ชมตัวอย่าง! สื่อสารด้วย ‘ศิลปะ’ อย่างไรให้สร้างสรรค์และเหมาะสม

716
สื่อสารด้วย 'ศิลปะ'
ชมตัวอย่าง! สื่อสารด้วย 'ศิลปะ' อย่างไรให้สร้างสรรค์และเหมาะสม

ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจได้เห็นรูปการ์ตูนล้อเลียน ‘ลิซ่า’ จากวง BLACKPINK ในชุดไทย ซึ่งถูกโพสต์โดยกรมอนามัย เพื่อเชิญชวนให้คนดาวน์โหลดมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่โพสต์ดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นได้ด้วยดีอย่างที่คาดไว้  เมื่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนมากออกมาต่อต้าน!

เพราะเหตุใดคนถึงออกมาแสดงความไม่พอใจ? เป็นเพราะใช้ศิลปะที่ดู ‘ไม่เป็นทางการ’ เพราะโหนกระแสมากเกินไป หรือเพราะเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม? มาหาคำตอบในเรื่องนี้กันดีกว่า

ทำไมหลายคนถึงออกมาต่อต้านโพสต์ดังกล่าว

จริงๆ แล้วการวาดรูปการ์ตูนล้อเลียนคนดัง โดยเฉพาะนักการเมือง เรียกกันว่า  ‘Political Cartoon’ หรือ ‘Editoreal Cartoon’ ยังเป็นที่พบเห็นได้ทั่วไปตามเว็บไซต์ของสำนักงานข่าว อย่าง The New York Times และ The Atlantic แต่ที่คนจำนวนมากออกมาต่อต้าน เป็นเพราะรูปการ์ตูนดังกล่าวแสดงออกถึง ‘การคุกคามทางเพศ’ 

Advertisements

ตัวการ์ตูนชายสูงอายุที่ยืนเคียงข้างกับลิซ่านั้น มีการมองด้วย ‘ตาถลน’ ประกอบกับความพูดที่คิดในใจว่า “น่ารักจังเลยลุงชอบๆ” องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้สามารถตีความออกมาได้ในเชิงคุกคามทางเพศ

การ์ตูนล้อเลียนเช่นนี้ยังชวนให้หวนคิดถึงการ์ตูนเล่มเล็กๆ ราคา 12 บาทอย่าง (ซึ่งต่อมามีการปรับราคาเป็น 15 บาทและ 20 บาทตามสมัย) ที่หลายคนเติบโตมาด้วย จริงอยู่ที่การ์ตูนเหล่านี้มอบความสนุกและช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเนื้อหามักจะมีการคุกคามทางเพศอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะผ่านมุกตลกหรือการวาดรูปให้ตัวการ์ตูนมีทรวดทรงเกินจริง

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่การ์ตูนเช่นนี้ยังไม่มีใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่เพราะว่าเป็นเรื่องที่เคยถูกต้อง แต่เป็นเพราะในสมัยนั้น โลกอินเทอร์เน็ตยังไม่เชื่อมต่อผู้คน ยังไม่ได้เป็นพื้นที่ให้คนออกมาแสดงความคิด และ การตระหนักรู้ในประเด็นการคุกคามทางเพศยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน 

นอกจากนั้น หลายคนยังมองว่าการวาดตัวละครคล้ายลิซ่า ซึ่งกำลังเป็นกระแสในช่วงนี้ ต้องการเกาะกระแสและพยายาม ‘เคลม’ ความสำเร็จของนักร้องท่านนี้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเธอโด่งดังด้วยความสามารถและความพยายามของตัวเองล้วนๆ ไม่ใช่เพราะการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ

ไม่นาน กรมอนามัยก็ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกจากหน้าแฟนเพจและมีการออกมาขอโทษ แต่กระนั้น เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานของรัฐฯ ถูกวิจารณ์เรื่องการสื่อสาร

ความล้มเหลวในการสื่อสารของหน่วยงานรัฐบาล

ตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อปีก่อน รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาการสื่อสารมาโดยตลอด ตั้งแต่การออกคำสั่งไม่ชัดเจน ปรับเปลี่ยนกลับไปกลับมา ไปจนถึงเรื่องเล็กน้อย อย่างความพยายามในการปรับสีภาพรายงานยอดผู้ติดเชื้อให้ดูไม่รุนแรง

การสื่อสารเช่นนี้ดูไม่น่าเชื่อถือและสร้างความ ‘ตระหนก’ มากกว่าตระหนัก

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้เสนอแนะว่า นอกจากรัฐบาลจะสื่อสารกว้างๆ สำหรับคนทั่วไปทุกคนแล้ว ควรออกแบบเนื้อหาและข้อมูลโดยเฉพาะเพื่อการสื่อสารกับคนเฉพาะกลุ่มด้วย อย่างการใช้ภาษาถิ่น ภาษาไม่วิชาการ เข้าใจง่าย การใช้ภาพประกอบ หรือการใช้แพลตฟอร์มที่คนกลุ่มนั้นนิยมใช้กัน

ยกตัวอย่างเช่น การใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวที่มีมากกว่า 2 ล้านคนในไทย หรือการเลือกทำวิดีโอผ่านแอปฯ Tiktok เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเยาวชน เป็นต้น

ตัวอย่างความสำเร็จจาก COVIDLatino.org 

ในสหรัฐฯ มีชาวเชื้อสายลาตินอเมริกาอาศัยอยู่มากถึง 60 ล้านคน และจำนวนมากเป็นแรงงาน ปัญหาที่คนเหล่านี้ต้องพบเจอในช่วงโควิด-19 คือ ข้อมูลจากภาครัฐที่สื่อสารด้วย ‘ภาษาอังกฤษ’ และมีเนื้อหา ‘เชิงวิชาการ’ ทำให้หลายคนไม่เข้าใจถึงสถานการณ์ ข้อมูลเกี่ยวกับโรค หรือข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนดีนัก จึงลังเลในการไปฉีดวัคซีน

บางคนหาทางออกด้วยการติดตามแหล่งข่าวสารจากช่องทางอื่นแทน แน่นอนว่าหลายต่อหลายครั้ง ข้อมูลที่ได้รับคือข่าวปลอม เลยกลายเป็นว่าหากคนเหล่านี้ไม่รู้ข้อมูล ก็ได้รับข้อมูลผิดๆ ไปจำนวนมาก

ผลที่ตามมาคือกว่า 30% ของตัวเลขผู้ป่วยโควิดและ 20% ของผู้เสียชีวิตจากโควิดเป็นชาวเชื้อสายลาตินอเมริกา

Advertisements

Gilberto Lopez ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่ง Arizona State University จึงได้จัดแคมเปญสร้างเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ชื่อ “COVIDLatino.org” สำหรับชาวลาตินอเมริกาโดยเฉพาะ โดยเนื้อหาในเว็บไซต์มีทั้ง 2 ภาษาเป็นหลัก คือภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ (มีการใช้ภาษา Zapateco ภาษาพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโกในบางกรณี) มีการมีการใช้สื่อที่เข้าใจง่ายอย่าง ‘แอนิเมชัน’ และ ‘การ์ตูน’

การ์ตูนเปรียบเทียบระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว (Vaccinated) สามารถกลับมาทำงานได้
ต่างกับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (Not Vaccinated)
การ์ตูนเปรียบเทียบระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว (Vaccinated) สามารถกลับมาทำงานได้
ต่างกับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (Not Vaccinated)

ในส่วนของการ์ตูนนั้น ทางองค์กรได้มีการร่วมมือกับ Lola Alcaraz นักวาดการ์ตูนชื่อดังเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์และหนึ่งในทีมงานผู้สร้างแอนิเมชันเรื่อง “Coco” ที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี

การ์ตูนของ Lola Alcaraz สื่อสารออกมาได้อย่างเข้าใจง่ายและสร้างสรรค์ อย่างการเปรียบเทียบชีวิตของคนที่ฉีดวัคซีนแล้วกับคนที่ยังไม่ได้ฉีด  หรือการสร้างตวามตระหนักรู้เรื่องไวรัสสายพันธ์ใหม่ผ่านภาพที่เข้าใจง่าย

‘ขอแนะนำให้รู้จักกับญาติของฉัน สายพันธ์เดลต้า!’ (การ์ตูนอธิบายถึงความอันตรายกว่าของสายพันธุ์ใหม่ให้เข้าใจง่ายๆ พร้อมเชิญชวนฉีดวัคซีนป้องกัน)
‘ขอแนะนำให้รู้จักกับญาติของฉัน สายพันธ์เดลต้า!’
(การ์ตูนอธิบายถึงความอันตรายกว่าของสายพันธุ์ใหม่ให้เข้าใจง่ายๆ

พร้อมเชิญชวนฉีดวัคซีนป้องกัน)

หรือว่าจะเป็นการผสานวัฒนธรรมเข้าไป อย่างการวาดรูปออกมาให้คล้าย ‘Loteria’ หรือบิงโกของชาวลาตินอเมริกานั่นเอง

ข้อดีของวัคซีนผ่านการ์ตูนในรูปแบบ Loteria หรือบิงโกของชาวลาตินอเมริกา
เนื้อหาพูดถึงสิ่งที่คุณสามารถ ‘ลุ้นชิงโชค’ ได้หากฉีดวัคซีนแล้ว โดยมีตั้งแต่ความรัก อาหาร สุขภาพดีที่ การสังสรรค์ และการท่องเที่ยว
ข้อดีของวัคซีนผ่านการ์ตูนในรูปแบบ Loteria หรือบิงโกของชาวลาตินอเมริกา
เนื้อหาพูดถึงสิ่งที่คุณสามารถ ‘ลุ้นชิงโชค’ ได้หากฉีดวัคซีนแล้ว โดยมีตั้งแต่ความรัก อาหาร สุขภาพดีที่ การสังสรรค์ และการท่องเที่ยว

งานศิลปะเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, Youtube, และ Tiktok สาเหตุที่เน้นไปที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นหลักเป็นเพราะว่าผู้จัดทำต้องการต่อสู้กับ ‘ข่าวปลอม’ ที่มาจากช่องทางเหล่านี้เหมือนกัน

ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการสื่อสารด้วย ‘ศิลปะ’ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างข้อมูล โดยทางผู้จัดทำหวังว่าความเข้าใจนี้เองจะนำไปสู่อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

จะเห็นได้ว่าการสื่อสารด้วยศิลปะก็ถือเป็นวิธีหนึ่งในการเข้าถึงประชาชน แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือเรื่อง ‘ความเหมาะสม’ หากทางหน่วยงานของรัฐบาลได้นำผลตอบรับ จากประเด็นล่าสุดไปปรับปรุงแก้ไขคงจะดีไม่ใช่น้อย เพราะในประเทศไทยก็มีศิลปินศักยภาพสูงจำนวนมากที่รอใช้ความสามารถในการแก้วิกฤตนี้ร่วมกันอยู่

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

  • ทะยาน Live “สื่อสารอย่างไรให้เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย? เรื่องที่ภาครัฐและเอกชนควรเข้าใจ” >> https://bit.ly/3ExGwLI
  • การสื่อสารในยามวิกฤต | Mission To The Moon EP.1186 >> https://bit.ly/3EB1OrV

อ้างอิง

https://nbcnews.to/3lDvHyV
https://bit.ly/3u2y3eI
https://bit.ly/3lIvIlc

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements