วันหยุดแต่เงินไหลมาไม่หยุด! กับกลยุทธ์เพิ่มยอดขายในช่วงเทศกาล (Seasonal Marketing)

726
Seasonal Marketing

รู้ตัวอีกที วันนี้ก็วันคริสมาสต์เสียแล้ว แล้วทุกๆ สิ้นปีเราจะเห็นสิ่งที่หลายๆ แบรนด์ทำเพื่อต้อนรับเทศกาล เช่น อีเวนต์ คอลเลกชันใหม่ กิฟต์เซตสุดพิเศษ ของตกแต่งหน้าร้าน แบ็กดรอป หรืออาจจะเป็นแฮชแท็กประจำเทศกาลเพื่อให้ชาวโซเชียลเห็น ฯลฯ 

แต่! ที่แบรนด์ลงทุนทำขนาดนี้ในช่วงเทศกาล มันได้ผลตอบแทนที่ ‘คุ้มค่า’ จริงไหม?

ลองมาดูสถิติยอดขายร้านค้าต่างๆ ในสหรัฐอเมริกากัน! ข้อมูลจาก YCharts 2021 เผยว่า ในปีนี้ ยอดขายจากปกติที่เคยดรอปในช่วงต้นจนถึงกลางปี ต่ำสุดที่เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาพุ่งสูงตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 5.66 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน และมีทีท่าว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

Advertisements

จากการคาดการณ์ของ Adobe (2021) ยอดขาย E-commerce ในช่วงสามวันหยุดสำคัญใน USA โดยเทียบจากปี 2018-2021 พบว่า รายได้ในวันขอบคุณพระเจ้าอาจเติบโตขึ้นถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้

ต่อมาในวัน Black Friday (วันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้า) ซึ่งชาวอเมริกันถือว่า เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลจับจ่ายใช้สอยของเทศกาลคริสต์มาส คาดว่าในปีนี้จะเติบโต 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่นิดหน่อย แต่ถือว่ายังสูงกว่าปี 2018 และ 2019 อยู่มาก

และสุดท้ายในวัน Cyber Monday ซึ่งโดยรวมจะคล้ายคลึงกับวัน Black Friday แต่ต่างที่ในวันนี้ร้านค้าจะลดราคาของสินค้าออนไลน์ ทาง Adobe คาดการณ์ว่า รายได้ E-commerce จะสามารถทะลุ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว!

นอกจากนี้ เราลองมาดูสถิติย้อนหลังอัตราการเติบโตยอดขายในช่วงคริสต์มาสตั้งแต่ปี 2002-2021 จาก Statista กันสักหน่อย ถึงแม้อยู่ในช่วงโควิด-19 แต่ทาง Statista คาดการณ์ว่า อัตราขายของร้านค้าปลีกจะสามารถเติบโตได้มากขึ้นจากปีที่แล้วเป็น 8.5% – 10.5% นับได้ว่าเป็นอัตราเติบโตที่มากที่สุดในรอบ 20 ปีเลย

รู้แบบนี้แล้ว แบรนด์สนใจทำ Seasonal Marketing บ้างแล้วใช่ไหม?

มาดูกันดีกว่าว่า มี ‘กลยุทธ์’ อะไรบ้างที่เราทำได้ จะได้เตรียมตัวกอบโกยต้อนรับเทศกาลในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อย่างคริสมาสต์ ปีใหม่ หรือเตรียมรับเทศกาลใหญ่ๆ ในปีหน้าอย่างวาเลนไทน์ ตรุษจีน กันเถอะ

1. กระตุ้นให้คนออกมาช็อป ‘ก่อน’ จะถึงช่วงเทศกาล

เหตุผลที่แบรนด์ต่างๆ ต้องรีบโปรโมตสินค้าของตนก่อนเข้าช่วงเทศกาลคือ การเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเพิ่มสินค้าของตนเป็นตัวเลือกในใจ โดยแบบสำรวจของ Amazon เผยว่า ในช่วงใกล้เทศกาล 16% ของผู้ทำแบบสอบถามไม่รู้ว่าจะซื้อสินค้าอะไรดี และอีก 56% มีข้อมูลในใจแล้ว แต่ยังขาดข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น โปรโมชันหรือความพิเศษของสินค้าจากแต่ละแบรนด์ นี่เป็นโอกาสอันดีของแบรนด์ที่จะสามารถรักษา 72% ของลูกค้าไว้ในมือ

นอกจากนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนมีแนวโน้มที่จะออกมาซื้อของก่อนเทศกาลจะมาถึง เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดและของขาดสต็อก โดย Mediapost (2021) คาดการณ์ว่า ยอดช็อปก่อนเข้าสัปดาห์ Cyber Monday ในทั่วโลกอาจเติบโต 3% คิดเป็นมูลค่า 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เราจะเห็นได้ว่า หลายๆ แบรนด์และร้านค้าต่างวางแผนโปรโมตก่อนเทศกาลจะมาถึง ยิ่งในช่วงคริสต์มาสร้านค้าต่างพากันโปรโมตจนเกิดปรากฏการณ์ที่คริสต์มาสเริ่มต้นเร็วขึ้นทุกๆ ปี หรือ “Christmas Creep” เช่น Kmart, Toys ‘R’ Us และ Macy’s ที่เริ่มโปรโมชันต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสตั้งแต่เดือนกันยายนเลยด้วยซ้ำ

2. ใช้การตลาดแบบผสมผสาน (Omnichannel)

ในยุคที่เรายังไม่เจอการแพร่ระบาดของไวรัส หลายแบรนด์เลือกใช้แค่ช่องทางออฟไลน์ หรือขายผ่านหน้าร้านเพียงอย่างเดียว ส่วนระบบออนไลน์อาจไว้ใช้ในกรณีที่ลูกค้าอยู่ไกลจากร้านมากๆ 

แต่พอโควิด-19 แพร่ระบาดมาหลายเดือน หลายแบรนด์เลือกหันมาโฟกัสช่องทางออนไลน์อย่างเดียวเนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ได้ และอาจมองว่า เราสามารถหาลูกค้าได้มากขึ้นจากช่องทางออนไลน์ จนตัดสินใจเลิกขายแบบออฟไลน์ไปเลย

แต่จริงๆ แล้ว การทำการขายผ่านทั้งสองช่องทางนั้น สามารถเพิ่มรายได้ให้แบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลจาก RetailDive (2020) เผยว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดติดกับการซื้อของผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่ง โดย 49% ของผู้บริโภครู้สึกว่า การซื้อของผ่านร้านค้าโดยตรง มันแค่สะดวกในการซื้อมากกว่า ในขณะที่ 57% บอกว่า ที่พวกเขาเลือกซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เพราะมันได้ส่วนลดมากกว่า

Advertisements

จากสถิตินี้ทำให้เรารู้ว่า ปัจจัยหลักของการสร้างประสบการณ์การซื้อของดีๆ ให้ลูกค้า คือการใช้รูปแบบการขายแบบผสมผสาน (Omnichannel) และรักษาระดับการส่งข้อความหรือข้อมูลสินค้าให้สม่ำเสมอในทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้ขายอาจต้องรับผิดชอบการจัดการข้อมูลเพิ่มมากขึ้น

3. โฟกัสที่การตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้มากขึ้น

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ในช่วงสิ้นปีมีงานลดกระหน่ำเซลสินค้ามากมาย และมีลูกค้าที่รอจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ปัญหาที่อาจตามมาได้คือเรื่องซัพพลายเชน ดังนั้น การบริหารคลังสินค้าดีๆ ไม่ให้ของหมด หรือไม่เพียงพอจนลูกค้าโมโห ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาลูกค้าแล้ว

นอกจากนี้ ในช่วงเวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดีในการ ‘กระชับความสัมพันธ์’ กับลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นผ่าน “การตลาดแบบเฉพาะบุคคล” (Personalization) ด้วยนะ!

เช่น Starbucks ที่มี Starbucks Rewards ซึ่งสามารถแนะนำเมนูใหม่ๆ แก่ลูกค้า ผ่านการใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความชื่นชอบและพฤติกรรมขณะใช้จ่ายของลูกค้าที่แตกต่างออกไปในแต่ละคน ระบบนี้ยังออกแบบโปรโมชันหรือส่วนลดที่จะดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการอีกในอนาคต 

นอกจากนี้ยังมีระบบ Real-time Trigger และการแจ้งเตือนแบบ Push Notification ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า Starbucks รู้ว่า พวกเขาชอบอะไรและสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้ผู้ใช้ได้ ซึ่งการใช้การตลาดแบบเฉพาะบุคคลนี้เอง ทำให้ Starbucks มีสมาชิกที่ยังคงแอคทีฟอยู่ถึง 17.2 ล้านคน และมีอัตราของสมาชิกที่ใช้งานเกิน 90 วันเพิ่มขึ้นถึง 14% 

ในปี 2020 Forbes ได้รวบรวมข้อมูลสถิติจาก Accenture และ Epsilon พวกเขาพบว่า 91% ของลูกค้ามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มอบส่วนลดและคำแนะนำที่เหมาะสมกับพวกเขา และ 80% ของลูกค้าจะเลือกสินค้าที่สามารถมอบประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลให้ได้

ในส่วนของการทำแคมเปญโปรโมตแบบเฉพาะเจาะจงนั้น เราสามารถดูสถิติได้จาก BlackFriday.com โดยพบว่า 63% ของนักช็อปที่วางแผนจะมาซื้อของในวัน Black Friday ทั้งในร้านและ/หรือออนไลน์ พวกเขามีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 44 ปี ในขณะเดียวกัน นักช็อปที่อายุมากกว่า 45 ปีที่จะมาซื้อของในวันเดียวกันนั้นมีแค่ 37% ซึ่งข้อมูลประชากรนี้จะช่วยให้นักการตลาดวางแคมเปญที่เหมาะกับลูกค้าในกลุ่มอายุน้อย และเลือกใช้แพลตฟอร์มที่เข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ทั่วถึงเช่น TikTok

ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะย่ำแย่เพราะโควิด-19 แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ และเทศกาลในช่วงนี้ รวมถึงเทศกาลที่ใกล้จะมาถึงจะกลายเป็นตัวช่วยพาธุรกิจของเราให้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง และจะดียิ่งขึ้นไปอีก หากแบรนด์ต่างๆ สามารถนำกลยุทธ์ข้างต้นมาปรับใช้ให้เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะเพิ่มยอดขายจากลูกค้าที่มีอยู่แล้ว ยังสามารถดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มได้อีกด้วย!

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
8 เทรนด์ใหญ่ที่จะเปลี่ยนโลกธุรกิจในปีหน้า
รวม 8 กลยุทธ์สร้าง ‘Brand Loyalty’ โดนๆ จนลูกค้าต้องกลับมาซื้อซ้ำ!

อ้างอิง
https://bit.ly/3smVlgp
https://bit.ly/3J5kKkF
https://bit.ly/30L6P1N
https://bit.ly/3Ja93Jk
https://bit.ly/3egUANE
https://bit.ly/3ejTW1Y

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#marketing

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่