โหลดมาเล่นเพราะเห็นแล้วขัดใจ! ถอดบทเรียนการโฆษณาของบริษัทเกม ‘Playrix’

1169
Playrix

มีใครเคยเล่นเกมของ Playrix กันมาบ้าง?

พูดถึงชื่อบริษัท ‘Playrix’ ไป หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกัน แต่ถ้าบอกว่าเป็นชื่อบริษัทของผู้พัฒนาเกมมือถือสุดฮิตอย่าง Homescapes และ Gardenscapes แล้ว หลายคนคงต้องร้องอ๋อออกมาในทันที แถมบางคนเรียกได้เลยว่า ติดเกมนี้จนงอมแงมกันเลยทีเดียว หรือถ้าพูดชื่อเกมแล้วยังนึกไม่ออกว่าเป็นยังไง ลองนึกถึงโฆษณาที่มีคุณลุงเสื้อขาวให้ช่วยเลือกอุปกรณ์จัดการบ้านที่ไฟไหม้ หรือท่อน้ำที่พัง ทีนี้เชื่อว่าแทบทุกคนต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เคยเห็นโฆษณาตัวนี้กันมาก่อนอย่างแน่นอน!

เพราะถ้าใครที่เคยเห็นโฆษณาเกมนี้มาแล้ว คงต้องจำได้แม่น ไม่มีทางลืม เพราะเห็นทีไรก็ต้องรู้สึก “ขัดใจ” กับตัวโฆษณาอยู่หน่อยๆ ในทุกครั้งที่โฆษณานี้เด้งขึ้นมา

Advertisements

3 สิ่งขัดใจกับเกม Playrix

  1. ขัดใจแรก ในโฆษณาก็โชว์ตัวอย่างการเล่นเกมที่ ‘ไม่ดี’ โดยเลือกตัวเลือกง่ายๆ ให้ผิดแบบงงๆ เห็นแล้วก็หงุดหงิดใจว่าจะเลือกตัวเลือกนั้นไปทำไม
  2. ขัดใจที่สอง เล่นไม่ดีไม่พอ ยังยิงโฆษณามาบ่อยๆ อีก ไม่ว่าจะ Facebook หรือ Youtube เข้าไปในช่องทางไหนก็เจอโฆษณาเกมนี้ตลอด จนสุดท้าย หลายคนก็ต้องยอมกดดาวน์โหลดมาเล่นตามกันจนได้
  3. ขัดใจที่สาม ลองดาวน์โหลดเกมมาเล่นแล้ว แต่ทำไมไม่เห็นเหมือนในโฆษณาเลยสักนิด จัดบ้านจัดสวนอยู่ตรงไหน ทำไมมีแต่ให้เรียงบล็อกสีล่ะ

ทำไมเกมนี้ถึงมีแต่เรื่องให้ขัดใจเต็มไปหมดเลยนะ?

ยิ่งคนไม่ชอบ ยอดดาวน์โหลดยิ่งพุ่ง

ถึงการโฆษณาแบบทำให้ ‘ขัดใจ’ อย่างนี้ จะดูแล้วทำให้คนไม่ค่อยชอบใจกันสักเท่าไหร่ แต่เพราะความรู้สึกขัดใจนี้เองที่ดึงยอดดาวน์โหลดเกมให้พุ่งกระฉูด เพราะแค่ยอดการติดตั้งเกมของช่วงต้นปี 2021 ก็ปาไปแล้วกว่า 15 ล้านครั้ง รวมแล้วมีการติดตั้งไปทั้งหมดเกิน 439 ล้านครั้ง สร้างรายได้ไปกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

เพราะการดึงความสนใจคนดูแบบนี้ก็เป็นเหมือนการเรียกร้องความสนใจอย่างหนึ่ง ถ้าโฆษณาเป็นแค่โชว์เล่นเกม Puzzle เรียงสี เรียงผลไม้ธรรมดาๆ ก็ดูจะเป็นเกมที่ไม่มีอะไรพิเศษจากเกมจับคู่แบบอื่นๆ สักเท่าไร

การทำการตลาดด้วยการเล่นกับ ‘ความรู้สึก’ ของคน หรือที่เรารู้จักกันว่า ‘Emotional Marketing’ จึงมักจะได้ผลเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าที่ใช้ ‘อารมณ์นำ’ ในการตัดสินใจอย่างการเล่นเกมแบบนี้

การโฆษณาโดยบอกว่า “เกมนี้เล่นยากจัง” แล้วจงใจเล่นแบบผิดๆ ให้แพ้ เล่นกับความรู้สึกหงุดหงิดของคนดู พอผู้ชมเห็นว่าทำไมเล่นอะไรง่ายๆ แบบนี้แล้วยังแพ้ก็รู้สึกค้างคาในใจ อยากทำให้มันออกมาดีกว่านี้ จนต้องยอมเข้าไปกดดาวน์โหลดมาเล่นให้ชนะเอง บางคนที่เผลอโหลดมาลองเล่นเพราะโฆษณา ถึงตัวเกมจะไม่ค่อยตรงปกเท่าไร แต่พอได้ลองเล่นแล้วกลับติดใจ กลายเป็นการตลาดในการทำโฆษณาแบบหนึ่ง ที่ทำได้ง่ายๆ แถมได้ผลดีซะด้วย

นอกจากนี้ยังมีเกมอื่นๆ ที่ใช้เทคนิคความรู้สึกขัดใจแบบเดียวกันมาใช้ เช่น เกม Bridge Race ที่ให้เก็บแผ่นสีเดียวกับสีตัวเองเพื่อต่อเส้นทางไปยังเส้นชัยแข่งกับสีอื่น ในโฆษณาก็เล่นแบบที่ว่า เดินหลบแผ่นสีตัวเองไปมา เก็บมาก็ได้นิดเดียว แถมยังเลือกเดินวนไปทางเดินอ้อมๆ จนแผ่นสีในมือหมด เดินต่อไปไม่ได้ จนแพ้ไปในที่สุด

ถ้าคุณเห็นโฆษณาแบบนี้แล้วรู้สึกขัดใจ อยากเอาชนะจนต้องโหลดมาเล่นเองเหมือนกันล่ะก็ แสดงว่าคุณติดกับโฆษณานี้เข้าให้ซะแล้ว!

mm2021

แต่ว่าสุดท้าย โฆษณาเกมของ Playrix ก็ ‘เกม’ จริงๆ เพราะล่าสุดทาง Advertising Standards Authority (ASA) หรือองค์กรกำกับดูแลอุตสาหกรรมโฆษณาในอังกฤษ ก็ได้ประกาศแบนโฆษณาของทั้งเกม Homescape และ Gardenscape เนื่องจาก “มีการโฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด”

Advertisements

เพราะผู้บริโภคหลายคนที่โหลดเกมตามโฆษณาก็เพราะอยากเล่นเกม ‘จัดบ้าน’ แต่โหลดมากลับได้เกม ‘เรียงสี’ แทนซะงั้น เรียกได้ว่าโดนร้องเรียนเพราะเล่นกับความรู้สึกคนเกินไปแบบนี้ ก็แอบเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค จน ASA ต้องออกโรงมาจัดการในทันที 

แม้ทาง Playrix จะออกมาบอกว่า ไม่ได้หลอกลวง ในโฆษณาก็เป็นส่วนหนึ่งของเกมจริงๆ แต่เป็นมินิเกมระหว่างด่าน แค่ในตัวเกมจริงจำเป็นต้องผ่านด่านเกมเรียงสีหลายๆ ด่านก่อน ถึงจะสามารถเข้าไปเล่นด่านจัดการบ้านตามในโฆษณาได้ แต่สุดท้ายแล้ว โฆษณานี้ก็ถูกแบนเพราะนับว่าเป็นการจงใจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดอยู่ดี

ทั้งที่ตัวเกมก็ดีอยู่แล้ว มีชื่อเสียงมาก็ตั้งหลายปี จะใช้เทคนิคโฆษณาให้คนขัดใจไปก็ไม่ว่า แต่การที่ตัวโฆษณาไม่ตรงปกกับตัวเกมจริงนี่สิที่น่าคิดว่า การทำโฆษณาแบบนี้ แม้จะดึงดูดคนมากขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยความเชื่อถือของผู้บริโภคที่ลดลง สิ่งนี้คุ้มค่าต่อภาพลักษณ์แบรนด์แล้วจริงๆ หรือเปล่า?

ว่าแต่มีใครเคยรู้สึกขัดใจจนทนไม่ไหว จนต้องเผลอโหลดเกมที่ขึ้นโฆษณาแบบนี้เกมไหนกันมาบ้าง? มาลองแชร์กัน!

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:

ชุดนักกีฬาโอลิมปิกควรเป็นแบบไหน? ถอดบทเรียนจาก Grand Sport เพราะการฟังเสียงลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ

ทำไมบริษัทควรมี “Shadow Board”? ถอดบทเรียนจาก Gucci แบรนด์ 100 ปีก็ปังได้ ด้วยพลังจาก ‘คนรุ่นใหม่’

อ้างอิง:
https://bit.ly/3BwzzZ7
https://bbc.in/3ysnXUR
https://bit.ly/3yt3peP

#missiontothemoon 
#missiontothemoonpodcast
#business
#marketing

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements