แนวคิดการพัฒนาอสังหาฯ แบบ Made From Her

2483

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับแขกรับเชิญสุดพิเศษ ผศ. ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย ผู้บริหารหญิงนักคิด นักพัฒนา แห่งเสนาดีเวลลอปเม้นท์ ในรายการ Mission to the Moon EP.596 ในมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเป็นผู้นำหญิงคนเก่งของวงการอสังหาฯ ไทย จึงขอสรุปมาเป็นบทความให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ

แต่ก่อนอื่นขอแนะนำดร.ยุ้ยก่อนว่า ก่อนที่เธอจะมาเป็นผู้บริหารที่เสนา เธอมีเรื่องน่าสนใจมากเกี่ยวกับเรื่องการเรียนจบด็อกเตอร์ตั้งแต่อายุ 25 ปี และได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ตอนอายุ 28 ปี ครับ

แรกเริ่มเกิดจากดร.ยุ้ย เรียนจบจากคณะบัญชีที่จุฬาฯ หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโท MBA และในตอนนั้นเองที่ดร.ยุ้ยเริ่มมีแรงบันดาลใจในการเป็นอาจารย์ จึงได้เริ่มคิดว่าการจะเป็นอาจารย์ที่ดีต้องทำอย่างไร และเมื่อพบว่าต้องเรียนจบปริญญาเอกก่อน ดังนั้นดร.ยุ้ยจึงกลับมาคุยกับคณะตัวเองที่บัญชี จุฬาฯ ว่าอยากมาเป็นอาจารย์ที่นี่ จากนั้นจึงขอทุนไปเรียนปริญญาเอก และกลับมาเป็นอาจารย์อยู่หลายสิบปี

การตัดสินใจกลับมาทำงานในบทบาทของผู้บริหารบริษัทอสังหาฯ  

จากที่เป็นอาจารย์อยู่ เหตุที่ ดร.ยุ้ยต้องเบนสายกลับมาเป็นผู้บริหารที่เสนาเกิดจากที่คุณพ่อ (ธีรวัฒน์  ธัญลักษณ์ภาคย์) ของดร. ยุ้ย ป่วยระหว่างที่เธอเป็นอาจารย์อยู่ ดังนั้นดร.ยุ้ยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง โดยเธอมองว่าวัตถุประสงค์ไม่ใช่เรื่องการทำธุรกิจ แต่วัตถุประสงค์คือทำอย่างไรให้คุณพ่อสบายใจ

ดังนั้นความยากจึงไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่ยากในแง่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองมีความมั่นคงทางจิตใจให้ดูแลคุณพ่อได้ดีในช่วงเวลานั้น ส่วนในแง่ธุรกิจคือจะดูแลอย่างไรไม่ให้เกิดอะไรที่ทำให้คุณพ่อกังวลมากขึ้นกว่าเดิม 

ความท้าทายในฐานะผู้บริหารหญิงเพียงไม่กี่คนที่เป็นนักพัฒนาแถวหน้าของเมืองไทย 

ในช่วงแรกๆ ความท้าทายคือคนอาจจะติดภาพของดร.ยุ้ย ที่เป็นอาจารย์มาก่อน แล้วการที่เป็นผู้หญิงก็อาจทำให้คนรู้สึกว่า “ไม่รู้จะเอาจริงไหม” ซึ่งภาพนี้เกิดขึ้นกับคนในเสนาพอสมควรถึงขนาดที่ว่าลูกน้องที่เสนาเคยพูดกันว่า “บริษัทนี้จะจริงจังได้ไง CEO ยังไม่ดูจริงจังเลย” และยังคำพูดที่ว่า “ก็ยังดูเป็นอาจารย์อยู่ด้วย” รวมถึงความคิดของคนในวงการว่า เป็นผู้หญิงถ้ามีลูกแล้วก็จะหายไป ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายพอสมควร แต่เธอก็ได้ผ่านมาหมดแล้ว

คอนเซ็ปต์ MADE FROM HER

ที่มาของคอนเซ็ปต์นี้ ดร.ยุ้ยเล่าย้อนไปว่าตอนที่มาทำโครงการ ในแรกเริ่มคือการมาช่วยคุณพ่อ แต่พอทำถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบในการทำต่อเพราะมันเป็นธุรกิจครอบครัว และในเมื่อจะทำแล้ว ดร.ยุ้ยก็ถามตัวเอง 2 เรื่อง 

อย่างแรกคือ “เราจะทำเท่าเดิม” ในตอนแรกที่ดร.ยุ้ยเข้ามาในเสนาแรกๆ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มีอยู่สามโครงการซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์หมด และอยู่ที่เดียวกัน เรื่องคอนโดก็ยังไม่ได้คิดไว้ ซึ่งดร.ยุ้ยก็คิดแค่นี้ว่าทำประมาณนี้ก็สบายดีเหมือนกัน ไม่ได้เข้าตลาด สั่งอะไรอยู่หน้าไซต์หมด margin ต่อโครงการหนาดี ไม่ยุ่งยากอะไร คนทั้งองค์กรมีแต่ญาติเป็นส่วนใหญ่

แต่อย่างที่สองคือ “หรือเราจะโตขึ้นไปเรื่อยๆ” เธอเลยคิดว่าเซกเตอร์นี้จะโตได้ไหม เพราะเราไม่ควรจะอยากโตในเซกเตอร์ที่เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงขาลง (Declining Industry) แต่หลังจากที่ดร.ยุ้ยได้อ่านวิจัยและได้ศึกษาเพิ่มเติม ก็พบว่ายังเป็นอุตสาหกรรมที่โตได้ เพราะอย่างแรก บ้านคือปัจจัยสี่ อย่างที่สองคือจำนวนคนเป็นเจ้าของบ้าน (Home Ownership) ยังต่ำ 

ดังนั้นธุรกิจอสังหาฯ น่าจะยังโตได้ แต่การโตขึ้นมันต้องมีวิธีอะไรบางอย่างที่เพื่อให้โต หลังจากนั้นดร.ยุ้ยก็รู้สึกว่า ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ การแข่งขันมันสูงมาก แล้วก็ธุรกิจประเภทนี้เป็นธุรกิจประเภทที่จริงๆ แล้วเธอก็ชอบเช่นกัน 

เธอกล่าวว่าสิ่งที่ชอบในธุรกิจประเภทนี้คือ เป็นสินค้าที่น่าสนใจ เวลาคนซื้อก็จะมีพระมาเจิม มีพ่อแม่มาจากต่างจังหวัด มาเลี้ยงโต๊ะจีน ซึ่งดร.ยุ้ยมองว่าจะมีสินค้าสักกี่ชนิดที่คนซื้อเสียเงินแล้วดีใจขนาดนี้ ภูมิใจขนาดนี้ ซึ่งพอเห็นแบบนั้นแล้วดร.ยุ้ย เองก็รู้สึกภูมิใจไปด้วย นี่เองที่เป็นที่มาสโลแกนของเสนาว่า “ความไว้วางใจจากลูกค้า คือความไว้วางใจของเรา”

หลังจากนั้นดร.ยุ้ยจึงเริ่มสร้างแพสชั่นให้ตัวเองในธุรกิจนี้ เลยเริ่มมาคิดต่อว่าจะสร้างความภูมิใจนี้อย่างไร คำถามที่เธอคิดคือ จะทำอย่างไรให้รู้ค้ารู้ว่าเสนานั้นภูมิใจกับการที่เขาได้เลือกซื้อบ้านที่นี่ และมันเป็นความแตกต่างที่สร้างออกมาได้ เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าเสนาคิดถึงเขา ภูมิใจที่เขาเลือกเสนา เป็นคอนเซ็ปต์ว่าเพราะคุณภูมิใจกับเราเราภูมิใจกับคุณเราก็เลยใส่ใจคุณมากๆเลยพยายามเอาตรงนี้มาใส่เป็นไอเดียให้ลูกค้าเห็น แต่การจะทำแบบนั้นได้ ดร.ยุ้ยและทีมงานมองว่าต้องทำอะไรที่มันจับต้องได้

และการที่จะทำให้มันกลายเป็นไอเดียที่จับต้องได้ ก็เกิดขึ้นตอนที่ดร.ยุ้ยบินไปญี่ปุ่นแล้วได้ยินคำพูดที่ว่าเวลาที่ญี่ปุ่นเขาจะคิดถึงอะไรที่ละเอียดมากๆเขาจะคิดเหมือนผู้หญิงคิด

ดร.ยุ้ยเลยได้ไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าเราเอาไอเดียเรื่องแบบผู้หญิงมาใส่ ความละเอียดจะต้องเต็มที่มากๆ เลยได้ลองมองว่าถ้าเป็นบ้านและที่อยู่อาศัยในแบบที่ผู้หญิงมอง แล้วจะเห็นการพัฒนาสินค้าและบริการต่างไปจากเดิมอย่างไร ซึ่งนั่นก็เป็นไอเดียที่ตอบโจทย์ในแง่ DNA ของบริษัทด้วย ตอบโจทย์ในแง่สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ด้วย 

อีกทั้งเพราะการซื้อที่อยู่อาศัยนั้นเป็นการตัดสินใจที่เป็นการตัดสินใจตลอดชีวิต (Lifetime Decision Making) และสำหรับคนที่รายได้อยู่ระดับปานกลาง บ้านหลังหนึ่งเป็นการตัดสินใจที่กระทบชีวิตสูง และมักจะส่งต่อให้กับลูกหลาน ทุกอย่างมันจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่สำหรับเขา การคิดของเสนาจึงต้องมองทุกเรื่องให้เป็นเรื่องใหญ่ และต้องมองให้ละเอียดมากๆ ในทุกขั้นตอนด้วย 

made from her

การคิดแบบใส่ใจในทุกรายละเอียด

ตัวอย่างจุดโฟกัสที่ต้องคิดให้ละเอียดเช่น การดีไซน์เตียงนอน ปกติอาจจะคิดแค่ว่า เตียงนอนที่ดีควรเป็นไซส์ไหน หันหัวไปทิศอะไรจะได้มีฮวงจุ้ยที่ดี แต่ทางเสนาคิดเหมือนผู้หญิงอีกสักนิดว่าพฤติกรรมของลูกค้าเวลาใช้เตียงมันจะไม่ได้จบที่นอนทันที แต่พฤติกรรมจริงๆ คือเราทำอย่างอื่นบนเตียงด้วย เช่น ดูทีวี เล่นมือถือ เล่นไอแพด ซึ่งเวลาเหล่านั้นเขาไม่ได้นอนเล่น แต่เขานั่งเล่นกับพนักเตียง 

ดังนั้นเมื่อก่อนคนอาจมองแค่ว่าพนักเตียงลายต้องสวย แต่เดี๋ยวนี้ฟังก์ชั่นของพนักเตียงคือที่ที่เราใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่งก่อนนอน ดังนั้นต้องทำให้พนักเตียงเอียงกี่องศาจึงจะเหมาะให้นั่งได้สบาย ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความละเอียดที่เสนาใส่ไปในห้องนอน

นอกจากนี้ยังใส่ใจไปถึงเรื่องของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เป็นเรื่องปกติสำหรับไลฟ์สไตล์คนที่อยู่คอนโด สิ่งหนึ่งที่เสนาใส่ใจคือความรู้สึกของลูกบ้านผู้หญิงที่อยู่คอนโดคนเดียวอาจกังวลว่าต้องลงมารับสินค้าจากพนักงานส่งของเวลาดึกๆ ทางเสนาจึงมีบริการให้เจ้าหน้าที่ของโครงการเอาของขึ้นไปส่งให้เพื่อความสบายใจเล็กๆ น้อย

กระบวนการตัดสินในสำหรับสินค้าราคาสูง 

เนื่องจากสำหรับสินค้าที่ราคาสูง และเป็นการลงทุนครั้งใหญ่มากๆ กระบวนการในการตัดสินใจจึงไม่ได้มาจากตัวสินค้าอย่างเดียว แต่มันมีปัจจัยอื่นนอกจากที่มองเห็นด้วยตา 

ดร.ยุ้ย ยกตัวอย่าง บริการหลังการขาย” เพราะเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วทุกคนจะมองว่าที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าชิ้นหนึ่งที่ซื้อแล้วจบ แต่ความจริงแล้วในแง่ของลูกค้า ชีวิตเขาเพิ่งเริ่มในวันนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการพอจะมอบให้ได้และสร้างความแตกต่างที่เสนามองคือพยายามทำความเข้าใจชีวิตใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นว่าเขาต้องการอะไรบ้างนอกจากบริการอย่างเช่น การแจ้งซ่อม ฯลฯ

สิ่งที่ทางเสนาไปเจอคือลูกค้าของคอนโดเสนาเป็นคนอายุไม่มาก และไม่มีใครคิดว่าจะเกษียณที่คอนโดนี้ ดังนั้นแทนที่จะให้เขาไปปล่อยเช่ากับที่อื่น เสนาจึงดูแลในแง่ธุรกิจที่ว่าให้บริการฝากขายหรือเช่าด้วย การบริการหลังการขายของเสนาจึงจบที่ว่า “เราขายของให้คุณ และเราขออยู่กับคุณจนกว่าคุณจะขายใหม่” ซึ่งเป็นบริการหลังการขายที่เรียกว่า “360 องศา”

นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชั่นชื่อ “SENA 360 องศา” ที่รวมบริการหลังการขายไว้ในที่เดียว เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยมีบริการหลายอย่าง เช่น บริการจ่ายเงินค่าส่วนกลาง แจ้งเตือนการรับพัสดุ บริการเรื่องระบบโซลา เบอร์โทรฉุกเฉิน (SOS) สิทธิพิเศษต่างๆ 

ซึ่งบริการเรื่องพวกนี้เป็นแนวการคิดที่น่าสนใจมากสำหรับการทำธุรกิจว่า เวลาเราจะทำอะไรต้องดูว่าใครเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งส่วนมากถ้าเป็นครอบครัว ผู้หญิงจะเป็นคนตัดสินใจซะมากกว่า ซึ่งสำหรับโครงการของเสนา คนที่ตัดสินใจจะเป็นผู้หญิงมากถึง 70-80% ทำให้แนวการคิดของเสนาเป็นการคิดเพื่ออยู่หญิงอยู่แล้ว แต่ตอบโจทย์ทุกเพศทุกวัย

Advertisements

คอนเซ็ปต์คิดแบบผู้หญิงในมุมมองของลูกค้าที่เป็นหนุ่มโสด?

ถึงแม้ว่าไอเดียการคิดแบบผู้หญิงจะเป็นการคิดบนพื้นฐานของข้อมูล แต่ก็มีคำถามว่าสำหรับหนุ่มโสดที่กำลังมองหาคอนโด ถ้าได้ยินคอนเซ็ปต์นี้แล้วเขาอาจจะรู้สึกแปลกๆ กับมุมมองที่ทางเสนานำเสนอหรือไม่

ซึ่งดร.ยุ้ยอธิบายว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่การสื่อสารที่กำจัดผู้ชายออกไป แต่ต้องการสื่อสารถึงความละเอียดดีกรีของผู้หญิง ซึ่งเป็นที่มาของสโลแกนถัดมาว่า MADE FROM HER คือคอนเซ็ปต์ที่ “ผู้หญิงอยู่สบาย ผู้ชายก็แฮปปี้” เพราะสุดท้ายแล้วการออกแบบในแง่ที่ลงลึกถึงรายละเอียดของทางเสนาถูกพัฒนาโดยคิดบนพื้นฐานของพฤติกรรมการใช้งานจริงของทุกๆ คนอยู่แล้ว อย่างเช่น พฤติกรรมการเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนที่ดร.ยุ้ยได้ยกตัวอย่างไว้

มุมมองการซื้อบ้านที่เปลี่ยนไปจาก 30 ปีที่แล้ว

ถ้าเทียบกับสมัยก่อน คนในยุค Baby boomer จะคิดนานมากกว่าจะซื้อบ้านสักหลัง เหตุผลในการซื้อก็มักเป็นเรื่องของการแต่งงาน มีลูก ขยายครอบครัว และมักจะซื้อบ้านหลังเดียวแล้วจบ ซึ่งเป็นแพทเทิร์นของคนกลุ่มนี้ 

แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ การที่มีรถไฟฟ้า การคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้คนประมาณ 20% มีบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง ดังนั้นเหตุผลในการซื้อบ้านหลังที่สองมักจะคิดไม่เหมือนกันบ้านแรก คืออาจจะซื้อด้วยเหตุผลว่าใกล้จุดที่คมนาคมสะดวกและขายต่อไม่ยาก

ส่วนในอีก 20 ปีข้างหน้า ดร.ยุ้ยมองว่าความคิดในการซื้อบ้านของเด็กยุคใหม่ก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน ซึ่งเธอมองว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญ รวมถึงไลฟ์สไตล์ก็ด้วย เช่น แนวคิดเรื่องการแชร์ที่อยู่อาศัย เหมือนกับที่เรามีธุรกิจ Ride Sharing กันในปัจจุบันนี้ ทำให้แต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องมีการซื้อบ้านชัดเจน 

นอกจากเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ กฎหมายก็จะเป็นอีกตัวแปรที่ทำให้แนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของบ้านเปลี่ยนไป อย่างปัจจุบันนี้ที้กฎหมายไม่อนุญาตให้เช่าที่อยู่อาศัยรายวัน แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงก็สามารถเปลี่ยนแนวคิดเรื่อง Ownership ได้ 

ในมุมของนักพัฒนาสินค้ากลุ่มไหนของบ้านที่ดูมีอนาคตมากที่สุด

ในฐานะนักพัฒนาคอนโด ดร.ยุ้ยไม่ปฏิเสธว่าสมัยนี้มีคอนโดมาก แต่เธอก็ยังมองว่าสินค้าในกลุ่มที่อยู่อาศัยที่น่าจะเติบโตได้ก็ยังเป็นคอนโดอยู่ดีเพราะยังมีความต้องการอยู่มาก ซึ่งอาจจะเป็นด้วยไลฟ์สไตล์คนส่วนใหญ่สมัยนี้ที่อยู่คนเดียวมากขึ้น แต่งงานช้า มีลูกน้อยลง ทำให้คอนโดเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ที่สุด

ประการต่อมาที่ทำให้คอนโดยังเป็นสินค้าที่มีคนต้องการอยู่คือเรื่องของ Urbanization ที่คนชอบอาศัยอยู่ในเมือง ถึงแม้จะเป็นคนที่อายุ 60 ปี แต่เขาก็ยังอยากใช้ชีวิตอยู่ในเมืองซึ่งตอบโจทย์กับเขามากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการดูแลที่ง่ายกว่าบ้านอย่างมาก เพราะพื้นที่ส่วนกลางถูกแชร์ร่วมกับผู้อยู่อาศัยท่านอื่น และพื้นที่ส่วนตัวก็ไม่ได้ใหญ่มาก และคีย์สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของคอนโดที่มากกว่าเพราะมีจุดเขาออกทางเดียว จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งผู้สูงอายุหรือผู้หญิงโสดจะชอบคอนโดมากกว่า

ไอเดียแผงโซลาร์สำหรับสิ่งแวดล้อมที่มาคู่กับเสนา

ไอเดียนี้ แรกเริ่มเกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่พอดร.ยุ้ยไปเห็นบ้านของลูกบ้านโดนน้ำท่วมแล้วพบความลำบากหลายอย่าง อย่างคนไม่ยอมออกจากบ้าน คนไม่มีอาหารกิน ไม่มีห้องน้ำเข้า จากจุดนั้นดร.ยุ้ยจึงพบว่าการรักษ์โลกน่าจะทำมากขึ้น พอคิดในมุมของธุรกิจ ดร.ยุ้ย เลยมาคิดว่าสามารถทำอะไรเพื่อรักษ์โลกได้บ้าง ซึ่งในสมัยนั้นก็จะมีเรื่องของกระจกเขียวตัดแสง การทำบ้านในทิศที่ดีเพื่อที่จะได้ใช้แอร์น้อย เป็นต้น

ในฐานะอาจารย์เก่า ดร.ยุ้ย จึงไปร่วมวิจัยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่าสามารถทำอะไรได้อีก จึงเป็นที่มาของการทำแผงโซลาร์ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทยเท่าไร แต่เพิ่งเริ่มกลายมาเป็นกระแสหลักในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมานี้

solar
บริการตรวจเช็ก และทำความสะอาดแผงโซลาร์

ในช่วงระหว่างทางที่เติบโตของธุรกิจโซลาร์และพลังงานทดแทน ดร.ยุ้ย มองเห็นความแตกต่างกันระหว่างความเจริญเติบโตของ Industrial Style (ลักษณะอุตสาหกรรม) คือติดให้กับห้างและโรงงาน และแบบ Residential (ลักษณะที่อยู่อาศัย) คือติดแผงโซลาร์ให้กับลูกบ้านว่า การติดลักษณะอุตสาหกรรมสามารถทำได้เลยเพราะในภาคนี้จะมองเป็นเรื่องการลงทุนและความคุ้มค่า

แต่การติดแผงโซลาร์ให้กับลูกบ้านในช่วงแรกก็เป็นความท้าทายเพราะส่วนใหญ่ลูกบ้านจะกังวลหลายอย่างเช่น คนอื่นไม่ติดกัน ไม่รู้ประโยชน์ของมันที่แท้จริง กังวลเรื่องการดูแลรักษา ดังนั้นดร.ยุ้ยมองว่าสำหรับแผงโซลาร์ในลักษณะ Residential นั้นต้องอาศัยการช่วยเหลือจากรัฐหลายอย่าง เช่น สร้างวัฒนธรรมให้คนรู้สึกว่าการติดเป็นเรื่องที่ดี 

การแข่งขันและภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ 

ธุรกิจอสังหาที่เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ใหญ่มากและเรียกได้ว่าห่วงโซ่ยาวเหยียดที่สุดในบรรดาธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย ดร.ยุ้ยกล่าวว่าธุรกิจนี้ดุเดือดตลอดเวลา ถ้าในสมัยก่อนสินค้าประเภทนี้จะถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างที่ผูกขาด เพราะทุกที่จะมีโลเคชั่นที่แตกต่างกัน

แต่ถ้าสมัยนี้มันมีโลเคชั่นที่เป็นแบบเดียวกันเยอะมาก ดังนั้นเรื่องโลเคชั่นจึงไม่ถือว่าเป็นความแตกต่างของแต่ละโครงการมากนัก แต่การจะสร้างความแตกต่างขึ้นอยู่กับเรื่องเชิงรายละเอียดที่จะไปสู้กันในเรื่องของราคาได้ 

ส่วนภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ ตอนนี้ก็นับว่าอยู่ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยแง่ลบหลายอย่าง เช่น เศรษฐกิจไม่ดี แต่อย่างไรก็ตามดร.ยุ้ยมองว่าคนซื้อส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท ดังนั้นถ้าหากความมั่นคงทางการงานยังไม่ดี ก็ทำให้ยากที่จะทำให้เขาซื้อที่อยู่อาศัยในเวลานี้ แต่ถ้ามองในแง่ดี อีก 3-5 ปี เศรษฐกิจก็จะเริ่มดีขึ้น

อย่างต่อมาที่มากระทบกับธุรกิจอสังหาฯ คือเรื่องมาตรการการกู้ ที่ทำให้วงการอสังหาฯ เจ็บหนักกว่าคนอื่น ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงที่อยู่ในขาลงอย่างมหาศาล รวมถึงเรื่องความต้องการซื้อที่คนแย่งกันซื้อน้อยลง และอีกหลายตัวแปรอื่นๆ อีกมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในอีกประมาณ 2-3 ปี ตลาดก็จะมีการย้อนกลับบ้างตามวัฏจักรของอสังหาริมทรัพย์

ในปี 2020-2030 เราจะเห็น “การเปลี่ยนแปลง” หรือ “Disruption” อะไรบ้างในธุรกิจอสังหาฯ 

ก่อนอื่น ดร.ยุ้ย กล่าวว่าเธอรู้สึกดีใจมากที่วงการนี้ถูก Disrupt ไม่เยอะถ้าเทียบกับอย่างอื่น แต่การ Disrupt น่าจะเกิดกับไลฟ์สไตล์ของคนมากกว่า เช่นเรื่องการแชร์ที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น แต่ส่วนตัวดร.ยุ้ยเองก็รู้สึกว่าเป็นไปได้ยากระดับหนึ่ง เพราะยังมีเรื่องของความเป็นเจ้าของและโฉนดเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นกฎหมายไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ส่วนเรื่อง “การเปลี่ยนแปลง” ดร.ยุ้ยคิดว่าโครงการโซลาร์เองก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลง คือ แทนที่ลูกบ้านจะซื้อไฟฟ้าจากรัฐเหมือนเดิม ก็เปลี่ยนเป็นให้ลูกบ้านสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหนึ่ง หรืออย่างการมีแอปพลิเคชันบริการหลังการขายก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งของแบบนี้ก็จะยังมีอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ปรัชญาการทำงานของดร.ยุ้ยในบทบาทของผู้บริหารหญิง

เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้ฟังและผู้อ่านของเราอยากรู้ที่สุด คือในฐานะผู้บริหารหญิงของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ที่มีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง ปรัชญาการใช้ชีวิตและการทำงานของดร.ยุ้ยเป็นอย่างไร 

ผู้บริหารหญิงคนเก่งทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจถึงเรื่องการทำธุรกิจว่า สิ่งที่คุณพ่อของเธอสอนไว้คือ ถ้าชกไม่ครบสิบยกอย่าเพิ่งเลิก เพราะไอเดียบางอย่างถ้าเราลองแล้วไม่เวิร์ก ถ้าเราล้มเลิกมันก็จบ แต่ไอเดียบางอย่างถ้าเราสู้เพื่อมัน ลองแล้วลองอีก สู้อย่างไม่ยอมแพ้ มันอาจจะได้ผลลัพธ์ที่สวยงาม

นี่แหละครับ คำแนะนำที่คนยุคใหม่ควรต้องฟังไว้เลย 🙂

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่