ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ หลายคนอาจจะเคยเห็นเกมที่มีชื่อว่า “Elden Ring” ผ่านตากันมาอยู่บ้าง เป็นเกมที่แฟนๆ เกมหลายคนรู้ดีว่า ‘ยาก’ ตามสไตล์เกมของตระกูลนี้ แต่ Elden Ring ก็ยังสามารถทำยอดขายไปได้มากกว่า 13.4 ล้านชุดทั่วโลก ภายในเวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น
ทำไมคนถึงสนใจและซื้อเกมที่ขึ้นชื่อว่ายากมากๆ มาเล่นกันมากมายขนาดนี้?
วันนี้เราจะมาไขความสำเร็จของ “Elden RingW ที่มี ฮิเดทากะ มิยาซากิ (Hidetaka Miyazaki) ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง มาดูกันดีกว่าอะไรที่ทำให้เกมที่เล่นยากจนคนบ่น ถึงประสบความสำเร็จได้
ยิ่งยากยิ่งท้าทาย
ในช่วงยุคสมัยปี 2009 เกมต้นตระกูลของ Elden Ring ที่ชื่อว่าเกม ‘Demon Soul’ ได้ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของเกมในช่วงนั้นออกมาไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ เนื่องจากคนที่ได้ทดลองเล่นบอกว่า “เกมมันยากจนเกินไป” สวนกระแสกับช่วงนั้นที่บริษัทเกมต่างพากันทำเกมที่เข้าใจง่าย และ ไม่ยากจนเกินไป เพื่อที่จะได้เข้าถึงคนหมู่มากนั่นเอง
ต่างกับ Demon Soul ที่เกือบทุกสิ่งในเกมสามารถฆ่าเราได้ ศัตรูตัวธรรมดาสามารถฆ่าผู้เล่นได้ในการโจมตีไม่กี่ครั้ง หรือบอสที่โหดหินชนิดที่ว่า กว่าจะผ่านไปได้ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง โดยตลอดเกมไม่มีการนำทางหรือไกด์ผู้เล่นแต่อย่างใด
หลายคนรู้กันดีกว่า การจะทำให้ผู้เล่น ‘ติดหนึบ’ ได้ประมาณหนึ่ง ในเกมต้องมีความท้าทายพอประมาณให้ผู้เล่นผ่านไปได้ เพราะเมื่อผ่าน ระบบให้รางวัลในสมอง (Reward System) จะทำงาน และทำให้ผู้เล่นรู้สึกดีจนอยากเล่นต่อนั่นเอง
แต่ทำไมเกมอย่าง Demon Soul หรือ Elden Ring ถึงเลือกที่จะทำให้ผู้เล่นหลายคนยอมแพ้และเลิกเล่น?
ทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจของคุณมิยาซากิ ที่มองว่าเกมยากๆ นั้นท้าทาย เขาต้องการให้ผู้เล่นตายนับร้อยๆ ครั้งเพื่อที่จะได้เรียนรู้ เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้ได้ดีจากความผิดพลาด เขาอยากให้การตายในเกมเป็นทั้งความท้าทายและบทเรียนให้กับผู้เล่นทุกคน
เพราะทุกปัญหาที่เราเจอในชีวิตต้องมีทางแก้เสมอ เหมือนการต่อสู้กับตัวร้ายในเกมตระกูลนี้ ที่ปล่อยให้ผู้เล่นสรรหาและทดลองหลายวิธีในการเอาชนะ โดยพวกเขาต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะเขาเชื่อว่ายิ่งอุปสรรคยากแค่ไหน เวลาผ่านไปได้จะทำให้เรายิ่งภูมิใจมากขึ้นเท่านั้น
จนเกิดเป็นชาเลนจ์ต่างๆ มากมายที่เหล่าเกมเมอร์ตั้งขึ้นมาเพื่อท้าทายตัวเอง เช่น เล่นเกมจบโดยไม่โดนดาเมจเลยแม้แต่ครั้งเดียว ปิดตาสู้กับบอส หรือแม้แต่เล่นเกมทุกภาคจบโดยที่หากโดนดาเมจแม้แต่นิดเดียว ต้องกลับไปเล่นตั้งแต่ภาคแรกใหม่
และนี่เองเป็นเหตุให้เกมเมอร์มากหน้าหลายตาต่างตบเท้าเข้ามาเพื่อพิสูจน์ตัวเองกับความยากของเกม เพราะเหล่าเกมเมอร์ในยุคนั้นต่างก็เบื่อกับอะไรที่ธรรมดาๆ เกินไป มองไปทางไหนก็มีแต่เกมแนวคล้ายกันไปหมด เกิดเป็นกระแสปากต่อปากที่ส่งให้ Demon Soul มีภาคต่อออกมาอีกหลายภาค (Dark Soul 1,2,3 Bloodborne, Sekiro และ Elden Ring) และทำให้ Fromsoftware บริษัทผู้ผลิตเติบโตขึ้นไปด้วย
ความลำบากในวัยเด็กก่อเกิดการเล่าเรื่องสไตล์ใหม่
คุณฮิเดทากะ มิยาซากิ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1974 ในครอบครัวที่ยากจน จนขนาดที่ว่าตัวเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก แต่พ่อแม่ก็ไม่มีเงินพอมาซื้อหนังสือให้เขาอ่าน สิ่งเดียวที่ทำได้คือการไปห้องสมุดชุมชน และหยิบนิยาย Dark Fantasy ของต่างประเทศมาอ่านเป็นประจำ
ด้วยความที่ทักษะด้านภาษาไม่แข็งแรงมาก ทำให้คุณมิยาซากิ ในวัยเด็กนั้นอ่านแล้วไม่เข้าใจความหมายในบางคำหรือบางประโยค สิ่งที่เขาทำก็คือเติมแต่งเรื่องราวส่วนนั้นขึ้นมาใหม่ โดยใช้จินตนาการของเขาสอดแทรกลงไป ราวกับร่วมร้อยเรียงเรื่องราวไปกับผู้แต่ง
สิ่งนี้เองทำให้คุณมิยาซากิ นำการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาเสริมเติมแต่งเรื่องราวเข้าไปในเนื้อเรื่องเกมของเขา ตัวเกม Elden Ring จะบอกเรื่องราวเพียง 20% ว่าเราเป็นใคร ต้องทำอะไร โดยมีอีก 70% ที่ผู้เล่นจะต้องฝ่าฟันไปหาคำตอบด้วยตัวเอง ผ่านทุกอย่างที่อยู่ในเกม แต่ถึงเราจะพยายามแค่ไหน ผู้เล่นก็จะได้คำตอบมาเพียง 90% เท่านั้น เพราะอีก 10% เป็นความลับที่คุณมิยาซากิ อยากให้ผู้เล่นไปจินตนาการต่อกันเอาเอง และมันก็ทำให้เกมยากขึ้นไปอีก เมื่อแทบไม่มีใครมาบอกว่าเราควรทำอะไร หรือไปทางไหน
การเล่าเรื่องแบบทิ้งปริศนาไว้ ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์จากเกมของคุณมิยาซากิ มันได้สร้างคอมมิวนิตีมากมายให้ผู้คนได้เข้ามาถกเถียงกันเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของเกม (จนตอนนี้เกม Demon Soul จากปี 2009 ยังมีคนตั้งทฤษฎีใหม่ๆ กันอยู่ตลอดเวลา) ทำให้ตัวเกมดูลึกลับ และรอให้เหล่าเกมเมอร์มาหาคำตอบในแบบฉบับของตัวเขาเอง
ออกแบบเกมจากประสบการณ์ตรง
หากจะพูดถึงเกมของคุณมิยาซากิ มีอยู่ระบบหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก นั่นคือการให้ผู้เล่นสามารถทิ้งข้อความไว้บนพื้น เพื่อเตือนหรือบอกเรื่องสำคัญให้ผู้เล่นที่ตามมาได้รู้ เช่น ข้างหน้ามีกับดัก ข้างหน้ามีกล่องสมบัติ หรือ ตรงนี้มีทางลับ เพื่อให้เหล่าเกมเมอร์ได้ช่วยเหลือกัน
คุณมิยาซากิ ได้ไอเดียนี้มาจากตอนที่กำลังขับรถขึ้นเนินกลับบ้านในวันที่หิมะตก แต่รถของเขาไม่สามารถขึ้นเดินได้เนื่องจากหิมะตก ทำให้คันที่อยู่ข้างหลังเขา ถัดไป และถัดไป ไม่สามารถไปต่อได้ ทำให้รถที่อยู่คันถัดไปจากคุณมิยาซากิลงมาจากรถ จากนั้นก็ช่วยกันดันรถของเขาให้พ้นเนินไป และรถทุกคันก็เริ่มใช้วิธีเดียวกัน คือช่วยกันดันคันที่อยู่ข้างหน้าให้ไปต่อได้
ทำให้คุณมิยาซากิคิดขึ้นมาได้ว่าเขาไม่มีโอกาสได้ลงไปขอบคุณคนที่มาช่วยดันรถเขาเลย และเขาก็ยังคิดเป็นห่วงอีกว่ารถทุกคันจะสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ แถมคงไม่มีโอกาสได้เจอคนพวกนี้อีกแล้วตลอดชีวิต ทำให้เขาได้แรงบันดาลใจในการออกแบบระบบทิ้งข้อความไว้บนพื้นให้ผู้เล่นได้ช่วยเหลือกัน
ซึ่งระบบนี้ถูกใจคนที่ได้ลองสัมผัสเป็นอย่างมาก เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคนี้ไปเพียงคนเดียว ยังมีผู้เล่นคนอื่นที่คอยช่วยเหลือชี้ทางให้กันและกัน
และทั้งหมดนี้เองทำให้เกมของคุณฮิเดทากะ มิยาซากิ นั้นเป็นที่นิยมและครองใจเหล่าสาวกมาตลอด หากมองในมุมธุรกิจ คุณมิยาซากิ ก็คือคนหนึ่งที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คนกลุ่มน้อย (กลุ่มคนที่ชอบเล่นเกมยาก) แล้วเปลี่ยนคนหมู่มากให้หันมาสนใจเกมของเขาได้ โดยอาศัยจังหวะที่ผู้คนต่างเบื่อเกม Casual และกำลังมองหาเกมที่บ้าพอจะสวนกระแส ทำเกมยากออกมาขายในยุคนั้น
อ้างอิง:
https://bit.ly/3G0gyl2
https://bit.ly/3NmD6ir
https://bit.ly/3wtCEtd
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#marketing
#inspiration