จะปีใหม่แล้ว เทรนด์การตลาดใหม่ก็ต้องมาแล้วไหม?
เพราะการตลาดเป็นเรื่องสำคัญ ของคนทำธุรกิจ ที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวและรับมือการเปลี่ยนแปลงในทุกย่างก้าว ซึ่งการเข้าใจเทรนด์การตลาดที่ดีนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้ว่า “อะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ”
ในปัจจุบัน ความต้องการของผู้บริโภคและตลาดโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์โรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รวมถึงราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยรับฟังข้อมูลข่าวสารรอบตัวและนำข่าวสารเหล่านี้มาคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่บางครั้ง เราไม่จำเป็นคาดการณ์เทรนด์การตลาดให้เหนื่อยเปล่าอีกต่อไปอีกแล้วในปีหน้า เพราะบทความนี้จะมาทุกคนมารู้จัก 7 เทรนด์การตลาดมาแรงในปี 2023 ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เหล่าคนทำธุรกิจทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ เพราะเทรนด์การตลาดทั้งหมดนี้ เป็นเหมือนกับคอนเซปต์เบื้องต้น ที่จะทำให้เราสามารถต่อยอดและเชื่อมโยงไปยังสายงานที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้อย่างแน่นอน
1. แบรนด์ต้องมีจุดยืนที่แข็งแรงและมุ่งสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน
ในอดีต ผู้บริโภคมักจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว โดยแค่พิจารณาจากสินค้าตรงกับการใช้งานและราคาสมเหตุสมผลก็สามารถทำให้ผู้บริโภคควักเงินจ่ายได้อย่าง
ง่ายดายแล้ว แต่ในตลาดของยุคปัจจุบัน ผู้บริโภคได้เปลี่ยนนิสัยการเลือกสินค้าไปอย่างสิ้นเชิง
จากการสำรวจล่าสุดโดย Sprout Social ผู้บริโภค 2 ใน 3 เชื่อว่าบริษัทต่างๆ ควรมีจุดยืนในประเด็นทางสังคมและการเมือง เมื่อลูกค้ารู้สึกว่าพวกเขามีค่านิยมที่สอดคล้องกับบริษัท สิ่งนี้จะสร้างความไว้วางใจ ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทดังกล่าวมากกว่า
นอกจากนี้ จากผลตอบแบบสำรวจของ McKinsey & Co. ได้ข้อสรุปที่คล้ายกับการสำรวจของ Sprout Social ซึ่งพวกเขาพบว่า 75% ของคน Gen Y เต็มใจที่จะซื้อสินค้าที่แพงกว่า แต่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับค่านิยมที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
2. ดึงดูดลูกค้าด้วย “Short Video” ผ่าน TikTok และ Instagram
ในปัจจุบัน TikTok ยังคงประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้งานอยู่ประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลก แต่ทั้งนี้ TikTok เองก็มีวัตถุประสงค์การใช้งานที่ค่อนข้างหลากหลาย เมื่อเทียบกับแอปฯ อื่นๆ โดยแอปฯ นี้เป็นทั้งพื้นที่นำเสนอของแบรนด์ ให้ความรู้ หรือใช้เพื่อความบันเทิงก็ได้ ผ่านรูปแบบของวิดีโอแบบสั้น หรือ Short Video
นอกจากที่ TikTok แล้วแอปฯ ยอดนิยมอย่าง Instagram ก็กำลังพัฒนาฟีเจอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงผู้ใช้ให้มากขึ้นด้วยวิดีโอสั้นเช่นกัน รวมถึงพยายามดึงดูดผู้ใช้ให้หันมาใช้ฟีเจอร์ Reels มากขึ้นอีกด้วย
ประโยชน์ของการนำเสนอวิดีโอแบบสั้นไม่เพียงทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้นในเวลาสั้นๆ แต่ยังเป็นการตลาดอีกรูปแบบที่ทำให้แบรนด์มีตัวตนที่เด่นชัด แม้ว่าจะนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ตาม
3. สร้างความเชื่อมั่นให้แบรนด์ด้วยอินฟลูเอนเซอร์และลูกค้าที่เคยใช้บริการ
ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อสินค้า เรามักไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงเกิดการตั้งคำถามถึง “ความคุ้มค่า” ต่อเงินที่กำลังจะเสียไป ดังนั้นการนำอินฟลูเอนเซอร์และกลุ่มลูกค้าเก่าๆ มาเป็นกระบอกเสียงโฆษณา จะช่วยให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้นและง่ายขึ้น
จากข้อมูลของ Consumer Acquisition ในปี 2022 เมื่อมีลูกค้าที่เคยใช้บริการเข้ามาพูดคุยผ่านวิดีโอ อัตราการมีส่วนร่วม (Engagement) จะเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่า และความถี่ของการสนทนาเพิ่มขึ้นถึง 28% นอกจากนี้ 77% ของแบรนด์ทั้งหมด ได้ใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นเครื่องมือทำการตลาดอีกด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เราเห็นว่าการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์และลูกค้าที่เคยใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากแบรนด์สามารถช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นลูกค้าได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังช่วยปรับภาพลักษณ์แบรนด์ผ่านการพูดคุย นำเสนอ ให้คำปรึกษา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว
4. เพิ่มการเข้าถึงแบรนด์ด้วยโลกแห่ง Metaverse
เมื่อปีที่ผ่านมา โลกแห่ง Metaverse ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการธุรกิจ แต่มันมีความสำคัญอย่างไร และสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือในการตลาดได้อย่างไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
Search Engine Journal มองว่า Metaverse จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น Disney, Nike และ Gucci เป็นต้น แบรนด์เหล่านี้กำลังสร้างพื้นที่สำหรับโลกแห่งดิจิทัล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่โลกเสมือนจริง
แม้ว่าภาพจำ Metaverse ที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์อาจจะยังไม่เด่นชัดเท่าที่ควร ในขณะเดียวกัน แบรนด์อาจจะยังไม่คุ้นเคย หรือยังไม่สามารถแสดงศักยภาพตนเองผ่านช่องทาง Metaverse ได้ดี แต่การที่แบรนด์ให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์ แสดงตัวตน สร้างชุมชนดิจิทัลผ่านโลก Metaverse อย่างการนำเทคโนโลยี AR/VR เข้ามา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้ซื้อได้ง่ายขึ้น
5. การสื่อสารที่รวดเร็วจะทำให้ผู้บริโภคประทับใจ
จากที่กล่าวไปข้างต้น ผู้บริโภคทั้งหลาย ไม่เพียงต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยกับอินฟลูเอนเซอร์ หรือลูกค้าเก่าเพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของแบรนด์และสินค้า แต่ผู้ซื้อยังต้องการ “ความรวดเร็ว” ของการตอบกลับจากผู้ขายอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ธุรกิจหลายแห่งจึงเลือกใช้ ChatBots ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกพัฒนาเพื่อตอบกลับผ่านข้อความหรือเสียงแบบอัตโนมัติ การตอบกลับที่รวดเร็วไม่เพียงเป็นการสนองความต้องการของผู้ซื้อได้อย่างทันท่วงที แต่ยังทำให้แบรนด์สามารถ “ปิดงาน” หรือขายสินค้าได้เร็วขึ้น
เพราะเมื่อลูกค้าตัดสินใจ แบรนด์ก็พร้อมที่จะตอบรับและดำเนินการได้ทันที จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากบริษัทแห่งหนึ่งของสถาบันวิจัย Drift กล่าวว่า การสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสามารถลดระยะเวลาการขายจาก 6 เดือนเหลือเพียง 12 วัน เลยทีเดียว
6. Personalized Marketing จะทำให้ลูกค้ารู้สึกสำคัญ
ปัจจุบัน ตลาดซื้อขายถูกขับเคลื่อนด้วยคน Gen Y และ Gen Z เป็นส่วนใหญ่ คนทั้ง 2 กลุ่มกำลังกลายเป็นผู้บริโภคหลักของโลก เพราะฉะนั้น แบรนด์จึงจำเป็นต้องรับฟังและเข้าถึงพวกเขาให้มากที่สุด
แม้ว่าอายุของทั้งสอง Generation จะแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่เมื่อพิจารณาถึงความต้องการคนทั้งสองกลุ่มแล้ว พวกเขากลับมีจุดมุ่งหมาย มุมมอง ทัศนคติต่อสังคมที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดกว้างทางความคิด สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สนใจสิ่งใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีค้นหาข้อมูล ท่องโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
จะเห็นได้ว่าความสนใจและความเปิดกว้างทางความคิดทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว ต้องฟังเสียงลูกค้า รวมถึงพยายามเสาะหาประสบการณ์และความต้องการที่ลูกค้าต้องการ เพราะเมื่อใดที่แบรนด์มองลูกค้าเป็นเพียงลูกค้า มิใช่กลุ่มลูกค้า (ที่มีความต้องการแตกต่างกันออกไป) เมื่อนั้นแบรนด์อาจตกอยู่ในสภาวะ “ถูกลืม” ก็เป็นได้
7. เข้าถึงข้อมูลลูกค้าด้วย Zero-Party Data
อย่างที่รู้กันว่านับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป Google จะทำการยกเลิก Third-party cookies ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลเมื่อมีผู้ใช้งานเข้าไปในเว็บไซต์นั้นๆ นั่นหมายความว่าบริษัทต่างๆ จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้อีกต่อไป สิ่งนี้นับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัทที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และการรับมือกับวันที่ไร้ Third-party cookies ด้วยการใช้ “Zero-Party Data” จากลูกค้าให้ได้มากที่สุด
แบรนด์ต้องหาวิธีการเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด สร้างความไว้วางใจ และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าการแชร์ข้อมูลของตนเองนั้นปลอดภัย เป็นโอกาสให้พวกเขาได้แสดงตัวตนของตนเอง แสดงความคิดเห็น บอกความชอบและไม่ชอบ เพื่อให้แบรนด์นำมาปรับปรุงและดูแลลูกค้าได้ดีขึ้น
จากที่ 7 เทรนด์การตลาดที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่เราเห็นชัดเจนที่สุดคือ “การรับฟัง”
ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังเสียงลูกค้าที่มีความต้องการที่เจาะจงมากขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ แบรนด์ยังต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย เทคโนโลยี เทรนด์ต่างๆ เตรียมพร้อมที่จะปรับตัวและมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อธุรกิจเริ่มรับฟังลูกค้า ไม่เพียงแค่ว่าพวกเขาจะสามารถเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างตรงจุดเท่านั้น แต่การรับฟังลูกค้าสิ่งจะทำให้แบรนด์ได้รับความไว้วางใจและความประทับใจจากลูกค้า ในขณะเดียวกัน ฝั่งธุรกิจเองก็รู้สึกแฮปปี้ที่สามารถทำให้ลูกค้าพึงพอใจ จะเห็นได้ว่า บางครั้ง การทำธุรกิจอาจไม่ใช่แค่เรื่องของการทำกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการให้ความสำคัญต่อตัวผู้บริโภคในฐานะบุคคลหนึ่งของสังคม ที่ต่างก็หวังอยากให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง
แปลและเรียบเรียง
-7 Marketing Trends to Embrace in 2023 : Anna Madill, Medium – https://bit.ly/3sY8T15
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#marketing