์เดิมยังหลากหลายไม่พอ!
แม้ว่าโปสเตอร์ภาพยนตร์หรือซีรีส์จะมีความคลาสสิกในตัวเองและจดจำได้ง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ก็อาจยังไม่มีความหลากหลายมากพอที่จะทำให้ทุกคนถูกใจและเลือกกดดูได้ Netflix จึงใช้ Algorithm ช่วยคัดเลือกเฟรมที่น่าสนใจมาตั้งเป็น Thumbnail ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้คนดูไม่เลื่อนผ่านไปได้ง่ายๆ ในเวลา 1.8 วิ
เช่น ภาพยนตร์ “#ForrestGump” กับโปสเตอร์ที่คุ้นเคยที่มี “ฟอร์เรสท์ กัมพ์” นั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้กับเสื้อสีฟ้าพร้อมกับขนนกและภาพพื้นหลังสีฟ้าและขาว แต่ Netflix เลือกนำฉากที่ฟอร์เรสท์วิ่งไปทั่วสหรัฐฯ อย่างไม่คิดอะไรขึ้นมาแทน
Thumbnail ไม่ซ้ำ…เลื่อนผ่านไม่ได้
แม้จะเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องเดียวกันแต่ Netflix ก็ทำภาพปกออกมาหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงคนดูทุกประเภทและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างซีรีส์ #StangerThings มี Thumbnail หลายรูปแบบเพื่อดึงดูดคนดูแต่ละกลุ่ม เช่น ภาพแรก ภาพเลือดออก และภาพสุดท้ายอาจดึงดูดกลุ่มคนที่ชอบแนว Horror กับ Thriller ได้แน่นอน สำหรับภาพปกที่มีเด็กๆ รวมตัวกัน อาจช่วยกระตุ้นให้กลุ่มที่ชอบแนว Adventure, Coming of Age หรือ Comedy ได้ รวมถึงกลุ่มคนที่ชอบแนว Mystery กับ Fantasy อาจสนใจเรื่องนี้เพราะภาพปกที่มีสัตว์ประหลาดก็ได้
“ฉากในตำนาน” จำได้ไม่ลืม
ไม่ว่าจะภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องไหนก็ตาม เชื่อว่าแต่ละคนคงมี “ฉากในตำนาน” ที่จำได้ไม่ลืม ซึ่งอาจเป็นเพราะตรงกับชีวิตจริงที่เป็นอยู่ ประทับใจบท หรือชื่นชอบการแสดงออกของนักแสดงมากๆ อย่างภาพยนตร์เรื่อง #รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ที่แม้ว่าจะผ่านไปสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงฝังอยู่ในใจและเป็นเรื่องโปรดของหลายๆ คน
โดยภาพปกที่ Netflix หยิบยกมาจากในภาพยนตร์แสดงให้เห็นทั้งความสัมพันธ์และชีวิตการทำงานในปัจจุบันที่ยังเป็นอยู่ได้ดี ทำให้ส่วนใหญ่อินมากๆ แม้ว่าจะเคยดูแล้ว แต่หากเลื่อนผ่านก็คงต้องวนมาดูซ้ำบ้างแน่นอน เพราะอย่างที่หลายคนมักพูดกันว่า เมื่อ 10 ปีก่อน เราเป็นเด็กที่ดูชีวิต #เหมยลี่ แต่ทว่า 10 ปีผ่านไป เรากลับเติบโตเป็น #เหมยลี่ เสียเอง
สัญลักษณ์ที่มีความหมาย
ภาพบางภาพแม้ไม่มีนักแสดงหลัก แต่กลับสื่อความหมายออกมาได้เป็นอย่างดี และภาพบางภาพหากนำมาเติมรายละเอียดเพิ่มจากเดิมสักเล็กน้อย ก็คงช่วยนำเสนอมุมมองและความหมายดีๆ อีกไม่ใช่น้อย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ ที่โดนมองข้ามอยู่บ่อยๆ แต่ Netflix ได้นำความธรรมดาเหล่านี้มาทำเป็นสัญลักษณ์ ที่ช่วยเล่าเรื่องราวผ่านภาพได้เป็นอย่างดี
เช่น ภาพปกของ #WhentheCamelliaBlooms คือฉากที่ยงชิกกำลังยื่นเงินค่าถั่ว 8,000 วอนให้กับดงแบค แต่ Netflix ทำออกมาให้เหมือนว่ากำลังยื่นช่อดอกคาเมเรียนให้ หรือซีรีส์ #HospitalPlaylist ภาพปกที่ไม่มีนักแสดงสักคน แต่มีเพียงแค่หูฟังทางการแพทย์ (Stethoscope) รามยอนเส้นอืดๆ แว่นตา สมุดโน้ต และแก้วกาแฟดำก็คงพอจะทำให้คนดูรู้ได้ว่านี่คือเรื่องราวชีวิตของอาชีพหมอในแต่ละวัน
คัดมาให้แล้วชอบแน่ 100%
สงสัยไหมว่าทำไมแต่ละครั้งที่ดูซีรีส์จบ แล้วเวลาจะหาเรื่องต่อๆ ไปดูถึงมีแต่ “นักแสดงที่ชอบ” และ “ประเภทหนังที่ใช่” ขึ้นมาเต็มไปหมด นั่นเป็นเพราะการวิเคราะห์ Algorithm ที่เก็บข้อมูลจากเนื้อหาที่ดูบ่อยๆ คำที่นิยมค้นหา ช่วงเวลา ประวัติการดาวน์โหลดต่างๆ หรือเรื่องที่ไม่เคยสนใจดูเลย ทำให้ Netflix รู้ว่าแต่ละคนชอบหรือไม่ชอบอะไร รวมถึงยังคัดเลือกเนื้อหาเหมาะๆ มาให้ได้ตรงใจด้วย
อ้างอิง :
https://bit.ly/3NCrPui
https://bit.ly/3NqO1aW
https://bit.ly/38H8gCF
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#marketing