MARKETING"Music Marketing" คืออะไร? เมื่อเสียงเพลงช่วยสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำ

“Music Marketing” คืออะไร? เมื่อเสียงเพลงช่วยสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำ

ทำได้ไหม? อ่านประโยคต่อไปนี้โดยไม่ใส่ทำนอง!

“แลคตาซอย 5 บาท 125 มิลลิลิตร”
“กินอะไร กินอะไร กินอะไร ไปกิน…”
“ปู ปู ปู ปูไทย ตัวไม่ใหญ่ไม่โต”
“กย.15 ใช้จุดกันยุง ได้กลิ่นหอมฟุ้ง ไล่ยุงไปไกล”

เมื่ออ่านจบแล้วเป็นอย่างไรกันบ้าง? เชื่อว่าส่วนใหญ่แค่เริ่มคำแรกมา ก็จัดเต็มทั้งทำนองและต่อเนื้อเพลงให้จนจบแน่นอน แล้วทำไมกันนะ? ทั้งๆ ที่เพลงเหล่านี้ปล่อยออกมาก็นานแล้ว แต่ทำไมเราถึงจำได้ขึ้นใจและไม่เคยลืม

หรือแม้จะไม่มีเนื้อเพลง แต่มีเพียงแค่ทำนองขึ้นมาว่า… “ดือ ดื๊อ ดื่อ ดือ ดื๊อ ดื่อ” ก็นึกออกได้ทันทีว่าเป็นเสียงของรถไอศกรีมวอลล์คันสีแดง ที่อยากกินเท่าไรก็ไม่เคยได้กินสักที เพราะวิ่งตามคนขับไม่เคยทัน

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการสร้างแบรนด์ด้วย “เสียงเพลง” ไม่ใช่แค่เพียงสร้างภาพจำผ่านทำนองหรือเนื้อร้องอันโดดเด่นและชวนคุ้นหูเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกเข้าไปอยู่ในใจและความทรงจำในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือ กลยุทธ์การตลาดที่สร้างการจดจำและดึงดูดผู้คนด้วยเสียงเพลง หรือที่เรียกว่า “Music Marketing”


MusicMarketing คืออะไร?

“Music Marketing” คือ กลยุทธ์การตลาดที่นำศิลปะทางดนตรีมาสร้างเป็นบทเพลงโฆษณาหรือแคมเปญต่างๆ ที่ใช้ในการโปรโมตสินค้าและบริการ เพื่อช่วยสร้างภาพจำให้แบรนด์มีความโดดเด่นและแตกต่าง และช่วยโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายให้ ‘คล้อยตาม’ มากขึ้น ผ่านการใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล

แล้วการสร้างแบรนด์ให้คนจำด้วยเสียงดนตรีดีอย่างไร?

ทั้งแบรนด์เล็กและใหญ่ต่างนำกลยุทธ์นี้มาใช้กันนานแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “ดนตรี” และ “เสียงเพลง” ล้วนมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและเข้าถึงอารมณ์ของผู้คนได้มากกว่าสิ่งอื่นใด ทำให้สื่อสารได้อย่างทั่วถึงและตรงไปตรงมา สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี รวมถึงการทำ Brand Matching หรือ การร่วมมือกับศิลปินและอินฟลูเอนเซอร์ก็ยิ่งช่วยเพิ่มการจดจำมากขึ้นไปอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า Music Marketing ไม่เพียงแค่ช่วยสร้างภาพจำและความแตกต่างเท่านั้น แต่ท่วงทำนอง เนื้อหา หรือการนำเสนอต่างๆ ที่แบรนด์ตั้งใจสื่อสารออกไปนั้น สามารถปลอบประโลมจิตใจ ซึมซับเข้าไปในความทรงจำ และชวนให้หวนนึกถึงช่วงเวลาต่างๆ ที่เคยมีร่วมกับแบรนด์อีกด้วย

แล้วจะใช้กลยุทธ์นี้กับธุรกิจตัวเองได้อย่างไรล่ะ? มาดูกันว่าการสร้างแบรนด์ด้วยเสียงเพลงนั้น มีอะไรที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษบ้าง

1. รู้จักตัวตนของแบรนด์
ไม่ว่าจะเริ่มทำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ควรทำ คือ “การทำความเข้าใจตัวตนของตัวเอง” การใช้กลยุทธ์นี้ก็เช่นกัน เพราะการรู้จักตัวตนหรือแก่นแท้ของแบรนด์จะทำให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ควรทำอะไรต่อ และทำไปเพื่ออะไร โดยอาจลองตอบคำถามเหล่านี้ก่อน เช่น แบรนด์มีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร? มีเป้าหมายอย่างไร? มีภาพลักษณ์แบบไหน? คู่แข่งในตลาดเป็นอย่างไร? รวมถึงธุรกิจเหมาะสมกับการบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบใด?


2. ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
เมื่อทำความเข้าใจตัวตนของธุรกิจแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย” ไม่ว่าจะผ่านการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หรือนำข้อมูลเดิมมาต่อยอด ล้วนมีประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายชอบอะไรเป็นพิเศษ และการสื่อสารแบบไหนที่เหมาะสม


3. กำหนดMood&Toneให้ชัดเจน
หลังจากรู้จักตัวตนของแบรนด์และเข้าใจกลุ่มเป้าหมายดีแล้ว ก็ได้เวลาของการสร้างเสียงเพลงที่อยากจะสื่อสารออกไป โดยควรพิจารณาว่า Mood&Tone แบบไหนที่เหมาะกับแบรนด์และลูกค้า อยากมีภาพจำในเชิงไหน หรือสามารถนำ Emotional Marketing เข้ามาผสมผสานอย่างไร อยากให้ลูกค้ามีความรู้สึกร่วมในรูปแบบไหน เช่น ร่าเริง เศร้า หรือฮึกเหิม


4. เลือกช่องทางให้ถูกต้อง
ในยุคนี้ ผู้บริโภคมีช่องทางรับข้อมูลเยอะมากๆ ส่งผลให้มีตัวเลือกไว้เปรียบเทียบมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราควรพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งจากฝั่งธุรกิจของตัวเอง ผู้บริโภค คู่แข่ง ตลาด และแพลตฟอร์มที่จะใช้อย่างละเอียด เพื่อการสื่อสารที่ตอบโจทย์ทุกฝั่ง เช่น ศึกษาว่าลูกค้าส่วนใหญ่นิยมใช้แพลตฟอร์มไหน คู่แข่งมีการเคลื่อนไหวอย่างไร หรือแพลตฟอร์มไหนมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่า เป็นต้น


5. ออกแบบให้สั้นและชัดเจน
บทเรียนสำคัญที่ได้จากแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการใช้ Music Marketing คือ “การใช้เสียงที่โดดเด่นแต่เข้าถึงง่ายทุกเพศทุกวัย” และ “เนื้อหาที่สั้นและชัดเจน” เช่น เพลงโฆษณาของแอปฯ Shopee

“ในช้อปปี้ๆๆๆๆ เสื้อผ้าดีๆๆๆๆ ทุกอย่างมีๆๆๆๆ ที่ช้อปปี้ ในช้อปปี้ๆๆๆๆ ซื้อเก้าอี้ๆๆๆๆ ทุกอย่างมีๆๆๆๆ ที่ช้อปปี้ ส่งของฟรีๆๆๆๆ มีของดีๆๆๆๆ ทุกอย่างดีๆๆๆๆ มาช้อปกันที่ช้อปปี้”

เพราะอย่าลืมว่าเรามีเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นที่จะดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น ยิ่งสั้นและกระชับเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น แต่ก็ต้องมั่นใจว่าเนื้อหาที่สื่อไปนั้นครบ ชัดเจน และตรงประเด็น เหมือนที่ช้อปปี้บอกว่ามีขายทุกอย่าง มีของดี แถมส่งฟรีอีกด้วย


“ดนตรี” เป็นเสมือนเครื่องมือวิเศษที่สามารถเข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัย และขับเคลื่อนทุกอย่างให้ไปต่อได้ ดังนั้น หากใครอยากสร้างแบรนด์ด้วยเสียงเพลงล่ะก็ ลองหาจุดแข็งและเอกลักษณ์ของแบรนด์ ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์วิธีและช่องทางที่เหมาะสม แล้วสื่อสารทุกอย่างออกมาเป็นเสียงเพลงกัน เพราะถ้าติดหูขึ้นมาล่ะก็ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีคนก็จำไม่ลืมแน่นอน เหมือนที่เราทุกคนไม่เคยลืม “แลคตาซอย 5 บาทททททท”

Advertisements

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
Emotional Marketing กระตุ้นการซื้อด้วย ‘อารมณ์’ ได้ผลกว่าที่คิด!
“วันวานยังหวานอยู่” ยกระดับสื่อโฆษณาด้วย Nostalgia Marketing

อ้างอิง:
https://bit.ly/3kVFDnz
https://bit.ly/3M3GwGx
https://bit.ly/3PlvgHM
https://bit.ly/3yrvBCD
https://bit.ly/3vXMjaV

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#marketing

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า