ทำให้เขาต้องการคุณ!

5991
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • ไม่ใช่แค่องค์กรหรือธุรกิจ แต่ตัวเราเองก็ต้องการกลยุทธ์ในการทำงานเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เราควรถามตัวเองคือ ตัวเราจำเป็นต่อองค์กรแค่ไหน
  • สำรวจว่าตัวเองเก่งอะไร เพราะนั่นคือจุดขายของเรา
  • วิเคราะห์ว่างานที่ทำหรืออยากไปทำ ต้องการสิ่งที่เราเก่งมากน้อยแค่ไหน และทำให้บริษัทรู้ว่าคุณสามารถช่วยพวกเขาได้อย่างไร

หากเอ่ยถึงเรื่องกลยุทธ์ คนอาจนึกถึงกลยุทธ์ขององค์กรหรือธุรกิจ แต่อันที่จริง ตัวเราเองก็ต้องการกลยุทธ์เหมือนกันนะครับ ยิ่งในการทำงาน ผมว่าเราไม่สามารถทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดกลยุทธ์ให้ตัวเองได้ เพราะว่ามันเสี่ยงมากๆ ครับ

เหตุผลที่มันเสี่ยง ก็เพราะมันจะเหมือนกับที่ คุณบุญคลี ปลั่งศิริ นักบริหารชั้นเซียนได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “อย่าให้ตัวเองอยู่ในสถานะเข้ามุม พอถ้าจนมุมเมื่อไร คุณจะเป็นผู้ถูกเลือก ดังนั้นคุณต้องออกมาจากมุมให้ได้”

คุณจำเป็นกับองค์กรแค่ไหน

ผมอ่านเจอบทความหนึ่งใน Business Insider เล่าเรื่อง แมรี่ เบธ บราวน์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยคนหนึ่งของ อีลอน มักส์ เรื่องของเรื่องคือ เธอคนนี้ขอลาพักครั้งใหญ่ หลังช่วยงานอีลอนมานานกว่า 12 ปี โดยอีลอนให้เธอหยุดงานประมาณ 2 อาทิตย์ ระหว่างนั้นเขาก็ประเมินไปด้วยว่างานของแมรี่เป็นตายกับชีวิตเขามากแค่ไหน

Advertisements

ปรากฏว่าหลังจากแมรี่กลับมา อีลอนพบว่าเค้าไม่จำเป็นต้องพึ่งแมรี่อีกต่อไปแล้ว จึงเสนอให้เธอย้ายไปทำงานตำแหน่งอื่น แต่ว่าแมรี่เลือกที่จะไม่กลับมาที่ออฟฟิศอีกเลย โดยตัวอย่างค่อนข้างสุดโต่งนี้เป็นสิ่งที่ ลินน์ เทย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรการทำงาน ชี้ให้เห็นว่าการปล่อยให้ตัวเองทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการยกระดับตัวเองเลยนั้น สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของอาชีพมากเลยทีเดียว

เทย์เลอร์เลยแนะนำว่า สิ่งที่เราควรคิดกับตัวเองอยู่เรื่อยๆคือ ทำอย่างไรให้ตัวเราเป็น “ที่ต้องการ” ของหัวหน้าหรือองค์กร พูดอีกอย่างคือ หนีออกมาจากมุมนั่นเองครับ ทีนี้ถ้าถามผมว่า แล้วเราจะหนีจากมุมอย่างไร? ผมคิดแบบนี้ครับ

1. หาจุดขายตัวเองให้เจอ

ผมว่าอย่างแรกคือ เราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเราเก่งอะไร เพราะว่านี่จะเป็น “จุดขาย” ของตัวเรา อย่างหลายคนมักดูแคลนตัวเองว่าไม่เก่งอะไรเลย หรือรู้อะไรแบบเป็ด ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนะครับ นอกจากจะฟังดูสิ้นหวังแล้ว ผมกลับเชื่อว่าคนเรามีความเก่งในตัวกันทั้งนั้น อยู่ที่เรามองเห็นมันหรือเปล่า

ถ้าคุณกลัวเข้าข้างตัวเองเกินไป ลองถามคนที่รู้จักคุณดีก็ได้ครับว่าเค้าคิดว่าคุณเก่งอะไร หรือลองดูว่าคนอื่นๆชอบให้คุณช่วยอะไร ผมว่ามันต้องมีเด็ดๆ กันบ้างสักอย่าง กระทั่งความสามารถในการอดทนกับความซ้ำซากน่าเบื่อ ผมก็นับว่าเป็นความเก่งอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะหลายๆงาน ก็ต้องการคนที่มีความอดทนเรื่องนี้สูงๆ

2. ทำให้เขารู้ว่า “คุณสามารถช่วยพวกเขาได้อย่างไร”

ถัดมาคือ คุณต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า งานที่คุณทำหรืองานที่อยากไปทำต้องการสิ่งที่คุณเก่งมากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมนะครับว่า เหตุผลที่องค์กรจ้างคุณมาทำงาน ถ้าพูดให้ลงลึกมาหน่อย คือจริงๆ เขาจ้างคุณมาแก้ปัญหาหรือช่วยเขานั่นเองครับ ดังนั้น เวลาไปสมัครงานหรืออัพมูลค่าให้ตัวคุณเอง ต้องทำให้คนที่จ้างคุณเห็นให้ได้ว่า คุณจะช่วยเค้าให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่จะเข้าไปช่วยก็คือความเก่งที่คุณมี

Advertisements

พูดอีกอย่างคือ นอกจาก “รู้เรา” ว่าเราเก่งอะไรแล้ว ยังต้อง “รู้เขา” ว่าคนที่จ้างคุณ เขาต้องการหรือขาดอะไรอยู่ แล้วสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราช่วยเขาได้หรือไม่ ซึ่งการคิดแบบนี้จะทำให้ท่าทีของเรานั้นค่อยๆหนีห่างจากการจนมุม เพราะเราไม่ได้กำลังขอให้เขาเลือกเรา แต่ทำให้เขาเห็นว่าทำไมเขาถึงควรเลือกเรา

อย่างรุ่นน้องผมคนหนึ่ง เธอเคยสมัครงานด้านการตลาดที่บริษัทที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ปัญหาคือ เธอไม่ได้จบการตลาดมาและไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อนครับ แต่จนแล้วจนรอดเธอก็หาวิธีได้งานที่นี่สำเร็จ แถมเอาชนะผู้สมัครคนอื่นๆ ที่จบมาตรงสายด้วย เธอคิดแบบนี้ครับ คือเธอเริ่มจากวิเคราะห์แต่แรกเลยว่า มีองค์กรไหนบ้างที่มีวัฒนธรรม “กล้าเสี่ยง” เหตุผลก็เพราะถ้าไปสมัครงานองค์กรที่ไม่กล้าเสี่ยง โอกาสที่จะเลือกรับคนไม่ตรงสายก็จะน้อย แล้วเผอิญว่าบริษัทแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทำอะไรนอกกรอบอยู่แล้ว เธอเลยยื่นสมัครที่นี่ดู

จากนั้น เธอก็ศึกษาข้อมูลเพื่อดูว่าบริษัทนี้ยังขาดอะไร โดยเธอพบว่าบริษัทนี้เป็นเบอร์รองในตลาด สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ กลยุทธ์การตลาดที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอถนัดพอดี เธอเลยทำแบบนี้ต่อครับ เธอทำพรีเซนเทชั่นโปรเจคสินค้าของบริษัทนี้โดยใส่ไอเดียแปลกใหม่ เสมือนว่าเธอคิดงานส่งเจ้านาย แนบไปพร้อมกับใบสมัครของเธอ

ซึ่งบริษัทนี้ก็เกิดเลือกเธอขึ้นมาสัมภาษณ์จริงๆ โดยเธอเป็นคนเดียวที่เรียนจบไม่ตรงสายที่ผ่านการคัดเลือก เหตุผลไม่ใช่อะไรอื่นไกลเลยครับ นอกเสียไปจากพรีเซนเทชั่นชิ้นนั้นนั่นเอง ส่วนตอนสัมภาษณ์ ความที่เธอศึกษาข้อมูลบริษัทมาเป็นอย่างดี เธอก็ไม่รอช้าที่จะชี้ให้คนสัมภาษณ์เห็นว่าบริษัทแห่งนี้ยังขาดหรือต้องการอะไร ส่วนตัวเธอถนัดอะไร และถ้าเธอเข้าไปทำงานจะช่วยบริษัทนี้อย่างไรได้บ้าง สุดท้ายแล้วเธอก็ได้งานนี้สมใจ

จะว่าไปแล้ว สิ่งที่รุ่นน้องผมทำ คือการทำให้คนจ้างเห็นว่า ทำไมพวกเขาถึงต้องเลือกเธอ จริงๆ มันก็คือการทำให้เรามีอำนาจต่อรองในเกมนั่นเองครับ เช่นเดียวกับตอนทำงานแล้วด้วยนะครับ เมื่อเข้าทำงานแล้ว สิ่งที่เราไม่ควรลืมทำก็คือการหมั่นพัฒนาความเก่งของเราขึ้นไปเรื่อยๆ รวมทั้งหมั่นสำรวจตัวเองด้วยว่าความเก่งของเรานั้นยังมีคุณค่าต่องานหรือคนจ้างเราอยู่หรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งนี้จะทำให้เราไม่จนมุม


ดังนั้น ไม่ได้มีแค่องค์กรหรือสินค้าบริการเท่านั้นที่ต้องการกลยุทธ์ ตัวเราเองก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน เพราะนอกจากจะช่วยให้เราเป็นคนที่ถูกเลือกไปตลอดแล้ว สิ่งนี้ยังช่วยให้เรากลายเป็น “คนเลือก” ได้ด้วยอีกครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่